พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พิกัด: 13°45′22″N 100°30′23″E / 13.7560386°N 100.506507°E / 13.7560386; 100.506507
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
แผนที่
ชื่อเดิม
พิพิธภัณฑ์รัฐสภา
ก่อตั้ง7 ธันวาคม พ.ศ. 2545
ที่ตั้ง2 ถนนหลานหลวง แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
ประเภทประวัติศาสตร์, บุคคล
เจ้าของสถาบันพระปกเกล้า
เว็บไซต์kingprajadhipokmuseum.com
พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทพิพิธภัณฑ์ และ ห้าง
สถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิก
เมืองเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
ประเทศไทย ประเทศไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2449 - 2455
ปรับปรุง6 สิงหาคม พ.ศ. 2545
(เปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์)
ผู้สร้างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[1]
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกชาร์ล เบเกอแลง
รางวัล
เว็บไซต์
King Prajadhipok Museum
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนกรมโยธาธิการ (อาคารหลังเก่า)
ขึ้นเมื่อ22 กรกฎาคม พ.ศ. 2538
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0000046
พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในตอนกลางคืน

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพิพิธภัณฑ์ในความดูแลของสถาบันพระปกเกล้า ตั้งที่อาคารกรมโยธาธิการเดิม บริเวณทางแยกผ่านฟ้าลีลาศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ก่อสร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2449 จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2455 อาคารได้รับการออกแบบโดย ชาร์ล เบเกอแลง สถาปนิกชาวฝรั่งเศส-สวิส ในรูปแบบสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิก โดยมีจุดเด่นที่โดมตรงกลาง

เดิมอาคารหลังนี้เป็นที่ตั้งของห้างยอนแซมสันแอนด์ซัน (John Sampson & Son) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า "ห้างยอนแซมสัน" ซึ่งเป็นสาขาร้านจำหน่ายผ้าตัดเสื้อ รองเท้า รวมทั้งอานม้าที่มีชื่อเสียงในย่านบอนด์สตรีท กรุงลอนดอน ได้ขยายสาขามาตั้งในเมืองไทย ตามคำชักชวนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2441 ต่อมาจึงมีรับสั่งให้ลงทุนก่อสร้างอาคารแห่งนี้ขึ้น และเปิดเช่าเรื่อยมาจนกระทั่งบริษัทเลิกกิจการไป[1]

ต่อมา หลวงไมตรีวานิช (เฉลิม ยอดมณี) เข้ามาทำการเช่าอาคาร จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "ห้างสุธาดิลก" จนหมดสัญญาลงในปี พ.ศ. 2476 กรมโยธาเทศบาลจึงได้เข้ามาเช่าเป็นที่ทำการของกรม[2] และในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2544 สถาบันพระปกเกล้าได้รับการโอนอำนาจการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ฯ จากกรมโยธาธิการ จนดำเนินการปรับปรุงตกแต่งอาคารแล้วเสร็จในปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2545

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเปิดพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2545[3] ภายในพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปัจจุบัน ภายในพิพิธภัณฑ์มีการรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ จัดแสดงภาพถ่าย เอกสาร และพระราชประวัติของพระองค์

ประวัติ[แก้]

อาคารพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว[แก้]

อาคารหลังนี้เริ่มก่อสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2449 ในปลายรัชกาลที่ 5 ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 6 ปี และเปิดให้เช่าเป็นที่ตั้ง "ห้างยอนแซมสัน" ดำเนินธุรกิจขายผ้าฝรั่งและตัดชุดสูทสากลที่มีชื่อเสียงในสมัยรัชกาลที่ 6 ต่อมาเมื่อห้างยอนแซมสันเลิกกิจการ อาคารหลังนี้จึงเปลี่ยนเป็น "ห้างสุธาดิลก" ขายเครื่องก่อสร้างและเครื่องสุขภัณฑ์ต่างๆ จนกระทั่ง พ.ศ. 2476 กรมโยธาเทศบาลจึงเช่าอาคารใช้เป็นที่ทำการของกรม จนกระทั่งกรมนี้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมโยธาธิการดังในปัจจุบัน

