นกตะขาบทุ่ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นกตะขาบทุ่ง
นกตะขาบทุ่ง (C. benghalensis) ที่พบในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ประเทศไทย
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Coraciiformes
วงศ์: Coraciidae
สกุล: Coracias
สปีชีส์: C.  benghalensis
ชื่อทวินาม
Coracias benghalensis
Horsfield, 1840
แหล่งการกระจายพันธุ์ในคาบสมุทรอินโดจีน และบางส่วนของอนุทวีปอินเดีย
ชื่อพ้อง
  • Corvus benghalensis affinis

นกตะขาบทุ่ง หรือ นกขาบ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Coracias affinis; อังกฤษ: Indochinese roller) เป็นนกประจำถิ่นที่พบในคาบสมุทรอินโดจีน และบางส่วนของอนุทวีปอินเดีย ในอดีตนกตะขาบทุ่งถูกรวมเป็นชนิดย่อยของนกตะขาบอินเดีย (C. benghalensis) ซึ่งปัจจุบันแยกออกเป็นต่างชนิดกัน ลักษณะเด่นที่แตกต่างของนกตะขาบทุ่งคือ สีฟ้าและน้ำเงินโดยรวมเข้มกว่า คอสีน้ำตาลเข้มและแกมด้วยสีครามเด่นชัด ท้ายทอยและหลังสีน้ำตาลมะกอกเข้ม[1] ไม่มีริ้วขาวคาดตามยาวช่วงลำคอและอก พบได้ทั่วไปตามต้นไม้ริมทางหรือสายไฟ ทุ่งนา ป่าโปร่ง ในประเทศไทยพบได้ทุกภาคยกเว้นภาคใต้ฝั่งอันดามัน นกตะขาบทุ่งเป็นนกหนึ่งในสองชนิดของวงศ์นกตะขาบ (Coraciidae) ที่พบในประเทศไทย ซึ่งอีกชนิดคือ นกตะขาบดง (Eurystomus orientalis) นกตะขาบทุ่งมีขนาดใกล้เคียงกับนกพิราบ กินอาหารจำพวกแมลง สัตว์เล็ก ๆ หรือกิ้งก่าในบางครั้ง[2]

อนุกรมวิธาน[แก้]

ได้รับการระบุชนิดอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1840 โดยโทมัส ฮอร์สฟิลด์ (Thomas Horsfield) นักธรรมชาติวิทยาชาวอเมริกัน ในชื่อทวินาม Coracias affinis โดยอ้างอิงจากตัวอย่างต้นแบบที่จอห์น แมคเคล็ลแลนด์ (John McClelland) นักธรรมชาติวิทยาผู้เก็บตัวอย่างในรัฐอัสสัม[3] ในบางครั้งในชื่อผู้ค้นพบซึ่งตามหลังชื่อทวินามอาจระบุเป็น "McClelland" แต่ภายใต้ระเบียบการตั้งชื่อสัตววิทยาระหว่างประเทศระบุให้ใช้ Coracias affinis Horsfield, 1840

ชื่ออธิบายลักษณะเฉพาะ "affinis" มาจากภาษาละติน adfinis หรือ affinis หมายถึง "เกี่ยวข้อง" หรือ "พันธมิตร" (เกี่ยวดองกัน)[4]

การแยกชนิดออกจากนกตะขาบอินเดีย[แก้]

ในอดีตนกตะขาบทุ่ง (Coracias affinis) ที่พบในแถบอินโดจีนรวมทั้งประเทศไทยเคยถูกระบุให้เป็นเป็นชนิดย่อยของนกตะขาบอินเดีย (Coracias benghalensis) เนื่องจากหลักฐานการผสมข้ามพันธุ์กันได้ในเขตกระจายพันธุ์ที่ทับซ้อนอย่างแคบ ๆ ในช่วงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย แต่จากการศึกษาระดับโมเลกุลของนิวเคลียร์และไมโทคอนเดรียดีเอนเอในปี ค.ศ. 2018 พบว่า นกตะขาบทุ่งเป็นญาติใกล้ชิดที่สุดกับนกตะขาบปีกม่วง (C. temminckii)[5] ในขณะที่นกตะขาบอินเดีย (C. benghalensis) เป็นเพียงญาติระดับถัดไปซึ่งแยกออกจาก C. affinis และ C. temminckii

