วิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา มหาวิทยาลัยลอนดอน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก School of Oriental and African Studies)
วิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา มหาวิทยาลัยลอนดอน
School of Oriental and African Studies, University of London
ชื่อเดิมThe School of Oriental Studies
คติพจน์Knowledge is Power (ความรู้คืออำนาจ)
ประเภทรัฐ
สถาปนา1916; 108 ปีที่แล้ว (1916)
สังกัดการศึกษาUniversity of London
อาจารย์515 (2021/22)
ผู้ศึกษา6,295 (2021/22)
ปริญญาตรี3,400
บัณฑิตศึกษา2,890
ที่อยู่
10 ถนนตอนฮอจ, จตุรัสรัสเซล
,
ลอนดอน
,
สหราชอาณาจักร
เว็บไซต์www.soas.ac.uk

วิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา มีชื่อย่อที่เรียกกันในปัจจุบันคือ โซแอส (อังกฤษ: School of Oriental and African Studies, SOAS) เป็นหนึ่งในวิทยาลัยที่สังกัดมหาวิทยาลัยลอนดอน ก่อตั้งโดยพระราชตราตั้งในปี 1916 โดยก่อตั้งเพื่อเป็นสถาบันศึกษาเฉพาะทางด้านสังคมศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียและแอฟริกา เพื่อการปกครองและการขยายอิทธิพลของสหราชอาณาจักรในภูมิภาคหล่านั้น[1] ปัจจุบันสถาบันได้ขยายการศึกษาไปสู่การศึกษาสังคมทุกมิติและทุกภูมิภาค

ปัจจุบันวิทยาลัยถือว่าเป็นสถาบันเฉพาะทางด้านสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ และภาษาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา[2] มากไปกว่านั้นยังเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งเดียวในยุโรปที่มีการเรียนการสอน และการวิจัยเฉพาะทางในสาขานี้เหล่านี้ [3]

โดยทางวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับในสาขาต่าง ๆ ใน QS World University Rankings โดย บริษัทคอกโครัลลีไซมอนส์ (Quacquarelli Symonds) โดยสาขาที่มีความโดดเด่นอย่างยิ่งระดับโลก (ค.ศ.2022)[4] ได้แก่

  • Development Studies อันดับ 2
  • Anthropology อันดับ 10
  • Politics อันดับ 15

ประวัติ[แก้]

ภาพหน้าอาคารหลัก

โดยเริ่มแรก วิทยาลัยถูกจัดตั้งขึ้นในชื่อวิทยาลัยบูรพาศึกษา (School of Oriental Studies) ในปี ค.ศ.1917 ตั้งอยู่ ณ Finsbury Circus ในเขต City of London ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยบูรพคดี และแอฟฟริกาศึกษา (School of Oriental and African Studies) ในปี 1938 และย้ายที่ตั้งมาอยูที่ Vandon House, St. James Park ในช่วงสงครามโลกก็ถูกย้ายที่ตั้งชั่วคราวที่เมืองเคมบริดจ์[5] และในช่วงถัดมาก็ได้ย้ายมาอยู่ในย่าน Russell Square ตราบจนถึงปัจจุบัน

วิทยาลัยถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อในฐานะเครื่องมือเพื่อการเสริมสร้างอิทธิพลของสหราชอาณาจักรในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เป็นทั้งสถานที่ฝึกอบรม พ่อค้า ครู หมอ มิชชันนารี และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าราชการ และนายทหาร ที่จะไปประจำอยู่ตามประเทศอาณานิคม เพื่อให้รู้จักสภาพสังคม เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ และภาษา ของประเทศในแถบนั้น[6] และทำการศึกษาเพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียและแอฟริกาจึงต้องสรรหานักวิชาการมาทำวิจัยด้านประวัติศาสตร์ การเมือง การเศรษฐกิจและภูมิศาสตร์ของภูมิภาคเหล่านี้ไว้ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดยุทธศาสตร์ของลัทธิจักรวรรดินิยม รวมไปถึงวงการวิชาการ

แต่ในปัจจุบัน สถาบันดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นแหล่งค้นคว้าด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (Southeast Asian Studies) ที่สำคัญเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ในสหรัฐอเมริกา, มหาวิทยาลัยปารีส ในฝรั่งเศส, มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ในออสเตรเลีย, มหาวิทยาลัยเกียวโต ในญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ในสิงคโปร์ เป็นต้น

วิทยาลัยฯ มีที่พักสำหรับนักศึกษาเป็นของตัวเอง เพราะเหตุที่เปิดสอนวิชาเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมของเอเชีย จึงมีนักศึกษาต่างชาติโดยเฉพาะจากเอเชียเข้าไปศึกษาเป็นจำนวนมาก ตัววิทยาลัยตั้งอยู่ที่รัสเซลล์สแควร์ ใจกลางกรุงลอนดอน ใกล้กับพิพิธภัณฑ์แห่งชาติและหอสมุดแห่งชาติ

งานและบริการทางวิชาการ[แก้]

หอสมุด[แก้]

