กระแตหางขนนก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Ptilocercidae)
กระแตหางขนนก
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Scandentia
วงศ์: Ptilocercidae
Lyon, 1913
สกุล: Ptilocercus
Gray, 1848
ชื่อทวินาม
Ptilocercus lowii
Gray, 1848
ชนิดย่อย
  • P. l. continentis Thomas, 1910
  • P. l. lowii Gray, 1848
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์

กระแตหางขนนก (อังกฤษ: pen-tailed treeshrew; ชื่อวิทยาศาสตร์: Ptilocercus lowii) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ในอันดับกระแต (Scandentia)

นับเป็นกระแตเพียงชนิดเดียวเท่านั้น ที่อยู่ในวงศ์ Ptilocercidae และสกุล Ptilocercus แบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อย (ดูในตาราง)[2]

กระแตหางขนนก มีตัวยาวประมาณ 13-14 เซนติเมตร หางยาว 16-19 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 40-62 กรัม หางมีสีได้หลากหลาย ตั้งแต่สีเทาจนถึงน้ำตาลอ่อน ท้องสีขาวหรือสีครีม ปลายหางตั้งแต่ระยะ 3 ใน 5 ของหางจนถึงปลายหาง ขนมีลักษณะคล้ายขนนกหรือพู่กัน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของกระแตชนิดนี้ ทำให้แยกออกมาเป็นวงศ์และสกุลต่างหาก

กระจายพันธุ์อยู่ในคาบสมุทรมลายู จนถึงเกาะสุมาตรา, ทางเหนือของเกาะบอร์เนียว และเกาะข้างเคียง ในประเทศไทยพบทางป่าชายแดนภาคใต้ตอนล่าง พบในป่าดั้งเดิมและป่าชั้นสอง, สวนยาง หรือแม้แต่ในหมู่บ้านที่อยู่ชายป่า มักพบอยู่ในที่ที่มีต้นปาล์มชนิด จากเขา (Eugeissona tristis) ทำรังบนต้นไม้ รังอยู่สูงจากพื้น 12-20 เมตร ปูพื้นด้วยใบไม้แห้ง กิ่งไม้และเยื่อไม้ เส้นผ่านศูนย์กลางรังประมาณ 3 นิ้ว และยาวประมาณ 18 นิ้ว

ออกหากินในเวลากลางคืน เวลากลางวันจะค่อนข้างเฉื่อยชา หากถูกรบกวนในเวลากลางวัน มักจะหันหลังให้ อ้าปากกว้างและส่งเสียงดังข่มขู่ บางครั้งก็ถ่ายมูลหรือปัสสาวะใส่ด้วย แต่หากถูกรบกวนตอนกลางคืน จะวิ่งหนีไปอย่างรวดเร็ว กินอาหารได้หากหลายทั้งพืชและสัตว์เช่นเดียวกับกระแตส่วนใหญ่ เช่น กล้วย, องุ่น, จิ้งหรีด, ตั๊กแตน, มด, แมลงสาบ, จักจั่น, แมลงปีกแข็ง และสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กจำพวกตุ๊กแก ทำรังอยู่ร่วมกันเป็นฝูงใหญ่ ฝูงหนึ่งมีรัง 2-7 รัง สามารถไต่กิ่งไม้ทางด้านใต้กิ่งได้ มีประสาทสัมผัสที่หางไวมาก เมื่อแสดงอาการก้าวร้าวจะแกว่งหางไปมาแบบลูกตุ้ม แต่ถ้าตื่นเต้นจะชูหางขึ้นชี้ด้านบน

มีระยะเวลาตั้งท้องนานประมาณ 45-55 วัน คาดว่าออกลูกครั้งละ 1-4 ตัว ลูกแรกเกิดหนักประมาณ 10 กรัม ตัวเมียมีเต้านม 4 เต้า[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. Han, K. H. & Stuebing, R. (2008). Ptilocercus lowii. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 30 December 2008.
  2. "Ptilocercidae". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  3. Ptilocercus lowii (อังกฤษ)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Ptilocercus lowii ที่วิกิสปีชีส์