สิทธิบัตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สิทธิบัตรสหรัฐอเมริกา

สิทธิบัตร (อังกฤษ: patent) เป็นทรัพย์สินทางปัญญารูปแบบหนึ่งที่ให้คุ้มครองการประดิษฐ์ ที่อาจมีลักษณะเป็นผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยทั่วไปแล้ว เจ้าของสิทธิบัตรมีสิทธิที่จะห้ามผู้อื่นผลิตและจำหน่ายสิ่งประดิษฐ์นั้นๆ จนกว่าสิทธิบัตรจะหมดอายุ ประเทศที่เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก จะต้องมีกฎหมายสิทธิบัตรตามความตกลงทางทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (ความตกลงทริปส์) โดยสิทธิบัตรตามความตกลงนี้ จะต้องมีอายุความคุ้มครองอย่างน้อย 20 ปี ในหลักการกฎหมายแล้ว การประดิษฐ์ที่จะได้รับสิทธิบัตรจะต้องมีลักษณะเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม และไม่เป็นที่ประจักษ์โดยง่าย[1]

บางประเทศยังมีทร้พย์สินทางปัญญาที่คุ้มครองการประดิษฐ์เช่นเดียวกัน แต่มีเงื่อนไขการได้รับที่เข้มงวดน้อยกว่าและอายุการคุ้มครองสั้นกว่า เรียกว่าอนุสิทธิบัตร (petty patent) หรือผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์ (utility model)[2][3] นอกจากนี้ ทรัพย์สินทางปัญญาอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกับสิทธิบัตร อาจเรียกว่าสิทธิบัตรในกฎหมายบางประเทศ เช่น การคุ้มครองการออกแบบทางอุตสาหกรรม (industrial design) เรียกว่า สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ในประเทศไทย[4] หรือ design patent ในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น[5]

ประโยชน์ของสิทธิบัตร[แก้]

เอกสารสิทธิบัตรนานาชาติเป็นแหล่งรวมผลงานประดิษฐ์คิดค้นทั่วโลกที่สำคัญที่สุด ได้เปิดวิธีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมทุกชนิดทุกสาขาทั่วโลก สิทธิบัตรคุ้มครองเป็นรายประเทศ จดทะเบียนในประเทศใด ก็คุ้มครองเฉพาะในประเทศนั้น

หมายความว่าเราสามารถนำเทคโนโลยีที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทยมาผลิตสินค้าจำหน่ายในประเทศได้ สามารถผลิตหรือส่งออกไปจำหน่ายในประเทศที่ไม่ได้จดทะเบียนสิทธิบัตรในเรื่องนั้น ๆ หรือนำมาใช้เป็นฐานความรู้ในการวิจัยพัฒนาและต่อยอดได้

ประเภทของสิทธิบัตร[แก้]

รูปแบบหรือประเภทของสิทธิบัตรตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตรจะมีอยู่ 3 ประเภท คือ

  1. สิทธิบัตรการประดิษฐ์ (invention patent) หมายถึง การคิดค้นเกี่ยวกับ กลไก โครงสร้าง ส่วนประกอบ ของสิ่งของเครื่องใช้ เช่น กลไกของกล้องถ่ายรูป, กลไกของเครื่องยนต์, ยารักษาโรค เป็นต้น หรือการคิดค้นกรรมวิธีในการผลิตสิ่งของ เช่น วิธีการในการผลิตสินค้า, วิธีการในการเก็บรักษาพืชผักผลไม้ไม่ให้เน่าเสียเร็วเกินไป เป็นต้น
  2. สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์(design patent) หมายถึง การออกแบบรูปร่าง ลวดลาย หรือสีสัน ที่มองเห็นได้จากภายนอก เช่น การออกแบบแก้วน้ำให้มีรูปร่างเหมือนรองเท้า เป็นต้น
  3. อนุสิทธิบัตร (petty patent) เป็นการให้ความคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์คิดค้น เช่นเดียวกับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ แต่แตกต่างกันตรงที่การประดิษฐ์ที่จะขอรับอนุสิทธิบัตร เป็นการประดิษฐ์ที่มีเป็นการปรับปรุงเพียงเล็กน้อย และมีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้นมาก

เงื่อนไขในการขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์/อนุสิทธิบัตร[แก้]

การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้ กฎหมายกำหนดว่า จะต้องมีคุณสมบัติครบทั้ง 3 อย่าง ดังต่อไปนี้

