เซคันด์ไลฟ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Second Life)
เซคันด์ไลฟ์วิวเวอร์
นักพัฒนาลินเดนแล็บ
วันที่เปิดตัว23 มิถุนายน 2003; 20 ปีก่อน (2003-06-23)
ที่เก็บข้อมูลgithub.com/secondlife/viewer
ภาษาที่เขียนC++[1]
เอนจินHavok (physics engine)
แพลตฟอร์ม
ภาษา12 ภาษา[2]
สัญญาอนุญาตLGPL v2.1
เว็บไซต์secondlife.com Edit this on Wikidata
เซอร์เวอร์เซคันด์ไลฟ์
นักพัฒนาลินเดนแล็บ
วันที่เปิดตัว23 มิถุนายน 2003; 20 ปีก่อน (2003-06-23)
ภาษาที่เขียน
แพลตฟอร์มLinux
สัญญาอนุญาตจำกัดสิทธิ์
เว็บไซต์secondlife.com Edit this on Wikidata

เซคันด์ไลฟ์ (อังกฤษ: Second Life: SL) เป็นโลกเสมือนบนอินเทอร์เน็ต เริ่มให้บริการเมื่อราว พ.ศ. 2546 พัฒนาโดยบริษัทลินเดนรีเสิร์ช (นิยมเรียกกันว่า ลินเดนแล็บ) และได้รับความสนใจในทางสากลผ่านสื่อข่าวเป็นกระแสหลักในช่วงปลายปี พ.ศ. 2549 ถึงต้นปี พ.ศ. 2550[6][7] สามารถใช้บริการเซคันด์ไลฟ์ผ่านทางโปรแกรมลูกข่ายที่ชื่อว่า Second Life Viewer ซึ่งดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์หลัก ผู้ใช้งานแต่ละคนจะเรียกว่า ผู้อาศัย (Resident) ซึ่งสามารถสื่อสารหรือแสดงปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้คนอื่นผ่านการแสดงออกของอวตาร (avatar) โปรแกรมดังกล่าวเป็นระดับการพัฒนาขั้นสูงของบริการเครือข่ายเชิงสังคมผสานเข้ากับมุมมองทั่วไปของเมทาเวิร์ส (metaverse) ผู้อาศัยแต่ละคนสามารถสำรวจ พบปะกับผู้อาศัยอื่น คบหาสมาคม มีส่วนร่วมในกิจกรรมส่วนบุคคลหรือเป็นกลุ่ม สร้างและซื้อขายไอเทม (ทรัพย์สินเสมือน) หรือให้บริการใดๆ บนเซคันด์ไลฟ์

เซคันด์ไลฟ์เป็นหนึ่งในโลกเสมือนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความเคลื่อนไหวทางวรรณกรรมที่เรียกว่า ไซเบอร์พังก์ (cyberpunk) และนวนิยายของนีล สตีเฟนสัน (Neal Stephenson) เรื่อง Snow Crash จุดมุ่งหมายของลินเดนแล็บคือสร้างโลกใหม่ที่คล้ายเมทาเวิร์สซึ่งสตีเฟนสันอธิบายไว้ว่า เป็นโลกที่ผู้ใช้งานสร้างขึ้นเอง และผู้คนสามารถมีปฏิสัมพันธ์ เล่นด้วยกัน ทำธุรกิจ หรือการสื่อสารอย่างอื่น[8] เซคันด์ไลฟ์มีหน่วยเงินเป็นของตัวเองเรียกว่า ลินเดนดอลลาร์ (Linden Dollar: L$) และสามารถแลกเปลี่ยนได้กับหน่วยเงินจริงเป็นดอลลาร์สหรัฐ ในตลาดที่ประกอบด้วย ผู้อาศัย ลินเดนแล็บ และบริษัทในชีวิตจริง

แม้เซคันด์ไลฟ์จะถูกเรียกว่าเกมในบางครั้ง แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ถึงแม้อาจจัดได้ว่าเป็นเกมอย่างหนึ่งที่พื้นฐานที่สุด แต่เซคันด์ไลฟ์ก็ไม่มีแต้ม คะแนน ผู้ชนะหรือผู้แพ้ ระดับ กลยุทธ์ในการจบเกม หรือคุณสมบัติอื่นใดที่จะระบุว่าเป็นเกม แต่ถึงกระนั้น ในโลกของเซคันด์ไลฟ์อาจมีเกมให้เล่นด้วยก็ได้ โปรแกรมนี้เป็นเพียงสภาพแวดล้อมเสมือนที่วางโครงสร้างไว้บางส่วน ที่ซึ่งตัวละครจะต้องรับผิดชอบกิจกรรมใดๆ ด้วยตัวเอง เพื่อความบันเทิงส่วนตัว

