ตารีกีปัส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ตารีกีปัส (อินโดนีเซีย: Tari Kipas) เป็นศิลปะการแสดงระบำพื้นเมืองที่เป็นวัฒนธรรมร่วมของทางภาคใต้ของประเทศไทย มาเลเซีย และซูลาเวซีใต้ของอินโดนีเซีย ที่ใช้พัดประกอบการแสดง ประกอบกับเพลงที่มีความไพเราะน่าฟัง ลีลาท่ารำจึงอ่อนช้อย และเป็นการแสดงที่แพร่หลายในหมู่ชาวไทยมุสลิม โดยเฉพาะในจังหวัดปัตตานี นอกจากนั้นยังได้นำไปเผยแพร่ยังต่างประเทศ ในงานมหกรรมพื้นบ้านโลกอีกด้วย

ความหมายของชื่อ[แก้]

คำว่า "ตารีกีปัส" มาจากภาษามลายูสองคำที่ว่า "ตารี" ที่แปลว่า ระบำ หรือ ฟ้อนรำ และคำว่า "กีปัส" ที่แปลว่า พัด ดังนั้นคำนี้จึงแปลว่า การฟ้อนรำที่ใช้พัดประกอบการแสดง

ประวัติ[แก้]

ประเทศอินโดนีเซีย[แก้]

ตารีกีปัสเป็นการแสดงพื้นเมืองของชาวโกวาในซูลาเวซีใต้ บางครั้งรู้จักกันในชื่อ กีปัสปากาเรอนา (Kipas Pakarena) โดย ปากาเรอนา แปลว่า "เล่น" เชื่อกันว่ามีการร่ายรำมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรโกวาในสมัยโบราณ[1].

เชื่อกันว่ากีปัสปากาเรอนาบอกเล่าเรื่องราวของการจากลาของคนบนโบติงลังงี (Boting Langi) คือสวรรค์ กับคนลิโน (Lino) คือคนที่ยังอยู่บนโลก การแสดงนี้แสดงให้เห็นถึงความประณีตของสตรีโกวาที่มีความนอบน้อมต่อสามี นอกจากนี้การแสดงยังมีกฎให้ทำตาหรี่ ห้ามลืมตามาก และห้ามยกขาสูงเกินไป บวกกับการแสดงชุดนึงมีความยาวประมาณ 2 ชั่วโมง ทำให้ผู้แสดงต้องมีความแข็งแรงทางกายมาก[2]

ปัจจุบันตารีกีปัสเป็นหนึ่งในการแสดงของซูลาเวซีใต้ และเป็นวัฒนธรรมร่วมของภูมิภาคดังที่พบในมาเลเซีย และไทยทางใต้

ประเทศไทย[แก้]

การแสดงชุดนี้ได้รับการฟื้นฟูโดยคณะครูโรงเรียนยะหริ่ง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ควบคุมการฝึกซ้อมโดย อาจารย์สุนทร ปิยะวสันต์ ซึ่งได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศมาเลเซีย เมื่อปี พ.ศ. 2518 ก็ได้ชมการแสดงของรัฐต่าง ๆ หลายชุด เมื่อเดินทางกลับมาประเทศไทย ก็ได้เล่าถึงการแสดงดนตรีและนาฏศิลป์ของมาเลเซียที่ได้ไปชมให้ผู้เฒ่าผู้แก่ฟัง และได้ทราบว่าเมืองยะหริ่งเดิมก็เคยมีการแสดงที่คล้ายคลึงกันกับของมาเลเซียหลายชุด ดังนั้นจึงได้คิดฟื้นฟูการแสดงพื้นเมืองชุดต่าง ๆ ขึ้น โดยเฉพาะชุดตารีกีปัส ได้นำออกแสดงครั้งแรกเนื่องในงานเลี้ยงเกษียณอายุข้าราชการครูโรงเรียนยะหริ่ง ต่อมาได้มีการถ่ายทอดการแสดงชุดตารีกีปัสไปสู่ประชาชนครั้งแรก โดยเปิดสอนให้กับคณะลูกเสือของจังหวัดปัตตานี เพื่อนำไปแสดงในงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ณ จังหวัดชลบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2522 และได้ทำชื่อเสียงให้กับจังหวัดปัตตานี เมื่อได้รับการคัดเลือกเป็นระบำชุดเปิดสนามงานกีฬาเขตแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 14 ของจังหวัดปัตตานี เมื่อปี พ.ศ. 2524 นับว่าการแสดงชุดตารีกีปัสได้เผยแพร่ไปทั่วประเทศไทยและยังเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปอย่างกว้างขวาง[3] 

ลักษณะ[แก้]

การแสดงตารีกีปัส มีรูปแบบการแสดงเป็นหมู่ระบำ ซึ่งรูปแบบการแสดงมีอยู่ 2 ลักษณะคือ

  • การแสดงเป็นคู่ ระหว่างผู้ชายและผู้หญิง หญิงล้วน
  • การแสดงเป็นหมู่ระบำโดยใช้ผู้หญิงแสดงล้วน

เครื่องแต่งกาย[แก้]

การแต่งกายฝ่ายหญิง

การแต่งกายฝ่ายหญิงแต่งกายตามแบบที่ได้รับการปรับปรุงประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้เป็นการแต่งกายของตารีกีปัส เช่น

  • เสื้อบานง
  • โสร่งบาติก หรือผ้าซอแกะ
  • ผ้าสไบ
  • เข็มขัด
  • สร้อยคอ
  • ต่างหู
  • ดอกซัมเปง
การแต่งกายฝ่ายชาย

การแต่งกายฝ่ายชายแต่งกายตามการแต่งกายของตารีกีปัส เช่น

  • เสื้อตือโละบลางอ
  • กางเกงขายาว
  • ผ้ายกเงิน ผ้ายกทอง หรือ ผ้าซอแกะ
  • เข็มขัดเป็นแนะ
  • หมวกสีดำ[4]

เครื่องดนตรี[แก้]

เครื่องดนตรีประกอบการแสดงตารีกีปัส ได้แก่ ไวโอลิน แมนโดลิน ขลุ่ย รำมะนา ฆ้อง ลูกซัด บทเพลงที่ใช้ประกอบการแสดง เป็นเพลงที่ไม่มีเนื้อร้องแต่บรรเลงดนตรี มีท่วงทำนองไพเราะอ่อนหวาน สนุกสนานเร้าใจ ชื่อเพลง อินังจีนา (Inang Cina) เป็นเพลงพื้นบ้านมลายูที่ได้รับอิทธิพลจากดนตรีจีน[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. Utami, Rizky (2014). Ensiklopedia tari-tarian Nusantara (ภาษาอินโดนีเซีย). Margacinta, Bandung. pp. 85–89. ISBN 9789796659869. OCLC 927620776.
  2. "Kipas Dance - South Sulawesi". indonesia-tourism. 9 May 2012. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-10. สืบค้นเมื่อ 2019-02-19.
  3. "ฟ้อนตาลีกีปัส". 7 August 2012.
  4. การแสดงนาฏศิลป์
  5. ทองแกมแก้ว ด., & คัญทะชา ท. (1). ตารีลีเล็ง : ระบำเทียนระบำพื้นบ้านไทยมุสลิมภาคใต้ ผลงานสร้างสรรค์จากจินตนาการของศิลปินพื้นบ้าน: เซ็ง อาบู. RUSAMILAE JOURNAL, 33 (3), 19-32. Retrieved from https://so05.tci-thaijo.org/index.php/rusamelae/article/view/62945

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]