สถานีวิทยุแห่งชาติไต้หวัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Radio Taiwan International)
สถานีวิทยุแห่งชาติไต้หวัน
Radio Taiwan International
中央廣播電台
ประเทศไต้หวัน สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)
เครือข่ายสถานีวิทยุกระจายเสียง
คำขวัญสถานีวิทยุแห่งสาธารณรัฐจีน มอบความรู้ ความสุขและความบันเทิง
ความเป็นเจ้าของ
เจ้าของRadio Taiwan International
ประวัติ
เริ่มออกอากาศ1 สิงหาคม พ.ศ. 2471
ชื่อเดิมCBS
Voice of Free China
Radio Taipei International
ลิงก์
เว็บไซต์https://th.rti.org.tw/ (ภาษาไทย)
สถานีวิทยุแห่งชาติไต้หวัน
สถานีวิทยุอาร์ทีไอ (อาคารสีขาว) และ โรงแรมแกรนด์ สัญลักษณ์สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงไทเป
อักษรจีนตัวเต็ม中央廣播電臺
อักษรจีนตัวย่อ中央广播电台

สถานีวิทยุแห่งชาติไต้หวัน Radio Taiwan International (RtI; จีน: 中央廣播電台; พินอิน: Zhōngyāng Guǎngbò Diàntái) คือสถานีวิทยุแห่งชาติของสาธารณรัฐจีน โดย อาร์ทีไอ คือชื่อในภาษาอังกฤษและรหัสเรียกขานสำหรับบริการวิทยุกระจายเสียงระหว่างประเทศ ปัจจุบันส่งกระจายเสียง 13 ภาษา ครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลก[1] และส่งกระจายเสียงด้วยวิทยุคลื่นสั้น ภาษาจีนกลาง และภาษาจีนฮกเกี้ยนสำเนียงไต้หวันไปยังจีนแผ่นดินใหญ่

สถานีผลิตรายการที่หลากหลายได้แก่ ข่าวสาร การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษา บันเทิง การบริการและสังคม โดยยึดหลักความรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ เป็นสากล และเปิดกว้าง

Radio Taiwan International มีห้องบันทึกเสียง 28 ห้อง รวมทั้งอุปกรณ์การส่งกระจายเสียงที่ทันสมัย สถานีมีห้องพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์บนชั้น 3 ที่เก็บรวบรวมวัตถุและอุปกรณ์เครื่องมือทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2471 ตลอดจนจดหมายจากผู้ฟังทั่วโลกและของที่ระลึกต่าง ๆ

ประวัติ[แก้]

ไมโครโฟนของสถานีในปี พ.ศ. 2488

Radio Taiwan International ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกโดยใช้ชื่อสถานีวิทยุซีบีเอส (中央廣播電台 The Central Broadcasting System หรือ CBS) ในปี พ.ศ. 2471 โดยเป็นส่วนประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลก๊กมินตั๋ง (KMT) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองนานกิง จีนแผ่นดินใหญ่ ในช่วงสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง โดยการรุกของกองทัพญี่ปุ่น รัฐบาลก๊กมินตั๋งถูกบังคับให้ย้ายสถานีวิทยุพร้อมกับเมืองหลวงโดยอันดับแรกไปที่ ฮั่นโข่ว (ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของนครอู่ฮั่น) ในตอนกลางของมณฑลหูเป่ย์ จากนั้นไปยังนครจุงกิง ทางภาคกลางตอนใต้ของจีน

หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งญี่ปุ่นยอมจำนนและถอนกองกำลังออกจากจีน รัฐบาลก๊กมินตั๋ง และพรรคคอมมิวนิสต์จีนกลับมาทำสงครามกลางเมืองอีกครั้ง ซึ่งก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้และได้ล่าถอยไปที่ไต้หวันในปี พ.ศ. 2492 โดยสถานีวิทยุซีบีเอสได้ย้ายไปพร้อมกัน

สถานะปัจจุบัน[แก้]

หลังจากได้รับการปรับโครงสร้างในช่วง พ.ศ. 2539–2541 ซีบีเอสได้กระจายเสียงไปยังจีนแผ่นดินใหญ่และทั่วโลกภายใต้สัญญาณเรียกขาน Radio Taipei International และ Voice of Asia โดย Radio Taipei International ได้เข้ามาแทนที่บริการวิทยุระหว่างประเทศของ Broadcasting Corporation of China (BCC) ซึ่งเรียกว่า Voice of Free China ซึ่ง Radio Taipei International ออกอากาศไปยังประเทศจีนและผู้ฟังจากต่างประเทศ ในทางตรงกันข้าม Voice of Asia ออกอากาศไปยังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเท่านั้น และนำเสนอรูปแบบที่เบากว่า RTI ในปี พ.ศ. 2545 สัญญาณเรียกขาน Voice of Asia ได้ถูกยกเลิกเพื่อใช้ชื่อ Radio Taipei International ในการกระจายเสียงเพียงชื่อเดียวสำหรับบริการนี้ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น Radio Taiwan International เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนในการเชื่อมโยงระหว่างไทเปกับไต้หวันในส่วนของผู้ฟัง[2]

