ตราประทับ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตราประทับของกองทัพเรือสหรัฐ

ตราประทับ (postal marking) ในทางไปรษณีย์ หมายถึงการทำเครื่องหมายต่าง ๆ ลงบนซองจดหมาย หรือ สิ่งอื่นที่ส่งทางไปรษณีย์ มีหลายประเภท มีทั้งตราที่ใช้ในงานไปรษณีย์ และตราสำหรับประทับเป็นที่ระลึกในการสะสมแสตมป์

ตราประทับทางไปรษณีย์[แก้]

ตราประจำวัน[แก้]

แท่งตราประจำวัน พร้อมหมึก และแผ่นรองเวลาประทับด้วยมือ เป็นแบบที่ใช้ในประเทศไทย

ตราที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ตราประจำวัน (postmark หรือ date stamp) ซึ่งแสดงชื่อที่ทำการไปรษณีย์ และวันเดือนปีที่ประทับ โดยไปรษณีย์ต้นทางจะประทับตราลงบนดวงแสตมป์โดยมีวัตถุประสงค์คือ เป็นการทำเครื่องหมายขีดค่า (cancel หรือ cancellation) ป้องกันการนำแสตมป์กลับมาใช้ใหม่ ส่วนไปรษณีย์ระหว่างทางและปลายทาง จะประทับตราลงด้านหลังจดหมายเพื่อเป็นหลักฐานการเดินทางของจดหมาย แต่ระยะหลังไม่ค่อยได้ประทับด้านหลังเนื่องจากปริมาณจดหมายที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้นมาก และมีการคัดแยกจดหมายด้วยเครื่องอัตโนมัติ

บางประเทศแยกตราออกเป็นสองส่วน คือ ตราประจำวัน และตราขีดฆ่า (killer) ซึ่งต้องประทับด้วยมือสองครั้ง โดยจะประทับตราขีดฆ่าบนดวงแสตมป์ ส่วนตราประจำวัน ประทับบนซองโดยไม่แตะต้องแสตมป์ เพื่อจะได้เห็นวันที่และที่ทำการไปรษณีย์ชัดเจนกว่าการประทับตราประจำวันอย่างเดียวบนแสตมป์หรือส่วนของแสตมป์

ตราประจำวัน อาจประทับด้วยมือหรือด้วยเครื่องก็ได้ ซึ่งตราที่ประทับด้วยมือจะเป็นที่นิยมสะสมมากกว่า ตราที่ประทับด้วยเครื่อง (เรียกตราประทับเครื่อง, machine cancellation) อาจมีรายละเอียดอื่น เช่น เวลาที่ประทับ และอาจมีส่วนที่เพิ่มเติมสำหรับการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ (เรียกตราสโลแกน, slogan cancel) หรือเป็นลักษณะลูกคลื่นหรือรูปธง (flag cancel) เพื่อให้ตราสามารถขีดฆ่าแสตมป์หลาย ๆ ดวงพร้อมกัน

นอกจากนี้ วันที่บนตราประจำวันยังมีความสำคัญ สามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิง เช่น วันที่ส่งแบบฟอร์มการเสียภาษีทางไปรษณีย์ในหลายประเทศจะถือจากตราประจำวันเป็นหลัก ไม่ใช้วันที่หน่วยงานด้านภาษีได้รับจดหมาย

ตราอื่น ๆ[แก้]

นอกเหนือจากตราประจำวันแล้ว ตราอื่น ๆ ที่มีใช้ในการไปรษณีย์ เช่น ตรา AV สำหรับช่วยในการคัดแยกจดหมายระหว่างประเทศ ตราสำหรับประทับเป็นป้ายลงทะเบียน ตราประทับสำหรับอธิบายสาเหตุที่ไม่สามารถส่งยังผู้รับปลายทางได้ ตราที่แสดงว่าจดหมายผ่านการเซ็นเซอร์ กล่าวคือมีการเปิดอ่านและตรวจแล้วว่าเนื้อหาไม่เป็นภัย พบในช่วงสงคราม เป็นต้น

ตราประทับที่เกี่ยวข้องกับการสะสมแสตมป์[แก้]

นักสะสมกำลังประทับตราที่ระลึกในงาน โดยในภาพเป็นงานแสดงตราไปรษณียากรภาคพื้นเอเชีย ครั้งที่ 20 ณ สยามพารากอน กรุงเทพมหานคร

นอกเหนือจากตราประทับสำหรับใช้งานทั่วไปทางไปรษณีย์แล้ว ยังมีตราประทับที่จัดทำขึ้นสำหรับการสะสมโดยเฉพาะ ได้แก่

ตราประจำวันของที่ทำการไปรษณีย์ชั่วคราว[แก้]

