ปลาเทวดาสกาแลร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Pterophyllum scalare)
ปลาเทวดาสกาแลร์
ปลาเทวดาสีดั้งเดิมตามธรรมชาติ (ไวลด์ไทป์)
ลูกปลาเทวดาวัยอ่อนเกาะติดกับใบของไม้น้ำ
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
วงศ์: Cichlidae
วงศ์ย่อย: Cichlasomatinae
สกุล: Pterophyllum
สปีชีส์: P.  scalare
ชื่อทวินาม
Pterophyllum scalare
(Schultze, 1823)
ชื่อพ้อง[1]

ปลาเทวดาสกาแลร์ หรือที่นิยมเรียกกันว่า ปลาเทวดา (อังกฤษ: Angelfish, Freshwater angelfish, Lesser angelfish[1]; ชื่อวิทยาศาสตร์: Pterophyllum scalare) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae)

เป็นปลาเทวดาชนิดที่รู้จักกันดีที่สุด เนื่องจากเป็นต้นสายพันธุ์ของปลาเทวดาทั้งหมดที่นิยมเลี้ยงกันเป็นปลาสวยงาม โดยปลาเทวดาสกาแลร์มีสีลำตัวเป็นสีเทาอมเขียวและมีประกายสีเงินเคลือบทับทั่วตัว ปลาที่พบในบางแหล่งจะมีจุดสีแดงเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วบริเวณไหล่ บริเวณหลังจะเป็นสีน้ำตาลเขียวมะกอก เมื่อต้องแสงไฟหรือแสงแดดจะเห็นประกายสีน้ำตาลแดงแวววาว มีโครงสร้างลำตัวเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบนข้างมากโดยส่วนยาวจากปลายปากถึงโคนหางจะยาวกว่าแนวตั้งของลำตัวเล็กน้อย แถวเกล็ดจากขอบเหงือกลากยาวไปจรดครีบหางมีทั้งสิ้น 33-38 เกล็ด ลายบนตัวจะเป็นเส้นคาดแนวตั้งใหญ่จำนวนสี่เส้นเห็นได้ชัดเจน และจะมีเส้นเล็ก ๆ ที่สั้นและจางกว่าคั่นแต่ละเส้นใหญ่นั้นอีกรวม 3 เส้น เส้นทุกเส้นจะเป็นสีดำหรือเทาแก่ เส้นที่ดำและเข้มสุดจะเป็นเส้นคาดเอว (เส้นที่ 5) ที่ลากจากยอดครีบบนลงมาจรดปลายครีบล่าง

ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 6 นิ้ว พบกระจายพันธุ์อยู่เป็นฝูง ตามแหล่งน้ำของแม่น้ำสายใหญ่ในทวีปอเมริกาใต้ อาทิ แม่น้ำอเมซอน, แม่น้ำโอริโนโค โดยเฉพาะในแหล่งน้ำที่มีพืชน้ำขึ้นหนาแน่น และสภาพความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ตั้งแต่ 6.0-7.5 ซึ่งน้ำจะมีสภาพความเป็นกรดเล็กน้อย[2]

ปลาเทวดาสกาแลร์ นับเป็นปลาเทวดาชนิดที่เป็นที่รู้จักและนิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายที่สุด ซึ่งปัจจุบันได้มีการเพาะขยายพันธุ์ไปต่าง ๆ จนมีสีสันและลวดลายผิดแผกไปจากปลาดั้งเดิมในธรรมชาติมากมาย อาทิ

  • ปลาเทวดาหินอ่อน – มีสีดำสลับกับสีขาวไปทั่วลำตัวคล้ายหินอ่อน
  • ปลาเทวดาดำ – มีสีดำทั้งตัว ครีบต่าง ๆ สั้น
  • ปลาเทวดาแพล็ตตินั่มเงิน – มีสีขาวสะอาดแวววาวไปทั่วลำตัว ดวงตาสีดำ
  • ปลาเทวดาแพล็ตตินั่มทอง – คล้ายปลาเทวดาแพล็ตตินั่ม แต่มีดวงตาสีแดง และลำตัวสีเหลือบเหลืองทอง เนื่องจากเป็นปลาเผือกอย่างแท้จริง
  • ปลาเทวดามุก – มีสีเหลืองอ่อน ๆ ทั่วทั้งตัว ไม่มีลวดลาย
  • ปลาเทวดาครึ่งชาติ – แบ่งออกเป็น 2 สี คือ สีขาวในท่อนแรกของลำตัว และสีดำในท่อนหลัง

