SET50 Index Options

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

SET50 Index Options ในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ตลาดอนุพันธ์ได้ทำการเปิดให้มีการทำการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ประเภทใหม่ คือ SET50 Index Options ซึ่งก่อนหน้านี้ตลาดอนุพันธ์ได้กำหนดให้มีการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ชนิดแรกของตลาดอนุพันธ์ประเทศไทย คือ SET50 Index Futures ไปเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2549

SET50 Index Options[แก้]

การออกขายตราสาร SET50 Index Options นี้ จะมีสัญญาที่ทำการซื้อขายแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ โดยมีสัญญาประเภทแรก คือ SET50 Index Call Options ซึ่งเป็นสัญญาระหว่างบุคคลหรือสถาบัน 2 ฝ่ายที่มากทำการตกลงกันว่าจะให้สิทธิแก่ผู้ซื้อ Call Options ในการซื้อสินทรัพย์ที่อ้างอิง (Underlying Asset) ซึ่งในที่นี้ก็คือ SET50 Index ตามราคาที่ได้ระบุไว้ (Exercise Price หรือ Strike Price) ภายในระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา (Expiration Date) SET50 Index Options เป็นการตกลงระหว่างบุคคลสองฝ่าย ตัวอย่างเช่น นาย ก ตกลงซื้อ Call Options โดยมีสิทธิที่จะซื้อดัชนี SET50 Index ตามข้อตกลงของ SET50 Index Options จากนาย ข.ซึ่งในวันที่ตกลงเข้าทำสัญญากันนั้น นาย ก.ต้องทำการจ่ายเงินค่าสิทธิ (Premium) ให้แก่นาย ข.และนาย ข.ต้องขาย SET50 Call Options ให้แก่ นาย ก.และในวันครบอายุตามสัญญา SET50 Index Options นาย ก.จะมีทางเลือกที่จะใช้สิทธิตามที่กำหนดในสัญญา หรือไม่ใช้สิทธิก็ได้ โดยที่ นาย ก.อาจใช้สิทธิในการซื้อสินทรัพย์อ้างอิงจากนาย ข.ตามราคาใช้สิทธิที่ได้กำหนดไว้ ทั้งนี้ นาย ก.จะใช้สิทธิเมื่อสถานะของตนเองมีกำไร และจะไม่ใช้สิทธิเมื่อสถานะของตนเองขาดทุน ดังนั้น นาย ก.จะมีผลขาดทุนสูงสุดเท่ากับค่า Premium และจะมีกำไรสุงสุดไม่จำกัดจำนวน แต่นาย ข.จะมีกำไรสูงสุดเท่ากับค่า Premium และจะขาดทุนสุงสุดอย่างไม่จำกัดจำนวน สัญญาประเภทที่สอง คือ SET50 Index Put Options เป็นตราสารอนุพันธ์ที่มีลักษณะไม่แตกต่างจาก SET50 Index Call Options มากนัก เพียงแต่เปลี่ยนลักษณะของสัญญาซึ่งได้กำหนดสิทธิในการซื้อล่วงหน้า มาเป็นการขายล่วงหน้าเท่านั้น

Put Options[แก้]

