วังสระปทุม

พิกัด: 13°44′53″N 100°31′56″E / 13.748191°N 100.532230°E / 13.748191; 100.532230
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วังสระปทุม
พระตำหนักสมเด็จพระบรมราชชนก วังสระปทุม
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปิดใช้งาน
ประเภทวัง
ที่ตั้งแขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน
เมือง กรุงเทพมหานคร
ประเทศ ไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2459

วังสระปทุม ตั้งอยู่บริเวณถนนพระรามที่ 1 และถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานที่ดินให้เป็นที่สร้างวังของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชโอรสในพระองค์ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า แต่ยังมิได้มีการสร้างวังขึ้น ณ ขณะนั้น เนื่องจากสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ได้เสด็จไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ หลังจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้เสด็จออกมาประทับนอกพระบรมมหาราชวัง ทรงเริ่มสร้างพระตำหนักขึ้น ณ วังสระปทุม และเสด็จประทับเป็นการถาวรตลอดพระชนม์ชีพพร้อมด้วยสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และครอบครัว คือราชสกุลมหิดล ปัจจุบันวังสระปทุมเป็นที่ประทับของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยท่านผู้หญิงพลอยไพลิน เจนเซน และท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน

นอกจากนี้ วังสระปทุมยังใช้เป็นสถานที่จัดงานอภิเษกสมรสของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี รวมทั้ง ยังเป็นสถานที่จัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงอีกด้วย

ประวัติ[แก้]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริจะพระราชทานที่ดินบริเวณถนนปทุมวันหรือถนนพระรามที่ 1 ให้เป็นสถานที่สร้างวังพระราชทานแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ พระราชโอรสซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า แต่เนื่องจากในขณะนั้นพระองค์ได้เสด็จไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา จึงยังไม่มีการสร้างพระตำหนักขึ้นตราบกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานสิทธิ์ในที่ดินให้เป็นของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ในเวลาต่อมา[1]

หลังจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีได้เสด็จออกมาประทับภายนอกพระบรมมหาราชวัง พระองค์โปรดฯ ที่ดินบริเวณนี้มาก ถึงแม้ว่าในขณะนั้นบริเวณปทุมวันถือว่าเป็นที่ดินที่อยู่ห่างไกลจากความเจริญ รวมทั้งการคมนาคมก็ลำบากมาก พระองค์ทรงเตรียมการปลูกพระตำหนักเพื่อจะเสด็จมาประทับอยู่เป็นการถาวร โดยพระองค์ทรงคิดผังพระตำหนักเอง เนื่องจากทรงมีความรู้เรื่องทิศทางลมและฤดูกาลเป็นอย่างดี[2] ในระหว่างการก่อสร้างพระตำหนักนั้น พระองค์ได้เสด็จมาประทับ ณ พลับพลาไม้ริมคลองแสนแสบ ซึ่งเป็นที่ประทับชั่วคราวบ่อย ๆ เมื่อพระตำหนักสร้างเสร็จแล้ว สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้เสด็จเข้าประทับ ณ วังสระปทุมเป็นการถาวรตราบจนเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2498

บริเวณโดยรอบวังในสมัยนั้นเดิมเป็นที่สวน สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรดให้ปลูกพืชผักหลายชนิด เช่น กล้วย มะม่วง ขนุน เป็นต้น โดยทรงนำผลผลิตต่าง ๆ ที่ได้นั้นสำหรับตั้งโต๊ะเสวย รวมทั้งพระราชทานผลผลิตทางการเกษตรเหล่านั้นไปยังวังเจ้านายต่าง ๆ ส่วนที่เหลือ เช่น ใบตอง เชือกกล้วย กล้วยสุก ได้นำออกจำหน่ายได้รายได้ปีหนึ่ง ๆ เป็นเงินหลายร้อยบาท โดยส่วนหนึ่งพระองค์ทรงใช้สำหรับเลี้ยงดูข้าราชบริพารและทะนุบำรุงวังสระปทุม

หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงสำเร็จการศึกษากลับมายังประเทศไทยแล้ว สมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า โปรดให้สร้างพระตำหนักขึ้นอีกหลังเพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระราชโอรส โดยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ได้ประทับอยู่พระตำหนักนี้จนสิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2472 อย่างไรก็ตาม วังสระปทุมยังคงใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเรื่อยมาจนกระทั่งพระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2538 หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสระปทุมให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจนถึงปัจจุบัน[3]

