ลิลิตพระลอ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลิลิตพระลอ
ชื่ออื่นไม่ทราบ
กวีไม่ทราบ
ประเภทนิยาย
คำประพันธ์ลิลิตสุภาพ
ความยาว660 บท
ยุคกรุงศรีอยุธยา
ปีที่แต่งไม่ทราบ
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมวรรณศิลป์

ลิลิตพระลอ เป็นลิลิตโศกนาฏกรรมความรัก ที่แต่งขึ้นอย่างประณีตงดงาม มีความไพเราะของถ้อยคำ และเต็มไปด้วยสุนทรียศาสตร์ พรรณนาเรื่องด้วยอารมณ์ที่หลากหลาย ใช้กวีโวหารอย่างยอดเยี่ยม ในการบรรยายเนื้อเรื่อง ที่มีฉากอย่างมากมาย หลากหลายอารมณ์ โดยมีแก่นเรื่องแบบรักโศก หรือโศกนาฏกรรม และแฝงแง่คิดถึงสัจธรรมของชีวิต ลิลิตพระลอนี้เคยถูกวิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนจากนักวรรณคดีบางกลุ่ม เนื่องจากเชื่อว่าเป็นวรรณกรรมที่มอมเมาทางโลกีย์

ลิลิตพระลอที่ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสร เมื่อ พ.ศ. 2459 ให้เป็นยอดแห่งลิลิต

ผู้แต่งและปีที่แต่ง[แก้]

ทั้งเรื่องผู้แต่งและปีที่แต่ง ไม่ปรากฏหลักการหรือข้อความระบุที่ชัดเจน แต่อาจอาศัยเนื้อเรื่องที่ระบุถึงสงครามระหว่างอยุธยาและเชียงใหม่มาเป็นจุดอ้างอิง ซึ่งเดิมนั้นเชื่อว่าน่าจะแต่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231) แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน และเป็นที่ถกเถียงกันมาจวบจนปัจจุบัน นักวิจารณ์วรรณคดีส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า ลิลิตพระลอแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาแน่ และเชื่อว่าเป็นไปได้มากที่จะแต่งขึ้นก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เนื่องจากหนังสือสอนภาษาไทย "จินดามณี" ที่แต่งโดยพระโหราธิบดีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้คัดเอาโคลงลิลิตพระลอบทที่ว่า

 
เสียงฦๅเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหล ลืมตื่น ฤๅพี่
สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือฯ
 

มาใช้เป็นแบบโคลง 4 เพราะเอกโทตรงตามตำราหมดทุกแห่ง นอกจากหนังสือจินดามณี ยังมีเค้าเงื่อนอย่างอื่นเป็นที่สังเกต คือ หนังสือบทกลอนแต่งครั้งกรุงศรีอยุธยา (ว่าตามตัวอย่างที่ยังมีอยู่) ในช่วงตอนต้นนับแต่รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมาชอบแต่งลิลิตกันเป็นพื้นมีลิลิตโองการแช่งนํ้าพระพิพัฒนสัตยา ลิลิตเรื่องยวนพ่าย และลิลิตเรื่องพระลอเป็นตัวอย่างสำนวนทันเวลากันทั้ง 3 เรื่อง แต่การกวีนิพนธ์ตอนกลางและปลายกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏว่ามีการแต่งลิลิตเรื่องใดเลย ดังนั้นจึงมีหลักฐานน่าเชื่อว่า ลิลิตพระลอ เป็นวรรณคดีที่แต่งใน กรุงศรีอยุธยาตอนต้น ราวในระหว่าง พ.ศ. 1991 จนถึง พ.ศ. 2026[1] แต่ยังมีบางท่านเสนอเวลาที่ใหม่กว่านั้น ว่าน่าจะแต่งขึ้นในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ยังมีผู้คล้อยตามไม่มากนัก เนื่องจากไม่มีหลักฐานสนับสนุน

