กลยุทธ์ส่งเสียงบูรพาฝ่าตีประจิม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กลยุทธ์ส่งเสียงบูรพาฝ่าตีประจิม
ผู้วางกลศึกจูกัดเหลียง
ผู้ต้องกลศึกเฮ็กเจียว
ผู้ร่วมกลศึกอุยเอี๋ยน, เกียงอุย
ประเภทกลยุทธ์ชนะศึก
หลักการหลอกศัตรูให้หลงกลในสิ่งที่คาดไม่ถึง
สาเหตุจูกัดเหลียงไม่สามารถหักตีด่านตันฉอง เอาชนะกำลังทหารของเฮ็กเจียวได้
สถานที่ด่านตันฉอง
ผลลัพธ์เฮ็กเจียวเสียด่านตันฉองให้จูกัดเหลียง
กลศึกก่อนหน้ากลยุทธ์ตีชิงตามไฟ
กลศึกถัดไปกลยุทธ์มีในไม่มี

กลยุทธ์ส่งเสียงบูรพาฝ่าตีประจิม หรือ เซิงตงจี๋ซี (อังกฤษ: Make a sound in the east, then strike in the west; จีนตัวย่อ: 声东击西; จีนตัวเต็ม: 聲東擊西; พินอิน: Shēng dōng jí xī) เป็นหนึ่งในกลศึกสามก๊ก กลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการโจมตีศัตรู จะต้องเตรียมการและบุกโจมตีในจุดที่ศัตรูต่างคาดไม่ถึง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ศัตรูตั้งรับได้ถูก โดยหลอกล่อศัตรูให้เกิดการหลงทิศกับการบุกโจมตีและนำกำลังทหารไปเฝ้าระวังผิดตำแหน่ง เกิดการหละหลวมต่อกำลังทหารและเปิดโอกาสให้สามารถเอาชนะได้โดยง่าย[1]

มรรควิถีแห่งการใช้ยุทธวิธีสำคัญในการทำศึกสงคราม เมื่อตั้งทัพเผชิญหน้าซึ่งกันและกัน ฝ่ายใดมีเสบียงอาหารอุดมสมบูรณ์ก็เท่ากับมีโอกาสชนะแล้วครึ่งหนึ่ง การป้องกันรักษาเส้นทางการลำเลียงอาหารต้องทำอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง เพื่อป้องกันศัตรูลอบทำลาย เข้ายึดหรือปล้นชิง ขณะเดียวกันก็ต้องหายุทธวิธีในการตัดเส้นทางลำเลียงอาหารของศัตรู หากศัตรูสูญเสียเสบียงอาหาร ย่อมต้องถอยทัพด้วยความจำเป็น เมื่อถึงยามนั้นควรบุกเข้าโจมตีไม่ให้ศัตรูตั้งรับได้ทัน ตำราพิชัยสงครามกล่าวไว้ว่า "ยามศึกสงครามขาดเสบียงอาหารก็พินาศ"[2] ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ส่งเสียงบูรพาฝ่าตีประจิมไปใช้ได้แก่จูกัดเหลียงที่หลอกล่อเฮ็กเจียวให้หลงทิศในการนำกำลังทหารเฝ้าระวังการบุกเข้าโจมตีด่านตันฉองของจูกัดเหลียงและทหารจ๊กก๊ก[3]

ตัวอย่างกลยุทธ์[แก้]

เมื่อคราวที่จูกัดเหลียงต้องนำทัพกลับจ๊กก๊กหลังจากขาดแคลนเสบียงอาหารและอาวุธในการหักตีด่านตันฉอง โดยไม่สามารถเอาชนะกำลังทหารของเฮ็กเจียวได้ ต่อมาภายหลังจูกัดเหลียงทราบข่าวการป่วยของเฮ็กเจียวจึงนำทัพกลับไปตีด่านตันฉองอีกครั้ง และแต่งตั้งอุยเอี๋ยนและเกียงอุยเป็นแม่ทัพคุมทหารจำนวนห้าพันนาย นำทัพไปตีด่านตันฉองภายในเวลาสามวัน ในขณะเดียวกันก็มอบหมายให้กวนหินและเตียวเปาลอบนำกำลังทหารตัดทางลัดไปยังด่านตันฉอง และให้ทหารลักลอบปลอมตัวเล็ดลอดเข้าไปภายในกำแพงเมืองและจุดเพลิงขึ้น จูกัดเหลียงจึงสามารถนำกำลังทหารเข้าตีด่านตันฉองได้สำเร็จ กำลังทหารที่ตั้งด่านรักษาด่านตันฉองไม่ทันรู้ตัวก็แตกพ่าย เฮ็กเจียวที่ป่วยจนลุกไม่ขึ้นพยายามสั่งการให้ทหารรักษาด่านจนสุดกำลังและขาดใจตายในเวลาต่อมา

เมื่ออุยเอี๋ยนและเกียงอุยนำทัพทหารมาถึงด่านตันฉอง ก็แปลกใจที่ด่านตันฉองถูกควบคุมโดยจูกัดเหลียงทั้งที่ยังไม่ได้ทำศึก จูกัดเหลียงจึงเฉลยกลยุทธ์ในการตีด่านตันฉองให้อุยเอี๋ยนและเกียงอุยเข้าใจว่า "เราแจ้งว่าเฮ็กเจียวป่วยหนักอยู่ จึงเกณฑ์ให้ท่านทั้งสองรีบมา หวังจะให้กิตติศัพท์เลื่องลือให้เฮ็กเจียวระวังท่านอยู่ เราจึงยกทหารลัดมาทางน้อย ปลอมเข้าจุดเพลิงเผาค่ายขึ้น ก็โจมตีเอาได้ง่าย"[4] กลยุทธ์ส่งเสียงบูรพาฝ่าตีประจิมหรือเซิงตงจีซีของจูกัดเหลียง ก็สามารถหักตีด่านตันฉองของเฮ็กเจียว ก็ประสบความสำเร็จในการหักตีด่านตันฉองมาเป็นเมืองขึ้นของตนไว้ได้อย่างงดงาม

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. โห่ร้องตะวันออกเข้าตีตะวันตก, 36 กลยุทธ์ผู้นำ, หวางซวนหมิง ผู้แต่ง, อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์ ผู้แปล, พ.ศ. 2537, ISBN 974-602-172-9
  2. เสบียงอาหาร, สงครามสามก๊ก กลยุทธ์พลิกสถานการณ์, ทองแถม นาถจำนง, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 63, ISBN 978-974-9761-34-2
  3. เซิงตงจีซี กลยุทธ์ส่งเสียงบูรพาฝ่าตีประจิม, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 217, ISBN 978-974-690-595-4
  4. จูกัดเหลียงหักตีด่านตันฉอง, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน), เจ้าพระยาพระคลัง (หน), สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]