สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Pope John Paul II)
สมเด็จพระสันตะปาปา นักบุญ

ยอห์น ปอลที่ 2

John Paul II
บิชอปแห่งกรุงโรม
สมณนามPapa Ioannes Paulus Secundus (ละติน)
เริ่มวาระ16 ตุลาคม ค.ศ. 1978
สิ้นสุดวาระ2 เมษายน ค.ศ. 2005
องค์ก่อนสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 1
องค์ถัดไปสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16
ข้อมูลส่วนพระองค์
พระนามเดิมการอล ยูแซฟ วอยตือวา
ประสูติ18 พฤษภาคม ค.ศ. 1920(1920-05-18)
ประเทศโปแลนด์
สิ้นพระชนม์2 เมษายน ค.ศ. 2005(2005-04-02) (84 ปี)
ข้อมูลอื่น
บวชเมื่อ1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1946
พระอภิไธยสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2's signature

สมเด็จพระสันตะปาปา นักบุญยอห์น ปอลที่ 2 มีพระนามเดิมว่า การอล ยูแซฟ วอยตือวา (Karol Józef Wojtyła ในภาษาโปแลนด์) ประสูติเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1920 ที่หมู่บ้านวาดอวิตแซ ใกล้เมืองกรากุฟ ประเทศโปแลนด์ บิดาเป็นทหารมียศเป็นจ่าทหารและเกษียณราชการแล้ว มารดาเสียชีวิต เมื่อคาโรลยังเป็นเด็ก ท่านเป็นเด็กที่มีพรสวรรค์พิเศษ ชอบการกีฬาเป็นอันมาก ท่านยังชอบบทกวีและการแสดงละคร

หลังจากการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 1 คณะพระคาร์ดินัลทั่วโลกก็มีมติเลือกให้พระคาร์ดินัลการอล วอยตือวา ประมุขแห่งอัครมุขมณฑลกรากุฟ ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง 58 พรรษา ขึ้นเป็นประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1978 นับเป็นพระสันตะปาปาองค์ที่ 264 ที่สืบตำแหน่งต่อจากนักบุญซีโมนเปโตรอัครทูต

สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 เป็นประมุขของคริสตจักรโรมันคาทอลิกทั่วโลก เป็นพระสันตะปาปาที่ไม่ใช่ชาวอิตาเลียนองค์แรกในรอบ 455 ปี และเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกที่เป็นชาวโปแลนด์ รวมทั้งยังเป็นพระสันตะปาปาที่ได้รับเลือกขณะที่มีอายุน้อยที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 อีกด้วย

พระองค์เป็นพระสันตะปาปาที่สำคัญที่สุดองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยปัจจุบัน พระองค์ทรงเดินทางรอบโลกเพื่อเยี่ยมเยียนคริสตชนมากกว่าพระสันตะปาปาองค์ใด ๆ ในอดีตที่ผ่านมา ทรงต่อต้านกระแสทุนนิยมที่ไร้ขอบเขต การกดขี่ทางการเมือง ยืนกรานในการต่อต้านการทำแท้ง และปกป้องวิถีทางของศาสนจักรในเรื่องเพศของมนุษย์

ปัจจุบัน พระองค์ท่านได้รับการประกาศเป็นนักบุญโดยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 2014 ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร กรุงโรม

วัยเด็ก[แก้]

ในวัยหนุ่ม การอลทุ่มเทพลังทั้งหมดให้กับการเล่นกีฬา ทั้งฟุตบอลและสกี หลงใหลกับการนั่งชมการแสดงในโรงละคร เคยเป็นทั้งนักเขียนบทและนักแสดงมาแล้ว และครั้งหนึ่งฝันว่าจะเป็นนักแสดง โดยการอลเริ่มต้นเข้ารับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยในเมืองกรากุฟ เมื่อปี ค.ศ. 1938 ในด้านวรรณกรรมและภาษาโปแลนด์ เนื่องจากท่านชื่นชอบการแสดง เพื่อน ๆ หลายคนก็คิดว่าท่านคงจะยึดอาชีพนักแสดงตามโรงละคร มากกว่าเข้าเซมินารีเพื่อบวชเป็นบาทหลวง

