ปลาปอมปาดัวร์น้ำตาล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Symphysodon haraldi)
ปลาปอมปาดัวร์น้ำตาล
ปลาปอมปาดัวร์น้ำตาล
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
วงศ์: Cichlidae
สกุล: Symphysodon
สปีชีส์: S.  haraldi
ชื่อทวินาม
Symphysodon haraldi
L. P. Schultz, 1960
ชื่อพ้อง[1]
  • Symphysodon aequifasciata haraldi L. P. Schultz, 1960

ปลาปอมปาดัวร์น้ำตาล หรือ ปลาปอมปาดัวร์น้ำเงิน (อังกฤษ: Brown discus, Blue discus; ชื่อวิทยาศาสตร์: Symphysodon haraldi หรือ Symphysodon aequifasciata haraldi[1]) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae)

เป็นปลาปอมปาดัวร์ชนิดหนึ่ง ซึ่งในข้อมูลบางแหล่งจัดให้เป็นชนิดย่อยของปลาปอมปาดัวร์เขียว (S. aequifasciata[1])

ปลาปอมปาดัวร์น้ำตาลมีลักษณะที่เห็นได้เด่นชัดคือ บริเวณกลางลำตัวไม่มีลวดลาย จะมีลายเฉพาะบริเวณส่วนหัว ครีบหลังกระโดงบนและล่าง ส่วนบริเวณกลางลำตัวจะเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลเข้ม หรือกระทั่งเข้มไปเป็นสีแดง ขึ้นอยู่กับแหล่งน้ำที่อาศัย นอกจากนี้แล้วบางตัวยังอาจมีลายบั้งสีดำเห็นเด่นชัดเช่นเดียวกับปลาปอมปาดัวร์เฮคเคล (S. discus) อีกด้วย

ในอดีต ปลาปอมปาดัวร์น้ำตาล จะถูกแยกออกจากปลาปอมปาดัวร์น้ำเงิน แต่ในปัจจุบัน ได้มีนักมีนวิทยาบางคนได้เสนอให้รวมเป็นชนิดเดียวกัน (ดังนั้นจึงทำให้การจำแนกปลาปอมปาดัวร์เป็นชนิดต่าง ๆ จึงยังไม่มีข้อยุติ) โดยปลาปอมปาดัวร์น้ำเงิน เป็นปลาที่มีลายสีน้ำเงินหรือสีฟ้าขึ้นอยู่เกือบเต็มหรือเต็มลำตัว มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแหล่งน้ำที่อาศัย

ปลาปอมปาดัวร์น้ำตาลนั้นเป็นต้นสายพันธุ์ของปลาปอมปาดัวร์ชนิดแรกที่ถูกนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ต่อมาได้ถูกพัฒนาสายพันธุ์จากการที่เป็นปลาป่ามาเป็นสีสันและลวดลายที่หลากหลายในปัจจุบัน โดยปลาปอมปาดัวร์น้ำตาลจะเป็นต้นสายพันธุ์ของ "ปลาปอมปาดัวร์ 5 สี" และปลาปอมปาดัวร์น้ำเงินเป็นต้นสายพันธุ์ของ "Red turquoise" หรือ "Blue turquoise" หรือในชื่อภาษาไทยว่า "ปลาปอมปาดัวร์ 7 สี" นั่นเอง

ปลาปอมปาดัวร์น้ำเงิน

นอกจากนี้แล้ว ปลาปอมปาดัวร์น้ำตาลยังมีชื่อเรียกอื่นในวงการปลาสวยงามในประเทศไทยว่า "ปลาป่าแดง" ซึ่งปลาในกลุ่มปลาป่าแดง จัดเป็นปลาปอมปาดัวร์ชนิดที่หาซื้อได้ง่ายที่สุด เพราะเป็นชนิดที่พบได้มากที่สุดในธรรมชาติ ปลาป่าแดงจึงมีราคาซื้อขายที่ย่อมเยาที่สุด นอกจากนี้แล้ว ปลาปอมปาดัวร์น้ำตาล ที่พบในแหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งมีสีสันหรือลวดลายแตกต่างออกไป จะมีชื่อเรียกทางการค้าต่างกันออกไป เช่น "อเลนคิวร์เรด" (Alenquer red) หมายถึง ปลาที่มาจากแม่น้ำอเลนคิวร์, "อิคาเรด" (Içá red) เป็นปลาปอมปาดัวร์น้ำตาลที่มีเส้นข้างลำตัวเส้นที่ 5 เป็นสีดำเข้มหรือเทาเข้มชัดเจนคล้ายกับปลาปอมปาดัวร์เฮคเคล แต่แถบแรกจะมีขนาดแคบกว่า แรกเริ่มปลาลักษณะนี้พบได้ในแม่น้ำอิคา ในประเทศเปรู แต่ปัจจุบันพบได้ในแหล่งน้ำอื่น ๆ ด้วย, "รอยัลบลู" (Royal blue) เป็นปลาปอมปาดัวร์น้ำเงินที่มีลวดลายขึ้นจนเต็มตัวเห็นได้ชัดเจน ลักษระเช่นนี้หาได้ยากเพราะส่วนใหญ่มักมีลายขึ้นเพียงบริเวณขอบด้านบนและด้านล่างของลำตัวเท่านั้น ทำให้ปลาปอมปาดัวร์รอยัลบลูมีราคาซื้อขายที่สูงมาก [2]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 "Symphysodon aequifasciata haraldi". itis.gov. 22 February 2014. สืบค้นเมื่อ 22 February 2014.
  2. หน้า 96-121, Wild Discus ทำความรู้จักปอมฯ ป่า. "Wild Ambition" โดย เอกราช กลิ่นบุปผา/Jack @ Brilliant Discus, น.สพ.ฐิตินันท์ เศียรอักษร, กองบรรณาธิการ. นิตยสาร Aquarium Biz ฉบับที่ 44 ปีที่ 4: กุมภาพันธ์ 2014

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]