ซูเซิน บอยล์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Susan Boyle)
ซูเซิน บอยล์
ข้อมูลพื้นฐาน
เกิด1 เมษายน พ.ศ. 2504 (62 ปี)
ที่เกิดเมืองแบล็กเบิร์น เทศมณฑลเวสต์โลเธียน ประเทศสกอตแลนด์[1]
อาชีพนักร้องมือสมัครเล่น, นักแสดง

ซูเซิน บอยล์ (อังกฤษ: Susan Boyle; เกิด: 1 เมษายน พ.ศ. 2504[2]) เป็นนักร้องมือสมัครเล่นชาวสกอตแลนด์และเคยเป็นนักบริการชุมชน[3] เธอได้รับความสนใจจากสาธารณชนเมื่อเธอปรากฏตัวในรายการบริเทนส์กอตแทเลินต์ (อังกฤษ: Britain's Got Talent) ฤดูกาลที่ 3 รอบแรก ณ วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2552[4] เพื่อประกวดขับร้องเพลง "ไอดรีมด์อะดรีม" (อังกฤษ: I dreamed a dream) เพลงจากละครเวทีเรื่อง "เลมีเซราบล์" (ฝรั่งเศส: Les Misérables)[5] ซึ่งก่อนเธอจะขับร้อง ทั้งผู้ชมในโถงประกวดและคณะกรรมการตัดสินแสดงความกังขาเชิงลบต่อเธอ เนื่องจากเธอมีรูปลักษณ์ไม่น่าชม ร่างกายอุ้ยอ้ายทำให้เธอดูงุ่มง่าม การแต่งกายที่ล้าสมัย การมาจากเมืองชนบท กับทั้งอายุของเธอที่มากแล้ว แต่ในทางกลับกัน ความสามารถในการร้องเพลงของเธอยังให้ผู้ชมทั้งโถงและกรรมการอึ้งและประทับในในการแสดงถึงกับหลั่งน้ำตาและยืนขึ้นให้เกียรติ โดยกรรมการตัดสินทั้งสามคนลงคะแนนเสียงให้เธอผ่านการประกวดรอบแรก ทั้งนี้ การประกวดรอบดังกล่าวบันทึกขึ้นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2552 ที่นครกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ประเทศบ้านเกิดของซูเซินเอง[6]

ซูเซินยิ่งได้รับความสนใจมากขึ้นไปอีกเมื่อวีดิทัศน์การประกวดร้องเพลงดังกล่าวได้รับการนำลงเผยแพร่ทางเว็บไซต์ยูทูบ[7] และเพียงหนึ่งสัปดาห์นับแต่วันนำลงเว็บไซต์ก็มีผู้เข้าชมมากกว่าสี่พันสามร้อยล้านครั้งทั่วโลก[8] มีการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเธอโดยสื่อมวลชนนานาชาติ[9] รวมถึงประเทศไทย[10] นอกจากนี้ บริษัทโซนีมิวสิกยังเตรียมทำสัญญาจ้างซูเซินเป็นนักร้องในสังกัดอีกด้วย[11]

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

ซูเซิน บอยล์ เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2504เมืองแบล็กเบิร์น เทศมณฑลเวสต์โลเธียน ประเทศสกอตแลนด์ โดยเป็นบุตรคนสุดท้องในบรรดาบุตรเก้าคนของนายแพทริก บอยล์ (อังกฤษ: Patrick Boyle) พนักงานโกดังที่โรงงานบริติชเลย์แลนด์ (อังกฤษ: British Leyland) ในเมืองบาธเกต (อังกฤษ: Bathgate) กับนางบริดเจ็ต บอยล์ (อังกฤษ: Bridget Boyle) นักพิมพ์ชวเลข[2] ซูเซินมีพี่ชายสี่คน และพี่สาวอีกสี่คน ซึ่งพี่น้องทั้งเก้าคนนี้ปัจจุบันเสียชีวิตแล้วสามคน[3] เมื่อตอนซูเซินเกิด มารดามีอายุได้สี่สิบสี่ปี[12] และหนังสือพิมพ์ซันเดย์ไทมส์รายงานว่า เวลานั้นเป็นช่วงที่ลำบากมาก เพราะไม่มีออกซิเจนเพียงพอจะให้แก่ซูเซินเมื่อแรกเกิด ทำให้ประสาทการเรียนรู้ของเธอทำงานอ่อน เมื่อตอนเข้าโรงเรียนจึงเป็นที่กลั่นแกล้งและล้อเลียนกันอย่างสนุกสนานของเพื่อน ๆ[13] [14]

เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาโดยมีคุณสมบัติตามเกณฑ์เพียงบางประการแล้วนั้น[3] ซูเซินเข้ารับการอบรมประกอบอาหารที่วิทยาลัยเวสต์โลเธียน (อังกฤษ: West Lothian College) เป็นเวลาหกเดือน[15] และเข้าโครงการฝึกอาชีพที่รัฐบาลจัดขึ้นต่ออีกระยะหนึ่ง[2] ในช่วงนั้นเธอชื่นชอบการเข้าชมละครเวทีและได้เข้าชมที่โรงละครท้องถิ่นหลายครั้ง[2] เธอจึงได้ชมดูนักร้องเพลงมืออาชีพขับร้องอย่างเพลิดเพลิน[16]