เป็นตราประจำวันของที่ทำการไปรษณีย์ ที่เปิดให้บริการด้านไปรษณีย์ตามงานต่าง ๆ บางงานจะนำตราประจำวันจากที่ทำการไปรษณีย์ในท้องที่ไปให้ประทับตรา แต่ในหลายงานมีการออกแบบตราประจำวันเป็นพิเศษ และใช้งานเป็นเวลาจำกัด จึงมีคุณค่าต่อการสะสม ตัวอย่างเช่น ในงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ หรือ งานแสดงตราไปรษณียากรแห่งชาติ เป็นต้น ตราประจำวันดังกล่าวสามารถประทับได้เฉพาะในงานเท่านั้น เมื่อจบงานตราจะถูกเก็บเข้าคลังไม่สามารถหาประทับได้อีก

ตราประทับวันแรกจำหน่าย[แก้]

ตราประทับวันแรกจำหน่าย เป็นตราที่ประทับลงบนซองวันแรกจำหน่ายหรือของสะสมอื่น ๆ มักปรากฏอยู่บนซองเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ตอนซื้อ กล่าวคือนักสะสมไม่สามารถประทับตรานี้เองได้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่วันแรกจำหน่าย

ตราที่ระลึก[แก้]

ตราที่ระลึก เป็นตรายางที่วางอยู่ในงานวันแรกจำหน่ายในไปรษณีย์ที่จัดงาน หรือตามงานต่าง ๆ ที่ไปรษณีย์ไปเปิดบริการ (เช่น งานกาชาด) ตราที่ระลึกนี้นักสะสมสามารถประทับเองได้ โดยมีกฎเกณฑ์ (เพิ่งเพิ่มมาภายหลัง) ว่า ตราที่ระลึกจะต้องประทับบนดวงแสตมป์อย่างน้อยเท่ากับอัตราค่าส่งต่ำสุดทางไปรษณีย์ แต่มีอนุโลมในหลายกรณี เช่น เมื่อประทับบนซองวันแรกจำหน่าย

ตราที่ระลึก อาจเป็นตราเดียวตลอดทั้งงาน (เรียกตรารวม) หรือแยกวันละตรา (เรียกตราแยก) ถ้าเป็นเป็นแบบตราเดียวตลอดทั้งงาน ไปงานวันไหนก็สามารถประทับตรานั้นได้หมด สำหรับแบบที่แยกวันนั้น วิธีการสะสมจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทย ในอดีตวันแรกของงานจะมีแค่ตราที่ตรงกับวันแรก วันที่สองจะมีตราทั้งวันแรกและวันที่สอง ไล่ไปจนถึงวันสุดท้ายของงาน จะมีตราให้ประทับครบทุกวัน ส่วนปัจจุบันมักมีเฉพาะตราที่ตรงกับวันยกเว้นวันสุดท้ายที่มีตราครบทุกวัน นักสะสมสามารถสะสมตราแบบแยกให้ครบทุกตราได้สองวิธี

  • วิธีแรก ผู้ที่สะสมต้องไปตามงานต่าง ๆ เช่น งานกาชาด อย่างน้อยในวันแรกและวันสุดท้าย โดย ในวันแรกจะได้ตราประจำวันที่ตรงกับวันแรกจำหน่ายของแสตมป์ ส่วนวันสุดท้ายจะได้ตราที่ระลึกครบทุกวัน แต่ถ้าไปได้บ่อยจะได้ตราที่ระลึกที่ชัดเจนกว่า เพราะตราที่ระลึกทำจากยาง ตราที่ตรงกับวันแรก ๆ มักจะเริ่มสึกหรอเมื่อถึงช่วงวันสุดท้ายของงาน
  • วิธีที่สอง ในหลายงานจะมีการตั้งตู้ไปรษณีย์สำหรับรับจดหมายที่ต้องการประทับตรา ผู้สะสมต้องไปในวันแรก ทำซองจดหมายหรือไปรษณียบัตร จ่าหน้าถึงตัวเอง และติดแสตมป์ตามข้อกำหนด สำหรับประเทศไทย กำหนดให้ต้องติดแสตมป์สองส่วน ส่วนแรกสำหรับค่าส่งซึ่งจะประทับด้วยตราประจำวัน อีกส่วนซึ่งต้องติดเพิ่มเท่ากับอัตราค่าส่งจดหมายธรรมดาเพื่อให้เจ้าหน้าที่ประทับตราที่ระลึก และนำไปหย่อนในตู้ต่าง ๆ ซึ่งแต่ละตู้ก็จะตรงกับตราที่ระลึกหนึ่งตรา เมื่อถึงวันที่ตรงกับตราเจ้าหน้าที่จะนำจดหมายหรือไปรษณีย์บัตรออกจากตู้นั้นมาประทับและส่งทางไปรษณีย์ (แต่อาจไม่ได้ดังใจเหมือนประทับด้วยตัวเอง)

งานบางงานที่จัดเป็นเวลานาน แทนที่จะให้แต่ละวันมีตราแยกกัน อาจจะกำหนดช่วงเวลาหนึ่ง ๆ สำหรับแต่ละตรา เช่น งานราชพฤกษ์ 2549 มีทั้งตรารวม (ซึ่งประทับได้ตลอดงาน 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549-31 มกราคม พ.ศ. 2550) กับตราในแต่ละช่วง ทั้งหมด 6 ช่วง ได้แก่ ดอกไม้นานาชาติ (1-12 พฤศจิกายน) อลังการจักรวาลดอกไม้ (10-16 พฤศจิกายน) ไม้น้ำและบัว (17-27 พฤศจิกายน) พันธุ์ไม้แปลก หายากและพันธุ์ใหม่ (1-11 ธันวาคม) ผักและผลไม้ (29 ธันวาคม-7 มกราคม) และ ไม้ใบกระถาง (20-31 มกราคม)[1]