จากนั้น ในปี ค.ศ. 1939 ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองระหว่างที่โปแลนด์ถูกกองทัพนาซีได้บุกยึดครอบครองอยู่นั้น มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ถูกสั่งปิด การอลต้องแอบเรียนส่วนตัว และทำงานในโรงงานตัดหิน มีหน้าที่ดูแลระบบส่งน้ำของโรงงาน เมื่อบิดาจากไปแล้วและท่านเองก็ประสบอุบัติเหตุที่เกือบเอาชีวิตไม่รอด

ฐานันดรในศาสนจักร[แก้]

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2
ธงประจำพระอิสริยยศ
ตราประจำพระองค์
การทูลฮิส โฮลิเนส
การขานรับยัวร์ โฮลิเนส

ในที่สุดท่านได้เบนเข็มชีวิตมาที่การบวชเป็นบาทหลวง ด้วยการเริ่มให้ความสนใจในการศึกษาด้านเทววิทยา โดยเข้ารับการศึกษาที่เซมินารีซึ่งเปิดสอนลับ ๆ แบบทำงานใต้ดิน เมื่อสงครามยุติลงในปี ค.ศ. 1945 ท่านก็ได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยต่อจนจบการศึกษาในปี ค.ศ. 1946 จนในที่สุดก็ได้ตัดสินใจรับศีลอนุกรมเป็นบาทหลวงคาทอลิกในวันที่ 1 พฤศจิกายน ปีเดียวกันนั้นเอง

เมื่อบวชแล้วก็ฝึกงานตามโบสถ์คริสต์ต่าง ๆ จน ถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1948 ทางผู้ใหญ่ในมุขมณฑลก็ส่งท่านไปเรียนที่กรุงโรม เพื่อทำปริญญาเอกทางเทววิทยา และเมื่อจบการศึกษาจากโรมแล้ว ก็เดินทางกลับโปแลนด์ ทำหน้าที่บาทหลวงประจำโบสถ์อยู่สามปี จากนั้นก็ได้รับอนุญาตให้ไปศึกษาปริญญาเอกทางด้านปรัชญาที่โรมอีกครั้ง กระทั่งในปี ค.ศ. 1956 ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาจริยศาสตร์ที่ลูบลิน ขณะเดียวกันท่านก็ไม่ได้ทิ้งการกีฬาที่ท่านรัก ไม่ว่าจะเป็นการเดินภูเขา การแข่งเรือบด หรือเล่นสกี

ในปี ค.ศ. 1958 ท่านก็ต้องแปลกใจที่ตนเองได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งมุขนายกผู้ช่วยแห่งอัครมุขมณฑลกรากุฟ และในอีก 5 ปีต่อมา (ค.ศ. 1963) สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ได้ทรงประกาศแต่งตั้งให้ท่านเป็นอาร์ชบิชอปแห่งกรากุฟ จากนั้นในวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1967 ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระคาร์ดินัลขณะอายุเพียง 47 ปี เท่านั้น นับว่าเป็นพระคาร์ดินัลที่อายุน้อยที่สุดในบรรดาพระคาร์ดินัลทั่วโลก และยังเป็นการเลื่อนสมณศักดิ์ที่เร็วมากอีกด้วย[1]

เมื่อเป็นพระคาร์ดินัลแล้ว ท่านได้ร่วมกับพระคาร์ดินัลอาวุโสต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ที่กำลังคุกคามยุโรปในเวลานั้นอย่างแข็งขัน จนในปี ค.ศ. 1976 ท่านได้รับเกียรติให้ไปเทศน์ให้พระสันตะปาปาในช่วงเทศกาลมหาพรต จากนั้นชื่อเสียงของท่านก็ค่อย ๆ เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เป็นต้นในบรรดาพระคาร์ดินัลทั้งหลาย

