ปลาเรดเทลแคทฟิช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Phractocephalus)
ปลาเรดเทลแคทฟิช
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ไมโอซีน - ปัจจุบัน [1]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Siluriformes
วงศ์: Pimelodidae
สกุล: Phractocephalus
Agassiz, 1829
สปีชีส์: P.  hemioliopterus
ชื่อทวินาม
Phractocephalus hemioliopterus
(Bloch & Schneider, 1801)
ชื่อพ้อง
  • Silurus hemioliopterus Bloch & Schneider, 1801
  • Pimelodus grunniens Humboldt, 1821
  • Rhamdia grunniens (Humboldt, 1821)
  • Phractocephalus bicolor Spix & Agassiz, 1829

ปลาเรดเทลแคทฟิช (อังกฤษ: Redtail catfish) เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ในอันดับปลาหนัง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phractocephalus hemioliopterus ในวงศ์ปลากดอเมริกาใต้ (Pimelodidae) จัดเป็นปลาเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Phractocephalus ที่ยังคงดำรงเผ่าพันธุ์ ทั้งนี้เนื่องจากชนิดอื่นที่อยู่ร่วมสกุลกันได้สูญพันธุ์ไปตั้งแต่ยุคไมโอซีนตอนต้นแล้ว (ราว 13.5 ล้านปีก่อน) คือ P. nassi ซึ่งค้นพบซากดึกดำบรรพ์ในปี ค.ศ. 2003 จากยูรูมาโค ในเวเนซุเอลา รวมถึงชนิดอื่นจากรัฐอาเกร ในบราซิล

มีรูปร่างส่วนหัวแบนกว้างและใหญ่ ปากมีขนาดใหญ่ และอ้าปากได้กว้าง ภายในช่องปากจะมีฟันหยาบ ๆ สีแดงสด ซึ่งฟันลักษณะนี้จะใช้สำหรับดูดกลืนอาหารเข้าไปทั้งตัว โดยไม่เคี้ยวหรือขบกัด แต่จะใช้งับเพื่อไม่ให้ดิ้นหลุดเท่านั้น บริเวณส่วนหัวมีจุดกระสีน้ำตาลหรือดำกระจายอยู่ทั่ว ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแดง ส่วนท้องและด้านข้างลำตัวสีขาวหรือสีเหลือง ปลายหางและครีบหลังมีสีแดงจัด อันเป็นที่มาของชื่อ มีหนวดทั้งหมดสี่คู่ คู่แรกยาวที่สุดอยู่บริเวณมุมปาก หนวดอื่น ๆ อยู่บริเวณใต้คาง

ปลาเรดเทลแคทฟิช เป็นปลาที่หากินตามท้องน้ำ โดยกินอาหารได้แก่ ปลาขนาดเล็กกว่าและสามารถกินได้ถึงขนาดที่เท่าตัวหรือใหญ่กว่าได้ ด้วยการกลืนเข้าไปทั้งตัวโดยไม่เคี้ยว เป็นปลาที่ตะกละ กินจุ กินไม่เลือก และเจริญเติบโตได้เร็วมาก โดยเฉพาะลูกปลา

พบกระจายพันธุ์ในลุ่มแม่น้ำอเมซอน, โอริโนโค และเอสเซคิวโบ โดยมีชื่อเรียกในภาษาถิ่นว่า Cajaro และ Pirarara หรือ ปลากล้วย[2]

มีขนาดโตเต็มที่ได้ประมาณ 1-1.5 เมตร น้ำหนักหนักได้ถึง 51.5 กิโลกรัม ซึ่งเป็นน้ำหนักของส่วนหัวมากถึง 1 ใน 4[2]

เป็นปลาที่นิยมตกเป็นเกมกีฬา และนิยมบริโภคกันทั่วไป โดยเฉพาะในประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงกันเพื่อบริโภคแทนเนื้อปลาคัง (Hemibagrus wyckioides) ซึ่งเป็นปลาพื้นบ้านทดแทน เนื่องด้วยการที่เพาะขยายพันธุ์ง่ายและเติบโตเร็ว อีกทั้งเนื้อยังมีรสชาติดี และยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย ซึ่งจัดว่าเป็นปลาจากต่างประเทศที่มีการเลี้ยงกันมานานกว่า 30 ปีแล้ว มีราคาขายที่ไม่แพง ในปัจจุบัน ยังมีการผสมข้ามพันธุ์กับปลาในวงศ์เดียวกัน เช่น ปลาไทเกอร์โชวเวลโนส (Pseudoplatystoma fasciatum) เกิดเป็นลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ หรือมีสีสันที่แตกต่างไปจากปลาดั้งเดิมอีกด้วย เช่น สีขาวล้วน หรือสีดำทั้งลำตัว หรือปลาเผือก ซึ่งปลาที่มีสีสันแปลกเช่นนี้จะมีราคาซื้อขายที่แพงกว่าปลาปกติมาก[3][4] แต่ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดเป็นปัญหาชนิดพันธุ์ต่างถิ่น เมื่อมีปลาบางส่วนได้หลุดรอดลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Paleobiology Database". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-28. สืบค้นเมื่อ 2016-07-02.
  2. 2.0 2.1 Lair Of Giants, "River Monsters". สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต ทางทรูวิชั่นส์: อาทิตย์ที่ 13 มกราคม 2556
  3. หน้า 101 คอลัมน์ Case Study โดย หมอตาอ้อย, RoF, Sea Angel นิตยสาร Aquarium Biz ฉบับที่ 12 ปีที่ 1 ประจำเดือนมิถุนายน 2011
  4. คอลัมน์ สกายฟาร์ม ตำนานปลาหมอสีแห่งสยาม โดย RoF นิตยสาร Aquarium Biz ฉบับที่ 8 ปีที่ 1 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2011
  5. "10 ปลาเอเลี่ยนในเมืองไทย ที่กำลังยึดแหล่งน้ำโดยคุณไม่รู้ตัว". spokedark. August 13, 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-30. สืบค้นเมื่อ July 2, 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]