Put Options คือ สัญญาระหว่างบุคคลสองฝ่าย โดยที่ผู้ขาย (ผู้เขียน) สัญญา Put Options นั้นจะให้สิทธิแก่ผู้ซื้อ Put Options ในการขายสินทรัพย์ใด ๆ ในอนาคต ภายใต้สัญญาที่ได้ระบุถึงราคา (Strike Price หรือ Exercise Price) และระยะเวลาในการได้สิทธิ (Expiration Date) ไว้ ตัวอย่างการซื้อขาย SET50 Index Put Options เช่น นาย ก จ่ายเงินค่าสัญญา (Premium) เพื่อซื้อ SET50 Put Options จากนาย ข.สิ่งที่ นาย ก.ได้กระทำการซื้อ คือ สิทธิในการขาย SET50 Index ในอนาคต ตามราคาและระยะเวลาที่ตกลงกัน เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงวันหมดอายุตามสัญญา นาย ก. ผู้ที่ถือครอง SET50 Index Put Options จะมีทางเลือกในการใช้สิทธิดังกล่าว เพราะนาย ก. เป็นผู้ที่ได้จ่ายค่าสิทธิให้แก่ นาย ข. ดังนั้น นาย ก.จะใช้สิทธิของตนตามสัญญา เมื่อสัญญามีสถานะกำไร และจะไม่ใช้สิทธิ เมื่อสถานะตามสัญญานั้นมีสถานะขาดทุน และเมื่อนาย ก.ขอใช้สิทธิในการขาย SET50 ตาม SET50 Index Put Options นาย ข.จะต้องรับซื้อไว้ตามราคาที่ได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้า จากสิทธิดังกล่าวจะเห็นว่า นาย ก.เป็นผู้ที่มีสิทธิในการเลือกว่าจะใช้สิทธิตามสัญญาหรือไม่ ซึ่ง นาย ก.จะใช้สิทธิเมื่อสถานะของตนกำไร และไม่ใช้สิทธิเมื่อสถานะนั้นขาดทุน แต่ นาย ข.นั้นจะไม่มีสิทธิในการเลือกใด ๆ นาย ข.จะต้องทำตามที่นาย ก.มาขอใช้สิทธิเท่านั้น จากข้อกำหนดดังกล่าว จะทำให้ นาย ก.มีโอกาสขาดทุนสูงสุดเพียงค่า Premium ที่ตนได้เสียไป แต่โอกาสในการทำกำไรนั้นจะไม่จำกัด แต่สำหรัยนาย ข.จะมีโอกาสกำไรสูงสุดเท่ากับค่า Premium ที่ นาย ก.ได้ชำระไว้ แต่มีโอกาสขาดทุนเท่ากับที่ นาย ก.ได้กำไรไป

การซื้อขายออปชัน (Options)[แก้]

การซื้อขายออปชัน (Options) นั้น ผู้ซื้อออปชัน (Option Buyer) จะต้องทำการจ่ายค่าพรีเมียม (Options Premium) ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมในการซื้อสิทธิในการซื้อ (Call Option) หรือสิทธิในการขาย (Put Option) ให้แก่ผู้ขายออปชัน (Option Writer หรือ Option Seller)

การซื้อ Call Option[แก้]

การซื้อ Call Option (ทางเทคนิคจะเรียกการซื้อสิทธิในการซื้อนี้ว่า Long Call Options) ผู้ซื้อ Call Option จะได้รับผลตอบแทนสูงสุดอย่างไม่จำกัด เมื่อราคาสินทรัพย์ที่อ้างอิงในตลาดมีราคาสูงกว่า ราคาที่กำหนดให้ใช้สิทธิ เพราะผู้ถือ Call Option จะมีสิทธิในการซื้อสินทรัพย์ตามสิทธิดังกล่าวในราคาถูก และสามารถทำกำไรได้ทันที โดยการขายสินทรัพย์นั้นในตลาด และถ้าขาดทุน ผู้ซื้อ Call Option ก็จะขาดทุนเท่ากับค่าพรีเมียม เท่านั้น เพราะถ้าผู้ซื้อไม่ใช้สิทธิ ก็แสดงว่าตนนั้นขาดทุน การที่ผู้ซื้อไม่ใช้สิทธิ ก็จะไม่สามารถเรียกร้องค่าพรีเมียมคืนจากผู้ขายได้ แต่สำหรับผู้ขาย Call Option (หรือเรียกว่า Short Call Options) นั้น จะมีโอกาสกำไรสูงสุดเท่ากับค่าพรีเมียมที่ได้รับจากผู้ซื้อเท่านั้น เพราะเมื่อผู้ซื้อไม่มาขอใช้สิทธิตามที่ระบุไว้ ผู้ขายก็จะได้รับค่าพรีเมียมเป็นการตอบแทน แต่เมื่อใดที่ผู้ซื้อใช้สิทธิตามสิทธิที่ระบุใน Call Option นั้นก็แสดงว่าผู้ซื้อมีสถานะกำไร ผู้ขายก็จะขาดทุน และการขาดทุนของผู้ขายนั้นจะมีโอกาสขาดทุนสูงสุดอย่างไม่จำกัดจำนวน เท่ากับจำนวนผลตอบแทนที่ผู้ซื้อได้รับ

การซื้อ Put Option[แก้]