พระสันตะปาปา[แก้]

เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 1 สิ้นพระชนม์อย่างปัจจุบันทันด่วน บรรดาพระคาร์ดินัลต่างก็ถูกเรียกตัวกลับโรมอีกครั้งหลังจากที่เพิ่งเสร็จสิ้นการเลือกตั้งพระสันตะปาปา ผ่านไปเพียงเดือนเดียว ในที่สุดท่านก็ได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปา สืบต่อจากพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 1 ในวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1978 โดยใช้พระนามว่า "พระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2" นับเป็นการสิ้นสุดยุคสมัยของพระสันตะปาปาชาวอิตาลีที่ครอบครองตำแหน่งนี้ตลอด 456 ปี นับจากสมัยปกครองของสมเด็จพระสันตะปาปาเอเดรียนที่ 6 ซึ่งเป็นชาวดัทซ์ (ค.ศ.1522-1523)

สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ได้ประกาศจุดยืนของพระองค์ ทันทีหลังจากที่ได้รับตำแหน่งแล้วว่า "จะทรงรับใช้พระศาสนจักรสากล กล่าวคือ รับใช้โลกทั้งมวล พระองค์จะทรงรับใช้ความจริง ยุติธรรม สันติ และความสมานสามัคคี" ด้วยความตั้งใจเด็ดเดี่ยวเช่นนี้เองที่ทำให้พระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 กลายเป็นพระสันตะปาปาที่เดินทางไปแพร่ธรรมและอภิบาลสัตบุรุษมากกว่าพระสันตะปาปาองค์ใดในอดีต การเยี่ยมเยียนประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้เปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ในหลายแง่มุม แต่ละที่ที่พระองค์เสด็จไปนั้น ประชาชนจะพากันมาร่วมพิธีมิสซา และต้อนรับพระองค์กันเนืองแน่น เช่น ที่มานิลา ผู้คนประมาณ 5 ล้านคนมาร่วมพิธีมิสซา หรือที่ฝรั่งเศส เมื่อมีการชุมนุมเยาวชนโลก ก็มีหนุ่มสาวจากทั่วโลกได้เดินทางไปร่วมพิธี

สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ทรงเป็นผู้มีบทบาทในการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน และลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศรัสเซีย พระองค์ได้ปฏิรูประบบบริหารคูเรียใหม่ บางคนมองว่าพระองค์เป็นคนตรง และไม่ผ่อนปรนในเรื่องความเชื่อ กระนั้นก็ตามพระองค์ก็ส่งเสริมการเสวนาเพื่อความปรองดองระหว่างศาสนา และลัทธิความเชื่อต่าง ๆ เพื่อนำสันติภาพมาสู่โลก พระองค์ได้ออกสมณสาสน์ต่าง ๆ มากมาย เพื่อสอนความเชื่อแท้ของคาทอลิก เช่น Laborem Exercens (ค.ศ.1981)[2], Centesimus Annus (ค.ศ.1991)[3], Veritatis Splendor (ค.ศ.1993)[4], Ut Unum Sint (ค.ศ.1995)[5] และ Evangelium Vitae (ค.ศ.1995)[6]

พระกรณียกิจระหว่างดำรงตำแหน่ง[แก้]

