นินจา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การวาดแม่แบบนินจาจากชุดสเก็ตช์ ("โฮะกุไซ มังงะ")โดย คะสึชิกะ โฮะกุไซ ภาพพิมพ์แกะไม้ในประเทศญี่ปุ่นบนกระดาษตอนที่ 6 ค.ศ. 1817
ตัวคันจิ อ่านว่า "นินจะ"

นินจา (ญี่ปุ่น: 忍者 นินจะ หรือ ญี่ปุ่น: 忍び ชิโนะบิ ความหมาย: "ผู้คงทน") ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มสายลับ ในช่วงสมัยเปลี่ยนการปกครองของประเทศญี่ปุ่น โดยขณะเดียวกันนินจาได้ถูกเปรียบเทียบกับซะมุไร ซึ่งซะมุไรเปรียบเหมือนนักสู้ที่ต่อสู้เบื้องหน้า ขณะที่นินจาเป็นนักสู้ที่ต่อสู้เบื้องหลัง นอกจากนี้มีการกล่าวกันว่ากลุ่มคนบางคนเป็นทั้งนินจาและซะมุไรพร้อมกัน ในปัจจุบันไม่มีร่องรอยของบุคคลที่เป็นนินจาหลงเหลือ เหลือเพียงแต่ซะมุไร สำหรับนินจาหญิงจะเรียกว่า คุโนะอิจิ

ที่มาของคำว่านินจา[แก้]

คำว่านินจาเชื่อว่ามีการใช้มาประมาณ 800 ปีก่อน ซึ่งหมายถึงบุคคลที่อยู่ในภูเขาและฝึกฝนนินจุตสุ (วิชาต่อสู้เกี่ยวกับการขโมยและการล่องหน) ซึ่งมาจากประโยคที่ว่า ชิโนบิโนะโมโนะ โดยเขียนในคันจิว่า 忍者 โดยตัวอักษรแรก 忍 (นิน) หมายถึง "คงทน" โดยในภายหลังคำนี้ได้มีความหมายเพิ่มเติมหมายถึง "การซ่อนตัว" และ "การขโมย" โดยตัวอักษรที่สอง 者 (จา) หมายถึง "บุคคล" นอกจากนี้ได้มีภาษาจีนได้กล่าวถึงนินจาว่า 林鬼 (หลินกุ่ย) ซึ่งหมายถึง ปีศาจในป่า

ประวัติของนินจา[แก้]

เนื่องจากตามลักษณะของนินจาที่ได้ชื่อว่านินจาไม่เคยทิ้งร่องรอยอะไรไว้รวมถึงไม่กล่าวคุยโวเกี่ยวกับผลงานของตัวเอง ซึ่งทำให้ผลงานหรือชีวประวัติของนินจาถูกเก็บไว้เป็นความลับ ซึ่งเป็นการยากที่จะหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนินจา ในตำนานหนึ่งได้มีการกล่าวถึงมินะโมะโตะ โนะ โยะชิสึเนะ ว่าได้มีเทนงูมาสอนวิชาให้มินะโมะโตะ โนะ โยะชิสึเนะเพื่อฝึกฝนเป็นนินจา โดยในประวัติศาสตร์ได้มีกล่าวไว้ว่ามีพระภิกษุชาวจีนรูปหนึ่งมาสอนเกี่ยวกับตำราพิชัยสงครามให้แก่มินะโมะโตะ โนะ โยะชิสึเนะ

โทะงะคุเระ ริวได้กล่าวถึงนินจาในช่วงปลายยุคเฮอัง ไว้ว่านินจา ได้แบ่งออก เป็น 2 ฝ่ายหลัก คือ อิงะ และโคงะ ได้ร่วมต่อสู้กัน ซึ่งในนิยายหรือการ์ตูนจะกล่าวถึงการต่อสู้ระหว่างสองฝ่ายนี้

ในยุคคะมะกุระ ได้มีประวัติศาสตร์กล่าวไว้ถึง คุซุโนะกิ มะซะชิเงะ ได้ใช้เทคนิคในการรบซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับวิชานินจา ต่อมาในช่วง ยุคเซ็งโงะกุ (หรือที่รู้จักกันว่าเป็นยุคสงคราม) ไดเมียวที่มีชื่อเสียงทุกคนมีนินจาอยู่ภายใต้การปกครองสำหรับการเป็นสายลับลอบสืบข้อมูลของฝ่ายตรงข้าม ในยุคสงครามการรู้ข้อมูลและแผนการของฝ่ายข้าศึก จะทำให้มีชัยชนะเหนือกว่า ไดเมียวบางคนได้ถูกกล่าวว่าเป็นนินจาเอง ซะนะดะ ยุคิมุระ หัวหน้ากลุ่มซะนะดะ ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มนินจา หลังจากที่ซะนะดะ ยุคิมุระนำกลุ่มทหารเพียง 3,000 คนปกป้องปราสาท สู้กับกองทัพ 50,000 คนของโทะกุงะวะ ฮิเดะตะดะ

