วลาดีมีร์ ตัตลิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วลาดีมีร์ ตัตลิน
วลาดีมีร์ ตัตลิน ราวปี ค.ศ. 1914-1915
วลาดีมีร์ ตัตลิน ราวปี ค.ศ. 1914-1915
เกิดค.ศ. 1885
คาร์กิว จักรวรรดิรัสเซีย
เสียชีวิต31 พฤษภาคม ค.ศ. 1953
(67 ปี)
มอสโก สหภาพโซเวียต
อาชีพจิตรกร, สถาปนิก
สัญชาติรัสเซีย, โซเวียต
ช่วงเวลาค.ศ.1908-1953

วลาดีมีร์ เยฟกราโฟวิช ตัตลิน (รัสเซีย: Влади́мир Евгра́фович Та́тлин, Vladimir Yevgraphovich Tatlin) เป็นจิตรกรและสถาปนิกชาวรัสเซียและโซเวียต ซึ่งเป็นหนึ่งในศิลปินชั้นนำของรัสเซียรูปแบบอาว็อง-การ์ด (ล้ำยุค) ปี ค.ศ. 1920 และต่อมาเขาก็เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงมาก ผลงานที่สำคัญของเขาคือ The Fishmonger, Counter-reliefs, Tatlin's Tower

ประวัติชีวิตในวัยเยาว์[แก้]

วลาดีมีร์ ตัตลิน เกิดในปี ค.ศ. 1885 ที่เมืองคาร์กิว[1] จักรวรรดิรัสเซีย (ปัจจุบันอยู่ในประเทศยูเครน) บิดามีอาชีพเป็นวิศวกรรถไฟ มารดามีอาชีพเป็นกวี เขาใช้ชีวิตเป็นพ่อค้าทางเรือโดยการเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น ตุรกี อียิปต์ เอเชียไมเนอร์ กรีซ อิตาลี บัลแกเรีย[2]

ประวัติชีวิตในวัยทำงานและบั้นปลาย[แก้]

ในปี ค.ศ. 1902 ตัตลินได้เข้าเรียนที่โรงเรียนจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรมแห่งมอสโก (Moscow School of Painting, Sculpture, and Architecture) ถึง ค.ศ. 1904 จากนั้นจึงเข้าเรียนที่โรงเรียนศิลปะแห่งเปนซา (Penza School of Art) ซึ่งอยู่ในการดูแลของอะเลคเซย์ อะฟานาเซียฟ (Aleksey Afanas'ev) ศิลปินที่มีแนวทางการสร้างงานด้านสังคมและการเมืองร่วมสมัย ซึ่งเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้กับแนวการสร้างงานของตัตลิน

หลังจบการศึกษาที่โรงเรียนศิลปะเปนซา ตัตลินได้กลับไปศึกษาที่โรงเรียนจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรมมอสโก และได้รู้จักคุ้นเคยกับศิลปินอาว็อง-การ์ดหลายคน เช่น the Vesnin brothers, the Burluk brothers, Natalia Goncharova, Mikhail Larionov[3]

ค.ศ. 1913 ตัตลินได้เดินทางไปกรุงปารีส และได้เข้าเยี่ยมชมสตูดิโอของปาโบล ปีกัสโซ[4] ซึ่งขณะนั้นงานที่จัดว่าเด่นสะดุดตามากที่สุดคือ กีตาร์ (Guitar, ค.ศ. 1912-1913) ซึ่งสร้างขึ้นจากแผ่นเหล็กและเส้นลวด ลักษณะแบบประติมากรรมนูนสูง แขวนอยู่บนผนังห้อง ประติมากรรมชิ้นนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างประติมากรรมโดยการประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ ขึ้นมา (constructed sculpture) และมีความสำคัญต่อแนวคิดต่อต้านธรรมชาติ (antinaturalism)