ที่ตั้งและอาคาร[แก้]

วังสระปทุมตั้งอยู่บริเวณย่านสยาม เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยอาณาเขตทางด้านทิศเหนือติดคลองแสนแสบ ทิศตะวันออกติดคลองอรชรริมวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ทิศใต้ติดถนนพระรามที่ 1 และทิศตะวันตกติดถนนพญาไท ปัจจุบันแบ่งพื้นที่ของวังออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ส่วนแรก เป็นพื้นที่ประทับของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่วนที่ 2 เป็นพื้นที่สำหรับให้บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เช่าสร้างศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้ากลุ่มวันสยาม ได้แก่ สยามดิสคัฟเวอรี สยามเซ็นเตอร์ และสยามพารากอน ตั้งอยู่ติดกับถนนพระรามที่ 1 และอยู่ด้านตรงข้ามกับสยามสแควร์

สำหรับพื้นที่ส่วนที่เป็นที่ประทับของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีนั้น ประกอบด้วยพระตำหนักและเรือนต่าง ๆ ดังนี้

พระตำหนักใหญ่[แก้]

พระตำหนักใหญ่เป็นตำหนัก 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน ทาสีเหลืองทั้งองค์พระตำหนัก โดยมีลักษณะเด่นอยู่ที่ฝาผนังใกล้เพดานชั้นบนซึ่งเป็นปูนปั้นรูปดอกไม้[4] พระตำหนักใหญ่ตั้งอยู่เกือบกลางของวังสระปทุม สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งพระองค์มีพระราชดำริในการสร้างพระตำหนักองค์นี้ทั้งเรื่องทิศทางการวางตำแหน่งของอาคาร และห้องต่าง ๆ โดยพระองค์เอง ทรงใช้ก้านไม้ขีด หางพลูเรียงเป็นรูปร่างห้อง และให้หม่อมเจ้าจันทรนิภา เทวกุล เขียนร่างเอาไว้ และส่งให้สถาปนิกออกแบบถวายตามพระราชประสงค์[2] พระตำหนักใหญ่นี้จึงได้รับแสงแดดและมีการถ่ายเทอากาศได้ดี ห้องทุกห้องได้รับลมเสมอกัน หลังจากสร้างพระตำหนักเสร็จแล้วสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้เสด็จประทับ ณ พระตำหนักแห่งนี้ตลอดพระชนมายุ

พระตำหนักเขียว[แก้]

พระตำหนักเขียวเป็นพระตำหนักแรกที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับภายในวังสระปทุม สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2459[4] พระองค์จึงได้เสด็จประทับ ณ พระตำหนักแห่งนี้ พระตำหนักเขียวตั้งอยู่บริเวณริมคลองแสนแสบ เป็นพระตำหนักก่ออิฐถือปูน ทาสีเขียว เคยใช้เป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ เช่น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีและสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระมเหสีและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จมาประทับเมื่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดียังทรงพระเยาว์

พระตำหนักใหม่ หรือ พระตำหนักสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก[แก้]

หลังจากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกทรงสำเร็จการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา พระองค์ได้เสด็จมาประทับที่วังสระปทุมเป็นการถาวร ดังนั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรดให้สร้างพระตำหนักแห่งนี้ขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระราชโอรส โดยสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ทรงให้หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ซึ่งทรงเคยรู้จักเมื่อประทับอยู่ต่างประเทศเป็นสถาปนิก โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2467 รูปแบบของพระตำหนักมีลักษณะเป็นแบบอังกฤษ สร้างอย่างประณีตและอยู่สบาย ชาววังเรียกพระตำหนักแห่งนี้ว่า "พระตำหนักใหม่"[5][4] ใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2472 และใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีตราบจนพระองค์สวรรคตในปี พ.ศ. 2538

เรือนข้าราชบริพาร[แก้]

การก่อสร้างเรือนสำหรับเป็นที่พักของข้าราชบริพารนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 ครั้ง โดยครั้งแรกสร้างขึ้นพร้อมกับพระตำหนักใหญ่ เป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ทาสีเขียว บริเวณขอบเชิงชายและช่องลมเป็นไม้ฉลุลาย เรือนที่สร้างในสมัยนี้ ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณท้ายวัง และริมสระด้านทิศะวันออกของพระตำหนักใหญ่ ส่วนครั้งที่ 2 เป็นเรือนก่ออิฐ 2 ชั้น สร้างขึ้นพร้อมการสร้างพระตำหนักสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์[4]