บัญชีผู้ใช้ทั้งหมดของเซคันด์ไลฟ์ได้รับการลงทะเบียนมากกว่า 8.5 ล้านบัญชี ถึงแม้ว่าจะมีหลายบัญชีที่ไม่ได้ใช้งาน ผู้อาศัยบางคนก็อาจมีบัญชีมากกว่าหนึ่ง และไม่มีตัวเลขใดที่ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการ ถึงอย่างไรก็ตามสิ่งที่เด่นชัดก็คือ เซคันด์ไลฟ์มีคู่แข่งหลายโปรแกรมที่โดดเด่น เช่น อิมวู (IMVU), แทร์ (There), แอ็กทีฟเวิลด์ส (Active Worlds) และเรดไลต์เซนเทอร์ (Red Light Center)

คุณลักษณะในโลกเสมือน[แก้]

ผู้อาศัยและอวตาร[แก้]

ผู้อาศัย (Resident) ในที่นี้หมายถึง "ผู้ที่มีส่วนร่วมในเซคันด์ไลฟ์" ดังผู้พัฒนาได้กล่าวไว้ว่า

มันเกิดขึ้นเร็วไปหน่อยในการพัฒนาเซคันด์ไลฟ์ หนึ่งในงานของผมคือการเสนอคำที่แตกต่างกันที่เราต้องการใช้ รวมไปถึงชื่อด้วย! การอภิปรายเรื่องชื่อเกิดขึ้นเป็นประจำระหว่างผม ฟิลิป ฮันเตอร์ และปีเตอร์ (ซึ่งสองคนหลังไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว) ด้วยการตอบรับจากคนอื่นๆ

เมื่อเริ่มมาถึงคำถามว่าอะไรที่จะใช้เรียกผู้คนในโลกเสมือน เรารู้อยู่ว่าเราไม่อยากให้เรียกพวกเขาว่า "ผู้ใช้" แม้ว่าชื่อนั้นจะเป็นสิ่งที่เรียกกันโดยทั่วไปสำหรับซอฟต์แวร์ อย่างไรก็ตาม คำว่า "ผู้ใช้" ไม่ได้เป็นสิ่งที่ดีสำหรับการอธิบายธรรมชาติสองทางในเซคันด์ไลฟ์ ที่ซึ่งผู้คนที่มีส่วนร่วมกำลังจัดเตรียมเนื้อหาและแบ่งปันประสบการณ์

เรายังเคยคิดถึงคำว่า "สมาชิก" (ช่างน่าเบื่อ!), "ประชาชน" (ทางการเกินไป!), และ "ผู้เล่น" (เหมือนเกมมากไป)

"ผู้อาศัย" จึงดูเหมือนว่าสามารถอธิบายได้ดีที่สุดถึงผู้คนที่มีส่วนร่วมในโลกเสมือนและจะสามารถเติบโตได้อย่างไร

— Robin Harper (รู้จักกันในชื่อ Robin Linden), [9]

ดังนั้นคำว่า ผู้อาศัย จึงไม่ได้หมายถึงสิ่งที่อยู่ในเงื่อนไขต่อไปนี้

  • ผู้ที่สร้างบัญชีอย่างเดียว แต่ไม่ได้เข้าสู่ระบบ
  • ผู้ที่มีบัญชีซึ่งสร้างไว้เพื่อการประชาสัมพันธ์งานหรือเหตุการณ์ต่างๆ
  • ผู้ที่มีบัญชีและเข้าสู่ระบบน้อยครั้ง และหยุดการใช้บัญชีนั้น