นกตะขาบทุ่ง (นกตะขาบทุ่งอินโดจีน) เป็นชนิดโมโนไทป์ (คือเป็นชนิดที่ไม่มีการจำแนกชนิดย่อย)[6] และอยู่ในสกุลนกตะขาบทุ่ง (Coracias) ของวงศ์นกตะขาบ (Coraciidae)


สายวิวัฒนาการ[แก้]

ความสัมพันธ์ทางสายวิวัฒนาการในสกุลนกตะขาบ (Coracias) ถูกระบุจากการศึกษาระดับโมเลกุลที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2018[7]

Coracias

นกตะขาบหัวหงอก (C. cyanogaster)





นกตะขาบม่วง (C. naevius)



นกตะขาบทุ่งหางบ่วง (C. spatulatus)






นกตะขาบทุ่งอกสีม่วง (C. caudatus)




Abyssinian roller (C. abyssinicus)



นกตะขาบยุโรป (C. garrulus)






นกตะขาบอินเดีย (C. benghalensis)




นกตะขาบทุ่ง (C. affinis)



นกตะขาบปีกม่วง (C. temminckii)







ลักษณะทางสัณฐาน[แก้]

ลำตัวตั้งตรง คอสั้น หัวโต ปากสีดำยาวปานกลาง
การหาอาหาร
โดยทั่วไปมักร้องในช่วงฤดูผสมพันธุ์

เป็นนกขนาดกลาง มีขนาดลำตัวประมาณ 30–34 เซนติเมตร[8] ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะเหมือนกัน รูปร่างป้อม ลำตัวตั้งตรง คอสั้น หัวโต ปากสีดำด้าน ยาวปานกลาง สันปากบนโค้ง จะงอยเป็นตะของุ้มเล็กน้อย ปีกกว้างแต่ยาวและปลายปีกแหลม ปลายปีกมีขน 11 เส้น ขนปลายปีกเส้นที่ 11 สั้นกว่าขนเส้นอื่นมาก จึงเห็นได้ชัดเพียง 10 เส้น ปลายหางเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือเว้าเล็กน้อย หลายชนิดมีหางแฉกลึก และบางชนิดมีหางแบบปลายแหมขึ้นอยู่กับแต่ละตัว

ขาสั้น นิ้วเท้าสั้นและไม่แข็งแรง เล็บโค้ง นิ้วเท้าข้างละ 4 นิ้ว นิ้วที่ 2 และนิ้วที่ 3 เชื่อมติดกันตรงโคนนิ้ว เรียกเท้าที่มีลักษณะดังกล่าวว่า นิ้วติดกันแต่กำเนิด (syndactyly foot) ลักษณะนิ้วมีความคล้ายคลึงกับนกกะรางหัวขวาน ในวงศ์ Upupidae

สีขน[แก้]

ม่านตาสีน้าตาลแกมเขียว หนังรอบดวงตาเป็นสีเหลืองส้มหรือน้ำตาล ตัวผู้มีคิ้วยาวสีดำ ตัวเมียมีคิ้วสั้นกว่าตัวผู้เล็กน้อย[9] ขนหางสีฟ้า ปลายหางสีน้ำเงินเข้ม ขนปีกมีหลายสีเหลื่อมกันคือ ขนคลุมหัวปีกมีสีฟ้าอมเทา (สีมะกอกเข้ม) ขนกลางปีกและขนปลายปีกสีน้ำเงิน ที่โคนขนมีสีฟ้าสด คางและใต้คอสีครามเข้ม (ม่วงแดงเข้ม) ไม่มีริ้วลายที่คอ (หรืออาจมีริ้วสีฟ้าประปราย) อกและท้องตอนบนสีน้ำตาลแกมม่วง ท้องตอนล่างจนถึงขนคลุมใต้โคนหางเป็นสีฟ้าสดแกมเขียว ใต้หางสีฟ้าสดและมีแถบสีน้ำเงินตอนปลายหาง ขาและนิ้วเท้ามีสีน้ำตาลแกมเหลือง เล็บสีดำ[1]

นกวัยอ่อนหัวจะมีสีเขียวและหลังคอจะมีสีน้ำตาลมากกว่านกโตเต็มวัย หลังคอมีสีหม่นกว่า คอสีเนื้อแกมม่วง ท้องสีฟ้าอมเขียว ขนคลุมปีกสีน้ำตาล

ความแตกต่างจากนกตะขาบอื่น[แก้]

