สะพานพระราม 9

พิกัด: 13°40′55″N 100°31′08″E / 13.682058°N 100.519001°E / 13.682058; 100.519001
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สะพานพระราม 9
สะพานพระราม 9
พิกัด13°40′56″N 100°31′03″E / 13.68231°N 100.51762°E / 13.68231; 100.51762
เส้นทางทางพิเศษเฉลิมมหานคร
ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
ที่ตั้งแขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา
แขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ
กรุงเทพมหานคร
ชื่อทางการสะพานพระราม 9
ผู้ดูแลการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
เหนือน้ำสะพานกรุงเทพ
ท้ายน้ำสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9
ข้อมูลจำเพาะ
ประเภทสะพานขึง
วัสดุเหล็กและคอนกรีต
ความยาว782 เมตร
ความกว้าง33 เมตร
ความสูง87 เมตร
ช่วงยาวที่สุด450 เมตร
จำนวนตอม่อ8
เคลียร์ตอนล่าง41 เมตร
ประวัติ
วันเริ่มสร้าง1 ตุลาคม พ.ศ. 2527
วันเปิด22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530
ที่ตั้ง
แผนที่
ภาพสะพานพระราม 9 จากแสตมป์ไทยชุดสะพาน

สะพานพระราม 9 หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม สะพานขึง เป็นสะพานเสาขึงระนาบเดี่ยวแห่งแรกของประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานชื่อสะพานพระราม 9 เพื่อเป็นสิริมงคลเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 5 ธันวาคม 2530

สะพานพระราม 9 เป็นสะพานถนนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในเส้นทางทางพิเศษเฉลิมมหานคร สายดาวคะนอง-ท่าเรือ มีลักษณะเป็นสะพานชนิด Single Plane Fan Type Cable-Stayed Bridge หรือสะพานขึงโดยใช้สายเคเบิลขนาดใหญ่ขึงเป็นระนาบเดี่ยวไว้กับเสาสูงของสะพานเพื่อรับน้ำหนักของสะพาน เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2527 และมีพิธีเปิดการจราจรเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 โดยมีกิจกรรมวิ่งมาราธอนลอยฟ้าในเวลา 06.00 น. ในวันที่ทำพิธีเปิด โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธาน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 85,000 คน และในเวลาค่ำ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำประชาชนจุดเทียนชัยถวายพระพร พร้อมกับร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และมีการแสดงพลุดอกไม้ไฟอย่างตระการตา[1]

ลักษณะของตัวสะพาน[แก้]

เนื่องจากทางพิเศษเฉลิมมหานคร สายดาวคะนอง-ท่าเรือ มีส่วนหนึ่งที่จะต้องข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณวัดไทร ซึ่งเป็นบริเวณที่แม่น้ำมีขนาดค่อนข้างกว้าง (ประมาณ 500 เมตร) และริมแม่น้ำทั้ง 2 ฝั่งจะมีคลังสินค้า ช่วงกลางแม่น้ำจะเป็นทุ่นจอดเรือเดินทะเลขนาดใหญ่รับ-ส่งสินค้า ซึ่งกรมเจ้าท่าได้กำหนดว่าถ้าจะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำบริเวณดังกล่าวจะต้องมีตอม่ออยู่ในแม่น้ำลึกไม่เกิน 2.00 เมตร วัดจากระดับน้ำต่ำสุด (-1.73 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง "รทก") และท้องสะพานจะต้องสูงกว่าระดับสูงสุด (+2.17 "รทก") ไม่ต่ำกว่า 41.00 เมตร บริษัท Peter Fraenkel International Ing. Dr. Ing. Hellmut Homberg ซึ่งเป็นบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา และบริษัทออกแบบ จึงได้ออกแบบสะพานโดยมีตัวสะพานยาว 782 เมตร มีช่วงกลาง (Main Span) ยาว 450 เมตร ตัวสะพานมีความกว้าง 31-33 เมตร มีสายเคเบิลขึงเป็นแบบระนาบเดี่ยว (Single Plane) จำนวนฝั่งละ 17 คู่ มีเสาตอม่อฝั่งละ 4 ต้น แต่ละต้นจะสูง 35-40 เมตร เสาขึงเคเบิล (Pylon) ตั้งอยู่บนตอม่อริมน้ำสูง 87 เมตร ความลาดของสะพาน (Gradient) สูงสุด 5 เปอร์เซ็นต์ และเอียงออกด้านข้าง (Grossfall) 2.5 เปอร์เซ็นต์ ท้องสะพานสูงจากระดับน้ำสูงสุด 41 เมตร ทั้งสองข้างของตัวสะพานจะมีเชิงลาด (Bridge Approaches) ยาว 650 เมตร สำหรับฝั่งพระนคร และ 630 เมตร สำหรับฝั่งธนบุรี การออกแบบเชิงลาดของสะพานเป็นรูป Double T เป็นคอนกรีตอัดแรงมีความยาวช่วงละ 50 เมตร กว้าง 15 เมตร 2 เส้นทางคู่กัน

โครงสร้างของสะพาน[แก้]

โครงสร้างของสะพานแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

โครงสร้างตัวสะพาน[แก้]

โครงสร้างตัวสะพาน (Superstructure) ประกอบด้วย ตัวสะพาน เสาขึง สายเคเบิล เป็นเหล็กทั้งสิ้น มีรายละเอียดดังนี้