มีข้อยกเว้นเล็กน้อยในเรื่องการใช้คำในการอ้างถึงบุคคลที่มีมากกว่าหนึ่งบัญชี ในกรณีนี้บัญชีหลักจะเรียกว่าผู้อาศัยตามปกติ ส่วนบัญชีอื่นๆ จะเรียกว่า ผู้อาศัยสำรอง (Alt) ซึ่งสามารถเปลี่ยนมาเป็นผู้อาศัยหลักได้ อย่างไรก็ตาม ผู้อาศัยจะต้องลงทะเบียนและเสียค่าธรรมเนียมเพื่อให้สามารถมีบัญชีผู้ใช้ได้มากกว่าหนึ่ง แม้ว่าหลังจากเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549 ก็ยังไม่มีกระบวนการยืนยันตัวตนเพื่อป้องกันผู้ใช้งานสร้างบัญชีแรกด้วยข้อมูลเท็จ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเป็นประจำ ทั้งบัญชีพื้นฐานและบัญชีสิทธิพิเศษก็เรียกว่าผู้อาศัยเหมือนกันโดยไม่มีข้อยกเว้น อย่างไรก็ตาม ผู้อาศัยที่สร้างบัญชีใช้งานตั้งแต่รุ่นบีตา และผู้อาศัยที่สมัครสมาชิกตลอดชีพในราคา 225 ดอลลาร์สหรัฐ จะเรียกว่า สมาชิกกฎบัตร (Charter Member)

ลักษณะที่ปรากฏ[แก้]

ผู้อาศัยแต่ละคนจะปรากฏตัวเป็นอวตา (avatar มักย่อว่า av, avi, ava) อวตารแบบพื้นฐานคือรูปแบบมนุษย์ชายหญิง ที่สามารถปรับแต่งลักษณะทางกายภาพได้อย่างกว้างขวาง เช่น รูปร่าง ความอ้วนความผอม สีผิว นัยน์ตา ทรงผม รวมทั้งเสื้อผ้า แว่นตา รองเท้า กำไลหรือแหวน เป็นต้น นอกเหนือจากนั้นผู้อาศัยยังสามารถปรับแต่งอวตารให้เป็นสิ่งมีชีวิตอื่นที่คล้ายมนุษย์ สัตว์ มนุษย์ต่างดาว หรือเป็นหุ่นยนต์ก็ได้

อวตารสามารถเป็นผลงานสร้างสรรค์และแสดงให้เห็นถึงตัวจริงของผู้อาศัย[10] บุคคลหนึ่งสามารถสร้างอวตารเพื่อสื่อให้เห็นถึงผู้ใช้ในโลกแห่งความเป็นจริงที่สร้างมันขึ้นมา สามารถปรับแต่งให้ตัวสูงขึ้น เพิ่มกล้ามเนื้อ หรือเพิ่มจุดสนใจให้กับตัวเองได้ เป็นต้น เซคันด์ไลฟ์เปิดให้ผู้อาศัยทุกคนใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ในการออกแบบอวตาร และสามารถกระทำได้ง่าย ผู้อาศัยคนหนึ่งๆ จึงไม่จำเป็นต้องมีลักษณะเดิมอย่างที่เห็นครั้งแรกเสมอไป และเปลี่ยนไปได้ตามต้องการ

การสื่อสาร[แก้]

ในเซคันด์ไลฟ์ สามารถติดต่อสื่อสารด้วยการพิมพ์ข้อความได้ 2 ทางคือ การพูดคุยแบบธรรมดา (chat) และการส่งข้อความด่วน (IM) การพูดคุยแบบธรรมดาใช้กับการสนทนาที่เป็นสาธารณะระหว่างอวตารตั้งแต่สองคนขึ้นไป และจะสามารถได้ยิน (มองเห็นข้อความ) ในระยะ 20 เมตรจากผู้พูด อวตารยังสามารถตะโกนหรือกระซิบได้อีกด้วย ซึ่งจะได้ยินในระยะ 100 เมตรและ 10 เมตรตามลำดับ ส่วนการส่งข้อความด่วนจะใช้เมื่อเป็นการสนทนาส่วนตัวระหว่างอวตารสองคน หรือระหว่างสมาชิกภายในกลุ่มที่ตนเองเข้าร่วม ซึ่งผู้ใช้งานคนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องจะไม่ทราบว่ามีการสนทนากัน นอกจากนั้นการส่งข้อความด่วนยังมีจุดที่แตกต่างจากการพูดคุยธรรมดาคือ ข้อความด่วนสามารถส่งหากันได้โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในระยะใกล้ ซึ่งอีกฝ่ายหนึ่งอาจอยู่ที่ทวีปหรือเกาะอื่นก็ได้ และอวตารอีกฝ่ายหนึ่งไม่จำเป็นต้องออนไลน์ ซึ่งข้อความที่ส่งไปจะแสดงขึ้นมาหลังจากคนนั้นเข้าสู่ระบบในครั้งถัดไป และตั้งแต่รุ่น 1.18.1.2 เริ่มใช้งานการสื่อสารด้วยเสียง (voice chat) บนกริดหลัก โดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นลิขสิทธิ์ของ Vivox