  • เสด็จไปยังสถานที่ต่างๆ เป็นระยะทางรวมกันกว่า 1,247,613 กิโลเมตร หรือคิดเป็นระยะทางจากโลกไปยังดวงจันทร์ 3.24 เท่า
  • เสด็จไปยังสถานที่ต่างๆ นอกอิตาลี 104 ครั้ง
  • เสด็จไปเยือนประเทศและอาณานิคมดินแดนต่างๆ 129 ครั้ง
  • เสด็จเยี่ยมมุขมณฑลต่าง ๆ ในกรุงโรม และกัสแตล กันดอลโฟ 748 ครั้ง (ในจำนวนนี้รวมถึงโบสถ์ต่าง ๆ ในโรม 301 แห่ง จาก 333 แห่ง)
  • ทรงใช้เวลา 822 วัน หรือกว่า 2 ปี 3 เดือน ในการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ นอกกรุงโรม
  • ทรงกล่าวสุนทรพจน์กว่า 20,000 ครั้ง หรือกว่า 100,000 หน้า
  • ทรงสถาปนาบุญราศี 1,340 องค์ (147 ครั้ง) ทรงประกาศแต่งตั้งนักบุญ 483 องค์ (51 ครั้ง) ซึ่งมากกว่าที่พระสันตะปาปาก่อนหน้าพระองค์ในรอบ 400 ปี ทั้งหมดรวมกันได้เคยปฏิบัติ
  • ทรงเรียกประชุมคณะพระคาร์ดินัล (Consistory) เพื่อแต่งตั้งพระคาร์ดินัล 9 ครั้ง และสถาปนาพระคาร์ดินัล 231 องค์ กับอีก 1 องค์ที่ทรงสงวนชื่อเป็นความลับ
  • เป็นพระสันตะปาปาที่มีผู้แสวงบุญมาเฝ้ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีผู้แสวงบุญมาเฝ้า ณ จตุรัสนักบุญเปโตร ในทุกวันพุธ เป็นจำนวนมากกว่า 17.8 ล้านคน โดยนับเป็นจำนวนครั้งได้ 1,161 ครั้ง
  • ทรงเข้าประชุมร่วมกับผู้นำทางการเมืองกว่า 1,600 ครั้ง รวมไปถึงการเข้าพบกับประมุขของรัฐ 776 คน และนายกรัฐมนตรีอีก 246 คน

พระองค์ทรงเดินทางไปพบคริสต์ศาสนิกชนในทั่วโลกเสมอ ๆ เสด็จเยือนไปมากกว่า 100 ประเทศ หากนับการเดินทางของพระองค์ ประเมินว่าพระองค์ได้เดินทางรอบโลกแล้ว 27 รอบ อย่างไรก็ตาม ความประสงค์ของพระองค์ในการใกล้ชิดกับประชาชน ทำให้พระองค์เกือบถึงแก่ชีวิต โดยเมื่อปี ค.ศ. 1981 ขณะที่พระองค์กำลังออกทักทายประชาชน ในจตุรัสนักบุญเปโตร สแควร์ มะห์หมัด อาลี อักจา มุสลิมชาวตุรกีได้ยิงปืนหมายปลงพระชนม์พระองค์ แม้จะทรงรอดชีวิต แต่ก็บาดเจ็บสาหัส ทั้งนี้มีข้อสันนิษฐานที่ไม่ยืนยันว่าสหภาพโซเวียตเป็นผู้บงการ หลังจากทรงพักรักษาพระองค์ที่ใช้เวลายาวนาน 2 ปี ในวันคริสต์มาสของปี ค.ศ. 1983 พระองค์ก็ได้เดินทางไปพบกับมือลอบสังหารถึงในคุก ซึ่งไม่มีการเปิดเผยว่าพระองค์ได้ตรัสอะไรกับเขาบ้าง

แม้ว่าพระองค์จะทำให้ศาสนจักรก้าวหน้าไปมาก แต่ทัศนะของพระองค์ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ถกเถียงไม่จบไม่สิ้นอย่างการหย่าร้าง การคุมกำเนิด และการทำแท้ง การประชุมของวาติกันเมื่อปี ค.ศ.2001 พระองค์ประกาศต่อต้านการอนุญาตให้หย่าร้าง การทำแท้ง การอยู่ด้วยกันของคนรักร่วมเพศ รวมทั้งสิทธิของผู้ที่ไม่ได้สมรสกัน ผู้วิจารณ์ทั้งภายในและภายนอกศาสนจักรระบุว่า ทัศนะของพระองค์เสี่ยงที่จะทำให้เกิดความแตกแยกกันในหมู่ชาวคาทอลิก และวาติกันก็อยู่ไกลเกินเอื้อมของคนในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วเช่นนี้