รูปแบบสถาปัตยกรรมของอาคารหลังนี้ออกแบบโดยนายชาร์ล เบเกอแลง สถาปนิกชาวฝรั่งเศส-สวิส เป็นอาคาร 3 ชั้น อิทธิพลสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบนีโอคลาสสิค มีหอคอยยอดโดม ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นแบบกรีก-โรมัน ในปี พ.ศ. 2538 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอาคารเป็นโบราณสถานแห่งชาติ อาคารกรมโยธาธิการหลังนี้ ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว[แก้]

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมเรียกว่า พิพิธภัณฑ์รัฐสภา อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อยู่บริเวณใต้พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หน้าอาคารรัฐสภา จัดเป็นพิพิธภัณฑ์พระมหากษัตริย์ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 พระราชทานสิ่งของส่วนพระองค์นำมาจัดแสดงและเปิดให้ประชาชนเข้าชมในปี พ.ศ. 2523 ต่อมาในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2544 สถาบันพระปกเกล้าได้รับโอนอำนาจการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ฯ และได้รับความอนุเคราะห์จากกรมโยธาธิการให้ใช้อาคารที่ตั้งในปัจจุบัน

การจัดแสดง[แก้]

ห้องจัดแสดงเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ห้องจัดแสดงเกี่ยวกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แบ่งออกเป็น 3 ชั้น โดยแต่ละชั้นจะจัดแสดงเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้

ห้องจัดแสดงชั้นที่ 1[แก้]

ห้องจัดแสดงบริเวณชั้น 1 ของพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ได้แก่ พระราชประวัติส่วนพระองค์ ตั้งแต่ขณะทรงพระเยาว์ อภิเษกสมรส จนกระทั่งเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2527 รวมทั้ง การจัดแสดงเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจต่าง ๆ เช่น การเสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ การตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งเสด็จไปประทับ ณ ประเทศอังกฤษ และพระราชกรณียกิจขณะเสด็จกลับมาประทับ ณ ประเทศไทยเป็นการถาวร นอกจากนี้ ยังจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ด้วย

ห้องจัดแสดงชั้นที่ 2[แก้]

ห้องจัดแสดงบริเวณชั้น 2 ของพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงเกี่ยวกับพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ขณะทรงพระเยาว์ เสด็จเข้าศึกษาที่ทวีปยุโรป ทรงพระผนวช ทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ (พระยศขณะนั้น) เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ทรงสละราชสมบัติ จนกระทั่ง เสด็จสวรรคตและการถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ ประเทศอังกฤษ จนกระทั่ง เชิญพระบรมอัฐิกลับมายังประเทศไทย นอกจากนี้ ยังจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระจริยวัตรและพระราชนิยมส่วนพระองค์ในด้านต่าง ๆ เช่น ดนตรี กีฬา ภาพยนตร์

ห้องจัดแสดงชั้นที่ 3[แก้]

ห้องจัดแสดงบริเวณชั้น 3 ของพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น ฉลองพระองค์ พระมาลา ฉลองพระบาท รวมทั้ง พระราชกรณียกิจต่าง ๆ เช่น การจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรไทยที่สมบูรณ์ การพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตที่จบการศึกษาเป็นครั้งแรกของประเทศไทย พระราชดำริที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญในพิธีฉลองพระนคร 150 ปี การเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้าและปฐมบรมราชานุสรณ์ พระราชลัญจกรในพระองค์

การเข้าชม[แก้]

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เปิดให้เข้าชมวันอังคาร – วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ไม่เว้นวันนักขัตฤกษ์ยกเว้นวันสงกรานต์และวันปีใหม่ ไม่เสียค่าเข้าชม กรณีเข้าเป็นหมู่คณะติดต่อประสานงานล่วงหน้าจะมีวิทยากรนำชม

การเดินทาง[แก้]

การเดินทางสามารถใช้ได้ 2 เส้นทาง[4]

ทางรถยนต์
  • รถโดยสารประจำทาง สาย 2, 15, 25, 44, 47, 59, 60
  • รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ สาย 39, 44, 59, 79, 511, 512
ทางเรือ

อ้างอิง[แก้]

13°45′22″N 100°30′23″E / 13.7560386°N 100.506507°E / 13.7560386; 100.506507