การซื้อ Put Option (ซึ่งอาจเรียกว่า Long Put Options) ผู้ซื้อ Put Option จะได้รับผลตอบแทน เมื่อราคาสินทรัพย์ที่อ้างอิงในตลาดมีราคาต่ำกว่าราคาซื้อขายที่กำหนดไว้ตามสิทธิ เพราะผู้ถือ Put Option จะมีสิทธิในการขายสินทรัพย์ตามสิทธิดังกล่าวในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ซึ่งผู้ซื้อ Put Option จะสามารถซื้อสินทรัพย์ที่ตกลงกันในตลาดในราคาที่ถูก แล้วนำมาขายตามสิทธิให้แก่ผู้ที่ขาย Put Option ได้ในราคาที่สูงกว่าได้ทันที แต่ถ้าผู้ซื้อ Put Option ขาดทุน ผู้ซื้อก็จะไม่ขอใช้สิทธิดังกล่าว ก็จะขาดทุนสูงสุดเท่ากับค่าพรีเมียมนั่นเอง

สำหรับผู้ขาย Put Option (Short Put Options) จะมีโอกาสทำกำไรสูงสุดได้เท่ากับค่าพรีเมียมเช่นเดียวกับ Call Option และมีโอกาสขาดทุนสูงสุด เท่ากับกำไรที่ผู้ซื้อได้รับเช่นเดียวกันกับ Call Option เพราะการลงทุนในตราสารอนุพันธ์นั้นเป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทนโดยรวมเป็นศูนย์ (Zero Sum Game) คือ ผู้ซื้อและผู้ขายจะมีกำไรและขาดทุนรวมกันแล้วเป็น ศูนย์

สิทธิของผู้ซื้อออปชันและภาระผูกพันของผู้ขายจะสิ้นสุดลงตามกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังนี้ คือ สิทธิของผู้ซื้อ (Long Position) จะสิ้นสุดลงเมื่อ ผู้ซื้อขอใช้สิทธิตามสัญญา ถ้าเป็นสัญญา Call Option ก็จะใช้สิทธิในการซื้อ และในทางกลับกัน ถ้าเป็น Put Option ก็จะใช้สิทธิในการขาย หากผู้ซื้อออปชันไม่ใช้สิทธิตามสัญญา ออปชั่นนั้นจะหมาอายุลงเองโดยอัตโนมัติ และวิธีการสุดท้ายในการทำให้สัญญาสิ้นสุดลง คือ การลงทุนในทางตรงข้าม เช่น ซื้อออปชันชนิดใดไว้ ก็จะขายออปชันชนิดนั้น เพื่อทำการล้างสถานะ

ส่วนภาระของผู้ขาย (Short Position) จะสิ้นสุดลงเมื่อมีการปฏิบัติตามภาระผู้กพันตามสัญญาออปชัน หรือผู้ซื้อไม่มาขอใช้สิทธิตามเวลาที่กำหนดทำให้สัญญานั้นหมดอายุโดยไม่ถูกใช้สิทธิ และผู้ขายสามารถล้างสภานะของตนเองได้โดยการทำการซื้อ เพื่อล้างสถานะกลไกการทำงานของการซื้อขาย Option ในตลาดอนุพันธ์ เป็นไปตามภาพดังนี้

ขั้นตอนการสั่งซื้อเริ่มจาก ผู้ขายและผู้ซื้อออปชัน แสดงความจำนงในการสั่งซื้อและสั่งขายผ่านบริษัทสมาชิก โดยบริษัทสมาชิกของทั้งสองฝ่ายจะส่งคำสั่งเข้าสู่ระบบของตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) เพื่อทำการจับคู่คำสั่งซื้อขาย เมื่อสัญญาของทั้งสองฝ่ายสามารถจับคู่กันได้แล้ว ตลาดอนุพันธ์จะแจ้งยืนยันคำสั่งซื้อและคำสั่งขายไปยังผู้ซื้อและผู้ขาย เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้ทราบถึงผลของคำสั่งของตน และทำการส่งเงินค่าพรีเมียม และวางหลักประกันตามที่ตลาดอนุพันธ์เรียก โดยผู้ซื้อเป็นผู้ที่ชำระค่าพรีเมียม (Premium) และผู้ขายเป็นผู้วางหลักประกัน (Margin) เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงให้แก่ผู้ซื้ออปชั่น เมื่อมาขอใช้สิทธิตามสัญญา ผู้ขายจะต้องส่งมอบสินทรัพย์ที่กำหนด หากผู้ขายไม่สามารถส่งมอบได้จะเกิดความเสี่ยงขึ้น ดังนั้นการเรียกเงินหลักประกันนั้น จึงเป็นวิธีหนึ่งในการป้องกันความเสี่ยงให้แก่ผู้ซื้อออปชั่น

