สกุลพุนชัส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Puntius)
สกุลพุนชัส
ปลาเชอร์รี่บาร์บ (P. titteya) ตัวเมีย (บน) และตัวผู้ (ล่าง)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Cypriniformes
วงศ์: Cyprinidae
สกุล: Puntius
Hamilton, 1822
ชนิดต้นแบบ
Cyprinus sophore
Hamilton, 1822
ชนิด
ประมาณ 53
ชื่อพ้อง
  • Cephalakompsus Herre, 1924
  • Eechathalakenda Menon, 1999
  • Mandibularca Herre, 1924
  • Ospatulus Herre, 1924
  • Spratellicypris Herre & Myers, 1931
ปลาตะเพียนหน้าแดง (Sahyadria denisonii) ซึ่งเดิมเคยอยู่ในสกุลนี้ แต่ปัจจุบันแยกอยู่ในสกุล Sahyadria[1]

สกุลพุนชัส (อังกฤษ: barb) เป็นสกุลหนึ่งในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) มีอยู่ด้วยกันมากมายหลายชนิด ใช้ชื่อสกุลว่า Puntius

ที่มาและลักษณะ[แก้]

สกุลนี้เดิมทีในปี ค.ศ. 1816 คูเวียร์และโคลเกท ได้เสนอให้ตั้งชื่อสกุลของปลาที่อยู่ในวงศ์ย่อย Cyprininae ว่า Barbus โดยใช้ปลาชนิด Cyprinus barbus (Linnaeus, 1758) เป็นต้นแบบ โดยกำหนดลักษณะของปลาที่อยู่ในสกุลนี้ว่า ปากโค้ง อยู่หน้าสุดหรืออยู่ใต้จะงอยปาก ขากรรไกรหุ้มด้วยริมฝีปากซึ่งอาจจะเป็นแผ่นหนังเรียบ แต่ไม่มีตุ่ม มีหนวด 2 คู่ หรือ 1 คู่ หรือไม่มีหนวด ตาไม่มีเยื่อหุ้มเหมือนวุ้นอยู่รอบ ๆ ฟันที่ลำคอมี 3 แถว ครีบหลังค่อนข้างสั้นอยู่ตรงข้ามกับครีบท้อง ก้านครีบเดี่ยวก้านสุดท้ายของครีบหลังอาจแข็ง ขอบอาจจะเป็นฟันหยักคล้ายจักหรือเรียบ ก้านครีบเดี่ยวอาจมีปลายแหลมและไม่แข็ง ครีบก้นค่อนข้างสั้น บางชนิดอาจมีก้านครีบเดี่ยวก้านที่สองของครีบก้นเป็นหนามแข็ง หรือในบางชนิดก้านครีบเดี่ยวก้านสุดท้ายของครีบก้นมีจักเป็นฟันเลื่อย เกล็ดแบบขอบบางเรียบ เกล็ดบริเวณรูทวารไม่ใหญ่กว่าที่อื่น เส้นข้างลำตัวในบางชนิดอาจสมบูรณ์ ในบางชนิดไม่สมบูรณ์ โดยชนิดที่เส้นข้างลำตัวที่สมบูรณ์ส่วนปลายของเส้นไปสิ้นสุดที่กึ่งกลางของฐานครีบหาง

แต่เมื่อพิจารณาแล้วพบว่า หลักเกณฑ์นี้มีขอบเขตที่กว้าง ไม่เหมาะแก่การที่จะเป็นลักษณะทางการอนุกรมวิธานของสกุล ซึ่งเมื่อนักมีนวิทยารุ่นหลังได้ศึกษาเพิ่มเติมพบว่าสามารถแบ่งออกเป็นสกุลอื่น ๆ ได้อีกถึง 10 สกุล และได้มีการตั้งชื่อสกุลใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1822 แฮมิลตัน ได้ตั้งชื่อสกุลนี้ใหม่ว่า Puntius (มาจากภาษาเบงกอลคำว่า pungti หมายถึง ปลาในวงศ์ปลาตะเพียนขนาดเล็ก[2]) และได้กำหนดลักษณะสำคัญของสกุลนี้ไว้ว่า มีลำตัวยาว แบนข้างมากบ้างหรือน้อยบ้าง จะงอยปากทู่สั้น ตำแหน่งของปากอยู่ปลายสุดหรือใต้จะงอยปาก ขากรรไกรบนยื่นมากบ้าง น้อยบ้าง ริมฝีปากบาง มีร่องระหว่างริมฝีปากและกระดูกขากรรไกรบนและล่าง แต่จะมีเอ็นคั่นตรงกึ่งกลางขากรรไกรล่าง นัยน์ตาของบางชนิดมีเยื่อไขมันเป็นวงเล็ก ๆ กระดูกใต้ตาเล็ก มีหนวดที่ริมฝีปากบน 1 คู่ และมุมปาก 1 คู่ บางชนิดอาจไม่มีหนวดที่ริมปาก บนครีบหลังมีก้านครีบแขนง 7-9 ก้าน และที่ฐานครีบมีเกล็ดคลุมตำแหน่งของครีบหลังอาจอยู่ตรงข้ามครีบท้อง หรือาจจะอยู่ด้านหน้าหรือหลังจุดเริ่มต้นของครีบท้อง ก้านครีบเดี่ยวก้านสุดท้ายเป็นหนามแข็ง เกล็ดมีขนาดใหญ่หรือปานกลาง เส้นข้างลำตัวสมบูรณ์ในบางชนิด ไม่สมบูรณ์ในบางชนิด และปลยเส้นข้างลำตัวไปสิ้นสุดที่กึ่งกลางหรือเกือบกึ่งกลางฐานครีบหาง เกล็ดตามแนวเส้นข้างลำตัวมีประมาณ 17-38 แถว ปลายท่อบนเกล็ดเส้นข้างลำตัวไม่แยกเป็นแฉก เยื่อกระดูกแก้มเชื่อมติดกับเอ็นขอบคาง มีฟันที่ลำคอ 3 แถว