ใน พ.ศ. 2538 ซูเซินเข้าทดสอบการแสดงในรายการ "มายไคนด์ออฟพีเปิล" (อังกฤษ: My Kind of People) ของไมเคิล แบร์รีมอร์ (อังกฤษ: Michael Barrymore) โดยรายการกำลังจัดการแข่งขัน ณ ศูนย์การค้าแบรเฮด (อังกฤษ: Braehead Shopping Centre) นครกลาสโกว์[16] ซึ่งครั้งนั้นซูเซินกล่าวว่าเธอตื่นเต้นเกินกว่าจะสงบสติอารมณ์และสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชมได้[2] ต่อมา ซูเซินเข้ารับการอบรมร้องเพลงจากนักฝึกเสียงชื่อดัง เฟรด โอเนล (อังกฤษ: Fred O'Neil)[3] และใน พ.ศ. 2542 เธอได้อัดเสียงร้องเพลง "ครายมีอะริเวอร์" (อังกฤษ: Cry Me A River) สำหรับอัลบัมการกุศลที่สภาเทศบาลจัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองคริสต์สหัสวรรษที่ 2[3] [13] [17] นอกจากนี้ ซูเซินยังได้เข้าเรียนการแสดงที่โรงเรียนฝึกสอนการแสดงแห่งเอดินบะระ (อังกฤษ: Edinburgh Acting School) และได้แสดงในเทศกาลเอดินบะระฟรินจ์ (อังกฤษ: Edinburgh Fringe) อันเป็นเทศกาลทางศิลปกรรมที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่สุดของโลกเป็นประจำทุกปี[18] ด้วย

สำหรับชีวิตครอบครัวนั้น บิดาของซูเซินถึงแก่กรรมในกลางพุทธทศวรรษที่ 253 (พ.ศ. 2530-2540) และญาติพ้องน้องพี่ของเธอก็จากบ้านไปทั้งหมด ทิ้งให้ซูเซินอาศัยอยู่ลำพังกับมารดาผู้ชรา ซึ่งนางบริดเจ็ต มารดาของซูเซิน นั้นทราบว่าบุตรสาวของตนชอบร้องเพลง ก็มักชี้ชวนและให้กำลังใจบุตรสาวให้เข้าร่วมการประกวดร้องเพลงของท้องถิ่นเสมอ และซูเซินก็คว้ารางวัลชนะเลิศมาหลายครั้ง ทั้งนี้ นางบริดเจ็ตยังชี้ชวนให้ซูเซินเข้าประกวดร้องเพลงที่รายการ "บริเทนส์กอตแทเลินต์" (อังกฤษ: Britain's Got Talent) หลายครั้ง โดยกล่าวว่าอยากให้ซูเซินได้ลองเสี่ยงแสดงความกล้าร้องเพลงต่อหน้าผู้ชมขนาดใหญ่มากกว่าผู้ชมในโบสถ์ แต่ซูเซินปฏิเสธว่าเธอรู้สึกว่ายังไม่พร้อม กระทั่งนางบริดเจ็ตเสียชีวิตใน พ.ศ. 2550 เมื่ออายุได้เก้าสิบเอ็ดปี[12] ซูเซินคงพำนักอยู่ในบ้านหลังเดิมที่มีห้องนอนสี่ห้องต่อไป โดยมีแมวชราชื่อ "เพ็บเบิลส์" (อังกฤษ: Pebbles) เป็นเพื่อนแก้เหงา[3] เพื่อนบ้านของซูเซินบอกนักข่าวว่า ซูเซินไม่เคยมีหรือจัดงานวันเกิดของตัวเองเลยเพราะใช้เวลาดูแลเอาใจใส่มารดาอยู่เสมอ[12] และหลังจากมารดาเสียชีวิตแล้ว ซูเซินก็พยายามข่มใจต่อสู้กับการสูญเสียครั้งนี้โดยบอกกับตัวเองว่า จะขอทำใจอยู่ในบ้าน ไม่ออกไปข้างนอก ตอบเสียงเคาะประตู หรือรับโทรศัพท์สักสามสี่วัน[12]

