ดัชเชสมาเรีย อันนา วิกตอเรียแห่งบาวาเรีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มาเรีย อันนา วิกตอเรีย
โดฟินแห่งฝรั่งเศส
ประสูติ28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1660
สิ้นพระชนม์20 เมษายน ค.ศ. 1690 (29 ปี)
พระราชวังแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส
พระสวามีเจ้าชายหลุยส์ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส
พระบุตรเจ้าชายหลุยส์ ดยุกแห่งบูร์กอญ
พระเจ้าเฟลีเปที่ 5 แห่งสเปน
เจ้าชายชาลส์ ดยุกแห่งเบอร์รี
ราชวงศ์วิทเทลส์บัค
(ประสูติ)
บูร์บง
(เสกสมรส)
พระบิดาเจ้าชายแฟร์ดินันด์ มาเรีย อิเลกเตอร์แห่งบาวาเรีย

มาเรีย อันนา วิกตอเรียแห่งบาวาเรีย (ประสูติ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1660 — สิ้นพระชนม์ 20 เมษายน ค.ศ. 1690) เป็นพระวรชายาในเจ้าชายหลุยส์ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส รัชทายาทของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส

พระประวัติ[แก้]

ดัชเชสมาเรีย อันนา วิกตอเรียแห่งบาวาเรีย ประสูติเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1660 เป็นพระธิดาของเจ้าชายแฟร์ดินันด์ มาเรีย อิเลกเตอร์แห่งบาวาเรีย กับเจ้าหญิงเฮนเรียต อเดเลดแห่งซาวอย พระบรรพบุรุษฝ่ายพระชนนีสืบเชื้อสายมาจากเจ้าหญิงคริสติน มารีแห่งฝรั่งเศส ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงเป็นศักดิ์พระประยูรญาติชั้นที่สองของพระสวามี แม้พระองค์จะมีเชื้อสายเยอรมันเป็นหลัก แต่สามารถรับสั่งภาษาฝรั่งเศส อิตาลี และละตินได้

พระองค์ได้เสกสมรสกับเจ้าชายหลุยส์ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส องค์รัชทายาทของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 1680 หลังจากการเสกสมรสทำให้พระองค์มีพระอิสริยยศคือ ราชธิดาแห่งฝรั่งเศส (Fille de France) ซึ่งเทียบเท่ากับ รอยัลไฮเนส และจะขานพระนามว่า มาดามลาโดฟีน (Madame la Dauphine) ทั้งสองมีพระโอรสด้วยกัน 3 พระองค์ คือ

  1. เจ้าชายหลุยส์ ดยุกแห่งบูร์กอญ (16 สิงหาคม ค.ศ. 1682 — 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1712) ต่อมาคือ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส เสกสมรสกับเจ้าหญิงมาเรีย อเดเลดแห่งซาวอย พระญาติชั้นที่สอง มีพระโอรสสามพระองค์
  2. เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งอ็องฌู (19 ธันวาคม ค.ศ. 1683 — 9 กรกฎาคม ค.ศ. 1746) ต่อมาคือ กษัตริย์แห่งสเปน เสกสมรสกับเจ้าหญิงมาเรีย ลุยซา กาเบรียลลาแห่งซาวอย มีพระโอรสสี่พระองค์ ต่อมาได้เสกสมรสกับเอลิซาเบธ ฟาร์เนเซ มีพระโอรสสี่พระองค์ และพระธิดาสามพระองค์
  3. เจ้าชายชาลส์ ดยุกแห่งเบอร์รี (31 กรกฎาคม ค.ศ. 1686 — 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1714) เสกสมรสกับเจ้าหญิงมารี หลุยส์ เอลิซาเบธแห่งออร์เลออง มีพระโอรสหนึ่งพระองค์ และพระธิดาสองพระองค์ แต่สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ทั้งหมด

ในช่วงปี ค.ศ. 1687 พระองค์ได้ส่งทูตพิเศษนำของกำนัลมาถวายกรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา แต่กรมหลวงโยธาเทพกลับปฏิเสธ โดยทรงอ้างเหตุผลว่าพระองค์ทรงมีฐานะ "ยากจน" เกินกว่าจะประทานของมีค่าที่จะเทียบกันได้เป็นการตอบแทน[1]

ต่อมาเมื่อพระสวามีของพระองค์ลอบมีอนุภริยา พระองค์จึงแยกไปประทับยังพระตำหนักส่วนพระองค์ และสนิทสนมกับพระสหายชาวเยอรมัน คือ เจ้าหญิงเอลิซาเบธ ชาล็อตแห่งแพลาไทน์ พระชายาของเจ้าชายฟีลิปที่ 1 ดยุกแห่งออร์เลอ็อง พระอนุชาในพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งทั้งคู่ได้รับสั่งภาษาเยอรมัน อันเป็นภาษาที่พระสวามีไม่เข้าพระทัย

ดัชเชสมาเรีย อันนา วิกตอเรียแห่งบาวาเรีย สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1690 หลังจากมีพระอาการประชวรหนักและเรื้อรังมานาน สิริพระชนมายุได้ 29 พรรษา

อ้างอิง[แก้]

  1. สปอร์แดช มอร์แกน (เขียน) กรรณิกา จรรย์แสง (แปล). เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์. กรุงเทพฯ:มติชน, 2554, หน้า 157
  • Simone Bertière, Les Femmes du Roi-Soleil, Éditions de Fallois, 1998, ISBN 2-253-14712-5