นักวรรณคดีมักจะยกโคลงท้ายบทมาเป็นหลักฐานพิจารณาสมัยที่แต่ง ดังนี้

 
659.จบเสร็จมหาราชเจ้า นิพนธ์
ยอยศพระลอคน หนึ่งแท้
พี่เลี้ยงอาจเอาตน ตายก่อน พระนา
ในโลกนี้สุดแล้ เลิศล้ำคุงสวรรค์ฯ
660.จบเสร็จเยาวราชเจ้า บรรจง
กลอนกล่าวพระลอยง ยิ่งผู้
ใครฟังย่อมใหลหลง ฤๅอิ่ม ฟังนา
ดิเรกแรกรักชู้ เหิ่มแท้รักจริงฯ
 

จากโคลงข้างบน มีผู้เสนอว่า "มหาราช" คือกษัตริย์ เป็นผู้แต่ง และ "เยาวราช" เป็นผู้เขียน (บันทึก) และสันนิษฐานว่า ผู้แต่งน่าจะเป็น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พระเชษฐา) และผู้เขียน คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 (พระอาทิตยวงศ์) และคาดว่าน่าจะแต่งเมื่อ พ.ศ. 2034-2072[2]

อย่างไรก็ตาม นักวรรณคดีบางท่าน เสนอว่า น่าจะอยู่ในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (พ.ศ. 2077-2089) เนื่องจากเป็นสมัยที่มีสงครามระหว่างไทยกับเชียงใหม่ และเป็นสมัยแรกที่มีการใช้ปืน (ปืนไฟ) ในการรบ[3]

ภาษาสำนวนในลิลิตพระลอ อ่านเข้าใจได้ง่ายกว่าวรรณกรรมเรื่องอื่น ๆ ในสมัยอยุธยา แต่ก็ยังมีศัพท์ยาก และศัพท์โบราณอยู่บ้าง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุให้นักวิจารณ์บางท่านเสนอว่า ลิลิตพระลอแต่งในสมัยรัตนโกสินทร์

คำประพันธ์[แก้]

คำประพันธ์ในเรื่องลิลิตพระลอ เป็นลิลิตสุภาพ ประกอบด้วย ร่ายสุภาพ, ร่ายสอดสร้อย, โคลงสองสุภาพ, โคลงสามสุภาพ และ โคลงสี่สุภาพ สลับกันตามจังหวะ ลีลา และเนื้อหาของเรื่อง

เนื้อหา[แก้]

ท้าวแมนสรวงเป็นกษัตริย์ของเมืองแมนสรวง พระองค์มีพระมเหสีทรง พระนามว่า “ นางบุญเหลือ ” ทั้งสองพระองค์มีพระโอรสมีพระนามว่า “ พระลอดิลกราช ” หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า “ พระลอ ” มีกิตติศัพท์เป็นที่ร่ำลือกันว่าพระองค์นั้นทรงเป็นชายหนุ่มรูปงามไปทั่วสารทิศจนไปถึงเมืองสรอง ( อ่านว่า เมืองสอง ) ซึ่งเป็นเมืองที่ถูกปกครองโดยท้าวพิชัยวิษณุกร พระองค์มีพระนามว่า “ พรดาราวดี ” และพระองค์ทรงมีพระธิดาผู้เลอโฉมถึงสองพระองค์พระนามว่า “ พระเพื่อน ” และ “ พระแพง ”

พระเพื่อนและพระแพงได้ยินมาว่า พระลอเป็นชายหนุ่มรูปงาม ก็ให้ความสนใจอยากจะได้ยล พี่เลี้ยงของพระเพื่อนและพระแพงคือนางรื่น และนางโรยสังเกตเห็นความปรารถนาของนายหญิงของตนก็เข้าใจในพระประสงค์ สองพี่เลี้ยงจึงอาสาจะจัดการให้นายของตนนั้นได้พบกับพระลอ โดยการส่งคนไปขับซอในนครแมนสรวง และในขณะที่ขับซอนั้นจะไห้นักดนตรีพร่ำพรรณนาถึงความงามของเจ้าหญิงทั้งสอง ในขณะเดียวกันนั้นพี่เลี้ยงทั้งสองก็ได้ไปหาปู่เจ้าสมิงพราย เพื่อที่จะให้ช่วยทำเสน่ห์ให้พระลอหลงใหลในเจ้าหญิงทั้งสอง