ตัตลินได้รับอิทธิพลแนวความคิดแบบบาศกนิยมมาผสมผสานประยุกต์ในการเลือกใช้วัสดุสร้างงาน และได้สร้าง The Bottle ออกมาในปี 1913 ภาพวาดของเขาได้รับแรงบันดาลใจจากโกลด มอแน และปอล โกแก็งด้วย คือภาพ The Nude (1913) แล้วพัฒนาผลงานไปในลักษณะสถาปัตยกรรมมากกว่าจิตรกรรมหรือประติมากรรม โดยให้ความสำคัญกับการเลือกชนิดวัสดุและเป็นวัสดุจากอุตสาหกรรมตามอุดมการณ์ของลัทธิเค้าโครง (constructivism)[5]

ในปี ค.ศ. 1915 เขาได้นำเอาแผ่นโลหะมาสร้างประติมากรรมแขวนนามธรรมชื่อ Counter-reliefs ซึ่งได้รับอิทธิพลจากบาศกนิยมยุคสังเคราะห์ ตัตลินแสวงหาความจริงในแง่ของวัตถุ เขาได้กลายเป็นผู้นำศิลปินลัทธิเค้าโครงในรัสเซีย และเป็นคณะกรรมการปฏิรูปสถาบันศิลปะของสหภาพโซเวียต ตัตลินเริ่มรู้สึกว่างานประเภทนี้ยังไม่เพียงพอสำหรับสังคมใหม่ เขาและเพื่อนศิลปินเห็นว่าจำต้องนำเอาการคิดค้นและประสบการณ์ของศิลปินมาใช้สร้างสรรค์ชี้นำสังคม ศิลปินสามารถสอนให้ผู้สนใจได้รู้จักธรรมชาติของวัตถุและวิธีการนำมันมาใช้ พวกเขาเองสามารถเข้าไปยังโรงงานและพัฒนาแนวทางการออกแบบใหม่ เช่น เตาผิงที่มีประสิทธิภาพราคาถูก เสื้อผ้าสำหรับใส่ในฤดูหนาว เข้ากับบรรยากาศก่อนการปฏิวัติรัสเซีย

ตัตลินได้วางแผนสร้างอนุสาวรีย์นานาชาติที่สาม (The movement to the Third International) หรือ Tatlin’s tower ในปีค.ศ. 1919-1920 หอสูงขนาดสองเท่าของตึกเอ็มไพร์สเตตแห่งนครนิวยอร์ก ด้วยเหล็ก แก้ว โลหะและกระจกเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของจักรวาล อนุสาวรีย์นี้เปรียบเสมือนโครงสร้างกระดูกเหล็ก สร้างคล้ายศูนย์ควบคุมยานอวกาศ การวางตำแหน่งของห้องเล็ก ๆ ในโครงส้รางนี้จะถูกสลับที่กันปีละครั้ง เพื่อจำลองการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ห้องเลขาธิการจะถูกสลับตำแหน่งทุก 28 วัน การออกแบบจึงซับซ้อนเพื่อรองรับวัตถุประสงค์นี้ ซึ่งความฝันแบบอุดมคติของตัตลินไม่สอดคล้องกับนโยบายของเลนิน ผู้นำสหภาพโซเวียต ที่มุ่งไปที่การขยายตัวทางการค้าและผลผลิต ดังนั้นในไม่ช้าศิลปะรัสเซียจึงสูญเสียอิสระที่จะค้นหาความหมายใหม่ แม้เป็นเพียงแบบจำลอง แต่อนุสาวรีย์นานาชาติที่สามถือเป็นงานก่อสร้างที่ทำงานได้สมบูรณ์และเป็นสัญลักษณ์ของสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในอุดมคติยุคใหม่

Le Tatlin,เครื่องร่อนขับเคลื่อนโดยใช้กำลังคน, 1930-1932

หลังจากโครงการอนุสาวรีย์นานาชาติที่สาม ตัตลินให้ความสนใจกับการเรียนการสอน ปี ค.ศ. 1920 เขาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่สตูดิโอศิลปะของรัฐหรือสโวมัส (Svomas) ในมอสโกและเป็นรักษาการหัวหน้าสตูดิโอของปริมาณ, วัสดุ, และการก่อสร้างที่สโวมัสในเปโตรกราด ปี ค.ศ. 1923-1925 ได้เข้าทำงานในกรมวัฒนธรรมทางวัตถุในเปโตกราด ใน ปี ค.ศ. 1923 ได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมศิลปะในเปโตรกราด เป็นห้องปฏิบัติการสำหรับการศึกษาทดลองของศิลปะ ซึ่งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมศิลปะที่เขาออกแบบฉากและดำเนินการการแสดง Velimir Khlebnikov บทกวีของ Zangezi ในปี ค.ศ. 1923 อันเป็นความสำเร็จของลัทธิเค้าโครง และเปิดโลกอาว็อง-การ์ดให้กว้างขึ้น