หอสมุดของวิทยาลัยเป็นหนึ่งในห้า หอสมุดเพื่อการวิจัยแห่งชาติ ของสหราชอาณาจักร โดยเป็นหอสมุดเฉพาะทางด้านการวิจัยสำหรับการศึกษาระดับอุดมศึกษาในด้านการศึกษาภูมิภาคเอเชีย อาฟริกา และตะวันออกกลาง โดยมีหนังสือถูกรวบรวมอยู่ในหอสมุดมากกว่า 1.3 ล้านเล่ม ในจำนวนเหล่านี้ก็ประกอบด้วยหนังสือหลากหลายภาษาคลอบคลุมภาษาจากทุกภูมิภาค ซึ่งรวมไปถึงหนังสือภาษาไทย และงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยในภาษาอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งข้อมูลที่รวบรวมหนังสือเกี่ยวเนื่องกับ สังคมศาสตร์ การพัฒนา การเมืองและการต่างประเทศ ประวัติศาสตร์ ภาษา และวัฒนธรรม ไว้เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงหนังสือหายากทั้งที่เป็นภาษาต่างประเทศ และภาษาอังกฤษ ที่เกี่ยวเนื่องกับภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก[7] เช่น ต้นฉบับบันทึกการเดินทาง การทำงาน และการดำเนินชีวิตในต่างเเดนของเหล่ามิชชั้นนารี และข้าราชการอาณานิคม ทหาร และการทูตของสหราชอาณาจักร[8] โดยทางหอสมุดเองกำลังทำการรวมและขยายฐานข้อมูลในรูปแบบดิจิตอล และออนไลน์ เพื่อให้ขยายบริหารทางวิชาการให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

หอสมุดของวิทยาลัย

วารสารวิชาการ[9][แก้]

ทางวิทยาลัยได้จัดทำวารสารวิชาการเป็นจำนวนมากโดยมุ่งเน้นไปในเรื่องเกี่ยวข้องกับประเด็นทาง สังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การเมือง และภาษา แต่จะวุ่งเน้นการนำเสอนประเด็นเหล่านี้ในภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง วารสารที่โดดเด่นของวิทยาลัยนั้นได้แก่

  • Bulletin of the School of Oriental and African Studies (BSOAS) หรือ The Bulletin of SOAS
  • The China Quarterly
  • The Journal of African Law
  • South East Asia Research

นอกจากนี้ทางวิทยาลัยยังจัดทำวารสารวิชาการสำหรับนักศึกษาทั้งระดับ ระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา

  • SOAS Journal of Postgraduate Research
  • SOAS Undergraduate Research Journal

นอกเหนือจากงานวิชาการที่จัดทำโดยวิทยาลัยเอง ทางวิทยาลัยยังเป็นคณะบรรณาธิการร่วม ของวารสารวิชาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาประเด็นทางสังคม การเมือง ประวัติศาสตร์ การพัฒนา และวัฒนธรรมต่าง ๆ ของภูมิภาคเอเชียและเเอฟริกาอีกเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น South Asia Research, Central Asiatic Journal, Indonesia and the Malay World, Japan Forum, และ SOAS Bulletin of Burma Research

วิทยาลัยฯ กับไทย[แก้]

วิทยาลัยฯ เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งเดียวในสหราชอาณาจักรที่มีภาควิชาภาษาไทย มีการเรียนการสอนภาษาและวรรณคดีไทย รวมทั้งดนตรีไทยด้วย นอกจากนี้ ยังเปิดสอนภาษาและวรรณคดีเขมร บาลี สันสกฤต ในอดีตมีนักสันสกฤตไทยหลายท่านมาศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยฯ แห่งนี้ เช่น ศ. ม.ล.จิรายุ นพวงศ์, ศ. ม.ล.ปิ่น มาลากุล

ปัจจุบันนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นอาจารย์กิตติมศักดิ์ (Honorary Fellow) ประจำสถาบันนี้ด้วย[10] และเสด็จมาร่วมทรงดนตรีไทยกับคณาจารย์ผู้ชำนาญดนตรีไทยและนักศึกษาที่ศึกษาดนตรีไทยของวิทยาลัยฯ เป็นประจำทุกปี ห้องสมุดของวิทยาลัยฯ เป็นสถานที่ซึ่งรวบรวมตำรับตำราทางวิชาการ, วรรณคดีไทย, ภาษาไทย, นวนิยายไทย และประวัติศาสตร์ไทยไว้มากที่สุด ในบรรดามหาวิทยาลัยทั้งหลายในอังกฤษ จัดเป็นแหล่งศึกษาวิชาไทยคดีศึกษาที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก

ศิษย์เก่าชาวไทยที่มีชื่อเสียง เช่น

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • The Thai Association in the UK (สามัคคีสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์) สมาคมนักเรียนไทยในสหราชอาณาจักร
  1. Brown, Ian (2016). The School of Oriental and African Studies : imperial training and the expansion of learning. Cambridge, United Kingdom. ISBN 978-1-316-68720-8. OCLC 962830134.
  2. "SOAS University of London UK | Ranking, Courses and". SI-UK: Move Forward. Be Great. (ภาษาอังกฤษ).
  3. "SOAS - School of Oriental and African Studies, University of London | Silk Roads Programme". en.unesco.org.
  4. "SOAS University of London". Top Universities (ภาษาอังกฤษ).
  5. https://blogs.soas.ac.uk/centenarytimeline/2015/01/30/from-finsbury-circus-to-senate-house/
  6. Brown, Ian (2016). The School of Oriental and African Studies : imperial training and the expansion of learning. Cambridge, United Kingdom. ISBN 978-1-316-68720-8. OCLC 962830134.
  7. "Brief Overview of the Collection". SOAS (ภาษาอังกฤษ).
  8. "SOAS | Jisc Library Hub Discover". discover.libraryhub.jisc.ac.uk.
  9. "SOAS journals and books". SOAS (ภาษาอังกฤษ).
  10. "Honorary fellows and graduates". SOAS (ภาษาอังกฤษ).