  • นกตะขาบอินเดีย (C. benghalensis)—โดยรวมนกตะขาบอินเดียมีสีซีดกว่า ขนาดเล็กกว่า มีริ้วสีขาวทั่วคาง คอ และหน้าอก ขนใต้ปีกสีน้ำเงินอ่อนกว่า เสียงเรียกมีเสียงทุ้มกว่า
  • นกตะขาบยุโรป (C. garrulus)—ในระยะไกลอาจเข้าใจผิดว่านกตะขาบอินเดียเป็นนกตะขาบยุโรป[10] ซึ่งเป็นนกอพยพบางส่วนในของเขตการกระจายพันธุ์ของนกตะขาบอินเดีย นกตะขาบยุโรปมีคอและหางยาวกว่าขณะบิน เช่นเดียวกับขนปีกนอกสีดำและหัวสีน้ำเงินล้วน[11]
  • นกตะขาบปีกม่วง (C. temmimckii)—โดยรวมนกตะขาบปีกม่วงสีเข้ม และอาศัยเฉพาะในป่าดิบชื้นบนเกาะของอินโดนีเซียเท่านั้น
นกตะขาบทุ่ง
(C. affinis)
เปรียบเทียบกับชนิดอื่นที่คล้ายกันในสกุล (เฉพาะที่พบในเอเชีย)
นกตะขาบอินเดีย
(C. benghalensis)
นกตะขาบยุโรป
(C. garrulus)
นกตะขาบปีกม่วง
(C. temminckii)
  • สีฟ้าและน้ำเงินโดยรวมเข้ม
  • คอสีครามเด่นชัด
  • ท้ายทอยและหลังสีน้ำตาลมะกอกเข้ม
  • หน้าและคอสีน้ำตาลอ่อนอมชมพู
  • มีริ้วขาวคาดตามยาวช่วงลำคอและอก
  • ท้ายทอยและหลังสีน้ำตาลเทา
  • สีโดยรวมเป็นสีฟ้าอ่อนอมเขียว
  • หัวและคอสีฟ้าล้วนหรือเกือบทั้งหมด
  • หลังสีน้ำตาล
  • ปลายปีกนอกและในคล้ายกันคือไม่มีแถบสีฟ้าตรงปลาย
  • สีโดยรวมเป็นสีน้ำเงินเข้ม
  • ปลายปีกและหางสีน้ำเงินสด
  • ท้ายทอยและหลังสีน้ำตาลมะกอกเข้ม
  • นกประจำถิ่นของประเทศไทย[12]
  • ไม่พบในประเทศไทย
  • พบในประเทศอินโดนีเซีย

พฤติกรรมและการกระจายพันธุ์[แก้]

นกตะขาบทุ่งชอบอยู่ตามลำพังตัวเดียว เป็นนกที่หวงถิ่นมาก ถ้าหากมีนกตัวอื่นบุกรุกเข้ามา มันจะบินขึ้นไปบนเหนือยอดไม้ แล้วบินม้วนตัวลงมายังผู้บุกรุกอย่างรวดเร็วเพื่อขับไล่ โดยใช้เวลาราว 30 วินาที บางครั้งอาจบินผาดโผนพลิกแพลงราว 48 วินาที และจะร้องเสียงดัง "ค๊าบ แค๊บ ค๊าบ" ไปเรื่อย ๆ จนถึง 120 ครั้ง และเพราะเหตุที่นกตะขาบทุ่งมีความสามารถในการบินม้วนตัวกลางอากาศได้ ในภาษาอังกฤษจึงเรียกมันว่า "Roller" ซึ่งแปลว่า "ลูกกลิ้ง" หรือ"นักม้วนตัว"[13]

การกินอาหาร[แก้]

เหยื่อของนกตะขาบทุ่งได้แก่ ตั๊กแตน จิ้งหรีด แมลงหางหนีบ ผีเสื้อกลางคืน บุ้ง ต่อ ด้วง แมลงปอและแมงมุม และสัตว์มีกระดูกสันหลังตัวเล็กๆ เช่น กิ้งก่า จิ้งเหลน คางคก งู หนู หนูผีและลูกนก นกตะขาบทุ่งนับว่าเป็นนกล่าเหยื่อที่พิเศษกว่านกล่าเหยื่ออื่น ๆ เช่น นกอีเสือ นกกระเต็น หรือนกแซงแซว ที่สามารถล่าเหยื่อที่นกชนิดอื่นไม่กล้าแตะต้องเนื่องจากมีพิษได้ เช่น ตั๊กแตนหรือผีเสื้อกลางคืนที่มีสีเตือนภัย แมงป่อง ตะขาบหรืองูพิษ นกตะขาบทุ่งล่าเหยื่อตั้งแต่ตอนเช้าจนกระทั่งพลบค่ำ หรือแม้กระทั่งในเวลากลางคืน[13]