ผลงานที่กล่าวได้ว่าเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของตัตลินคือ "Le Tatlin"[6] เครื่องร่อนที่ขับเคลื่อนโดยใช้กำลังคน จากศึกษาการบินและโครงสร้างปีกของนก โดยเชื่อว่ามนุษย์จะสามารถบินเลียนแบบนกได้ สร้างจากกระดูก ปลาวาฬ และผ้าไหมโดยได้รับความร่วมมือจากศัลยแพทย์และนักบิน

ตัตลินเสียชีวิตอย่างฉับพลันจากอาการอาหารเป็นพิษ ในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1953 โดยร่างของเขาถูกฝังอยู่ที่สุสานโนโวเดวีชี (Novodevichy Cemetery) กรุงมอสโก สหภาพโซเวียต

แนวความคิดของตัตลิน[แก้]

แบบจำลอง Tatlin's Tower ที่รอยัลอะคาเดมีออฟอาตส์หรือราชสถาบันศิลปะกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

ส่วนมากผลงานของตัตลินนั้นจะแสดงออกในรูปแบบที่ไม่หวนไปสู่แบบดั้งเดิม แต่ผลิตเพื่อการใช้งานจริงขึ้นซึ่งสอดคล้องกับศิลปะเพื่อการปฏิวัติรัสเซียในช่วงศตวรรษที่ 20 ซึ่งศิลปินยุคถัดจากเขาประสบความสำเร็จโดยการใช้ศิลปะเพื่อเป็นสื่อในการผลิตโฆษณาและสร้างกระแสนิยมของรัฐ ผลงานของตัตลิน นับเป็นเวลาสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบของศิลปะรัสเซีย จากการทดลองสมัยใหม่กลายเป็นการออกแบบเชิงใช้งานได้จริง

ตัตลินเชื่อว่า วัสดุจะใช้งานเต็มประสิทธิภาพได้ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้งานของศิลปิน ในส่วนนี้มีหลักจริยธรรมที่ว่า "Truth to materials" คือแนวความคิดที่เป็นการเชื่อมผ่านประวัติศาสตร์ของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ แต่วิธีของตัตลินนั้นยังคงความชัดเจนที่จะแสดงผลงานออกมาให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนจากการนำวัสดุมาใช้สำหรับแปลภาษาหรือบอกลักษณะ มาเน้นที่การใช้งานและทำให้กลายเป็นเครื่องจักรแทน

การเป็นนักออกแบบวาดภาพของตัตลินทำให้เขาเห็นถึงความแตกต่างในตัววัสดุแต่ละชนิด ซึ่งเมื่อเขาได้เดินทางไปยังปารีสในปี 1913 แเละได้เห็นผลงานรูปแบบบาศกนิยมของปีกัสโซทำให้เขาตระหนักถึงการทำงานตลอดชีวิตของเขาและผลงานส่วนมากของเขานั้นเป็นการแสดงออกมาในลักษณะเส้นโค้ง ดังจะเห็นได้จาก Counter-reliefs (1914) และทำให้เกิดผลงานที่สำคัญอย่าง Tatlin's Tower

อย่างไรก็ตามแนวคิดของตัตลินถือเป็นแนวคิดทฤษฎีสร้างความรู้ใหม่โดยศิลปินเอง (Constructivists) ส่งอิทธิพลต่อศิลปินในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษ 20 โดยการใช้ศิลปะในการปฏิวัติสังคม และศิลปินกลุ่มสำคัญอย่างศิลปินแนวเรียกร้องสิทธิสตรีผ่านรูปแบบศิลปะ ซึ่งแนวความคิดแบบลัทธิเค้าโครงเป็นแรงบันดาลใจโดยตรงแสดงให้เห็นถึงความ "สูง" และ "ต่ำ" ของศิลปะและวัฒนธรรม[4]