นอกจากออกอากาศทางวิทยุเอเอ็ม และวิทยุคลื่นสั้นในประเทศ สถานีซีบีเอส ยังออกอากาศ "เครือข่าย" ที่แตกต่างกันสามเครือข่ายในภาษาจีน (ส่วนใหญ่เป็นภาษาจีนกลางและภาษาจีนฮกเกี้ยนสำเนียงไต้หวัน) ไปยังแผ่นดินใหญ่ เครือข่ายเหล่านี้ ได้แก่ News Network (บริการด้านข่าวสารและข้อมูล), Variety Network (บริการที่เน้นเพลงและบริการเฉพาะกลุ่มหรือที่เรียกว่า รายการภาษาจีนกลาง, รายการภาษาจีนฮกเกี้ยนสำเนียงไต้หวัน, รายการ Perspective หรือรายการ the Pop Network) และ เครือข่ายภาษาถิ่น (รายการมุ่งเป้าไปที่ชนกลุ่มน้อยของจีน) ในเวลาต่อมา Variety Network ได้เปลี่ยนชื่อเป็น เครือข่ายทั่วไป ส่วน News Network กลายเป็นเครือข่ายแผ่นดินใหญ่ และในที่สุดเครือข่ายแผ่นดินใหญ่, เครือข่ายทั่วไป และเครือข่ายภาษาถิ่นก็ถูกรวมเข้ากับ Radio Taiwan International ผลที่ตามมาประการหนึ่งคือ CBS ​​ไม่สามารถออกอากาศทางวิทยุ AM ในประเทศได้อีกต่อไป

การกระจายเสียง[แก้]

รายการของ Radio Taiwan International ส่งกระจายเสียงผ่านสถานีทวนสัญญาณซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ต่าง ๆ ของไต้หวัน 9 แห่ง คือ ลู่กั่ง ฝ่างเหลียว ฉางจื่อ ต้านสุ่ย เป่าจง หูเหว่ย ไถหนาน โข่วหู และหมินสง โดยที่สถานีทวนสัญญาณหมินสง ยังมีพิพิธภัณฑ์วิทยุกระจายเสียงซึ่งเป็นแห่งเดียวในไต้หวัน เก็บรวบรวมเครื่องส่งกระจายเสียงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากนี้ เรือน 2 ชั้น ซึ่งสร้างในปี พ.ศ. 2483 สมัยญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน ได้ถูกกำหนดให้เป็นโบราณสถาน

Radio Taiwan International มีกำลังส่งสูงถึง 105,000 กิโลวัตต์ และมีความสามารถในการส่งกระจายเสียงเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชีย และอยู่ในอันดับ 10 ของโลก ประสิทธิภาพในการส่งกระจายเสียงเท่ากับ 2.69 เท่าของสถานีวิทยุอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนรวมกัน คลื่นกระจายเสียงครอบคลุมภาคกลางและใต้ของไต้หวัน จีนแผ่นดินใหญ่ และทวีปหลัก ๆ ทั่วโลก

โดยสถานีทำการส่งการกระจายเสียงไปยังประเทศและภูมิภาคต่าง ๆ คือ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์, จีนแผ่นดินใหญ่, ยุโรป, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, เกาหลี, ฟิลิปปินส์, แอฟริกาใต้, เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันออกอากาศใน 13 ภาษา ได้แก่ ภาษาจีนกลาง ฮกเกี้ยน จีนแคะ กวางตุ้ง อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส รัสเซีย สเปน ญี่ปุ่น เวียดนาม ไทย และอินโดนีเซีย (ก่อนหน้านี้เคยออกอากาศในภาษาอาหรับ, พม่า, มองโกล และภาษาทิเบต ด้วย)[1]

ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 RTI ได้ยุติการออกอากาศคลื่นสั้นไปยังทวีปอเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ เนื่องจากการตัดงบประมาณที่เกิดจากการปิดสถานี WYFR (ซึ่งเป็นสถานีคลื่นสั้นทางศาสนา) ซึ่ง RTI เช่าเวลาออกอากาศและ RTI ใช้เครื่องส่งสัญญาณจากฟลอริดาสำหรับการออกอากาศไปยังทวีปอเมริกา ซึ่งรายการของ RTI ออกอากาศทาง WYFR ที่ความถี่ 5.95 MHz และ 9.61 MHz ระหว่างเวลา 17:00 น./18:00 น. จนถึง 03:00/04:00 น. (ET/EDT)[3] ต่อมา สถานี Family Radio ได้เป็นผู้ให้บริการกระจายเสียงบริการของ RTI แก่ชุมชนชาวจีนในเขตมหานครนิวยอร์กบนช่องดิจิตอลของสถานีโทรทัศน์ WNYJ-TV ของ Family Radio

ชมรมผู้ฟังอาร์ทีไอ แห่งประเทศไทย[แก้]

ชมรมผู้ฟังอาร์ทีไอแห่งประเทศไทย ประกาศก่อตั้งชมรมฯ ขึ้นอย่างเป็นทางการในงานนัดพบผู้ฟังอาร์ทีไอ ประเทศไทย ครั้งที่ 1 ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร ในวันพุธที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2549 โดยมี อ.เกษม ทั่งทอง ดำรงตำแหน่งประธานชมรม และมีสมาชิกชมรมรุ่นบุกเบิกทั้งหมด 55 ท่าน พร้อมทั้งมีการมอบหนังสือรับรองการเข้าเป็นสมาชิกชมรมฯ โดยนายหลิน ฟงเจิ้ง อดีตประธานสถานีวิทยุอาร์ทีไอเป็นผู้มอบให้กับทุกท่านที่เข้าร่วมการประชุม

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "Radio station to target foreign community". Taipei Times. 2005-02-10. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-02.
  2. Official Radio Taiwan International (RTI) Website เก็บถาวร 2009-02-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-02. สืบค้นเมื่อ 2020-09-24.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]