หากลูกค้าหรือผู้ลงทุนต้องการที่จะซื้อ SET50 Index Options ไม่ว่าจะเป็น Long Call Option (ซื้อสิทธิในการซื้อ) หรือ Long Put Option (ซื้อสิทธิในการขาย) ผู้ที่ต้องการซื้อจะต้องเปิดบัญชีซื้อขายกับบริษัท Broker ที่ได้รับอนุญาต และเริ่มต้นทำคำสั่งซื้อ โดยผู้ซื้อจะต้องจ่ายค่าพรีเมียม (Premium) ให้แก่ผู้ขายในวันทำสัญญา หรือวันที่มีคำสั่งซื้อ ผู้ลงทุนใน SET50 Index Options จะมีทางเลือก 2 ทางระหว่างที่อยู่ในสัญญา คือ สามารถเลือกปิดสถานะของสัญญาของตนเองเมื่อมีกำไร โดยการขาย SET50 Index Options หรือถือไว้จนครบสัญญา สัญญาก็จะปิดสถานะเองโดยอัตโนมัติ หากลูกค้าหรือผุ้ลงทุนต้องการที่จะขาย SET50 Index Options ไม่ว่าจะเป็น Call หรือ Put ก็ตาม จะต้องเริ่มต้นเช่นเดียวกับผู้ซื้อ ก็คือ ต้องเปิดบัญชีซื้อขายกับบริษัท Broker ที่ได้รับอนุญาต และเริ่มต้นทำคำสั่ งขาย โดยผู้ขายจะต้องวางเงินประกัน (Initial Margin) ในวันทำสัญญา และต้องรักษาระดับ Maintenance Margin ตลอดระยะเวลาการลงทุน

เมื่อสถานะของสัญญาในแต่ละวันมีผลขาดทุน ผู้ลงทุนจะต้องนำเงินมาวางประกันเพิ่มเติม แต่เมื่อสถานะของสัญญามีสถานะกำไร ก็จะสามารถถอนเงินออกไปใช้ได้ ซึ่งการคำนวณผลกำไรขาดทุนของสัญญานั้นจะกระทำทุกวัน โดยใช้ราคาที่ประกาศของตลาดอนุพันธ์เป็นหลัก และวิธีการปิดสถานะก็กระทำเช่นเดียวกับผู้ซื้อคือ ซื้อ SET50 Index Options เพื่อล้างสถานะของสัญญา ก่อนครบอายุที่กำหนดไว้ หรือถือไว้จนครบอายุที่กำหนด

กลไกการทำงานของ SET50 Index Options มีลักษณะดังต่อไปนี้[แก้]

  • สินค้าอ้างอิง: ดัชนี SET50 Index (เป็นสินทรัพย์ที่ไม่สามารถส่งมอบกันได้จริง แต่จะมีการชำระราคา กำไร ขาดทุน เป็นการทดแทน)
  • ตัวคูณดัชนี (Multiplier) : 200 บาท ต่อ 1 จุดดัชนีหลักทรัพย์
  • ประเภทการใช้สิทธิ (Exercise Style) :European Style คือ ใช้สิทธิได้ในวันที่ครบกำหนดสัญญาเท่านั้น (ซึ่งจะต่างจากระบบ American Style คือ สามารถใช้สิทธิตามสัญญาได้ทุกวัน ตั้งแต่วันที่ลงทุน จนถึงวันที่ครบกำหนดเวลา เพียงครั้งเดียว)
  • เดือนที่สัญญาสิ้นอายุ : เดือน มีนาคม มิถุนายน กันยายน และธันวาคม เป็นรายไตรมาส (ไม่เกินกว่า 4 ช่วงไตรมาส) (March Cycle)

เวลาซื้อขาย[แก้]

