ซากดึกดำบรรพ์ร่องรอย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ซากดึกดำบรรพ์ร่องรอย (trace fossils หรือ ichnofossils) เป็นหลักฐานทางธรณ๊วิทยาที่เกิดจากการกระทำของสิ่งมีชีวิต เช่น รูที่อยู่อาศัย รอยขุดคุ้ย รอยตีน และร่องรอยรากไม้ ทั้งนี้ ซากดึกดำบรรพ์ร่องรอยได้รวมถึงอินทรีย์วัตถุที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต เช่น มูลสัตว์ (coprolites) และ สโตรมาโทไลต์ (stromatolites) อย่างไรก็ตาม โครงสร้างทางตะกอนวิทยา อย่างเช่น ร่องรอยที่เกิดจากการกลิ้งของเปลือกหอยตามพื้นท้องทะเลซึ่งไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิต จึงไม่จัดให้เป็นซากดึกดำบรรพ์ร่องรอย

การศึกษาร่องรอยเรียกว่า ร่องรอยวิทยา (ichnology) โดยวิชาที่ศึกษาซากดึกดำบรรพ์ร่องรอยเรียกว่า Paleoichnology และวิชาที่ศึกษาร่องรอยของสิ่งมีชีวิตในปัจจุบันเรียกว่า Neoichnology โดยการศึกษารูปร่างลักษณะของร่องรอยต่างๆโดยหวังที่จะทำให้ทราบถึงกิจกรรมที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต ทั้งนี้สิ่งมีชีวิตต่างชนิดกันอาจทำให้เกิดร่องรอยที่คล้ายกันได้ การจำแนกซากดึกดำบรรพ์ร่องรอยจึงเป็นสิ่งยากและอาจแตกต่างไปจากการจำแนกทางอนุกรมวิธานของซากดึกดำบรรพ์ซากเหลือ (body fossils)

เอดอล์ฟ เซลาสเชอร์ (Adolf Seilacher) เป็นผู้ศึกษาและจำแนกชนิดของซากดึกดำบรรพ์ร่องรอย โดยเอดอล์ฟ เซลาสเชอร์ ได้สังเกตเห็นร่องรอยการกระทำของสัตว์ออกเป็น 5 กลุ่มตามพฤติกรรมของสัตว์ ดังนี้

  • คิวบิชเนีย (Cubichnia) เป็นร่องรอยที่ปรากฏบนพื้นผิวที่อ่อนนุ่ม
  • โดมิชเนีย (Domichnia) เป็นร่องรอยโครงสร้างที่อยู่อาศัยของสัตว์ เช่น รูที่อยู่อาศัย
  • โฟดินิชเนีย(Fodinichnia) เป็นร่องรอยการหาอาหารของสัตว์ที่ปรากฏบนพื้นตะกอน
  • แพสคิชเนีย (Pascichnia) เป็นร่องรอยการหาอาหารของสัตว์ที่ปรากฏบนพื้นตะกอน เฉพาะสัตว์เคี้ยวเอื้องกินหญ้าตามพื้นดินและได้ทิ้งร่องรอยไว้
  • เรปิชเนีย (Repichnia) เป็นร่องรอยการเคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งของสัตว์ ปกติมักเป็นแนวเส้นตรงหรืออาจโค้งได้เล็กน้อย เช่นการเคลื่อนที่ของสัตว์ที่มีระยางเป็นข้อเป็นปล้อง (arthopod) และของสัตว์มีกระดูกสันหลัง