วลีประจำตัวของตัตลิน[แก้]

"ไม่มีเก่า ไม่มีใหม่ แต่มีความจำเป็น"

"การตรวจสอบวัสดุ น้ำหนัก และการก่อสร้างทำให้มันเป็นไปได้ในปี 1918 เริ่มจากการรวมวัสดุที่มีความคลาสสิกทันสมัยอย่างเหล็กและกระจก เปรียบเทียบกับความเก่าแก่เคร่งครัดอย่างหินอ่อนโบราณด้วยวิธีนี้ทำให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวอย่างอนุสาวรีย์นานาชาติที่สาม"

"การทำงานและหน้าที่การใช้งานของเฟอนิเจอร์เป็นเพื่อการเริ่มต้นเท่านั้น การแสดงความทันสมัย ความจำเป็นในชีวิตประจำวัน ความคิดและการพัฒนา แสดงออกได้โดยแค่ศิลปินใส่ความรู้สึกในการสร้างแบบเผินๆ แต่แสดงออกถึงความเป็นสมัยใหม่และการเข้าใจในเหตุและผลของสิ่งนั้น"

"ศิลปะไม่ใช่สิ่งที่วางไว้ในที่ศักดิ์สิทธิ์หรือเลอค่า ไม่ได้ใช้งานอะไรได้จริง นั่นเป็นเพียงคำปลอบใจและเหตุผลของคนขี้เกียจ ศิลปะนั้นควรมีอยู่ได้ทุกที่ที่มีชีวิตอยู่"


ผลงานที่โดดเด่น[แก้]

  • 1910 – "Artist's model"
  • 1911 – "The Fishmonger"[7] เป็นการเน้นเส้นโค้งที่แสดงออกบนผืนผ้าใบ หนึ่งในผลงาน the Knave of Diamonds Exhibition เป็นการอธิบายอย่างเข้มข้นระหว่างดาวิด บูร์ลิยุค (David Burlyuk) ผู้สนับสนุนศิลปะตะวันตก กับนาตาเลีย กอนชาโรวา (Natalia Goncharova) ผู้ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย การอภิปรายนี้นำไปสู่ "The Donkey's Tail" กลุ่มคู่แข่งเน้นรัสเซียและลักษณะพื้นบ้านซึ่งเขียนโดยตัตลิน
  • 1911-1912 – "The Sailor (Self Portrait)"
  • 1912 – " Portrait of the artist"[8]
  • 1919-1920 – "Tatlin's Tower"[9] หรือโครงการ the Monument to the Third International เป็นการสร้างอนุสาวรีย์ที่มีขนาดใหญ่มาก ตัตลินต้องการสร้างงานสถาปัตยกรรมที่มีความทันสมัย
  • 1930-1932 – "Le Tatlin"[10]

อ้างอิง[แก้]

  1. Lynton, Norbert (2009). Tatlin's Tower: Monument to Revolution. New Haven: Yale University Press. p. 1. ISBN 0300111304.
  2. Lynton, Norbert (2009). Tatlin's Tower: Monument to Revolution. New Haven: Yale University Press. p. 1. ISBN 0300111304.
  3. โลกศิลปะศตวรรษที่ 20. จิระพัฒน์ พิตรปรีชา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2552.
  4. 4.0 4.1 http://www.theartstory.org/artist-tatlin-vladimir.htm
  5. http://max.mmlc.northwestern.edu/mdenner/Drama/visualarts/Constructivism/24thirdinternational.html |Constructivism. Retrieved 2014-11-29.
  6. http://www.wsws.org/en/articles/2012/06/tat1-j19.html | Tatlin’s “new art for a new world”
  7. http://www.wikiart.org/en/vladimir-tatlin#supersized-featured-255557 |The Fishmonger
  8. http://www.wikiart.org/en/vladimir-tatlin#supersized-featured-255551 | Portrait of the artist
  9. http://www.wikiart.org/en/vladimir-tatlin#supersized-featured-255548 | Tatlin's Tower
  10. http://www.wikiart.org/en/vladimir-tatlin#supersized-featured-255545 | Le tatlin

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]