ช่วงก่อนเปิดตลาดเช้า 9.15 – 9.45 น. ช่วงเช้า 9.45 – 12.30 น. ช่วงก่อนเปิดตลาดบ่าย 14.00 – 14.30 น. ช่วงบ่าย 14.30 – 16.55

ราคาใช้สิทธิ[แก้]

  • ราคาใช้สิทธิ (Strike Price) : 10 จุด โดยตลาดอนุพันธ์จะกำหนดในทุกเริ่มต้นของวันทำการให้มีช่วงของราคาที่มีสถานะกำไร เท่าทุน และขาดทุนดังนี้ At-the-money 1 series In-the-money 5 series Out-of-the-money 5 series ซึ่งถ้ารวมทั้ง Put Options และ Call Options ของทั้ง 4 เดือนแล้ว จะทำให้มี series ทั้งหมด 88 series
  • ช่วงราคาซื้อขายขั้นต่ำ (Tick Size) : 0.1 จุด
  • การเปลี่ยนแปลงราคาซื้อขายสูงสุดในแต่ละวัน (Price Limit) : เพิ่มหรือลดไม่เกินกว่า 30% ของราคาปิดของดัชนี SET50 Index ในวันทำการก่อนหน้าราคาที่ใช้ชำระราคาในวันซื้อขายวันสุดท้าย (Final Settlement Price) ค่าเฉลี่ยของ SET50 Index ของวันซื้อขายสุดท้าย โดยใช้ค่าดัชนีรายนาทีตั้งแต่ เวลา 16.01 – 16.30 น. และค่าดัชนีราคาปิด SET50 Index ของวันนั้น โดยตัดค่ามากที่สุดออก 3 ค่า และค่าน้อยที่สุด 3 ค่าออก (ทั้งนี้ให้ใช้ทศนิยม 2 ตำแหน่ง)
  • วันสุดท้ายของการซื้อขาย (Last Trading Day) : วันทำการก่อนวันทำการสุดท้ายของเดือนที่สัญญาสิ้นอายุ
  • วิธีการส่งมอบหรือชำระราคา (Settlement Method) : ชำระราคาเป็นเงินสด (Cash Settlement) เพราะไม่สามารถส่งมอบสินทรัพย์ได้ เพราะสินทรัพย์เป็นดัชนีหลักทรัพย์
  • จำนวนการถือครองสัญญาสูงสุด (Position Limit) : ผู้ลงทุนต้องมีฐานะสุทธิในสัญญา SET50 Index Futures และในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอื่นที่อ้างอิงกับดัชนี SET50 Index เมื่อคำนวณเทียบเท่ากับฐานะใน SET50 Index Futures (Equivalent Positions) ในเดือนใดเดือนหนึ่ง หรือทุกเดือนรวมกันในด้านใดด้านหนึ่งของตลาดไม่เกินกว่า 10,000 สัญญา เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงให้แก่คู่สัญญา
  • จำนวนการถือครองสัญญาที่ต้องรายงาน (Large Position Report) : เมื่อมีสถานะสุทธิใน SET50 Index Options ใน series ใด series หนึ่ง หรือมีฐานะสุทธิรวมใน Call Options หรือ Put Options ตั้งแต่ 2,500 สัญญาขึ้นไป

หลักเกณฑ์ข้างต้นเป็นการกำหนดมาตรฐานของสัญญา SET50 Index Options ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสัญญาดังกล่าวมีความเข้าใจตรงกันว่า สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาใด ขนาดเท่าใด ราคาเป็นอย่างไร เพื่อให้ผู้ลงทุนในตลาดซึ่งมีจำนวนมากได้มีความเข้าใจเหมือนกันทั้งหมด จะไม่เกิดความสับสนในการส่งคำสั่งซื้อหรือขาย การกำหนดการซื้อขาย SET50 Index Options ในตลาดอนุพันธ์นั้น จะมีสัญลักษณ์ย่อ เช่น การส่งคำสั่ง S50M08C500 ในการซื้อขาย โดยสัญลักษณ์ย่อ ดังกล่าวจะเป็น รูปแบบการกำหนดราคา ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

องค์ประกอบ[แก้]