มีเว็บไซต์บางแห่งที่อนุญาตให้ผู้อาศัยกำหนดตำแหน่งของผู้อาศัยอื่นๆ ได้จากข้างนอกโลกเสมือน และเว็บไซต์ SLurl.com อนุญาตให้มีการเชื่อมโยงภายนอก เข้ามายังตำแหน่งบนแผนที่ในเซคันด์ไลฟ์

การเคลื่อนที่[แก้]

วิธีการเคลื่อนที่แบบพื้นฐานของอวตารคือการเดิน (รวมทั้งการวิ่งและการกระโดด) และเพื่อให้สามารถเดินทางได้อย่างรวดเร็ว อวตารสามารถบินได้ด้วยเพดานบินสูงที่สุด 170 เมตรจากพื้นดิน (หากพื้นดินอยู่ที่ระดับความสูง 100 เมตร จะสามารถบินได้สูงสุดที่ระดับ 270 เมตร เป็นต้น) โดยไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ แต่หากมีอุปกรณ์พิเศษที่ใส่สคริปต์มาเฉพาะจะสามารถบินได้สูงอย่างไม่จำกัด (แม้ว่าตั้งแต่ความสูงประมาณสามแสนเมตรขึ้นไป การวาดข่ายสามมิติของอวตารจะเริ่มสูญเสียไป และที่ความสูงประมาณหนึ่งล้านเมตร อวตารจะหายไปไม่ถูกวาดออกมา)

อวตารสามารถขับขี่ยานพาหนะได้ ยานพาหนะพื้นฐานที่สุดก็คือรถคาร์ทที่อยู่ในไลบรารีวัตถุซึ่งผู้อาศัยทุกคนมี และยังมียานพาหนะที่สร้างโดยผู้อาศัยคนอื่นๆ ทั้งแบบฟรีและแบบซื้อขาย มีให้เลือกหลากหลายทั้งรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ เรือดำน้ำ หรือบัลลูน เป็นต้น สำหรับอากาศยานสามารถบินได้สูงสุด 4,096 เมตร ซึ่งเป็นความสูงที่จำกัดไว้บนวัตถุบินได้ทุกชนิด ปัจจุบันมีตลาดขนาดใหญ่สำหรับยานพาหนะและกำลังเติบโตในเซคันด์ไลฟ์ โดยเฉพาะตลาดรถยนต์ ส่วนใหญ่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นพาหนะหรือใช้ตั้งโชว์ แต่ก็ยังมีกลุ่มผู้อาศัยกลุ่มเล็กๆ ที่สร้างรถยนต์เพื่อใช้สำหรับแข่งขันในสนาม

สำหรับการเดินทางแบบรวดเร็วทันใจ อวตารสามารถเทเลพอร์ต (teleport: TP) ไปยังตำแหน่งที่ต้องการได้โดยตรง โดยเลือกจุดหมายปลายทางบนหน้าต่างแผนที่ หรือได้รับการเชิญชวนจากคนอื่น อวตารยังสามารถกำหนดแลนด์มาร์ก (landmark: LM) บนตำแหน่งที่ตนเองยืนอยู่ เพื่อให้สามารถเทเลพอร์ตกลับมายังตำแหน่งเดิมได้ในภายหลัง และสามารถแจกจ่ายแลนด์มาร์กให้กับอวตารคนอื่นได้อีกด้วย

เศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์[แก้]