เมื่อพระลอต้องมนต์ก็ทำให้ใคร่อยากที่จะได้ยลพระเพื่อนและพระแพงเป็นยิ่งนัก พระองค์เกิดความคลั่งไคล้ไหลหลงจนไม่เป็นอันทำอะไรแม้แต่กระทั่งเสวยพระกระยาหาร พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของพระองค์ ได้ทำให้พระราชชนนีสงสัยว่าจะมีผีมาเข้ามาสิงสู่อยู่แต่ถึงแม้ว่าจะหาหมอผีคนไหนมาทำพิธีขับไล่ก็ไม่มีผลอันใด พระลอก็ยังคงมีพฤติการณ์อย่างเดิมอยู่

เพื่อที่จะได้ยลเจ้าหญิงทั้งสอง พระลอจึงทูลลาพระราชชนนีออกประพาสป่า แต่จุดประสงค์ที่แท้จริงก็คือ เพื่อที่จะได้ไปยลเจ้าหญิงแห่งเมืองสรองนั่นเอง จากนั้นพระลอก็ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่เมืองสรองพร้อมคนสนิทอีก 2 คน คือ นายแก้ว กับนายขวัญ พร้อมกับไพร่พลอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งหมดต้องเดินผ่านป่าผ่าดงจนกระทั่งมาพบแม่น้ำสายหนึ่งมีชื่อว่า “ แม่น้ำกาหลง ”

และที่แม่น้ำกาหลงนี้เอง ที่พระลอได้ตั้งอธิษฐานว่าหากตนเองได้รอดกลับมาน้ำจะใสและไหลตามปรกติแต่หากต้องตายให้น้ำกลายเป็นสีเลือดและไหลผิดปรกติ หลังจากคำอธิษฐานนั้น แม่น้ำก็เปลี่ยนเป็นสีแดงเลือดในทันทีและไหลเวียนวนผิดปกติ เมื่อพระลอเห็นดังนั้นก็รู้ได้ว่าจะมีเรื่องร้ายรออยู่เบื้องหน้าของพระองค์ แต่ก็ไม่ได้ทำให้พระองค์เกิดความย่อท้อที่จะได้พบกับเจ้าหญิงที่พระทัยของพระองค์เรียกร้องแต่อย่างใด ถึงแม้ว่าพระองค์นั้นจะไม่เคยพบนางเลย แต่พระองค์คลั่งไคล้ไหลหลงในตัวนางทั้งสองเป็นยิ่งนัก

ส่วนเจ้าหญิงทั้งสองรอการเดินทางมาของเจ้าชายรูปงามไม่ได้ และเกรงว่ามนต์เสน่ห์ของปู่เจ้าสมิงพรายจะไม่เห็นผล จึงได้ขอร้องให้ปู่เจ้าสมิงพรายช่วยเหลืออีกครั้ง โดยให้ช่วยเนรมิตไก่งามขึ้นตัวหนึ่งให้มีเสียงขันที่ไพเราะ ทั้งสองพระองค์คิดว่าไก่ตัวนั้นจะต้องทำให้พระลอสนพระทัยและติดตามมาจนถึงเมืองสรองอย่างแน่นอน

และแล้วเหตุการณ์ก็เป็นไปตามที่เจ้าหญิงสองคาดไว้ พระลอได้ตามไก่เนรมิตไปจนถึงพระราชอุทยาน และได้พบกับเจ้าหญิงทั้งสองซึ่งกำลังทรงสำราญอยู่ ในทันทีที่ทั้งสามได้พบกันก็เกิดความรักใคร่กันในบัดดล และก็เป็นเวลาเดียวกับที่นายแก้วกับนายขวัญ ได้ตกหลุมรักของนางรื่นและนางโรยผู้ซึ่งเปิดหัวใจต้อนรับชายหนุ่มทั้งสองโดยไม่รีรอเช่นกัน ปรากฏว่าพระลอและบ่าวคนสนิทของพระองค์ลักลอบเข้าไปอยู่ในพระตำหนักชั้นในซึ่งเป็นที่ประทับของเจ้าหญิงทั้งสอง

