วัดไชยวัฒนาราม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดไชยวัฒนาราม
วัดไชยวัฒนาราม มุมจากโดรนเมื่อปี พ.ศ. 2565
วัดไชยวัฒนารามตั้งอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดไชยวัฒนาราม
ที่ตั้งของวัดไชยวัฒนารามในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดไชยวัฒนารามตั้งอยู่ในประเทศไทย
วัดไชยวัฒนาราม
วัดไชยวัฒนาราม (ประเทศไทย)
ที่ตั้งตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประเภทวัด
ส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
ความเป็นมา
ผู้สร้างสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
สร้างพ.ศ. 2173
ละทิ้งพ.ศ. 2310
สมัยอยุธยา
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่
ขุดค้นพ.ศ. 2530–2535
ผู้ขุดค้นกรมศิลปากร
สภาพซากปรักหักพัง
ผู้บริหารจัดการกรมศิลปากร
การเปิดให้เข้าชมทุกวัน 08.00-18.30 น.
สถาปัตยกรรม
รูปแบบสถาปัตยกรรมอยุธยา

วัดไชยวัฒนาราม หรือ วัดชัยวัฒนาราม เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยาตอนปลายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ที่ ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทางฝั่งตะวันตกนอกเกาะเมือง[1] วัดไชยวัฒนาราม ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญของกรุงศรีอยุธยา

วัดไชยวัฒนารามเป็นวัดสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. 2173[2]โดยเดิมบริเวณที่ตั้งของวัดแห่งนี้เคยเป็นที่อยู่ของพระราชมารดาที่ได้สิ้นพระชนม์ไปก่อนที่พระเจ้าปราสาททองได้เสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อพระองค์ได้เสวยราชสมบัติ พระองค์จึงได้สร้างวัดไชยวัฒนารามขึ้นเพื่ออุทิศผลบุญนี้ให้กับพระราชมารดาของพระองค์ และอีกประการหนึ่งวัดนี้อาจถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือเขมรด้วย จึงทำให้มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมส่วนหนึ่งมาจากปราสาทนครวัด[3]

ประวัติ[แก้]

วัดไชยวัฒนาราม ได้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2173 โดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นบนที่ที่เป็นบ้านเดิมของพระองค์เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายพระราชมารดา แต่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือนครละแวกโดยจำลองแบบมาจากปราสาทนครวัด

วัดไชยวัฒนารามเป็นวัดหลวงที่บำเพ็ญพระราชกุศลของพระมหากษัตริย์สืบต่อมาหลังจากนั้นทุกพระองค์ จึงได้รับการปฏิสังขรณ์สืบต่อมาทุกรัชสมัย เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงศพพระบรมวงศานุวงศ์เกือบทุกพระองค์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคตก็ได้ถวายพระเพลิงที่วัดนี้

ก่อนกรุงแตก พ.ศ. 2310 วัดไชยวัฒนารามถูกแปลงเป็นค่ายตั้งรับศึก หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง วัดไชยวัฒนารามได้ถูกปล่อยทิ้งให้ร้างเรื่อยมา บางครั้งมีผู้ร้ายเข้าไปลักลอบขุดหาสมบัติ เศียรพระพุทธรูปถูกตัดขโมย มีการรื้ออิฐที่พระอุโบสถ และกำแพงวัดไปขาย แต่ในปี พ.ศ. 2530 กรมศิลปากรจึงได้เข้ามาอนุรักษ์จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2535

สถาปัตยกรรม[แก้]

วัดไชยวัฒนารามเมื่อครั้งอุทกภัยปี 2554

ฐานภายใน[แก้]

วัดไชยวัฒนาราม มีปรางค์ประธานและปรางค์มุมอยู่บนฐานเดียวกัน พระปรางค์ประธานนำรูปแบบของพระปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้นมาก่อสร้าง แต่ปรางค์ประธานที่วัดไชยวัฒนารามทำมุขทิศยื่นออกมามากกว่า บนยอดองค์พระปรางค์ใหญ่อาจเคยประดิษฐานเจดีย์ขนาดเล็ก สื่อถึงพระเจดีย์จุฬามณีบนยอดเขาพระสุเมรุ รอบพระปรางค์ใหญ่ล้อมรอบไปด้วยระเบียงคตที่เดิมนั้นมีหลังคา ภายในระเบียงคตประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยที่เคยลงรักปิดทองจำนวน 120 องค์ เป็นเสมือนกำแพงเขตศักดิ์สิทธิ์ ตามแนวระเบียงคตตรงทิศทั้งแปดสร้างเมรุทิศ และ เมรุมุม (เจดีย์รอบ ๆ พระปรางค์ใหญ่) ภายในเมรุทุกองค์ประดิษฐานพระพุทธรูป ภายในซุ้มเรือนแก้วล้วนลงรักปิดทอง ฝาเพดานทำด้วยไม้ประดับลวดลายลงรักปิดทองเช่นกัน

พระอุโบสถ[แก้]

พระอุโบสถ สร้างอยู่ทางด้านหน้ากำแพงเมรุทิศเมรุราย นอกระเบียงคต ปัจจุบันเหลือแต่ฐาน ข้าง ๆ มีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง มีกำแพงล้อมรอบโบราณสถานสำคัญแหล่านี้ถึง 3 ชั้น และ มีปรางค์เจดีย์ขนาดย่อมอีกจำนวนหนึ่งซึ่งสร้างเพิ่มในภายหลัง

เมรุทิศเมรุราย[แก้]

เมรุทิศเมรุราย ตั้งล้อมรอบพระปรางค์อยู่ทั้งสิ้น 8 องค์ โดยผนังภายในเมรุเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปใบไม้ใบกนก ซึ่งลบเลือนไปมากแล้ว ผนังด้านนอกของเมรุมีภาพปูนปั้นพุทธประวัติ จำนวน 12 ภาพ ซึ่งในปัจจุบันเลือนไปแล้วเช่นกัน แต่เมื่อ 20 ปีที่แล้วยังสามารถเห็นได้ชัด เมรุเป็นทรงปราสาท ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 7 ชั้น รองรับส่วนยอดที่ ชื่อที่มานั้นนำมาจากเมรุ พระบรมศพพระมหากษัตริย์สมัยพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีแนวความคิด มาจากคติเขาพระสุเมรุอีกต่อหนึ่ง พระพุทธรูปปูนปั้นที่ประดิษฐานอยู่ภายในเมรุทิศเมรุมุม ของระเบียงคตวัดไชยวัฒนาราม มีลักษณะคล้ายคลึงกับพระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ (หรือพระพุทธนิมิต) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ ประดิษฐานอยู่ที่วัดหน้าพระเมรุ ซึ่งสันนิษฐานว่าได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เช่นเดียวกัน

อุทกภัย พ.ศ. 2554[แก้]

จากเหตุอุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2554 เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้เข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรหลังวัดไชยวัฒนาราม ระดับน้ำสูงกว่า 2 เมตร ซึ่งจากการตรวจสอบเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พบว่า โบราณสถานในเขตเกาะเมืองได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมดแล้ว ด้านกรมศิลปากรเตรียมบูรณะ คาดใช้งบไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท[4]

คลังภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. วัดไชยวัฒนาราม | วัดโบราณในพระนครศรีอยุธยา
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-16. สืบค้นเมื่อ 2015-04-25.
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-16. สืบค้นเมื่อ 2015-04-25.
  4. อยุธยาอาการหนักน้ำ 2 เมตรท่วมวัดไชยวัฒนาฯ
  • วิไลรัตน์. 2546. กรุงศรีอยุธยา. อมรินทร์พริ้นติ้ง