พร่องแป้ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พร่องแป้ง (อังกฤษ: low-carbohydrate หรือ low-carb, lowcarb) ซึ่งเป็นแนวทางในการเลือกรับประทานอาหารที่ลดสัดส่วนของอาหารพวกแป้งและน้ำตาล หรือ คาร์โบไฮเดรต ให้น้อยที่สุด และหันมารับประทานพวกโปรตีนและไขมันให้มากขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการลดหรือควบคุมน้ำหนัก แนวทางนี้จะตรงกันข้ามกับแนวทาง "พร่องไขมัน" (low fat) ซึ่งให้ลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งเป็นแนวทางที่นักโภชนาการส่วนใหญ่ส่งเสริมให้ทุกคนปฏิบัติ

ประวัติ[แก้]

มีการบันทึกในประวัติศาสตร์ตะวันตกว่า มีผู้กล่าวถึงแนวทางพร่องแป้งนี้มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยนายวิลเลี่ยม แบนทิ้ง ชาวอังกฤษได้ตีพิมพ์หนังสือชื่อ Letter on Corpulence Addressed to the Public (จดหมายว่าด้วยเรื่องความอ้วนเสนอต่อสาธารณชน) เล่าถึงความสำเร็จในลดความอ้วนของเขาโดยวิธีลดการบริโภคคาร์โบไฮเดรต

ในปี ค.ศ. 1972 นายแพทย์แอตคินส์ ชาวอเมริกันตีพิมพ์หนังสือชื่อ Diet Revolution (ปฏิวัติการกิน) ซึ่งพูดถึงหลักการและแนวทางในการลดและความคุมน้ำหนักด้วยการลดการบริโภคแป้งและน้ำตาลอย่างละเอียด หนังสือเล่มนี้ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกา แต่ก็ได้สร้างเสียงวิพากย์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากนักโภชนาการและวงการแพทย์ด้วยเช่นกัน แม้จะมีเสียงวิพากย์วิจารณ์แต่นายแพทย์แอทคินส์ก็ยังคงยืนยันความถูกต้องของแนวทางนี้และออกหนังสือเล่มใหม่ชื่อ New Diet Revolution ในปี ค.ศ. 2001 ซึ่งกลายเป็นหนังสือที่ขายดีมากจนปัจจุบัน และดูเหมือนว่าแนวทางพร่องแป้งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆในสังคมตะวันตก

เหตุผลสนับสนุนแนวทางพร่องแป้ง[แก้]

ผู้สนับสนุนแนวทางพร่องแป้งบางคนให้เหตุผลว่า บรรพบุรุษของมนุษย์ในยุคหินกินอาหารพวกเนื้อสัตว์และไขมันเป็นหลัก ร่างกายของมนุษย์ไม่ได้มีวิวัฒนาการที่เหมาะสมกับการรับประทานแป้งและน้ำตาลเป็นอาหารหลักในลักษณะที่ผู้คนในปัจจุบันปฏิบัติ โดยแป้งและน้ำตาลจะถูกเปลี่ยนไปเป็นไขมันสะสมไว้ แต่ไม่มีขบวนการที่จะทำให้ร่างกายรู้สึกว่าสะสมไขมันเพียงพอแล้ว ทำให้ไขมันถูกสะสมไปเรื่อยๆ และนำไปสู่ภาวะอ้วนในที่สุด

นอกจากนั้น ยังมีผลการศึกษามากขึ้นที่แสดงให้เห็นว่า การจำกัดอาหารพวกแป้งและน้ำตาลและหันมารับประทานเนื้อสัตว์และไขมันมากขึ้น ช่วยให้ลดน้ำหนักได้จริง

เหตุผลคัดค้าน[แก้]

ผู้คัดค้านแนวทางพร่องแป้งอ้างว่า การรับประทานอาหารที่เน้นเนื้อสัตว์และไขมัน อาจทำให้ระบบเผาผลาญของร่างกายเปลี่ยนไปสู่ภาวะ ketosis ซึ่งมีผลข้างเคียงคือ การปวดหัว อาการคลื่นเหียนวิงเวียน อ่อนเพลีย ภาวะขาดน้ำ และกลิ่นปาก นอกจากนั้น หากไม่มีการบริโภคพวกผักและผลไม้ด้วย ก็อาจเกิดการท้องผูก

นอกจากนั้น การบริโภคไขมันอิ่มตัวมากอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจ

สูตรต่าง ๆ ของแนวทางพร่องแป้ง[แก้]

แนวทางพร่องแป้งมีอยู่หลายสูตร เช่น South Beach Diet, Atkins Diet, Zone Diet. สูตรเหล่านี้ให้ลดการบริโภคแป้งและน้ำตาลหันมาบริโภคโปรทีนและไขมันเช่นเดียวกัน ความแตกต่างอยู่ที่ปริมาณการบริโภคผักและผลไม้ โดยหลักอาจกล่าวได้ว่า น้ำตาลเป็นตัวเดียวที่ทุกสูตรห้ามไม่ให้รับประทาน ถัดมาก็เป็นผลไม้ ส่วนผักบางสูตรไม่ห้าม และบางสูตรห้ามเฉพาะในช่วงแรก

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]