  • ตัวสะพาน (Bridge Deck) ประกอบด้วย เหล็กแบบ Box Girder มีคานขวาง (Cross Girder) ทุก ๆ ระยะ 3.60 เมตร ตัวสะพานแบ่งตามความยาวของสะพานออกเป็น 2 ส่วนคือ ตัวสะพานซึ่งอยู่ระหว่างเสาขึงทั้งสองข้างมีความยาว 450 เมตร เรียกว่า Main Span เฉพาะช่วงของ Main Span มีรูปตัดเป็นสี่เหลี่ยมคางหมูกว้าง 33 เมตร ช่วงของ Back Span มีรูปตัดเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ในส่วนที่บรรจบกับ Main Span มีความกว้าง 33 เมตร และลดลงเป็น 31 เมตร เพื่อต่อกับเชิงลาดของสะพานภายในสะพานมีช่องทางเดินตลอดสะพาน แบ่งเป็น 3 ช่อง มีความสูง 4.00 เมตรเพื่อความสะดวกในการเดินสำรวจสภาพและซ่อมบำรุงภายในสะพานแห่งนี้
  • เสาขึง (Pylon) มี 2 ต้น เป็นเสาเหล็กรูปหน้าตัดสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 3.00 x 4.50 เมตร ที่โคนเสาบนพื้นสะพาน และลดลงเป็น 2.50 x 3.00 เมตร ที่ยอดเสาสูง 87 เมตร เสาขึงนี้จะทำหน้าที่ยึดและรับแรงดึงจากสายเคเบิลแล้วถ่ายน้ำหนักลงสู่เสาตอม่อ (Pylon Pier) ภายในจะมีบันไดและลิฟท์เพื่อใช้ตรวจสอบและซ่อมบำรุง
  • สายเคเบิล (Cable) ประกอบด้วย เส้นลวด (Wire) ขนาดเล็กจำนวนมากขบกัน ในลักษณะบิดเป็นเกลียวรอบจุดศูนย์กลาง เรียกว่า Locked Coil Cable มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 121 - 167 มิลลิเมตร ความยาว 50-223 เมตร รวมจำนวน 4 ชุด ชุดละ 17 เส้นรวมทั้งหมด 68 เส้น สามารถรับแรงดึงได้ตั้งแต่ 1,500 - 3,000 ตัน

โครงสร้างฐานรากสะพาน[แก้]

โครงสร้างฐานรากสะพาน (Substructure) ประกอบด้วย เสาตอม่อ แท่นหัวเข็ม เสาเข็ม ซึ่งล้วนแต่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก มีรายละเอียด ดังนี้

  • เสาตอม่อ (Pier) เป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กจำนวน 8 ต้น ที่ฝั่งกรุงเทพฯ 4 ต้น ฝั่งธนบุรี 4 ต้น ตัวริมเรียกว่า Junction Pier (Po และ P7) เป็นเสาคู่ ถัดเข้ามาอีก 2 ตัว เรียกว่า Back Span Pier (P1, P2, P5 และ P6) เป็นเสาตันคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 3.2 x 18.0 เมตร สำหรับตอม่อริมน้ำ (P3 และ P4) มีขนาด 11.0 x 18.0 เมตร เป็นเสากลวงคอนกรีต เสริมเหล็กโดยมีผนังหนา 1.00 เมตรโดยรอบ
  • เสาเข็ม (Bore Pile) เป็นเสาเข็มเจาะคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.00 เมตร ลึกประมาณ –30 เมตร รทก ถึง –35 เมตร รทก จำนวนเสาเข็มสำหรับฐานรากริม, ฐานรากกลาง จำนวน 2 ฐาน และฐานรากเสาสูง 8, 8, 10 และ 64 ต้นตามลำดับ
  • แท่นปิดหัวเสาเข็ม (Pile Cap) เป็นแท่นคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อรองรับเสาสะพานสำหรับฐานรากริม ฐานรากกลาง 2 ฐาน และฐานรากเสาสูงโดยมีขนาด 10 x 25 x 2.50 เมตร ขนาด 11 x 20 x 4.00 เมตรและขนาด 32 x 37 x 6.00 เมตร ตามลำดับ เฉพาะแท่นปิดหัวเสาเข็มของ ฐานรากเสาสูงจะมีขนาดใหญ่ที่สุดต้องใช้ปริมาณคอนกรีตถึง 7,000 ลูกบาศก์เมตร โดยเทต่อเนื่อง

ข้อมูลทั่วไป[แก้]

  • วันที่ทำการก่อสร้าง : วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2527 (ค.ศ. 1984)
  • วันเปิดการจราจร : วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 (ค.ศ. 1987)
  • บริษัทที่ทำการก่อสร้าง : บริษัท ฮิตาชิ โซนโซน คอร์ปอเรชั่น โตเกียว คอนสตรัคชั่น จำกัด และ บริษัท โกบี สตีล จำกัด
  • ราคาค่าก่อสร้าง : 1,418,100,000 บาท
  • แบบของสะพาน : ชนิดเสาขึงระนาบเดี่ยว
  • ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง : 41.00 เมตร
  • ความยาวของสะพาน : 782.00 เมตร
  • เชิงลาดสะพาน ฝั่งพระนคร : 1,127.00 เมตร 2
  • เชิงลาดสะพาน ฝั่งธนบุรี : 807.00 เมตร
  • รวมความยาวทั้งหมด : 2,716 เมตร
  • จำนวนช่องทางจราจร : 6 ช่องทางจราจร
  • ความกว้างสะพาน : 33.00 เมตร

สะพานคู่ขนาน[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (บรรณาธิการ). กาลานุกรมสยามประเทศไทย 2485-2554. กรุงเทพฯ : โพสต์ พับลิชชิง, มีนาคม 2555. 366 หน้า. หน้า 256. ISBN 978-974-228-070-3

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

13°40′55″N 100°31′08″E / 13.682058°N 100.519001°E / 13.682058; 100.519001

สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน
เหนือน้ำ
สะพานกรุงเทพ
สะพานพระราม 9
ท้ายน้ำ
สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9