อย่างไรก็ตาม ความลับนี้ได้ถูกเปิดเผยเข้าจนได้ เมื่อข่าวได้ไปถึงพระกรรณของพระราชาจึงได้เสด็จมาไต่สวนในทันที และเมื่อพระลอกราบทูลให้ทรงทราบเรื่อง พระองค์ก็ทรงกริ้วเป็นยิ่งนัก แต่ก็ทรงเข้าพระทัยในความรักของคนทั้งสาม และทรงจัดพิธีอภิเษกสมรสให้ทั้งสามพระองค์ทันที

ด้วยการอ้างเอาพระราชโองการของพระราชโอรสของพระนางคือ ท้าวพระพิชัยวิษณุกร พระเจ้าย่าจึงสั่งให้ทหารล้อมพระลอและไพร่พลเอาไว้ ในขณะที่พระลอกับไพร่พลได้ต่อสู้เอาชีวิตรอด พระนางก็สั่งให้ทหารระดมยิงธนูเข้าใส่ ลูกธนูที่พุ่งเข้าหาพระองค์และไพร่พลประดุจดังห่าฝนก็ไม่ปานจึงทำให้ไม่อาจจะต้านทานไว้ได้อีกต่อไป

และเพื่อที่ปกป้องชีวิตของชายคนรักพระเพื่อนกับพระแพงจึงเข้าขวางโดยใช้ตัวเองเป็นโล่กำบังให้พระลอ ทั้งสามจึงต้องมาสิ้นพระชนม์ในอ้อมกอดของกันและกันท่ามกลางศพของบ่าวไพร่ ณ ที่ตรงนั้นเอง ทันใดนั้นทั้งสองเมืองก็ต้องตกอยู่ในความวิปโยคต่อการจากไปของทั้งสามพระองค์ผู้บูชาในรักแท้

บทร้อยกรองบางตอนจากลิลิตพระลอ[แก้]

 
30.เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหล ลืมตื่น ฤๅพี่
สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือฯ
.................. ..................
215..ใดใดในโลกล้วน อนิจจัง
คงแต่บาปบุญยัง เที่ยงแท้
คือเงาติดตัวตรัง ตรึงแน่น อยู่นา
ตามแต่บุญบาปแล้ ก่อเกื้อรักษาฯ
.................. ..................
261.ลางลิงลิงลอดไม้ ลางลิง
แลลูกลิงลงชิง ลูกไม้
ลิงลมไล่ลมติง ลิงโลด หนีนา
แลลูกลิงลางไหล้ ลอดเลี้ยวลางลิง ฯ
.................. ..................
290.ร้อยชู้ฤๅเท่าเนื้อ เมียตน
เมียแล่พันฤๅดล แม่ได้
ทรงครรภ์คลอดเปนคน ฤๅง่าย เลยนา
เลี้ยงยากนักท้าวไท้ ธิราชผู้มีคุณ ฯ
.................. ..................
625.เสียงไห้ทุกราษฎร์ไห้ ทุกเรือน
อกแผ่นดินดูเหมือน จักขว้ำ
บเห็นตะวันเดือน ดาวมืด มัวนา
แลแห่งใดเห็นน้ำ ย่อมน้ำตาคน ฯ
.................. ..................  

อ้างอิง[แก้]

  1. "ลิลิตพระลอ". หอสมุดวชิรญาณ.
  2. ดร.สิทธา พินิจภูวดล. "ลิลิตพระลอ วรรณกรรมสมัยอยุธยา",วรรณกรรมสมัยอยุธยา ฉบับแปล. กรุงเทพฯ : โครงการวรรณกรรมอาเซียน, 2542.
  3. ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร."ลิลิตพระลอ:การศึกษาเชิงประวัติ", พินิจวรรณกรรม. กรุงเทพฯ : แม่คำผาง, 2535.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]