พระเจ้าหลุยส์ที่ 12 แห่งฝรั่งเศส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าหลุยส์ที่ 12
พระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศส
ครองราชย์7 เมษายน ค.ศ. 1498 - 1 มกราคม ค.ศ. 1515
ราชาภิเษก27 พฤษภาคม ค.ศ. 1498
รัชกาลก่อนหน้าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 แห่งฝรั่งเศส
รัชกาลถัดไปพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 แห่งฝรั่งเศส
พระราชสมภพ27 มิถุนายน ค.ศ. 1462
วังบลัวส์ ในประเทศฝรั่งเศส
สวรรคต1 มกราคม ค.ศ. 1515

(52 ปี)


ปารีส ในประเทศฝรั่งเศส
พระอัครมเหสีฌานน์ สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส
แอนน์แห่งบริตานี สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส
แมรี ทิวดอร์ สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส
พระราชบุตรโคลด สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส
เรเนแห่งฝรั่งเศส
ราชวงศ์วาลัวส์
พระราชบิดาชาร์ลส์ ดยุกแห่งออร์เลอองส์
พระราชมารดามารีแห่งคลีฟส์

พระเจ้าหลุยส์ที่ 12 แห่งฝรั่งเศส (อังกฤษ: Louis XII of France) (27 มิถุนายน ค.ศ. 1462 - 1 มกราคม ค.ศ. 1515) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศส จากสายวาลัวส์-ออร์เลอองส์ พระเจ้าหลุยส์ที่ 12 เสด็จพระราชสมภพที่วังบลัวส์ในประเทศฝรั่งเศส เป็นพระราชโอรสของชาร์ลส์ ดยุกแห่งออร์เลอองส์ และ มารีแห่งคลีฟส์ ทรงราชย์ระหว่างวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1498 จนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1515 ที่ปารีสในประเทศฝรั่งเศส

เบื้องต้น[แก้]

พระเจ้าหลุยส์เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1462 ที่วังบลัวส์ในลัวร์-เอ-แชร์ปัจจุบันในประเทศฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1465 หลุยส์ก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ดยุกแห่งออร์เลอองส์ต่อจากบิดา

ในคริสต์ทศวรรษ 1480 หลุยส์มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามบ้า (Mad War) กับสถาบันพระมหากษัตริย์ หลุยส์ไปเป็นพันธมิตรกับฟรองซัวส์ที่ 2 ดยุกแห่งบริตตานี (Francis II, Duke of Brittany) หลุยส์เข้าต่อสู้กับกองทัพหลวงในยุทธการแซงต์-โอแบง-ดู-คอร์มิเยร์ (Battle of Saint-Aubin-du-Cormier) แต่ได้รับความพ่ายแพ้อย่างยับเยินและถูกจับ สามปีต่อมาหลุยส์ก็ได้รับการอภัยโทษ หลังจากนั้นหลุยส์ก็ร่วมในการทำศึกกับพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องในอิตาลี

พระโอรสของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 ทั้งสี่พระองค์สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ตามการตีความหมายของกฎบัตรซาลลิคในการครองราชบัลลังก์ฝรั่งเศสอนุญาตให้เฉพาะผู้สืบเชื้อสายที่เป็นชายและห้ามการสืบราชบัลลังก์ผู้สืบเชื้อสายจากสตรี เมื่อพระเจ้าชาร์ลส์เสด็จสวรรคตหลุยส์ผู้เป็นพระปนัดดาของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 5 เป็นผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดในการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์จากพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 หลุยส์จึงได้ขึ้นครองราชย์หลังจากที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 เสด็จสวรรคต

นโยบายภายในประเทศและนโยบายต่างประเทศ[แก้]

แม้ว่าจะเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่มีพระชนมายุมากแล้วและทรงมีอำนาจโดยไม่ได้คาดพระเจ้าหลุยส์ก็เป็นพระมหากษัตริย์ผู้มีบทบาทที่รวมทั้งการปฏิรูประบบกฎหมาย, ลดภาษี และปรับปรุงรัฐบาล เช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์ในสมัยเดียวกันสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 7 ทรงทำในอังกฤษ นอกจากนั้นก็ยังทรงเป็นผู้มีประสิทธิภาพในการบริหารขุนนางที่รวมทั้งฝักฝ่ายของราชวงศ์บูร์บองผู้มีอำนาจซึ่งเป็นการทำให้สร้างความมั่นคงให้แก่รัฐบาล ในกฤษฎีกาแห่งบลัวส์ (Ordinance of Blois) ของ ค.ศ. 1499 และใน กฤษฎีกาแห่งลิออง (Ordinance of Lyon) ของ ค.ศ. 1510 พระเจ้าหลุยส์ทรงขยายอำนาจของผู้พิพากษาและทรงพยายามจำกัดความฉ้อโกงทางกฎหมาย กฎหมายอันซับซ้อนของฝรั่งเศสก็ได้รับการบัญญัติและอนุมัติโดยพระราชประกาศ