ตราประจำงาน[แก้]

ตราประทับที่ประกอบด้วยชื่องาน ตลอดจนช่วงเวลาและสถานที่จัดงานนั้น เพื่อให้นักสะสมประทับลงบนสิ่งสะสมเพื่อบอกรายละเอียดเกี่ยวกับงาน

ตราประจำที่ทำการไปรษณีย์[แก้]

เป็นตราที่ ที่ทำการไปรษณีย์ บางแห่งจัดทำขึ้นเพื่อให้นักสะสมประทับตราเป็นที่ระลึก โดยเฉพาะที่ทำการไปรษณีย์ที่จัดงานวันแรกจำหน่ายแสตมป์อยู่เป็นประจำ สามารถไปขอประทับที่ทำการไปรษณีย์นั้น ๆ ร่วมกับตราประจำวันและตราที่ระลึกได้เมื่อมีการจัดงาน

สีของตราประทับ[แก้]

ตราประจำวัน ปัจจุบันนิยมใช้สีดำ ส่วนตราอื่น ๆ หรือตราสำหรับการสะสมอาจมีสีอื่นก็ได้ เช่น สีม่วง สีน้ำเงิน เป็นต้น

ย้อนกลับไปสมัยที่ออกแสตมป์ดวงแรกของโลก คือ เพนนีแบล็ค (Penny Black) ของสหราชอาณาจักร เป็นแสตมป์ที่มีสีดำ ส่วนตราประทับใช้สีแดง แต่ปรากฏว่าสีแดงสามารถล้างออกได้ง่าย ทำให้สามารถนำแสตมป์มาใช้ใหม่ ทางไปรษณีย์จึงเปลี่ยนมาใช้ตราประจำวันสีดำ ส่วนแสตมป์เปลี่ยนเป็นสีแดง เรียก เพนนีเรด (Penny Red)[2][3]

ตราที่ระลึกระยะหลังมีการเพิ่มเทคนิค ใช้สีหลายสีเพื่อเพิ่มความน่าสนใจ ตัวอย่างเช่น ตราที่ระลึก แสตมป์ชุดปลาการ์ตูน (วันแรกจำหน่าย 24 มิถุนายน พ.ศ. 2549) ของ ที่ทำการไปรษณีย์ปากน้ำ ที่ใช้สีเขียว แดง น้ำเงิน และดำภายในตราเดียว[4]

ตราตลก[แก้]

ตราประทับที่ทำขึ้น บางครั้งก็เกิดข้อผิดพลาด นิยมเรียกว่า ตลก (ให้สอดคล้องกับแสตมป์ที่พิมพ์ผิดพลาดที่เรียก แสตมป์ตลก) เช่น ตราประจำวันตลก ตราที่ระลึกตลก เป็นต้น ส่วนใหญ่จะเป็นการสะกดคำผิด ตราดังกล่าวอาจยังใช้งานต่อไปหลังจากที่พบข้อผิดพลาด หรือเก็บกลับไปแก้ไขใหม่

ตัวอย่างตราประจำวันตลกของไทยเมื่อไม่นานมานี้ คือ ตราประจำวันของที่ทำการไปรษณีย์ชั่วคราว ภายในงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ตราสะกดผิดเป็น "งานฉลองศิริราชสมบัตรครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙" ข้อผิดพลาดดังกล่าวถูกตรวจพบหลังจากประทับตราไปจำนวนหนึ่ง และแก้ไขเสร็จในวันแรกของงานเป็น "งานฉลองสิริราชสมบัติ ครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙"[5][6]

อ้างอิง[แก้]

  1. ข่าวส่วนตราไปรษณียากร, วารสารตราไปรษณียากร, พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
  2. Frederick Highland, In Praise of Penny Black เรียกดูเมื่อ 9 กันยายน พ.ศ. 2550
  3. The Philatelic Foundation, The British Penny Black เก็บถาวร 2007-08-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูเมื่อ 9 กันยายน พ.ศ. 2550
  4. ภาพกิจกรรม งานปลาการ์ตูน 24-06-49 (ชมรมคนรักแสตมป์เมืองปากน้ำ) เรียกดูเมื่อ 9 กันยายน พ.ศ. 2550
  5. เสกสันต์ ผลวัฒนะ, เก็บตกตราประจำวัน: ตราประจำวันงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พุทธศักราช 2549, วารสารตราไปรษณียากร, ตุลาคม พ.ศ. 2549
  6. ตราประจำวันตลก (ขุดกรุเอามาโชว์) เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สยามแสตมป์) เรียกดูเมื่อ 9 กันยายน พ.ศ. 2550

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]