โสน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Sesbania)
โสน
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Fabales
วงศ์: Fabaceae
วงศ์ย่อย: Faboideae
เผ่า: Robinieae
สกุล: Sesbania
สปีชีส์: Sesbania javanica
ชื่อทวินาม
Sesbania javanica
Miq.

โสน, โสนหิน หรือ โสนกินดอก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Sesbania javanica) เป็นพืชประจำถิ่นในทวีปเอเชียและแอฟริกา เป็นไม้ในตระกูลปาปิโอนีอี เป็นพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติทั่วไปในที่ชื้นแฉะ โดยเฉพาะตามริมคลองและริมคันนา ชื่อสามัญอื่น ๆ คือ โสนดอกเหลือง ทางพายัพเรียก ผักฮองแฮง ทางกะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอนเรียก สีปรีหลา

ลักษณะ[แก้]

เป็นต้นไม้พุ่มขนาดกลาง ลำต้นสูงเปราะบาง ไม่มีแก่น มีกิ่งก้านเล็กน้อยตอนบน ใบเล็กเป็นฝอยคล้ายใบมะขามหรือใบกระถิน ดอกสีเหลืองคล้ายดอกแคหรือดอกถั่ว มีฝักเมื่อแก่จัด คล้ายฝักถั่วเขียวแต่ยาวกว่ามาก สูงประมาณ 2-3 เมตร

การใช้ประโยชน์[แก้]

ในประเทศไทยนิยมนำไปปรุงอาหาร ดอกโสนมีวิตามินเอสูง ดอกโสนนำไปลวกแล้วกินกับน้ำพริกหรือนำไปดองกับน้ำซาวข้าว กินกับน้ำพริกปลาทู นำไปชุบไข่ทอด แกงส้มหรือแกงใส่ไข่มดแดง ใช้ทำขนมดอกโสน ซึ่งมีลักษณะคล้ายขนมขี้หนู แต่เอาดอกโสนมาคลุกเพิ่ม อาหารชาววังเรียกขนมนี้ว่าขนมโสนน้อยเรือนงาม ในใบมีสารสีเหลืองกลุ่มแคโรทีนอยด์ ใช้แต่งสีเหลืองในขนมหลายชนิด เช่น ขนมดอกโสน ขนมขี้หนู ขนมบัวลอย โดยนำดอกโสนมาบดหรือโม่ผสมกับแป้ง

นอกจากนั้น ดอกโสนเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ข้าราชการและประชาชนชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยายังใส่เสื้อประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาลายดอกโสนมาปฏิบัติงานกันทุกวันศุกร์ ทั้งนี้เสื้อลายดอกโสนยังเป็นสินค้าของฝากของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกด้วย แหล่งที่นิยมขายเสื้อลายดอกโสนจะอยู่ที่ตลาดหัวรอ และตลาดเจ้าพรหม ซึ่งมีหลายสีให้เลือก แต่สีที่นิยมที่สุดและเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดคือสีน้ำเงิน

อื่น ๆ[แก้]

รู้หรือไม่ว่านอกจากดอกโสนที่คนไทยมักนำมาทำเมนูอาหารต่าง ๆ แล้ว โคนต้นดอกโสนยังเป็นพื้นที่ชั้นดีสำหรับการปลูก "เห็ดตับเต่า" ซึ่งถือเป็นเห็ดหายากรสชาติอร่อย โดยเรามักจะเห็นคนที่ทำอาชีพปลูกเห็ดตับเต่าขายจะใช้กอต้นโสนเป็นพื้นที่ปลูก เพราะแสง อุณหภูมิ ความชื้น เอื้อต่อการเติบโตของเห็ดชนิดนี้ได้เป็นอย่างดี

อ้างอิง[แก้]

  • อลิศชา ใจงาม. รอบรู้เรื่องพรรณไม้ สำนักพิมพ์ฟ้าใส, หน้า 36.
  • เส้นทางขนมไทย. กทม. แสงแดด. 2553. หน้า 77 - 79