เซคันด์ไลฟ์มีเศรษฐกิจเป็นของตัวเองและมีหน่วยเงินเป็นลินเดนดอลลาร์ (Linden Dollar: L$) ผู้อาศัยได้สร้างสินค้าและบริการขึ้นใหม่ และได้ซื้อขายอยู่ในโลกเสมือนจริงอย่างสม่ำเสมอ ผู้อาศัยสามารถแลกเปลี่ยนลินเดนดอลลาร์เป็นเงินจริงในหน่วยดอลลาร์สหรัฐได้ ถึงแม้อัตราแลกเปลี่ยนจะผันผวน แต่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 เริ่มมีเสถียรภาพในอัตรา L$266 ต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการแลกเปลี่ยนเหล่านี้เป็นตลาดเปิด ยกเว้นเมื่อลินเดนแล็บแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนของลินเดนดอลลาร์เพื่อพยายามรักษาเสถียรภาพเอาไว้ มีจำนวนผู้อาศัยเพียงเปอร์เซนต์เล็กน้อยที่มีรายได้สุทธิจากเศรษฐกิจนี้ ซึ่งมีตั้งแต่ไม่กี่ร้อยจนถึงหลายพันดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน และผู้อาศัยส่วนใหญ่ก็มีรายได้ขั้นต้นเพียงพอที่จะจับจ่ายใช้สอยในหน่วยลินเดนดอลลาร์ หน่วยเงินนี้จึงกลายเป็นความสัมพันธ์บนวัฏจักรทางเศรษฐกิจ และเป็นไปได้ที่จะมีการเก็บภาษี

เฉพาะสมาชิกแบบพรีเมียมเท่านั้นที่สามารถครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ โดยผู้อาศัยที่ครอบครองเนื้อที่ไม่เกิน 512 ตารางเมตรไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม หากมากกว่านั้นจะมีการเก็บ "ค่าธรรมเนียมการใช้ที่ดิน" (Land Use Fee) ซึ่งลินเดนแล็บมักใช้คำว่า "เงินกองทุน" (Tier) โดยเก็บในหลายอัตราตั้งแต่ต่ำสุด 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ไปจนถึง 195 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนสำหรับเนื้อที่ขนาดเท่าทั้งเขต (region) ซึ่งเท่ากับ 256×256 = 65,536 ตารางเมตร (16 เอเคอร์) แต่ในความเป็นจริงการเก็บค่าธรรมเนียมจะคิดจากเนื้อที่รวมที่ผู้อาศัยคนนั้นเป็นเจ้าของ โดยไม่คำนึงถึงว่าที่ดินจะตั้งอยู่ที่เขตไหนบ้าง (ไม่เก็บแยกเขต) ราคาของที่ดินจะอ้างอิงตามทวีปหลัก (Mainland) อาทิ ที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของลินเดนแล็บเอง ผู้อาศัยบางคนที่ครอบครองเนื้อที่มากกว่า 65,536 ตารางเมตรบนเมนแลนด์จะสามารถต่อรองราคาได้กับลินเดนแล็บ ลินเดนแล็บเคยขายที่ดินจัดสรรในราคาถูกสำหรับผู้อาศัยใหม่บนเนื้อที่ 512 ตารางเมตรเป็นล็อต (เช่นขนาด 16×32 เมตร) ผ่านแผนงาน First Land แต่แผนงานนี้ได้สิ้นสุดลงในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 เนื่องจากที่ดินมักจะถูกขายต่ออย่างรวดเร็วเพื่อแสวงหากำไรมากกว่าที่จะถือครองโดยผู้อาศัย และลินเดนแล็บก็ยังขายที่ดินทั้งเขตในขนาด 65,536 ตารางเมตรอีกด้วย เมื่อผู้อาศัยซื้อที่ดินในแปลงใดๆ ไปแล้วจะสามารถขายต่อได้อย่างเสรี และใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์ด้วยจุดประสงค์ใดๆ ภายใต้การยอมรับเงื่อนไขของเซคันด์ไลฟ์ว่า จะไม่ใช้ในจุดประสงค์ที่ไม่เหมาะสำหรับเด็กและเยาวชนบนพื้นที่ที่ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำ (Parental Guidance: PG)