ในการพยายามควบคุมดัชชีแห่งมิลาน (Duchy of Milan) ที่ทรงอ้างสิทธิจากการเป็นพระปนัดดาทางพระบิดาของวาเล็นตินา วิสคอนติ (Valentina Visconti) พระเจ้าหลุยส์ทรงเริ่มการทำศึกในสงครามอิตาลี (Italian Wars) หลายครั้งและทรงได้รับความสำเร็จในการยึดมิลานในปี ค.ศ. 1499 จากลุดโดวิโค สฟอร์ซา (Ludovico Sforza) และใช้เป็นที่ตั้งมั่นของฝรั่งเศสอยู่ 12 ปี ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือชัยชนะที่ทรงได้รับต่อเวนิสในยุทธการอญาเดลโล (Battle of Agnadello) ในปี ค.ศ. 1509 แต่หลังจากนั้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1510 สถานะการณ์ก็เริ่มเลวร้ายลง โดยเฉพาะเมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 ผู้ทรงเป็นนักการทหารผู้มีความสามารถทรงเข้าครอบครองวาติกันและก่อตั้ง “สันนิบาตคาทอลิกอิตาลี” (Catholic League) เพื่อป้องกันการขยายอำนาจของฝรั่งเศสในอิตาลี ในที่สุดฝ่ายฝรั่งเศสก็ถูกขับออกจากมิลานในปี ค.ศ. 1513

ในขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ของราชอาณาจักรเนเปิลส์ร่วมกับพระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 2แห่งราชอาณาจักรอารากอน ทั้งสองพระองค์ตกลงแบ่งอาณาจักรเนเปิลส์ในสนธิสัญญากรานาดา (ค.ศ. 1500) แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถตกลงกันได้จนก่อให้กิดสงคราม ในที่สุดในปี ค.ศ. 1504 ก็เสียเนเปิลส์

พระเจ้าหลุยส์ทรงพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นผู้ที่มีความนิยม ในปลายรัชสมัยของพระองค์ฐานะทางการคลังของพระองค์ก็มิได้ต่างไปจากเมื่อทรงเริ่มขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1498 เท่าใดนักแม้ว่าจะทรงใช้เงินไปในการทำศึกเป็นจำนวนมากหลายครั้งในอิตาลีก็ตาม การปฏิรูปงบประมาณแผ่นดินของปี ค.ศ. 1504 และปี ค.ศ. 1508 เป็นการจำกัดการใช้จ่ายและการปรับปรุงระบบการเก็บภาษี พระเจ้าหลุยส์ทรงได้รับการขนานนามว่าเป็น “พระบิดาของประชาชน” ("Le Père du Peuple") ในปี ค.ศ. 1506

การเสกสมรส[แก้]

ฌานน์พระมเหสี ผู้ต่อมาได้รับการสถาปนาให้เป็นนักบุญฌานน์แห่งวาลัวส์
พระเจ้าหลุยส์ทรงม้าศิลปะกอธิคตกแต่ง (Flamboyant Gothic) เหนือประตูวังบลัวส์

ในปี ค.ศ. 1476 พระเจ้าหลุยส์ทรงเสกสมรสกับฌานน์ สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศสพระราชธิดาในพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องของพระองค์ หลังจากพระเชษฐาของฌานน์ผู้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 ต่อจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 เสด็จสวรรคตโดยไม่มีพระราชโอรส การเสกสมรสของพระเจ้าหลุยส์ก็ได้รับการประกาศให้เป็นโมฆะเพื่อเปิดโอกาสให้พระองค์ทรงเสกสมรสกับแอนน์แห่งบริตานีพระราชินีหม้ายในพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 8 ผู้ทรงเป็นทายาทของฟรานซิสที่ 2 ดยุกแห่งบริตตานี (Francis II, Duke of Brittany) ซึ่งเป็นการทำให้สามารถผนวกดัชชีแห่งบริตตานีเข้ากับสถาบันพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศส

แต่กระบวนการประกาศให้การแต่งการเป็นโมฆะก็ไม่ง่ายนัก และได้รับการบรรยายว่าเป็น “คดีที่น่าขยะแขยงที่สุดของสมัยนั้น”[1] พระเจ้าหลุยส์มิได้ทรงใช้การแต่งงานภายในสายเลือดเดียวกัน (consanguinity) เป็นข้ออ้างซึ่งเป็นเหตุผลที่นิยมใช้เป็นข้ออ้างกันในสมัยนั้น แม้ว่าจะทรงสามารถหาพยานพิสูจน์ได้ว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดต่อกันโดยการแต่งงานของบรรดาพี่ๆ น้องๆ หลายคู่ และไม่ทรงสามารถใช้ข้ออ้างที่ว่าพระชนมายุต่ำกว่าที่ระบุไว้ในกฎหมาย (14 ปี) ที่จะต้องได้รับอนุญาตในการเสกสมรส ไม่มีใครทราบว่าพระองค์ประสูติเมื่อใด พระองค์เองตรัสว่ามีพระชนมายุ 12 ปี ผู้อื่นสันนิษฐานว่า 11 ถึง 13 ปี แต่ก็ไม่มีสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าทรงถูกบังคับให้ใช้เหตุผลอื่น

ในการพยายามทำให้การเสกสมรสเป็นโมฆะพระองค์ (ด้วยความตกพระทัยอย่างคาดไม่ถึงของพระราชินี) ก็ทรงอ้างว่าฌานน์มีความปกติทางร่างกายและทรงบรรยายอย่างละเอียดถึงสิ่งต่างๆ ที่ทรงเห็นว่าผิดปกติที่ทำให้ไม่ทรงสามารถทำหน้าที่เป็นพระสวามีของฌานน์ได้ ฌานน์ (ซึ่งก็ไม่น่าที่จะแปลกใจ) ทรงต่อสู้ข้อกล่าวหาอย่างรุนแรงทรงหาพยานที่กล่าวว่าเป็นผู้ได้ยินพระเจ้าหลุยส์ทรงคุยโวว่าทรงทำหน้าที่สามสี่ครั้งในคืนหนึ่ง (“mounted my wife three or four times during the night”)[1] พระเจ้าหลุยส์ทรงอ้างว่าการสมสู่มีอิทธิพลจากเวทมนตร์ของแม่มด ฌานน์ทรงโต้โดยทรงถามว่าถ้าเช่นนั้นพระเจ้าหลุยส์จะทรงทราบได้อย่างไรว่าการสมสู่กับพระองค์เป็นอย่างไร[2]

ถ้าพระสันตะปาปาทรงเป็นกลางแล้วฌานน์ก็คงชนะเพราะหลักฐานของพระเจ้าหลุยส์ออกจะอ่อน แต่สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ทรงมีเหตุผลทางการเมืองที่ทำให้ต้องทรงอนุมัติการหย่าร้างโดยการประกาศให้การแต่งงานเป็นโมฆะ[3] ฌานน์พิโรธแต่ก็ทรงหลีกทางให้พระอดีตสวามีและกล่าวว่าจะทรงสวดมนต์ให้พระองค์ หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น “ดัชเชสแห่งเบร์รี” หลังจากนั้นพระเจ้าหลุยส์ก็ทรงเสกสมรสกับแอนน์แห่งบริตตานี

หลังจากแอนน์สิ้นพระชนม์พระเจ้าหลุยส์ก็ทรงเสกสมรสกับแมรี ทิวดอร์พระขนิษฐาในสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษที่แอเบวิลล์ในฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 1514 เพื่อพยายามที่จะมีพระราชโอรสหรืออาจจะเพื่ออ้างสิทธิในราชบัลลังก์อังกฤษไปด้วยในตัวแต่ก็ไม่สำเร็จทั้งสองอย่าง แม้ว่าจะทรงเสกสมรสสองครั้งก่อนหน้านั้นแต่ก็ไม่มีพระราชโอรส พระเจ้าหลุยส์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1515 ไม่ถึงสามเดือนหลังจากที่เสกสมรสกับแมรี ว่ากันว่าจากการที่ทรงหักโหมในกิจกรรมในห้องพระบรรทมแต่การเสกสมรสครั้งสุดท้ายก็มิได้ทำให้มีพระราชโอรสเช่นเดียวกับสองครั้งแรก

สวรรคต[แก้]

พระเจ้าหลุยส์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1515 พระร่างได้รับการบรรจุที่มหาวิหารแซงต์เดอนีส์ (Saint Denis Basilica) ในเมื่อไม่มีพระราชโอรสราชบัลลังก์จึงตกไปเป็นของฟรองซัวส์ที่ 1 วาลัวส์-อองกูแลม ผู้เป็นพระราชบุตรเขย

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Hale, p.15
  2. Hale, p.16
  3. Hale, p.16 "The King's case was so weak that if the Pope, Alexander VI, had not been committed to granting the annulment for political purposes, he would have lost it."

ดูเพิ่ม[แก้]