เป็นต้น[3]

ในขณะที่ปลาเทวดาสีแบบดั้งเดิมตามธรรมชาติ จะถูกเรียกว่า "ปลาเทวดาอัลตั้มเปรู" หรือ"ปลาเทวดาโอริโนโค" เพื่อมิให้สับสนกับปลาเทวดาอัลตั้ม (P. altum) ซึ่งเป็นปลาเทวดาสายพันธุ์ดั้งเดิมอีกชนิดหนึ่ง ที่มีขนาดใหญ่กว่า[4]

ปลาเทวดา สามารถเพาะขยายพันธุ์ในตู้เลี้ยงได้ โดยจะจับคู่วางไข่ตามใบของพืชน้ำ หรือวางไข่ตามวัสดุอย่างอื่นที่มีพื้นผิวเรียบ ปลาตัวเมียจะวางไข่เรียงกันเป็นแถว ครั้งละประมาณ 10-15 ฟอง แล้วว่ายน้ำออกมา จากนั้นปลาตัวผู้จึงว่ายเข้าไปค่อย ๆ ปล่อยน้ำเชื้อไล่ไปตามเม็ดไข่ เสร็จแล้วจะว่ายน้ำออกมาเช่นกัน แล้วปลาตัวเมียก็จะเข้าไปวางไข่อีก ทำเช่นนี้สลับกันไปจนไข่หมดท้อง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จำนวนไข่ทั้งหมดที่วางแต่ละครั้งจะมีไข่ประมาณ 200-500 ฟอง จากนั้นทั้งปลาตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันดูแลรักษาไข่ โดยจะคอยโบกพัดน้ำบริเวณที่วางไข่เพื่อเพิ่มออกซิเจนอย่างสม่ำเสมอ และจะเก็บกินไข่ที่เสียออกด้วย การพัฒนาของไข่จะใช้เวลาประมาณ 48 ชั่วโมง ลูกปลาก็จะฟักออกจากไข่แล้วตกลงสู่พื้น ลูกปลาจะลงไปเกาะอยู่ตามพื้น หรือตามวัสดุแข็ง เช่น กิ่งไม้, ขอนไม้, ก้อนหิน หรือผนังตู้ โดยในระยะแรกนี้จะมีถุงไข่แดงขนาดใหญ่อยู่ และจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วันจึงจะใช้อาหารจากถุงไข่แดงหมด จากนั้นลูกปลาจะว่ายรวมฝูงหาอาหารอยู่ใกล้ ๆ พ่อแม่ปลา พ่อแม่ปลาจะคอยป้องกันดูแลความปลอดภัยให้ลูกปลา จนลูกปลาเจริญเติบโตพอควรก็จะแยกฝูงออกไปหากินกันเอง พ่อแม่ปลาก็จะออกหาอาหารและสามารถวางไข่ชุดใหม่ได้อีกในเวลาประมาณ 25-30 วัน ส่วนลูกปลาที่แยกตัวไปจะเจริญเติบโตเป็นปลาเต็มวัยในเวลาประมาณ 6-8 เดือน [5]

รูปภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 จาก itis.gov (อังกฤษ)
  2. ["Keeping Angelfish (Pterophyllum scalare) (อังกฤษ)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-19. สืบค้นเมื่อ 2012-12-14. Keeping Angelfish (Pterophyllum scalare) (อังกฤษ)]
  3. "ปลาเทวดา ความงามที่มิอาจมองข้าม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-13. สืบค้นเมื่อ 2012-12-14.
  4. Wild Caught "Pterophyllum scalare" เทวดาสกาแลร์ป่า
  5. "การเพาะเลี้ยงปลาเทวดา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-02-27. สืบค้นเมื่อ 2012-12-14.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Pterophyllum scalare ที่วิกิสปีชีส์