โอล์ม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Olm)
โอล์ม
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Amphibia
ชั้นย่อย: Lissamphibia
อันดับ: Caudata
อันดับย่อย: Salamandroidea
วงศ์: Proteidae
สกุล: Proteus
Laurenti, 1768
สปีชีส์: P.  anguinus
ชื่อทวินาม
Proteus anguinus
Laurenti, 1768
ชนิดย่อย
  • P. a. anguinus Laurenti, 1768 (เป็นชนิดที่มีสีขาว)
  • P. a. parkelj Sket & Arntzen, 1994 (โอล์มดำ)
แผนที่การกระจายพันธุ์ (เหนือทะเลเอเดรียติก)

โอล์ม (อังกฤษ: Olm, Human fish; ชื่อวิทยาศาสตร์: Proteus anguinus) เป็นซาลาแมนเดอร์ชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์หมาน้ำ (Proteidae) จัดเป็นซาลาแมนเดอร์เพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Proteus[2] (เคยมีอีกชนิดหนึ่ง คือ P. bavaricus สูญพันธุ์ไปตั้งแต่ยุคไพลสโตซีน[3])

โอล์ม เป็นซาลาแมนเดอร์รูปร่างประหลาดกว่าซาลาแมนเดอร์ชนิดอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัดเจน กล่าว คือ มีรูปร่างเพรียวยาวเหมือนปลาไหลหรืองู มากกว่าจะเป็นซาลาแมนเดอร์ ยาวประมาณ 40 เซนติเมตร ผิวหนังขาวซีด ไม่มีเม็ดสี รวมทั้งไม่มีตา เนื่องจากใช้ชีวิตอยู่ในถ้ำที่มีแต่ความมืด ไม่มีแสงสว่างส่องเข้ามาถึง จึงหายไปเนื่องจากไม่ได้ใช้ประโยชน์ ขาเล็กสั้น นิ้วตีนหน้ามี 3 นิ้ว และตีนหลัง 2 นิ้ว ซึ่งเป็นการลดรูปของอวัยวะที่ไม่ได้ใช้งาน มีส่วนปากยื่นยาวและแผ่กว้าง ซึ่งเป็นประสาทสัมผัส[4] โอล์มสามารถมีอายุยืนได้นานถึง 100 ปี และสามารถมีชีวิตอยู่ได้แม้ไม่ได้กินอะไรเลยเป็นเวลานาน 10 ปี [5]

ภาพวาดของโอล์มในปี ค.ศ. 1907 โดยนักชีววิทยาชาวฝรั่งเศส แกสตัน บงเนียร์
โอล์มดำ

โอล์ม กระจายพันธุ์เฉพาะในน้ำที่มีอุณหภูมิประมาณ 8 องศาเซลเซียส ในถ้ำลึกของทวีปยุโรป แถบยุโรปกลาง และยุโรปตะวันตกเฉียงใต้ เช่น สโลเวเนีย, โครเอเชีย เช่น ถ้ำโพสทอยน่าในสโลเวเนีย โดยหลบซ่อนอยู่ตามหลืบหินหรือซอกต่าง ๆ ใต้น้ำ เมื่อแรกเจอ โอล์มถูกเชื่อว่าเป็นลูกของมังกร ซึ่งพ่อแม่ของมังกรหลบอยู่ในส่วนลึกของถ้ำเข้าไปอีก นอกจากนี้ยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า "ปลามนุษย์"[4] จากการที่มีผิวขาวเหมือนชาวผิวขาว ซึ่งมาจากภาษาสโลเวเนีย คำว่า človeška ribica และภาษาโครเอเชีย คำว่า čovječja ribica[6]

โอล์ม มีความไวต่อแสงมาก แม้จะไม่มีตา แต่ก็มีประสาทสัมผัสที่ดีมาก ตลอดจนมีประสาทรับรู้รสในปาก เมื่อโตเต็มที่แล้ว แต่ก็ยังคงรูปร่างเมื่อยังเป็นตัวอ่อนอยู่ คือ ไม่มีเปลือกตา มีเหงือกขนาดใหญ่เห็นเป็นพู่เหงือก และมีช่องเปิดเหงือก 2 ช่อง มีแผ่นครีบหาง มีการขยายพันธุ์ด้วยการปฏิสนธิในตัว ตัวเมียวางไข่จำนวน 50–70 ฟอง[7] อย่างไรก็ตามไม่เคยมีใครเห็นไข่หรือตัวอ่อนของโอล์ม จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 2016 เมื่อโอล์มตัวเมียตัวหนึ่งในสถานที่เลี้ยงของนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งได้วางไข่ จนกระทั่ง 4 เดือนผ่านไป ไข่นั้นก็ได้ฟักเป็นตัว[5] นอกจากนี้แล้ว ในปี ค.ศ. 1986 ได้มีการค้นพบโอล์มดำ (P. a. parkelj) ซึ่งเป็นชนิดย่อยของโอล์ม มีส่วนปากสั้นกว่าโอล์ม แต่มีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างเห็นชัดเจน คือ มีตาขนาดเล็กเห็นชัดเจน และสีผิวที่คล้ำกว่า รวมทั้งมีความกระฉับกระเฉงว่องไวกว่า มีความยาว 40 เซนติเมตรเท่ากัน โอล์มดำ เป็นสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นที่พบได้ในลำธารใต้ดินใกล้กับเมืองคอร์โนเมลจ์ ในสโลเวเนียเท่านั้น การขยายพันธุ์ของโอล์มดำนั้น ยังไม่เป็นที่ทราบกันโดยแน่ชัด[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Proteus anguinus". IUCN Red List of Threatened Species. Version 4. 2008. สืบค้นเมื่อ 4 April 2011. Database entry includes a range map and justification for why this species is vulnerable
  2. "Proteus". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  3. Rocek, Z (1994). "A Review of the fossil Caudata of Europe" (PDF). Abhandlungen und Berichte für Naturkunde. 17: 51–56.
  4. 4.0 4.1 4.2 The Human Fish, "Nick Baker's Weird Creatures". สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต ทางทรูวิชั่นส์: พฤหัสบดีที่ 24 มกราคม 2556
  5. 5.0 5.1 ไขปริศนาเรื่องแปลก, Weird Wonders Of The World. สารคดีทางช่อง 7: ศุกร์ที่ 24 สิงหาคม 2561
  6. Piper, Ross (2007), Extraordinary Animals: An Encyclopedia of Curious and Unusual Animals, Greenwood Press.
  7. หน้า 311-312, วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก โดย วีรยุทธ์ เลาหะจินดา (ธันวาคม, 2552) ISBN 978-616-556-016-0

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Proteus anguinus ที่วิกิสปีชีส์