ยกกางเขน (รือเบินส์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ยกกางเขน
ศิลปินเปเตอร์ เปาล์ รือเบินส์
ปีค.ศ. 1610 - ค.ศ. 1611
ประเภทจิตรกรรมสีน้ำมันบนไม้
สถานที่มหาวิหารแอนต์เวิร์ป, แอนต์เวิร์ป
ภาพ "ยกกางเขน" กลางบานพับภาพ

ยกกางเขน (ดัตช์: Kruisoprichting; อังกฤษ: The Elevation of the Cross)[1] เป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่เป็นส่วนหนึ่งของบานพับภาพที่เขียนโดยเปเตอร์ เปาล์ รือเบินส์[2] จิตรกรสมัยบาโรกชาวดัตช์ ปัจจุบันตั้งอยู่ภายในมหาวิหารแอนต์เวิร์ป ในเมืองแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม

รือเบินส์เขียนภาพ "ยกกางเขน" ราวระหว่างปี ค.ศ. 1610 ถึงปี ค.ศ. 1611 หลังจากกลับมายังฟลานเดอส์จากอิตาลี เป็นงานที่แสดงอิทธิพลของจิตรกรสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาและบาโรกของอิตาลี เช่น การาวัจโจ, ตินโตเรตโต และมีเกลันเจโลอย่างเห็นได้ชัด แผงกลางแสดงแรงดึงระหว่างกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายของทุกคนที่พยายามยกกางเขนที่หนักด้วยน้ำหนักของพระเยซูที่ทรงถูกตรึงอยู่บนกางเขน

อิทธิพลของลักษณะการเขียนแบบทัศนมิติของมีเกลันเจโลเห็นได้อย่างชัดเจนจากความบิดเบี้ยวของร่างแต่ละร่างที่ต่างก็ใช้ความพยายามอย่างหนักในการยกกางเขนให้ตั้งขึ้น ร่างของพระเยซูแผ่ทแยงอย่างเต็มที่อยู่กลางภาพคล้ายกับการวางภาพ "ชะลอร่างจากกางเขน" โดยการาวัจโจ ที่ทั้งการยกลงและยกขึ้นปรากฏในชั่วขณะเดียวกัน รือเบินส์ใช้สีที่เต็มไปด้วยพลังและค่าต่างแสงอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นลักษณะการเขียนที่ค่อยอ่อนลงต่อมา

ในปัจจุบันภาพเขียนนี้ตั้งอยู่ภายในมหาวิหารแอนต์เวิร์ปในเมืองแอนต์เวิร์ปพร้อมกับงานเขียนอื่นของรือเบินส์ ระหว่างการยึดครองของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 พระองค์ก็ทรงนำภาพเขียนภาพนี้และภาพ "ชะลอร่างจากกางเขน" ของรือเบินส์ไปยังปารีส จนกระทั่งในปลายคริสต์ทศวรรษ 1800 ทางมหาวิหารจึงได้ภาพเขียนคืน[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Dunton, Larkin (1896). The World and Its People. Silver, Burdett. p. 164.
  2. Web Gallery of Art: Peter Pauwel Rubens[1]

ดูเพิ่ม[แก้]