การผสมพันธุ์[แก้]

นกตะขาบทุ่งผสมพันธุ์ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ทำรังบนต้นไม้บริเวณโพรงไม้ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในบางครั้งจะแย่งรัง หรือโพรงเก่าของนกอื่นเพื่อวางไข่ ตัวเมียวางไข่ครั้งละ 2–5 ฟอง[14]

แหล่งการกระจายพันธุ์[แก้]

ส่วนมากพบในคาบสมุทรอินโดจีน พบในบางส่วนของอนุทวีปอินเดีย บางส่วนในมณฑลยูนนานและทิเบตของจีน[1]

ในประเทศไทยพบอยู่ทั่วทุกภาค ยกเว้นทางตอนใต้ของภาคใต้ พบได้ที่ความสูงมากว่าหรือประมาณ 1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล พบในป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ ป่าไผ่ ป่าฟื้นตัวที่ค่อนข้างทึบ มักพบที่ความสูงต่ำกว่า 900 เมตรจากระดับน้ำทะเล ที่ระดับ 1,500 เมตรพบได้บ้างจนถึงหายาก พบที่เทือกเขาของภาคตะวันออก เทือกเขาที่กั้นภาคกลางตอนบนกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือด้านตะวันออก และผืนป่าตะวันตกตอนบน[15]

นิเวศวิทยาและสถานภาพ[แก้]

เป็นนกประจำถิ่นที่พบได้บ่อยมากเกือบทั่วประเทศไทย จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535[16]

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 "นกตะขาบทุ่ง - eBird". ebird.org.
  2. นกตะขาบทุ่ง, ทะเลไทย.คอม
  3. Horsfield, Thomas. "List of Mammalia and Birds collected in Assam by John McClelland, Esq., Assistant-Surgeon in the service of the East-India Company, Bengal Establishment, Member of the late Deputation which was sent into that country for the purpose of investigating the nature of the Tea Plant". Proceedings of the Zoological Society of London. Part 7: 146-167 [164]. Although the volume is date 1839, the article was not published until 1840.
  4. Jobling, James A. (2010). The Helm Dictionary of Scientific Bird Names. London: Christopher Helm. p. 35. ISBN 978-1-4081-2501-4.
  5. Johansson, U.S.; Irestedt, M.; Qu, Y.; Ericson, P. G. P. (2018). "Phylogenetic relationships of rollers (Coraciidae) based on complete mitochondrial genomes and fifteen nuclear genes". Molecular Phylogenetics and Evolution. 126: 17–22. doi:10.1016/j.ympev.2018.03.030.
  6. Gill, Frank; Donsker, David; Rasmussen, Pamela, บ.ก. (January 2021). "Rollers, ground rollers, kingfishers". IOC World Bird List Version 11.1. International Ornithologists' Union. สืบค้นเมื่อ 27 April 2021.
  7. Johansson, U. S.; Irestedt, M.; Qu, Y. & Ericson, P. G. P. (2018). "Phylogenetic relationships of rollers (Coraciidae) based on complete mitochondrial genomes and fifteen nuclear genes". Molecular Phylogenetics and Evolution. 126: 17–22. doi:10.1016/j.ympev.2018.03.030. PMID 29631051.
  8. Indochinese Roller
  9. ข้อมูลเชิงชีววิทยา[ลิงก์เสีย],thaibiodiversity.org
  10. Cramp, S., บ.ก. (1985). "Coracias benghalensis Indian roller". Handbook of the Birds of Europe the Middle East and North Africa. The Birds of the Western Palearctic. Vol. IV: Terns to Woodpeckers. Oxford: Oxford University Press. pp. 778–783. ISBN 978-0-19-857507-8.
  11. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Fry1992
  12. "นกตะขาบทุ่ง Indian Roller – ภาพถ่ายนกทุกชนิดที่พบในประเทศไทย".
  13. 13.0 13.1 นกตะขาบทุ่ง[ลิงก์เสีย], birdsofthailand.net
  14. นกตะขาบทุ่ง (Indian Roller)[ลิงก์เสีย], chiangmaizoo.com
  15. แหล่งอาศัย[ลิงก์เสีย], thaibiodiversity.org
  16. นกตะขาบทุ่ง (สถานภาพ)[ลิงก์เสีย], chiangmaizoo.com

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Coracias benghalensis ที่วิกิสปีชีส์