ไม่นานมานี้ พระองค์มีอาการประชวรและอ่อนแอลงมาก ในปี ค.ศ. 1992 พระองค์ทรงเข้าผ่าตัดเอาเนื้องอกในปลายลำไส้ใหญ่ออก ปี ค.ศ. 1993 ทรงมีอาการไหล่หลุด ปี ค.ศ. 1994 ต้นขาหักปี ค.ศ. 1996 ทรงเข้าผ่าตัดไส้ติ่ง และในปี ค.ศ. 2001 มีการยืนยันว่าพระองค์ทรงมีอาการของโรคพาร์กินสัน หลังจากสงสัยว่าจะป่วยด้วยโรคนี้มาได้ระยะหนึ่งแล้ว

เดือนตุลาคม ค.ศ. 2003 จตุรัสนักบุญเปโตร เนืองแน่นด้วยด้วยผู้แสวงบุญจากทั่วโลก ซึ่งพากันมาร่วมฉลองการขึ้นเป็นพระสันตะปาปาครบรอบ 25 ปี ของพระองค์ ซึ่งในอีก 5 เดือนต่อมาพระองค์ก็กลายเป็นพระสันตะปาปาองค์ที่ 3 ที่ครองตำแหน่งนานที่สุด และในเดือนพฤษภาคมปีถัดมา ก็มีการเฉลิมฉลองวันประสูติครบ 84 พรรษา

ทั้งนี้แม้พระพลานามัยจะไม่สมบูรณ์นัก พระองค์ก็ทรงปฏิเสธที่จะงดพระกรณียกิจ และการเดินทางเยือนต่างประเทศ โดยปกติแล้วสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 จะทรงออกมาพบกับประชาชนทุกวันพุธ จนกระทั่งการประชวรเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำให้พระองค์ต้องงดเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. 2003

สิ้นพระชนม์[แก้]

หลุมฝังพระศพสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2

เมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน ค.ศ. 2005 สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ก็สิ้นพระชนม์ด้วยพระชนมายุ 84 พรรษา เมื่อเวลา 21.37 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือเวลา 02.37 น. ของวันอาทิตย์ (ที่ 3) ตามเวลาในประเทศไทย หลังจากที่คืนวันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม ทรงมีไข้สูง อันเป็นผลจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ หลังจากนั้นทรงช็อค และมีอาการพระหทัยล้มเหลว จากนั้นพระอาการของพระองค์ก็ทรุดหนักลงเรื่อยๆ จนสิ้นพระชนม์อย่างสงบในที่สุดในห้องส่วนพระองค์

หลังจากองค์พระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์อย่างเป็นทางการแล้ว คณะพระคาร์ดินัลก็จะทำลายสัญลักษณ์ตำแหน่งของพระสันตะปาปา นั่นคือ "เพสคาโตริโอ" หรือวงแหวนแห่งชาวประมง (Ring of the Fisherman) สั่งลดธงประจำสำนักวาติกันลงครึ่งเสา และสุดท้ายปิดประตูสำริดของพระมหาวิหาร ที่จตุรัสเซนต์ ปีเตอร์ เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีประกาศการสิ้นพระชนม์

พิธีปลงพระศพสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 จัดขึ้นอย่างสง่า พระศพของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ในหีบศพจากต้นสนไซเปรสอันเรียบง่ายถูกเคลื่อนออกจากโบสถ์บาซิลิกา ในนครรัฐวาติกัน เพื่อประกอบพิธีฝัง โดยมีบรรดาผู้นำโลกและผู้นำศาสนากว่า 200 คน มาร่วมไว้อาลัย เมื่อเวลา 15.00 น. ของวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2548 ขณะที่คริสต์ศาสนิกชนทั่วโลกร่วมรำลึกถึงประมุขแห่งศาสนจักรโรมันคาทอลิกเป็นครั้งสุดท้ายผ่านจอโทรทัศน์