ในยุคเดียวกัน โทะกุงะวะ อิเอะยะซุ ได้มีการใช้นินจา จนท้ายที่สุดได้ชนะสงครามและตั้งตัวเป็นโชกุนของประเทศญี่ปุ่น มีการกล่าวถึงผลงานกลุ่มนินจา นำโดยฮัตโตริ ฮันโซ หัวหน้ากลุ่มนินจาฝ่ายอิงะ เป็นผู้นำทางให้อิเอยาสุหลบหนีออกมาในช่องเขานาระภายหลังจากที่ลอบโจมตีทัพของ โอะดะ โนะบุนะงะ สงครามครั้งสุดท้ายที่มีการกล่าวถึงนินจา ในช่วงยุคของโชกุนโทะกุงะวะ คือสงครามกลางเมืองที่ชิมาบาระ ของกลุ่มชาวนาที่โกรธแค้นฝ่ายรัฐบาลที่เรียกเก็บภาษีแพง เมื่อสิ้นสุดสงครามนินจาเริ่มหมดหน้าที่ โดยนินจาบางคนได้มาเป็นโอะนิวะบังชู กลุ่มรักษาความปลอดภัยของปราสาทเอะโดะ ทำหน้าที่ปกป้องผู้ร้ายและขณะเดียวกันก็แอบสืบข้อมูลของไดเมียวคนอื่น นินจาคนอื่นจะเก็บตัวปลอมปนกับชาวนาโดยยังคงฝึกฝนตัวเองอยู่ตลอดเวลาเพื่อพร้อมที่จะได้ใช้วิชานินจาที่อาจจะมีสงครามเกิดขึ้น ในช่วงยุค 200 ปีหลังจากของตระกูลโทะกุงะวะ ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใดเกิดขึ้น ทำให้ไม่มีการสืบต่อวิชานินจา โดยมีการสืบต่อผ่านทางปากต่อปากและคนสนิทเท่านั้น

ในยุคเอโดะ นินจาได้เป็นที่นิยมในหนังสือและการแสดง วิชานินจาต่าง ๆ รวมทั้ง การล่องหน การกระโดดสูง การท่องมนต์นินจา และการเรียกกบยักษ์มาช่วยต่อสู้ ถูกสร้างขึ้นในยุคนี้สำหรับใช้ประกอบในการแสดง เพื่อความบันเทิง

คาถาของนินจา[แก้]

มีหลายคนบอกว่านินจาสามารถหายตัวได้ภายในพริบตา มีคาถาอาคม เวทมนตร์ อยู่มากมาย แต่แท้ที่จริงแล้วนินจาก็เป็นมนุษย์ทั่วไป สิ่งที่พวกเขาทำได้เกิดจากการฝึกฝนล้วน ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับความพิเศษใด ๆ ทั้งสิ้น เช่น การล่องหนหายตัว นินจาก็ใช้วิธีส่วนตัวในการตบตาคนอื่นให้ดูเหมือนว่าพวกเขาสามารถหายตัวได้ก็เท่านั้น ซึ่งนั่นก็หมายความว่าพวกคาถาทั้งหลายก็เป็นเพียงเรื่องที่แต่งเติมเพิ่มสีสันเข้าไปให้นินจาสมัยใหม่ที่เน้นเรื่องราวของการโชว์และความบันเทิงนั้นดูมีความน่าสนใจขึ้น

อาวุธของนินจา[แก้]

นินจามีอาวุธที่พวกเขาพกติดตัวไว้ใช้ในยามจำเป็นและอาวุธแต่ละอย่างของนินจานั้นค่อนข้างมีขนาดที่พกพาสะดวกและง่ายต่อการใช้
[1]

ดาบ[แก้]

ดาบเปรียบเสมือนมือขวาของนินจา สั้น เล็ก เรียว บาง แต่คม ซึ่งจะเน้นการใช้แทงในระยะประชิด (ดาบนินจาซึ่งเล็กกว่าคะตะนะของซะมุไร แต่ใหญ่กว่าวะกิซะชิ)

ดาวกระจาย[แก้]