  1. เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ คือ เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่หรือยังไม่เคยมีจำหน่ายหรือขายมาก่อน หรือยังไม่เคยเปิดเผยรายละเอียดของสิ่งประดิษฐ์ในเอกสารสิ่งพิมพ์ใด ๆ ในโทรทัศน์ หรือในวิทยุ มาก่อน เว้นแต่การตีพิมพ์เผยแพร่ของเอกสารนั้นจะเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่เพื่อสาธารณประโยชน์ในการสร้างสรรงานประดิษฐ์ที่จัดขึ้นโดยรัฐฯ
  2. มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น คือ ไม่เป็นขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สามารถทำได้ง่าย โดยผู้พบเห็นทั่วไป หรืออาจพูดได้ว่า มีการแก้ไขปัญหาทางเทคนิคของสิ่งประดิษฐ์ที่มีมาก่อน และ
  3. สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตทางอุตสาหกรรม หัตถกรรม เกษตรกรรม และพาณิชยกรรมได้

การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรไม่ได้[แก้]

  1. จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์ พืช หรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช เช่น แบคทีเรียที่มีอยู่ตามธรรมชาติ,พืชสมุนไพร,ยารักษาโรคที่สกัดจากสมุนไพร เป็นต้น
  2. กฎเกณฑ์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เช่น สูตรคูณ เป็นต้น
  3. ระบบข้อมูลสำหรับการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
  4. วิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือรักษาโรคมนุษย์ หรือสัตว์
  5. การประดิษฐ์ ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี อนามัย หรือ สวัสดิภาพของประชาชน เช่น การคิดสูตรยาบ้า เป็นต้น

เงื่อนไขในการขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์[แก้]

การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้ กฎหมายกำหนดว่า จะต้องมีคุณสมบัติครบทั้ง 2 อย่าง ดังต่อไปนี้

  1. เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่เคยมีหรือขายมาก่อน หรือยังไม่เคยเปิดเผยในเอกสารสิ่งพิมพ์ใด ๆ ในทีวี หรือในวิทยุมาก่อน
  2. สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตทางอุตสาหกรรม หรือหัตถกรรมได้

การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ขอรับสิทธิบัตรไม่ได้[แก้]

แบบผลิตภัณฑ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน

​การขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร[แก้]

การยื่นขอจดทะเบียนจะต้องมีเอกสาร ดังนี้

คำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์/อนุสิทธิบัตร ต้องประกอบด้วย

  • แบบพิมพ์คำขอ แบบสบ/สผ/อสป/001-ก
  • รายละเอียดการประดิษฐ์
    • ข้อถือสิทธิ
  • บทสรุปการประดิษฐ์
  • รูปเขียน (ถ้ามี)
  • เอกสารอื่น ๆ
    • หนังสือรับรองสิทธิเกี่ยวกับการขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร (กรณีที่ผู้ขอเป็นบุคคล)
      • หนังสือโอนสิทธิ (กรณีที่ผู้ขอไม่ได้เป็นผู้ประดิษฐ์)
      • หนังสือมอบอำนาจ
    • ต้นฉบับหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล ออกให้ไม่เกิน 6 เดือน (กรณีผู้ขอเป็นนิติบุคคล)
    • สัญญาการว่าจ้าง/เอกสารแสดงการเป็นนายจ้างของผู้ประดิษฐ์

คำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ต้องประกอบด้วย

  • แบบพิมพ์คำขอ แบบสบ/สผ/อสป/001-ก
  • คำพรรณนาแบบผลิตภัณฑ์ (ถ้ามี)
    • ข้อถือสิทธิ
  • รูปเขียน
  • เอกสารอื่น ๆ
    • หนังสือรับรองสิทธิเกี่ยวกับการขอรับสิทธิบัตร (กรณีที่ผู้ขอเป็นบุคคล)
      • หนังสือโอนสิทธิ (กรณีที่ผู้ขอไม่ได้เป็นผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์)
      • หนังสือมอบอำนาจ
    • ต้นฉบับหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล ออกให้ไม่เกิน 6 เดือน (กรณีผู้ขอเป็นนิติบุคคล)
      • สัญญาการว่าจ้าง/เอกสารแสดงการเป็นนายจ้างของผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์

ผู้ประดิษฐ์คิดค้นสามารถที่จะเลือกว่า จะยื่นขอความคุ้มครองสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่จะขอความคุ้มครองทั้งสองอย่างพร้อมกัน

อ้างอิง[แก้]

  1. Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights, Article 27
  2. World Intellectual Property Organization (2008). WIPO intellectual property handbook: Policy, law and use (PDF). p. 17. ISBN 978-92-805-1291-5. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-03-20. สืบค้นเมื่อ 2020-01-14.
  3. Burk, Dan L. (2017). "Patents and related rights: A global kaleidoscope". ใน Dreyfuss, Rochelle; Pila, Justine (บ.ก.). Oxford Handbook of Intellectual Property Law. Oxford University Press. doi:10.1093/oxfordhb/9780198758457.013.22.
  4. พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522
  5. Beebe, Barton (2017). "Design protection". ใน Dreyfuss, Rochelle; Pila, Justine (บ.ก.). Oxford Handbook of Intellectual Property Law. Oxford University Press. doi:10.1093/oxfordhb/9780198758457.013.25.