  • สินค้าอ้างอิง (Underlying Asset) คือ SET50 Index ดัชนีราคาหลักทรัพย์ 50 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะเขียนในรูปแบบย่อเป็น “S50” หากในอนาคตตลาดอนุพันธ์มีการนำเอาสินค้าอื่น เข้ามาทำการซื้อขายก็จะสามารถกำหนดชื่อย่อได้ตามสินค้าอ้างอิงนั้น ๆ
  • เดือนที่ครบอายุ (Delivery Month) เป็นการกำหนดสัญญลัษณ์ ให้ผู้ลงทุนทราบว่าสัญญาดังกล่าวจะหมดอายุ หรือครบกำหนดอายุในเดือนใด โดย SET50 Index Options จะเป็นการครบกำหนดอายุในรอบเดือนของมีนาคม (March Cycle) ดังนั้นจะกำหนดสัญลักษณ์ย่อ ตามมาตรฐานสากลดังนี้คือ เดือนมีนาคม ใช้สัญลักษณ์ H เดือนมิถุนายน ใช้สัญลักษณ์ M เดือนกันยายน ใช้สัญลักษณ์ U และเดือนธันวาคมใช้สัญลักษณ์ Z
  • ปีที่ครบอายุ (Delivery Year) จะใช้สองหลักสุดท้ายของปีคริสต์ศักราช เช่น ปีค.ศ. 2008 จะใช้ สัญลักษณ์ 08 เป็นต้น
  • ประเภทของสัญญา (Type) ในสัญญา Options นั้นสามารถแบ่งประเภทของสัญญาออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ Call Option สิทธิในการซื้อ และ Put Option สิทธิในการขาย
  • ราคาใช้สิทธิ (Exercise Price หรือ Strike Price) เป็นราคาที่ตกลงกันล่วงหน้าว่าจะซื้อหรือจะขายสินทรัพย์อ้างอิงกันในราคาใด

ดังนั้น การกำหนดสัญลักษณ์ย่อของสัญญา SET50 Index Call Options ที่จะครบกำหนดการส่งมอบในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 2008 โดยมีราคาใช้สิทธิเท่ากับ 500 จุด จะสามารถกำหนดสัญลักษณ์ย่อได้ คือ S50M08C500 ตัวคูณดัชนี (Multiplier) เป็นตัวที่ใช้ในการกำหนดมูลค่าที่ซื้อขาย หากมูลค่าของสัญญา Options ต่อ 1 จุดดัชนี เท่ากับ 200 บาท ถ้านาย ก. ตกลงซื้อ S50M08C500 กับนาย ข. จำนวน 2 สัญญา โดยจ่ายค่า Premium เท่ากับ 23.5 จุด มูลค่าที่ใช้ในการซื้อขาย จะมีมูลค่าเท่ากับ 23.5 x 200 x 2 = 9,400 บาท ในการซื้อขาย SET50 Index Options นั้น ราคาใช้สิทธิ (Strike Price) เป็นตัวกำหนดว่าจะมี Options series ในแต่ละวันซื้อขายมากน้อยเพียงใด ซึ่งการกำหนดราคาใช้สิทธิจะมี Strike Price Interval เท่ากับ 10 จุด ทั้งนี้ในทุกวันทำการตลาดอนุพันธ์จะเริ่มต้นโดยมีการกำหนด Series จำนวน 11 Series ทุกวัน คือ

  • เป็น Series ที่ At-the-Money จำนวน 1 Series
  • เป็น Series ที่ In-the-Money จำนวน 5 Series
  • เป็น Series ที่ Out-of-the-Money จำนวน 5 Series

เพื่อให้ครอบคลุมทั้งราคาขึ้นและลงในแต่ละวัน ดังนั้น Options ของแต่ละเดือนที่มีการครบกำหนดตามสัญญาในเดือนเดียวกันนั้นจะมี Series ที่ซื้อและขายเท่ากับ 22 Series (เป็น Call Option 11 Series และ Put Option 11 Series) ในเมื่อ Strike Price Interval มีค่าเท่ากับ 10 จุด ถ้า SET50 Index มีเศษของราคาปิด น้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 จะปัดลงเป็นจำนวนเต็ม 10 เช่น SET50 Index = 523.25 ให้ปัดเป็น 520 เป็นต้น แต่ถ้ามากกว่า 5 ให้ปัดเศษขึ้น เช่น 525.50 ให้ปัดเป็น 530