ดาวกระจาย (ญี่ปุ่น: 手裏剣โรมาจิshuriken, ชุริเก็ง) ซึ่งนินจาส่วนใหญ่พกมา ซึ่งจุดประสงค์หลักจริง ๆ ไม่ได้อยู่ที่การฆ่า แต่กลับเป็นการสกัดการเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามมากกว่า บางทีก็อาจมีการเคลือบยาพิษอีกด้วย

คุนะอิ[แก้]

คุนะอิมีไว้ขุดหลุมหรือขว้างใส่ศัตรูเหมือนดาวกระจาย

สนับมือ[แก้]

สนับมือ เป็นอาวุธที่ต้องสวมเข้าที่มือ เพื่อปัดดาบของศัตรูหรือชกศัตรู

กับดักโลหะ[แก้]

กับดักโลหะเป็นอาวุธที่ต้องโยนลงพื้นเวลาหนีศัตรู กับดักนี้จะปักติดกับเท้าของศัตรู

ตะขอยืดหยุ่น[แก้]

ตะขอยืดหยุ่นสามารถพับเก็บได้ ใช้เป็นเครื่องมือเมื่อปีนกำแพง

ความแตกต่างของนินจากับซามูไร[แก้]

นินจากับซามูไรนั้นก็คือทหารของโชกุนเฉกเช่นเดียวกัน แต่จะแตกต่างกันอย่างชัดเจนตรงที่ซามูไรนั้นเปรียบเสมือนทัพหน้าที่คอยออกสู้รบปรบมือกับฝ่ายตรงข้ามอย่างโจ่งแจ้ง แต่กับนินจาแล้ว พวกเขาคือหน่วยที่มีหน้าที่เสาะหาข้อมูลลับของฝ่ายตรงข้ามโดยตรง พวกเขาจะทำงานกันอย่างลับ ๆ ไม่เปิดเผย ชอบทำงานกับความมืดเป็นอย่างยิ่ง และแยกส่วนออกจากซามูไรอย่างชัดเจน

เครื่องแต่งกาย[แก้]

เครื่องแต่งกายของนินจานั้นก็คงเป็นการสวมชุดดำทั้งชุด โพกหน้าปิดปากด้วยผ้าสีดำเช่นกัน ซึ่งนั่นอาจเป็นภาพที่เห็นได้ทั่วไปตามสื่อต่าง ๆ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่มีหลักฐานใด ๆ ชี้ชัดว่าเครื่องแต่งกายของนินจานั้นเป็นเช่นไร แต่โดยหลักการแล้ว พวกเขาก็คงต้องใส่ชุดที่สามารถอำพรางตัวได้ เนื้อผ้าน้ำหนักเบา เพื่อการทำงานที่ง่ายและสะดวก และในเมื่อส่วนใหญ่นินจาทำงานในเวลากลางคืน เพราะฉะนั้นเสื้อผ้าสีดำก็น่าจะเป็นอะไรที่เหมาะสมกับพวกเขาที่สุดแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ที่เห็นก็จะไล่ลงมาตั้งแต่หมวกคลุมศีรษะ ผ้าปิดปาก ชุดสีดำไล่ยาวลงไปถึงด้านล่าง

ในปัจจุบัน[แก้]

มีหลายคนยังคงบอกว่า นินจายังคงมีตัวตนอยู่ โดยทำงานหน่วยข่าวกรองของประเทศญี่ปุ่น แต่เท็จจริงประการใดยังไม่มีใครรู้แน่ชัด ส่วนสำนักนินจาหรือหมู่บ้านนินจาอิงะก็กลายไปเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไปแล้ว แต่ถ้าหากพูดถึงวิชานินจิตสึที่เป็นวิชาดั้งเดิมของนินจาก็ยังมีอยู่ โดย “สำนักบูจินกัน” ที่ประเทศญี่ปุ่นยังมีการสืบทอดและเปิดสอนกับบุคคลทั่วไปที่สนใจศาสตร์แห่งนินจาอย่างแท้จริง โดยคุณมาซากิ ฮัตสึมิ เป็นผู้สืบทอดรุ่นที่ 34 มากไปกว่านั้นผู้ฝึกสอนของสำนักนี้ก็เป็นผู้สอนให้กับกองทหารและตำรวจทั่วโลก (นาวิกโยธินสหรัฐอเมริกาก็มีหลักสูตรการเรียนบางส่วนที่ได้รับจากสำนักบูจินกันด้วย) ซึ่งส่วนในประเทศไทยก็มีโรงฝึกบูจินกันที่เปิดสอนศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่นแบบจริงจังกันอยู่

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. หนังสือโดเรมอนเจาะเวลาหาอดีต หน้าที่ 89

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]