ซูเซินเปิดเผยต่อมา การจากไปของมารดาตนเป็นแรงผลักดันให้เธอกล้าเข้าประกวดที่รายการ "บริเทนส์กอตแทเลินต์" และหากเธอมาถูกทางแล้ว เธอจะหางานด้านดนตรีทำต่อไปเพื่ออุทิศให้แก่มารดาในสรวงสวรรค์[3] โดยในการประกวดร้องเพลงดังกล่าวนั้น เธอทราบดีว่าผู้ชมในโถงประกวดย่อมมองเธอในเชิงลบเพราะเธอมีรูปลักษณ์ไม่น่าดูชม กระนั้น เธอบอกปัดที่จะเปลี่ยนความเป็นตัวของเธอเอง และกล่าวว่า "ฉันรู้ความคิดของพวกเขาดี แต่ทำไมต้องเก็บมาใส่ใจด้วยตราบเท่าที่ฉันสามารถร้องเพลงได้ ก็นี่ไม่ใช่การประกวดนางงามเสียหน่อย"[3] นอกจากนี้ การร้องเพลงในรายการดังกล่าวยังเป็นการร้องเพลงครั้งแรกของซูเซินนับแต่การตายของมารดาด้วย[19]

ซูเซินนั้นไม่เคยแต่งงานมาก่อน และระหว่างให้สัมภาษณ์ก่อนขึ้นร้องเพลงในรายการ "บริเทนส์กอตแทเลินต์" นั้น เธอกล่าวว่ายังไม่เคยได้รับการจุมพิตมาก่อนเลย และต่อมาก็กล่าวว่า นั่นเป็นเพียงมุกตลกที่เธอแต่งเย้าเล่น แต่มันกลับได้ผลเกินควร[13] [20] ขณะนี้เธอกำลังไร้อาชีพหลัก และทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครที่โบสถ์อาวร์เลดีออฟลูเอิดส์ (อังกฤษ: Our Lady of Lourdes) เมืองวิตเบิร์น[3]

การปรากฏตัวในสื่อ[แก้]

ซูเซินได้ขับร้องเพลง "ไอดรีมด์อะดรีม" (อังกฤษ: I dreamed a dream) เพลงจากละครเวทีเรื่อง "เลมีเซราบล์" (ฝรั่งเศส: Les Misérables) ในรายการบริเทนส์กอตแทเลินต์ (อังกฤษ: Britain's Got Talent) ฤดูกาลที่ 3 รอบแรก ณ วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2552 ซึ่งปรากฏสถิติผู้ชมรายการทางโทรทัศน์เป็นจำนวนสิบล้านสามแสนคนโดยประมาณ[ต้องการอ้างอิง] โดยวีดิทัศน์การประกวดร้องเพลงดังกล่าวได้รับการนำลงเผยแพร่ทางเว็บไซต์ยูทูบไม่นานหลังจากรายการตอนดังกล่าวออกฉาย[7] [20] และเพียงหนึ่งสัปดาห์นับแต่วันนำลงเว็บไซต์ก็มีผู้เข้าชมมากกว่าสี่พันสามร้อยล้านครั้งทั่วโลก[8] โดยมีการรายงานว่าซูเซินถึงกับประหลาดใจและตะลึงกับปฏิกิริยาครั้งนี้ เธอกล่าวด้วยว่าไม่ต้องการให้ชื่อเสียงมาเปลี่ยนแปลงเธอ[21]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. Ben McConville, 2009 : Online.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 "Profile: Susan Boyle - Britain's got the unlikeliest angel", 2009 : Online.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 3.8 "Profile: Susan Boyle - Britain's got the unlikeliest angel", 2009 : Online.
  4. "Talent show singer is online hit", 2009 : Online.
  5. Karla Adam, 2009 : Online.
  6. "Simon talking about Susan Boyle phenomenon", 2009 : Online.
  7. 7.0 7.1 "Susan Boyle", n.d. : Online.
  8. 8.0 8.1 "The voice of an angel's face is from the UK has attracted a world ... 'ordinary woman'", 2009 : Online.
  9. Jose Antonio Vargas, 2009 : Online.
  10. "อินเทอร์เน็ตช่วยให้สาวเฉิ่มเสียงดีดังทั่วโลกใน 1 สัปดาห์", 2552 : ออนไลน์.
  11. Mike Celizic, 2009 : Online.
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 "Susan Boyle 'has been kissed', neighbour claims", 2009 : Online.
  13. 13.0 13.1 13.2 Gillian Harris, 2009 : Online.
  14. Jill Lawless, 2009 : Online.
  15. Natalie Clarke, 2009 : Online.
  16. 16.0 16.1 Leigh Holmwood, 2009 : Online.
  17. Harry Smith, 2009 : Online.
  18. "Fringe Facts", 2008 : Online.
  19. Stuart MacDonald, 2009 : Online.
  20. 20.0 20.1 "Britain's Got Talent star Susan Boyle proves big hit on YouTube", 2009 : Online.
  21. "Scottish singer 'gobsmacked' by overnight stardom", 2009 : Online.

อ้างอิง[แก้]

ภาษาไทย[แก้]

  • "อินเทอร์เน็ตช่วยให้สาวเฉิ่มเสียงดีดังทั่วโลกใน 1 สัปดาห์". (2552, 17 เมษายน). เนชั่นชาแนลเบรกกิงนิวส์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <http://breakingnews.nationchannel.com/read.php?newsid=375602&lang=T&cat=[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 20 เมษายน 2552).

ภาษาต่างประเทศ[แก้]