ข้อกำหนดการซื้อขาย[แก้]

ข้อกำหนดการซื้อขาย SET50 Index Options ในตลาดอนุพันธ์นั้น ยังมีการกำหนดกฎเกณฑ์ในอีกหลายเรื่อง เช่น ราคาของออปชั่น (Option Value) สามารถเปลี่ยนแปลงได้แต่ต้องไม่เกินกว่า ร้อยละ 30 ของ ราคาอ้างอิง (Reference Price) หรือ Previous Day Option Settlement Price ของราคาปิดของ SET50 Index ในวันทำการก่อนหน้านั้น แต่ถ้าราคาดังกล่าวคำนวณออกมาแล้วได้ค่าติดลบ ตลาดจะกำหนดให้ราคาต่ำสุดที่ซื้อขายเท่ากับ 0.1 จุด เช่น ถ้า Previous Day Option Settlement Price ของ S50M08C500 = 50 จุด และราคาปิดของ SET50 Index ในวันทำการก่อนหน้า = 520 จุด ดังนั้น Price Limit ของ S50M08C500 ในวันทำการถัดไป จะเท่ากับราคาที่ใช้คำนวณสถานะกำไรขาดทุนในแต่ละวัน (Daily Settlement Price) (กรณีราคาสูงสุด คือ 50 + (0.3) (520.00) = 206 จุด และมีราคาต่ำสุด คือ 50 – (0.3) (250.00) = 0.1จุด เป็นต้น) สามารถคำนวณได้โดยคิดค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก (Volume Weighted Average) ของราคาซื้อขายในช่วงห้านาทีสุดท้าย แต่ถ้าไม่มีการซื้อขายใด ๆ ในช่วงห้านาทีสุดท้าย แต่มีราคา Best Bid และ Best Ask ค้างอยู่หลังปิดตลาด จะกำหนด Daily Settlement Price ดังนี้

  1. จะใช้ราคาซื้อขายสุดท้าย (Last) ถ้าราคาซื้อขายสุดท้ายอยู่ระหว่าง Best Bid และ Best Ask
  2. จะใช้ราคาเสนอซื้อที่ดีที่สุด (Best Bid) ถ้าราคาซื้อขายสุดท้าย (Last) อยู่ต่ำกว่าราคาเสนอซื้อที่ดีที่สุด (Best Bid)
  3. จะใช้ราคาเสนอขายที่ดีที่สุด (Best Ask) ถ้าราคาซื้อขาสุดท้าย (Last) อยู่สูงกว่าราคาเสนอขายที่ดีที่สุด (Best Ask)

ในกรณีที่ไม่มีการซื้อขายในช่วง 5 นาทีสุดท้าย และไม่มีราคา Best Bid หรือ Best Ask ค้างอยู่หลังจากเปิดตลาด ทางตลาดอาจพิจารณากำหนดราคาจากหลักการใดหลักการหนึ่งต่อไปนี้ คือ ใช้ราคา Previous Day Settlement Price หรือใช้ราคาทฤษฎี แต่หากว่าตลาดอนุพันธ์พิจารณาแล้วเห็นว่าราคาที่คำนวณดังกล่าวไม่ตรงต่อสภาพปกติของตลาด ตลาดอนุพันธ์อาจพิจารณากำหนด Daily Settlement Price ได้ สำหรับการคำนวณหาราคาสุดท้าย (Final Settlement Price) เป็นการนำเอาค่าเฉลี่ยของ SET50 Index รายนาที ตั้งแต่เวลา 16:01 – 16:30 และค่าดัชนีราคาปิด SET50 Index ของวันนั้น โดยตัดค่ามากที่สุด 3 ค่า และค่าที่น้อยที่สุด 3 ค่าออก โดยใช้ทศนิยม 2 ตำแหน่ง วันซื้อขายสุดท้าย (Last Trading Day) คือ วันทำการก่อนวันทำการสุดท้ายของเดือนที่สัญญาสิ้นอายุ โดยในวันซื้อขายสุดท้าย ตลาดจะต้องมีสัญญใหม่ให้ซื้อขายได้เป็นวันแรก (รวม 5 เดือนของการหมดอายุ ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีเพียง 4 เดือนเท่านั้น)