ซึ่งแฮมิลตันได้นำไปตั้งให้กับปลาที่พบในประเทศอินเดียเป็นครั้งแรก แต่มิได้ระบุว่าเป็นชนิดใดที่เป็นต้นแบบ ถือเป็นการผิดหลักในการอนุกรมวิธาน เพื่อแก้ปัญหานี้ ต่อมาในปี ค.ศ. 1863 บลีกเกอร์ ได้เสนอให้ใช้ปลาชนิด Puntius sophore (Hamilton, 1822) ตั้งชื่อไว้เป็นต้นแบบ และได้แบ่งสกุลพันชัสนี้ออกเป็น 3 สกุลย่อย โดยใช้หนวดเป็นเกณฑ์

แต่ทว่าการใช้หนวดเป็นเกณฑ์แบ่งแยกนั้น ก็ยังมีข้อจำกัด และได้ก่อให้เกิดการถกเถียงตามมาตลอด จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1996 เรนโบธ ได้เสนอให้แบ่งแยกสกุลของปลาในวงศ์ปลาตะเพียนนี้ที่พบในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ออกเป็น 4 สกุล โดยสกุลพุนชัสเองก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย และทำให้ชื่อสกุลต่าง ๆ เหล่านี้กลายมาเป็นชื่อพ้องที่ซ้ำซ้อนกันในปัจจุบัน โดยสกุลพุนชัสนี้ได้ข้อสรุปว่า ก้านครีบเดี่ยวของครีบหลังมีขอบเรียบ มีหนวดที่ริมฝีปากบน 1 คู่ และซี่กรองเหงือกของเหงือกอันแรกมีจำนวน 12 ถึง 20 อัน[3]

ต่อมาในปี ค.ศ. 2003 ได้มีการศึกษาและอนุกรมวิธานปลาในวงศ์ปลาตะเพียนใหม่ โดยเฉพาะในสกุลพุนชัสนี้ จึงได้มีการจำแนกแยกออกเป็นสกุลใหม่และนำเข้าผนวกรวมกับสกุลเดิมที่เคยใช้ ทำให้สมาชิกในสกุลพุนชัสลดลง เหลืออยู่ประมาณ 53 ชนิด (จากเดิมประมาณ 140 ชนิด[3])[4][5][6][7]

การจำแนก[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Raghavan, R., Philip, S., Ali, A. & Dahanukar, N. (2013): Sahyadria, a new genus of barbs (Teleostei: Cyprinidae) from Western Ghats of India. เก็บถาวร 2013-12-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Journal of Threatened Taxa, 5 (15): 4932-4938.
  2. Hamilton, F., 1822 - Edinburgh & London: i-vii + 1-405 An account of the fishes found in the river Ganges and its branches.
  3. 3.0 3.1 สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์. สาระน่ารู้ ปลาน้ำจืดไทย เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2547. 264 หน้า. หน้า 145. ISBN 974-00-8701-9
  4. Pethiyagoda, R., Meegaskumbura, M. & Maduwage, K. (2012): A synopsis of the South Asian fishes referred to Puntius (Pisces: Cyprinidae). เก็บถาวร 2012-11-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Ichthyological Exploration of Freshwaters, 23 (1): 69-95.
  5. Kottelat, M. (2013): The Fishes of the Inland Waters of Southeast Asia: A Catalogue and Core Bibliography of the Fishes Known to Occur in Freshwaters, Mangroves and Estuaries. เก็บถาวร 2013-12-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน The Raffles Bulletin of Zoology, 2013, Supplement No. 27: 1–663.
  6. Raghavan, R., Philip, S., Ali, A. & Dahanukar, N. (2013): Sahyadria, a new genus of barbs (Teleostei: Cyprinidae) from Western Ghats of India. เก็บถาวร 2013-12-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Journal of Threatened Taxa, 5 (15): 4932-4938.
  7. 7.0 7.1 Plamoottil, M. & Abraham, N.P. (2014): Puntius viridis (Cypriniformes, Cyprinidae), a new fish species from Kerala, India. Journal of Research in Biology, 3 (7): 1093-1104.
  8. Krishna Kumar, K., Benno Pereira, F.G. & Radhakrishnan, K.V. (2012): Puntius madhusoodani (Teleostei: Cyprinidae), a new species of barb from Manimala River, Kerala, South India. Biosystematica, 5 (2) [2011]: 31-37.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Puntius ที่วิกิสปีชีส์