สถาปัตยกรรม[แก้]

ด้านสถาปัตยกรรม มีการดำเนินการออกแบบและก่อสร้างโดย เปาโล เรเมดิ สถาปนิกชาวอิตาเลียน ที่เน้นโครงสร้างหลักของอาคารให้เป็นรูปทรงแบบยุโรป ตกแต่งอาคารด้วยการทาสีสว่างซึ่งจะไม่ทำให้ตัวอาคารอมความร้อนเอาไว้[6] ภายในวังสระปทุมประกอบด้วยพระตำหนักทั้งหมด 3 แห่ง และเรือนข้าราชบริพารอีก 1 แห่ง

พระตำหนักใหญ่[แก้]

ด้านรูปลักษณ์การตกแต่งทางสถาปัตยกรรมของพระตำหนักองค์นี้ถูกออกแบบให้เน้นประโยชน์ใช้สอยตามการใช้งานถึงแม้รูปแบบบ้านจะเป็นสไตล์ฝรั่ง แต่การใช้งานทั้งตำแหน่งที่ตั้ง การรับลม การป้องกันแดดนั้นได้รับการคิดและออกแบบมาให้เข้ากับประเทศไทยได้อย่างลงตัว ภายในห้องเทาหรือห้องบรรทมสมเด็จพระบรมราชชนก ถูกนำมาจัดแสดงเฟอร์นิเจอร์ของเดิม โดยได้มีการทาสีใหม่ นอกจากนี้ยังมีเครื่องพระสำอางเป็นเครื่องแก้วเจียระไน อีกทั้งยังมีห้องสรง ที่ใช้กระเบื้องจากยุโรป เป็นสีขาว สีแดง และสีเขียว พระตำหนักใหญ่ถูกออกแบบและวางแผนการตกแต่งโดยโดยสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โดยทรงใช้หางพลูและก้านไม้ขีดไฟจัดวางตามพระราชประสงค์ในการใช้สอย และเพื่อให้ถูกต้องตามทิศทางลมพัดผ่าน

พระตำหนักเขียว[แก้]

ลักษณะอาคารเป็นบ้านชั้นเดียวหรือบ้านชั้นครึ่งโดยออกแบบให้พื้นที่ว่างใต้โครงหลังคาเป็นห้อง ซึ่งเข้าใจว่าทำไว้เป็นบ้านหลังเล็กๆ ใช้สำหรับประทับพักผ่อนเป็นการส่วนพระองค์ ทางด้านรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นสไตล์บ้านชนบทยุโรป ลักษณะสำคัญของพระตำหนักเขียวนั้นคือ มีชานพระตำหนักยื่นลงไปริมน้ำด้านคลองแสนแสบ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพื้นที่วังสระปทุม

พระตำหนักใหม่[แก้]

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกทรงให้หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ซึ่งทรงเคยรู้จักเมื่อประทับอยู่ต่างประเทศเป็นสถาปนิก รูปแบบของพระตำหนักมีลักษณะเป็นแบบอังกฤษ สร้างอย่างประณีตและอยู่สบาย

การรักษาความปลอดภัย[แก้]

วังสระปทุมเป็นเขตพระราชฐานที่ประทับของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีการถวายอารักขาโดยอยู่ในความดูแลของ กรมวังประจำที่ประทับ วังสระปทุม ซึ่งเป็นหน่วยงานของ สำนักพระราชวัง และกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน สังกัด กองบัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมถวายอารักขาตลอด 24 ชั่วโมง ภายใต้การบัญชาจากผู้ดูแลวังสระปทุม (คุณชวลี อมาตยกุล รองราชเลขานุการในพระองค์)

เหตุการณ์สำคัญ[แก้]

พระราชพิธีอภิเษกสมรสของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์[แก้]

พระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (พระยศขณะนั้น) และนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ (พระยศขณะนั้น) จัดขึ้นในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2463 ณ วังสระปทุม โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานและพระราชทานน้ำสังข์[7] นอกจากนี้ ยังมีการจดทะเบียนเป็นหลักฐานตามแบบแผนของทางการราชสำนักด้วย

พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส พุทธศักราช 2493[แก้]

พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พระราชอิสริยยศยศขณะนั้น) กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (พระยศขณะนั้น) จัดขึ้นในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม โดยสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเป็นองค์ประธาน ในการนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในทะเบียนสมรสและโปรดให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรลงนามในทะเบียนนั้น พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชสักขีลงนามในทะเบียนนั้นด้วย หลังจากนั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จออกในพระราชพิธีถวายน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและทรงรดน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์แด่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสตามโบราณราชประเพณี ต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น "สมเด็จพระราชินี"[8]

พระราชพิธีอภิเษกสมรสของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร[แก้]

พระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร (พระราชอิสริยยศขณะนั้น) และหม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร (พระยศขณะนั้น) จัดขึ้นในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2520 ณ พระตำหนักใหม่ วังสระปทุม สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงหลั่งน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์พระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารและหม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร หลังจากนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารและหม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร กราบถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กราบบังคมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา และทำความเคารพหม่อมหลวงบัว กิติยากร หม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร และคุณหญิงพันธุ์สวลี กิติยากร หลังจากนั้นเสด็จพระราชดำเนินลงมายังห้องรับรอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงลงพระนามาภิไธย และหม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร ลงนามในสมุดทะเบียนสมรส พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชสักขีลงนามในทะเบียนนั้นด้วย ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาหม่อมหลวงโสมสวลี มหิดล ขึ้นเป็น "พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร"[9]

พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า[แก้]

หลังจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จประทับ ณ วังสระปทุมแล้ว พระองค์ทรงระลึกถึงพระราชปรารภแห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชดำริว่า วังสระปทุมเป็นสถานที่สำคัญแห่งพระราชวงศ์และชาติ สมควรที่จะจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า[10] สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจึงทรงจัดตั้ง "พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า" ขึ้นภายในวังสระปทุมเพื่อเป็นแหล่งศึกษาพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าอย่างถูกต้องและครบถ้วน[3] โดยทรงใช้พระตำหนักใหญ่ที่ประทับของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเป็นสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์[11] การเข้าชมต้องโทรมาจองล่วงหน้าก่อนทุกครั้ง

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ศรีสวรินทิรานุสรณีย์ น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, หน้า 67
  2. 2.0 2.1 สมเด็จพระศรีสวรินทิราพระบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, หน้า 94
  3. 3.0 3.1 ศรีสวรินทิรานุสรณีย์ น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, หน้า 166
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 พระราชวังและวังในกรุงเทพฯ (พ.ศ. 2325-2525), หน้า 434
  5. เจ้านายเล็ก ๆ - ยุวกษัตริย์, หน้า 79
  6. "เปิดตำนาน วังสระปทุม พระตำหนักแห่งรักของพ่อหลวงและแม่แห่งแผ่นดิน". kapook. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-09. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. เจ้านายเล็กๆ - ยุวกษัตริย์, หน้า 12
  8. ราชกิจจานุเบกษา, การพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส พุทธศักราช ๒๔๙๓, เล่ม ๖๗, ตอน ๒๓ง, ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓, หน้า ๑๖๙๐
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวในพระราชสำนัก วันที่ ๒๘ - ๓๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙, ๑ - ๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๒๐ เล่ม ๙๔, ตอน ๔ง, ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๒๕๒๐, หน้า ๑๖๑
  10. ศรีสวรินทิรานุสรณีย์ น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, หน้า 165
  11. สิริธร, Diary 2549/2006 สัตว์เลี้ยงวังสระปทุม, พิมพ์ที่ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, พ.ศ. 2548

หนังสือ[แก้]

  • แน่งน้อย ศักดิ์ศรี,หม่อมราชวงศ์, พระราชวังและวังในกรุงเทพฯ (พ.ศ. 2325-2525) , โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2525
  • สมภพ จันทรประภา, สมเด็จพระศรีสวรินทิราพระบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์, พ.ศ 2528
  • มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, ศรีสวรินทิรานุสรณีย์ น้อมรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, พิมพ์ครั้งที่ 5, ISBN 974-94727-9-9
  • สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาเจ้านายเล็กๆ - ยุวกษัตริย์. กรุงเทพ : ซิลค์เวอร์ม บุคส์, พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2549. 450 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-7047-55-1

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

13°44′53″N 100°31′56″E / 13.748191°N 100.532230°E / 13.748191; 100.532230