คณะนักบวชแห่งสำนักวาติกันเริ่มเคลื่อนพระศพสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ออกจากมหาวิหารนักบุญเปโตร เมื่อเวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (หรือเวลา 15.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) เพื่อประกอบพิธีทางศาสนา ท่ามกลางแขกคนสำคัญและผู้ศรัทธาจากทั่วโลกมาร่วมพิธี ณ จัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ เมื่อเสียงระฆังดังขึ้น หีบไม้ภายในบรรจุพระศพถูกเคลื่อนออกมาจากโบสถ์บาซิลิกา โดยเจ้าหน้าที่ของวาติกัน 12 คนซึ่งได้ตั้งหีบศพลงบนพรมหน้าแท่นบูชาที่คลุมด้วยผ้าสีดำและทอง จากนั้นพระคาร์ดินัลโยเซฟ รัตซิงเงอร์ (สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16) ก็เริ่มทำพิธีมิสซา ขณะที่ฝูงชนเริ่มคร่ำครวญด้วยความสลด บ้างก็เริ่มสวดมนต์ ท่ามกลางบรรยากาศที่โศกเศร้า ตามขนบธรรมเนียมของวาติกัน ภายหลังพิธีมิสซาสิ้นสุดลง หีบพระศพของพระสันตะปาปาจะถูกนำไปใส่หีบเคลือบสังกะสี ก่อนจะบรรจุลงในหีบไม้โอ๊คและนำไปฝังลงภายใต้แท่นหินอ่อนภายในสุสานใต้ดินในมหาวิหารนักบุญเปโตร

บุคคลสำคัญจากทั่วโลกกว่า 200 คน ทั้งกษัตริย์ ผู้นำทางการเมืองและทางศาสนา อาทิ เจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ สมเด็จพระราชาธิบดีควน การ์โลสที่ 1 แห่งสเปนและสมเด็จพระราชินีโซเฟีย ซิลวีโอ แบร์ลุสโกนี นายกรัฐมนตรีอิตาลี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ฌัก ชีรัก ประธานาธิบดีฝรั่งเศส รวมทั้งโคฟี อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และเหล่าผู้นำชาติอาหรับเดินทางมาร่วมพิธีกันอย่างคับคั่ง โดยรวมกันอยู่ในที่นั่งด้านซ้ายของปะรำพิธี ตรงข้ามกับที่นั่งของบรรดาพระคาร์ดินัลแห่งวาติกัน ขณะที่ผู้แสวงบุญคาดว่ามีนับ 2 ล้านคนเบียดเสียดกันอยู่ในลานของจตุรัสนักบุญเปโตร ทั้งนี้ คาดว่ามีผู้ศรัทธาอีกหลายล้านในทั่วโลกกำลังเฝ้าชมพิธีดังกล่าวผ่านการถ่ายทอดสดจากจอโทรทัศน์

อนึ่ง สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ทรงปกครองศาสนจักรรวมระยะเวลาทั้งสิ้น 26 ปี 15 วัน ซึ่งยาวนานที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ตามประวัติศาสตร์ของศาสนจักรโรมันคาทอลิกอันยาวนานนับ 2,000 ปี โดยเชื่อว่านักบุญเปโตรทรงเป็นผู้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปายาวนานที่สุด คือ 37 ปี

กระบวนการประกาศเป็นนักบุญ[แก้]

นักบุญยอห์น ปอล ที่ 2
พระสันตะปาปา
เกิด18 พฤษภาคม ค.ศ. 1920
สาธารณรัฐโปแลนด์
เสียชีวิต2 เมษายน ค.ศ. 2005
พระราชวังพระสันตะปาปา นครรัฐวาติกัน
นิกายโรมันคาทอลิก
เป็นนักบุญ27 เมษายน ค.ศ. 2014
มหาวิหารนักบุญเปโตร
โดย สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
วันฉลอง22 ตุลาคม

สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงลงพระนามแต่งตั้งสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 เป็นบุญราศี ซึ่งได้มีการจัดการให้เร็วขึ้นเป็นพิเศษ โดยสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงอนุมัติให้เริ่มกระบวนการพิจารณาสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 เป็นนักบุญได้ทันที เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 2005 โดยไม่ต้องรอให้ครบกำหนดเวลา 5 ปีหลังมรณกรรม (ซึ่งเป็นข้อกำหนดทั่วไปของศาสนจักร) ในที่สุดโดยสรุปแล้วกระบวนการพิจารณาสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 เป็นบุญราศี ใช้เวลาเพียง 6 ปี เท่านั้น (ค.ศ. 2005 - ค.ศ. 2011) ด้วยระยะเวลาอันสั้นดังกล่าว ทำให้สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 เป็นบุญราศีที่พระศาสนจักรคาทอลิกใช้เวลาพิจารณาแต่งตั้งสั้นที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกในรอบ 1,000 ปีที่พระสันตะปาปาองค์ปัจจุบัน ได้ถวายมิสซาสถาปนาพระสันตะปาปาองค์ก่อนหน้า เป็นบุญราศีในสมณสมัยของตน[7]

สำหรับพิธีมิสซาสถาปนาบุญราศีได้มีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2011 ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน โดยสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงเป็นประธานถวายมิสซาด้วยพระองค์เอง[8] ซึ่งสาเหตุที่เลือกวันที่ 1 พฤษภาคม นั้นเป็นเพราะวันดังกล่าวตรงกับวันอาทิตย์ฉลองพระเมตตาของพระเยซู (อาทิตย์หลังวันสมโภชปัสคา) ซึ่งวันฉลองดังกล่าวเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 นั่นเอง

สำหรับขั้นตอนพิธีมิสซาการประกาศเป็นบุญราศีนั้น เริ่มจากพระคาร์ดินัลวัลลินีอ่านรายงานเพื่อเสนอให้สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงสถาปนาสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 เป็นบุญราศี เมื่ออ่านจบแล้วสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงประกาศแต่งตั้ง "สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2" เป็น "บุญราศี" แล้วผ้าที่ปิดพระรูปของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ถูกเปิดออกเพื่อการประกาศเป็นบุญราศีอย่างเป็นทางการ จากนั้นได้มีการนำ “เรลิก” (ซึ่งในพิธีมิสซาสถาปนาบุญราศียอห์น ปอล ที่ 2 จะเป็น “เลือดของบุญราศียอห์น ปอล ที่ 2 ซึ่งอยู่ในขวดแก้ว” โดยเลือดดังกล่าว คุณหมอเรนาโต้ บุซโซเน็ตติ ได้เก็บจากพระวรกายของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 เพื่อเป็นเลือดสำรองในช่วงเวลาสุดท้ายก่อนพระองค์จะสิ้นพระชนม์ สาเหตุที่ต้องเก็บเลือดนี้ไว้ เพราะใช้ในการป้องกันเลือดของพระสันตะปาปาแข็งตัวเป็นลิ่ม นอกจากนี้ยังใช้ในการถ่ายเลือดกรณีฉุกเฉิน) มาถวายแด่สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16

จากนั้นในช่วงเทศน์สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ตรัสว่า "วันนี้เป็นวันแห่งพระหรรษทาน และพระหรรษทานนี้ก็ปรากฏออกมาในตัวของบุญราศียอห์น ปอล ที่ 2 ... เวลานี้ พระประสงค์ของพระเจ้าคือการให้สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 เป็นบุญราศี ... ขอให้เรามองไปที่รูปของพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 แล้วบอกกับพระองค์ว่าพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 โปรดภาวนาเพื่อเราด้วย" นอกจากนี้หลังพิธีมิสซา สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ได้เสด็จเข้าไปคุกเข่าภาวนาหน้าพระศพบุญราศียอห์น ปอลที่ 2 อีกด้วย