นอกจากนี้ยังมีที่ดินอีกประเภทคือ "ที่ดินส่วนบุคคล" (Private Estate) ประกอบด้วยเกาะหรือเขตส่วนบุคคลมากกว่าหนึ่งเขต ที่ซึ่งมีข้อกำหนดและราคาต่างจากเมนแลนด์อย่างสิ้นเชิง การเริ่มต้นซื้อที่ดินส่วนบุคคลสามารถกระทำได้โดยผู้อาศัยหนึ่งคนที่ไม่ได้เข้าร่วมในกลุ่มใดๆ เรียกว่าเป็น "เจ้าของที่ดิน" (Estate Owner) ซึ่งสามารถมอบหมายตำแหน่งหน้าที่ผู้จัดการที่ดินหรือผู้จัดการเขตให้กับผู้อาศัยอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกแบบพรีเมียมก็ได้ เขตส่วนบุคคลหลายๆ เขตสามารถรวมให้เป็นที่ดินผืนเดียวกันเพื่อให้ง่ายต่อการจัดสรร ที่ดินแต่ละส่วนในที่ดินส่วนบุคคลสามารถซื้อขายได้ในนามของเจ้าของที่ดิน และลินเดนแล็บจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกรณีพิพาทระหว่างเจ้าของที่ดินกับผู้อาศัยรายอื่นด้วยตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น เจ้าของที่ดินสามารถเอาที่ดินกลับคืนมาจากผู้อาศัยอื่นที่ซื้อไปแล้วโดยที่ลินเดนแล็บจะไม่เข้าไปช่วยตัดสินการโต้เถียงนั้น ลินเดนแล็บจะรับรู้เพียงว่าเจ้าของที่ดินเป็นผู้ที่ครอบครองกรรมสิทธิ์ในเขตนี้ และไม่มีผู้อาศัยคนใดที่ต้องจ่ายให้ลินเดนแล็บเพื่อที่จะใช้ที่ดินส่วนบุคคลผืนดังกล่าว ถึงแม้ว่าเจ้าของที่ดินจะเก็บค่าธรรมเนียมเองก็ตาม ดังนั้นผู้อาศัยอาจสามารถครอบครองที่ดินได้โดยไม่ต้องเป็นสมาชิกแบบพรีเมียมหรือต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการใช้ที่ดิน (ขึ้นอยู่กับนโยบายของเจ้าของที่ดิน) ราคาของเขตส่วนบุคคลแต่ละเขตคือ 1,675 ดอลลาร์สหรัฐ เฉพาะในการซื้อครั้งแรก และตามด้วยค่าบำรุงรักษารายเดือน 295 ดอลลาร์สหรัฐ

ผลงานสร้างสรรค์และลิขสิทธิ์[แก้]

หนึ่งในลักษณะเฉพาะของเซคันด์ไลฟ์คือ ผู้อาศัยจะเป็นผู้สร้างเนื้อหาในโลกเสมือน ไม่ใช่ลินเดนแล็บ อวตารของผู้อาศัยเป็นตัวอย่างหนึ่งของเนื้อหาที่สร้างโดยผู้ใช้ (user-generated content)

ในเซคันด์ไลฟ์มีเครื่องมือสร้างวัตถุสามมิติ ซึ่งอนุญาตให้ผู้อาศัยที่มีทักษะสามารถสร้างวัตถุเสมือนต่างๆ ได้ อาทิ อาคาร ภูมิประเทศ ยานพาหนะ เครื่องเรือน และเครื่องอัตโนมัติต่างๆ สำหรับการใช้งาน การแลกเปลี่ยน หรือการซื้อขาย การสร้างสิ่งเหล่านี้เป็นแหล่งที่มาอันดับแรกของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ผู้อาศัยยังสามารถสร้าง "ลีลาท่าทาง" ด้วยการเคลื่อนไหวเล็กๆ น้อยๆ ประกอบกับเสียงจากไลบรารีพื้นฐาน นอกจากนั้นผู้อาศัยสามารถใช้เครื่องมือภายนอกสร้างภาพกราฟิกส์ การเคลื่อนไหว และเสียง แล้วอัปโหลดวัตถุเหล่านั้นเข้ามาในโลกเสมือน