ฐานะสุทธิในสัญญา SET50 Index Futures และในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอื่น ๆ ที่อ้างอิงกับดัชนี SET50 Index เมื่อคำนวณเทียบเท่ากับฐานะใน SET50 Index Futures (Equivalent Positions) ในเดืนอใดเดือนหนึ่ง หรือทุกเดือนรวมกันด้านใดด้านหนึ่งของตลาดไม่เกินกว่า 10,000 สัญญา ทั้งนี้ผู้ที่ลงทุนใน SET50 Index Options จะต้องวางหลักประกันเต็มจำนวนก่อนส่งคำสั่งซื้อขาย (Pre-Margin) โดยผุ้ซื้อต้องเป็นผู้จ่ายค่าพรีเมียม (Premium) พร้อมทั้งในทุกสิ้นวันต้องมีการปรับฐานะ (Mark-to-Market) เช่นเดียวกับ SET50 Index Futures และเมื่อ Mark-to-Market แล้วเงินประกันในบัญชีลดต่ำกว่าระดับที่กำหนดจะต้องนำเงินมาวางเพิ่ม การลงทุนใน Options ซึ่งเป็นสัญญาที่ใหสิทธิผู้ซื้อในการตัดสินใจ “ซื้อ” หรือ “ขาย” เมื่อผู้ซื้อขอใช้สิทธิตามสัญญา ผู้ขายจะต้องมีภาระที่ “ซื้อ” หรือ”ขาย” จากผู้ซื้อสัญญา ตามที่ได้ตกลงกันไว้ ดังนั้นการวางหลักประกันจะต้องกระทำโดยผู้ขายสัญญา แต่ผู้ซื้อสัญญาไม่จำเป็นจะต้องวางหลักประกันใด ๆ เพราะผู้ซื้อสัญญาได้จ่ายค่าพรีเมียมไปแล้ว Initial Margin เป็นเงินประกันเริ่มต้น ที่ผู้ลงทุนจะต้องวางเมื่อทำการขายสัญญา ไม่ว่าจะเป็นสัญญา Call หรือ Put ก็ตาม Maintenance Margin เป็นเงินประกันขั้นต่ำ ที่ผู้ลงทุนต้องดำรงไว้ในบัญชีซื้อขายอนุพันธ์ ถ้ายอดเงินในบัญชีต่ำกว่าเงินประกันขั้นต่ำในวันใด (มีสถานะขาดทุน) ผู้ลงทุนจะต้องนำเงินประกันมาเติมให้เท่ากับหลักประกันเริ่มต้น ผู้ที่ต้องการจะลงทุนในตราสารอนุพันธ์จะต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างมากในการลงทุน พร้อมทั้งศึกษาถึงกลยุทธ์ต่าง ๆ ในการลงทุน เพราะกลยุทธ์ในการลงทุนในตราสารอนุพันธ์นั้นมีกลยุทธ์ที่มีความละเอียดอ่อน มีชั้นเชิงในการลงทุนสูง หากผู้ลงทุนไม่ทราบถึงกลไกและวิธีการลงทุที่ดี การลงทุนนั้นก็คงไม่ต่างอะไรไปจากการซื้อล็อตเตอรี่ (หวย) นั่นเอง

อ้างอิง[แก้]

  • Thailand Future Exchange
  • กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ และคณะ. 2557. การจัดการความเสี่ยงและตราสารอนุพันธ์ สำนักพิมพ์แมคกรอ ฮิล
  • กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ และคณะ. 2557. การบริหารความเสี่ยงอย่างมืออาชีพ พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์แมคกรอ ฮิล
  • กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2548 - 2550. บทความจากหนังสือพิมพ์บิสิเนสไทย คอลัมน์ส่องธุรกิจ
  • กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554. การจัดการความเสี่ยงและตราสารอนุพันธ์เบื้องต้น พิมพ์ครั้งที่ 4 สำนักพิมพ์เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น
  • กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2550 - 2555. บทความจากนิตยสาร Make Money คอลัมน์ Finance & Investment
  • กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2551 - 2555. บทความจากหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน คอลัมน์ Road to Investment
  • กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554. ลงทุนเป็น เห็นความสำเร็จ สำนักพิมพ์ แมคกรอฮิล