ทั้งนี้วาติกันได้ประกาศวันฉลอง “บุญราศียอห์น ปอลที่ 2” ออกมาแล้ว ปรากฏว่ามุขมณฑลโรมและมุขมณฑลทุกแห่งในโปแลนด์ จะฉลองศาสนนามนี้ในวันที่ 22 ตุลาคมของทุกปี[9] เนื่องจากวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1978 เป็นวันที่สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ทรงถวายมิสซาเริ่มสมณสมัยปกครองของพระองค์อย่างเป็นทางการ ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร วันนี้มีความหมายกับมุขมณฑลโรม เพราะนอกจากจะเป็นวันเข้ารับตำแหน่งพระสันตะปาปา ยังเป็นวันที่สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 เข้ารับตำแหน่งบิชอปแห่งโรมอีกด้วย ในส่วนของโปแลนด์ นี่คือการส่งมอบคริสตังชาวโปแลนด์ให้ไปปฏิบัติหน้าที่พระสันตะปาปา (ส่งมอบจากศาสนจักรท้องถิ่นสู่ศาสนจักรสากล)

หลังจากการรอคอยอันยาวนาน สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส พระประมุขแห่งคริสตจักรนิกายโรมันคาธอลิก ทรงเปิดเผยว่าจะมีการประกาศแต่งตั้งให้สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 และสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 เป็นนักบุญองค์ใหม่แห่งศาสนจักรในวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 2014 การประกาศแต่งตั้งนักบุญครั้งนี้ เป็นไปตามขั้นตอน หลังจากเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2013 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงประกาศรับรองปาฏิหารย์ที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งที่สอง ทำให้สมเด็จพระสันตะปาปาทรงมีคุณสมบัติครบตามกฎของศาสนจักรในการรับรองนักบุญองค์ใหม่

ในที่สุด บุญราศียอห์น ปอลที่ 2 ก็ได้รับการประกาศเป็นนักบุญโดยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 2014 ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร กรุงโรม

อ้างอิง[แก้]

  1. สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอลที่ 2, หนังสือบนศิลานี้สมเด็จพระสันตะปาปา โดย คุณพ่อไพบูลย์ อุดมเดช ผู้เก็บเกี่ยว บาทหลวงคณะพระมหาไถ่.
  2. พระสมณสาสน์Laborem Exercens Ioannes Paulus PP. II,Laborem Exercens - Encyclical Letter, 1981.
  3. พระสมณสาสน์ Centesimus Annus Ioannes Paulus PP. II,Centesimus Annus - Encyclical Letter, 1991.
  4. พระสมณสาสน์ Veritatis Splendor Ioannes Paulus PP. II,Veritatis Splendor, 1993.
  5. พระสมณสาสน์ Ut Unum Sint Ioannes Paulus PP. II,Ut Unum Sint - Encyclical Letter, 1995.
  6. พระสมณสาสน์ Evangelium Vitae Ioannes Paulus PP. II,Evangelium Vitae - Encyclical Letter, 1995.
  7. โป๊ปรีพอร์ต ฟาติมาสาร - เบื้องหลังการสถาปนา “บุญราศียอห์น ปอล ที่ 2” (1 พฤษภาคม 2011)
  8. โป๊ปรีพอร์ต ด่วน!! โป๊ปลงนามแต่งตั้ง "บุญราศี ยอห์น ปอล ที่ 2" แล้ว
  9. โป๊ปรีพอร์ต ฟาติมาสาร - 22 ตุลาคม ฉลองศาสนนาม “บุญราศียอห์น ปอลที่ 2” (24 เมษายน 2011)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]


ก่อนหน้า สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ถัดไป
สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 1
พระสันตะปาปา
(ค.ศ. 1978 — ค.ศ. 2005)
สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16
The Peacemakers
(เนลสัน แมนเดลา, เฟรเดอริก วิลเลิม เดอ แกลร์ก, ยัสเซอร์ อาราฟัต และยิตซัค ราบิน)
บุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์
(ค.ศ. 1988)
มีฮาอิล กอร์บาชอฟ