เซคันด์ไลฟ์มีภาษาสคริปต์ที่เรียกว่า ภาษาสคริปต์ลินเดน (Linden Scripting Language: LSL) ใช้สำหรับกำหนดพฤติกรรมของวัตถุต่างๆ เช่น ประตูที่เปิดได้เองเมื่อเดินเข้าไปใกล้ เป็นต้น ผู้อาศัยสามารถใส่สคริปต์ลงในผลงานที่สร้างได้ด้วยตนเอง ภาษาสคริปต์ลินเดนสามารถใช้สร้างระบบที่ซับซ้อนได้อย่างมีความสัมพันธ์ ตัวอย่างเช่น การทดลองสิ่งมีชีวิตปัญญาประดิษฐ์ที่เกาะ Svarga ที่ซึ่งระบบนิเวศแบบสมบูรณ์ทำงานโดยอัตโนมัติ (รวมไปถึง เมฆ ฝน แสงอาทิตย์ ผึ้ง นก ต้นไม้ และดอกไม้)

เมื่อวัตถุต่างๆ ถูกสร้างขึ้นในโลกเสมือน แล้วถูกส่งมายังคอมพิวเตอร์ของผู้อาศัย เราเรียกว่าวัตถุเหล่านั้นกำลัง "rez" ซึ่งคำนี้มีที่มาจากภาพยนตร์ของดิสนีย์เรื่อง ทรอน (Tron) คำสแลง "rez" นั้นยังปรากฏอยู่ในภาษาสคริปต์ลินเดนด้วย ที่คำสั่งสำหรับสร้างวัตถุ llRezObject ()

เมื่อมีผลงานสร้างสรรค์ในโลกของเซคันด์ไลฟ์ ระบบจะช่วยปกป้องสิทธิให้กับผู้สร้างเนื้อหา กล่าวคือ ผู้อาศัยที่สร้างวัตถุและยังคงเป็นเจ้าของสามารถรักษาสิทธิได้อย่างถูกต้อง ซึ่งต่างกับลิขสิทธิ์ในโลกของความเป็นจริง ผู้สร้างวัตถุสามารถกำหนดให้วัตถุนั้น "ห้ามสำเนา" (no copy) คือห้ามทำสำเนาจากวัตถุที่มีอยู่เป็นวัตถุใหม่ "ห้ามแก้ไข" (no mod) คือห้ามไม่ให้ปรับแต่งแก้ไขคุณสมบัติต่างๆ ของวัตถุ และ "ห้ามถ่ายโอน" (no trans) คือห้ามไม่ให้เจ้าของวัตถุคนปัจจุบันถ่ายโอนวัตถุไปให้ผู้อาศัยคนอื่น โดยปกติแล้ววัตถุที่สร้างใหม่จะปรากฏชื่อของผู้สร้างคนแรกในคุณสมบัติของวัตถุด้วย ไม่ว่าจะถูกสำเนา แก้ไข หรือถ่ายโอนไปกี่ครั้ง สิทธิเริ่มต้นของวัตถุที่สร้างใหม่คือ "ห้ามสำเนา, ห้ามแก้ไข, ให้ถ่ายโอน" จากนั้นผู้สร้างจะเป็นคนเปลี่ยนแปลงเลือกสิทธิต่างๆ เอง

สิทธิและข้อจำกัดเหล่านี้มีอยู่ในโลกเสมือนตามมารยาทและกฎหมาย เซิร์ฟเวอร์จะเก็บข้อมูลลิขสิทธิ์เฉพาะไว้กับวัตถุทุกชนิดที่สร้างขึ้น โดยการระบุชื่อผู้สร้างคนแรกไว้บนวัตถุ โปรแกรมลูกข่ายจะไม่อนุญาตให้ทำสำเนา ปรับแต่งแก้ไข แจกจ่าย หรือนำไปขายต่อ ถ้าผู้สร้างไม่ได้กำหนดสิทธิที่อนุญาตมากับวัตถุด้วย ลินเดนแล็บกล่าวว่าข้อตกลงการให้บริการของเซคันด์ไลฟ์ กับกฎหมาย DMCA ของสหรัฐที่ขัดแย้งกัน อาจนำไปสู่การใช้งานที่ไม่ชอบธรรมของโปรแกรมลูกข่ายอื่นๆ เช่น CopyBot

ศิลปะและการบันเทิง[แก้]

ผู้อาศัยส่วนหนึ่งในเซคันด์ไลฟ์มีความคิดสร้างสรรค์เป็นพื้นฐาน จึงมีกลุ่มศิลปินและนักออกแบบมารวมตัวกันเป็นชุมชนในโลกเสมือน พวกเขาไม่เพียงแค่ใช้เซคันด์ไลฟ์เป็นที่แสดงผลงานจากชีวิตจริง แต่พวกเขายังแสดงออกเพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะใหม่ๆ ในโลกเสมือนด้วย ผลงานศิลปะในเมทาเวิร์สถูกจัดแสดงต่อสาธารณชนโดยผู้ริเริ่ม อาทิ ประติมากรรมรูปปั้นโดย Fabjectory และภาพวาดสีน้ำมันโดย Secondlife-Art.com เป็นต้น เครื่องมือสำหรับการสร้างวัตถุในเซคันด์ไลฟ์ช่วยให้ศิลปินสามารถสร้างสรรค์ผลงานศิลปะรูปแบบใหม่ ที่ไม่สามารถกระทำได้ในโลกแห่งความเป็นจริงเนื่องด้วยข้อจำกัดทางฟิสิกส์หรือค่าใช้จ่ายที่สูง ปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์กว่า 2,050 แห่งในเซคันด์ไลฟ์ (อ้างอิงจากเสิร์ชเอนจินในระบบ)

นอกจากนั้นก็มีกิจกรรมทางดนตรีในเซคันด์ไลฟ์ ที่ซึ่งเสียงร้องและเสียงดนตรีถูกส่งมาจากผู้อาศัยที่ใช้งานอยู่ที่บ้านหรือสตูดิโอ ด้วยการส่งข้อมูลเสียงเข้าผ่านไมโครโฟน เครื่องดนตรี หรือแหล่งกำเนิดเสียงอื่นๆ ไปยังส่วนต่อประสานในคอมพิวเตอร์ แล้วส่งต่อสัญญาณถ่ายทอดสดไปยังเซิร์ฟเวอร์ ผู้อาศัยคนอื่นสามารถรับฟังการถ่ายทอดสดเพื่อความบันเทิงได้ในเซคันด์ไลฟ์เช่นเดียวกับวิทยุออนไลน์ การถ่ายทอดเสียงเพลงด้วยวิธีนี้ริเริ่มโดย Astrin Few เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2004 และได้รับความนิยมในช่วงกลางปี ค.ศ. 2005 ตัวอย่างศิลปินนักร้องในสหราชอาณาจักรเช่น Passenger เคยเปิดการแสดงสดบนเกาะ Menorca เมื่อกลางปี ค.ศ. 2006 และ Redzone เคยเดินสายแสดงดนตรีบนเซคันด์ไลฟ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 ทางลินเดนแล็บได้เพิ่มหมวดหมู่เหตุการณ์นัดหมายสำหรับ "การแสดงสดทางดนตรี" ตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 2006 เพื่อปรับให้เข้ากับเหตุการณ์ประเภทนี้ที่กำลังเพิ่มขึ้น

จนถึงต้นปี ค.ศ. 2008 การแสดงสดทางดนตรีในเซคันด์ไลฟ์ได้ขยายขอบเขตไปยังแนวดนตรีทุกประเภท รวมทั้งนักดนตรีและดีเจหลายร้อยคนที่อยากเผยแพร่ผลงานของเขาเช่นกัน ทุกวันนี้จึงมีการแสดงสดทางดนตรีที่เด่นๆ หลายสิบครั้งต่อวัน

อ้างอิง[แก้]

  1. "SecondLife/viewer". GitHub. สืบค้นเมื่อ September 19, 2023. C++: 91.4%
  2. "language_combobox". GitHub. สืบค้นเมื่อ 19 September 2023.
  3. "LSO". สืบค้นเมื่อ September 19, 2023. Second Life has two LSL compiles, one which compiles into LSO bytecode and is executed by the simulator in the LSO VM
  4. "Mono". สืบค้นเมื่อ September 19, 2023. Mono is now live on the main grid with server version 1.24.3
  5. "LSO". สืบค้นเมื่อ September 19, 2023. Second Life has two LSL compiles, ..., the other which compiles to IL and is executed by the simulator in the Mono VM
  6. Sege, Irene (25 ตุลาคม พ.ศ. 2549). "Leading a double life". The Boston Globe. สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  7. Harkin, James (17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549). "Get a (second) life". Financial Times. สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  8. "The king of alter egos is surprisingly humble guy". USA Today. สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ sl-wiki-origin-of-the-term-Resident
  10. "Second Life Avatars and their Real Life". Web Urbanist. สืบค้นเมื่อ 2007-06-18.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]