งูเห่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Naja)
งูเห่า
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: สมัยไมโอซีนสมัยโฮโลซีน
งูเห่าในขณะที่แผ่แม่เบี้ย
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Reptilia
อันดับ: Squamata
อันดับย่อย: Serpentes
วงศ์: Elapidae
วงศ์ย่อย: Elapinae
สกุล: Naja
Laurenti, 1768
ชนิด
ดูในเนื้อหา

งูเห่า เป็นงูพิษขนาดกลางที่อยู่ในสกุล Naja ในวงศ์งูพิษเขี้ยวหน้า (Elapidae) วงศ์ย่อย Elapinae ซึ่งเป็นสกุลของงูพิษที่อาจเรียกได้ว่าเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดอย่างหนึ่ง

ลักษณะ[แก้]

งูเห่าจัดเป็นงูที่อันตราย มีนิสัยดุร้ายเช่นเดียวกับงูจงอาง เมื่อตกใจหรือต้องการขู่ศัตรู มักทำเสียงขู่ฟู่ ๆ โดยพ่นลมออกจากทางรูจมูก และแผ่แผ่นหนังที่อยู่หลังบริเวณคอออกเป็นแผ่นด้านข้างเรียกว่า "แม่เบี้ย" หรือ "พังพาน" ซึ่งบริเวณแม่เบี้ยนี้จะมีลวดลายเป็นดอกดวงสีขาวหรือสีเหลืองนวลเป็นรูปลักษณ์ต่าง ๆ เช่น คล้ายตัวอักษรวีหรืออักษรยูหรือวงกลม หรือไม่มีเลยก็ได้ เรียกว่า "ดอกจัน"[1]

มีพิษมีฤทธิ์ทำลายระบบประสาทที่รุนแรง และเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ที่ถูกกัดเสียชีวิต พิษของงูเห่านับว่ามีความร้ายแรงมาก งูเห่ามีสีหลากหลาย เช่น ดำ, น้ำตาล, เขียวอมเทา เหลืองหม่น รวมทั้งสีขาวปลอดทั้งลำตัว ที่เรียกว่า งูเห่านวล หรือ งูเห่าสุพรรณ ซึ่งเป็นความหลากหลายทางสีสันของงูเห่าหม้อ (N. kaouthia) ที่เป็นงูเห่าชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดในประเทศไทย โดยที่มิใช่สัตว์เผือกด้วย [2]

เป็นงูที่มีพิษร้ายแรง มีร่องและรูทางออกของน้ำพิษทางด้านหลังของเขี้ยวพิษ เขี้ยวพิษขนาดไม่ใหญ่นักซึ่งผนึกติดแน่นกับขากรรไกรขยับไม่ได้ นอกจากเขี้ยวพิษแล้วอาจมีเขี้ยวสำรองอยู่ติด ๆ กันอีก 1-2 อัน ที่ขากรรไกรล่างไม่มีฟัน นอกจากนี้แล้วในบางชนิดยังสามารถพ่นพิษออกมาจากต่อมน้ำพิษได้อีกด้วย เรียกว่า "งูเห่าพ่นพิษ" ซึ่งหากพ่นใส่ตา จะทำให้ตาบอดได้

งูเห่าจัดว่าเป็นงูพิษขนาดกลาง ขนาดเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 1 เมตร พบกระจายพันธุ์ไปทั่วในเขตร้อนและเขตอบอุ่นของทวีปเอเชียและแอฟริกา สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งทะเลทราย ป่าดิบ ทั้งบนพื้นที่ราบและภูเขาสูง ตลอดจนในชุมชนเมือง

งูเห่าขยายพันธุ์ด้วยการวางไข่ โดยงูตัวเมียจะเป็นผู้ปกป้องและฟักไข่จนกระทั่งฟักออกเป็นตัว ในช่วงนี้จะมีนิสัยดุร้ายกว่าปกติ งูเห่าวางไข่ได้ครั้งละ 10 จนมากที่สุดได้ถึง 30 ฟอง และลูกงูมีอัตราฟักเป็นตัวสูงถึงร้อยละ 80-90 [3]โดยชนิดที่พบได้ในประเทศไทย นอกจาก งูเห่าหม้อ ที่ได้กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ยังมี งูเห่าพ่นพิษสยาม (N. siamensis) และงูเห่าพ่นพิษสีทอง (N. samarensis)

งูเห่าพ่นพิษที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ งูเห่าอาเช (N. ashei) พบได้ในที่ราบแห้งแล้งทางภาคเหนือและตะวันออกของเคนยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของยูกันดา รวมทั้งภาคใต้ของเอธิโอเปียและโซมาเลีย ที่มีความยาวเต็มที่ได้ถึง 2.6 เมตร เป็นงูเห่าที่เพิ่งถูกจำแนกออกจากชนิดอื่นเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2007[4]

ศัพทมูลวิทยา[แก้]

โดยที่คำว่า Naja ที่ใช้เป็นชื่อสกุลทางวิทยาศาสตร์นั้น มาจากคำว่า nāga (นาคะ) ซึ่งเป็นภาษาในกลุ่มอินโด-ยูโรเปียน ที่หมายถึง "งู"[5]

ในขณะที่ชื่อสามัญในภาษาไทย ได้มาจากพฤติกรรมที่เมื่อขู่มักทำเสียงขู่ฟู่ ๆ โดยพ่นลมออกจากทางรูจมูกจึงได้ชื่อว่า "งูเห่า" และในส่วนของชื่อสามัญภาษาอังกฤษคำว่า "Cobra" ยังมีความหมายว่า "ไม่แพ้" ได้อีกด้วย[6]

การจำแนก[แก้]

ปัจจุบัน ได้มีการจำแนกงูเห่าออกเป็นชนิดต่าง ๆ มากมาย โดยการศึกษาจากเดิม ในปี ค.ศ. 2009 ได้ถือว่างูเห่ามีทั้งสิ้นประมาณ 22-23 ชนิด และถ้าหากนับงูในสกุลอื่นที่มีความใกล้เคียงกัน ได้แก่ Boulengerina และ Afronaja ก็จะทำให้งูเห่ามีทั้งสิ้น 28 ชนิด ได้แก่[7]

Naja
(Naja)

Naja (Naja) naja





Naja (Naja) kaouthia



Naja (Naja) atra





Naja (Naja) mandalayensis



Naja (Naja) siamensis



Naja (Naja) sputatrix






(Afronaja)


Naja (Afronaja) pallida



Naja (Afronaja) nubiae





Naja (Afronaja) katiensis




Naja (Afronaja) nigricollis




Naja (Afronaja) ashei




Naja (Afronaja) mossambica



Naja (Afronaja) nigricincta








(Boulengerina)

Naja (Boulengerina) multifasciata



Naja (Boulengerina) christyi





Naja (Boulengerina) christyi



Naja (Boulengerina) annulata




Naja (Boulengerina) melanoleuca




(Uraeus)

Naja (Uraeus) nivea




Naja (Uraeus) senegalensis




Naja (Uraeus) haje



Naja (Uraeus) arabica





Naja (Uraeus) annulifera



Naja (Uraeus) anchietae









ในวัฒนธรรม[แก้]

งูเห่านับเป็นงูพิษที่มนุษย์คุ้นเคยเป็นอย่างดี และอยู่ในวัฒนธรรมของแต่ละชนชาติมาอย่างยาวนาน อาทิ ในเทพปกรณัมของอินเดีย งูเห่าก็เป็นสร้อยสังวาลของพระศิวะ[8] หรือในพุทธประวัติ ที่พระพุทธเจ้านั่งสมาธิที่ใต้ต้นจิกน้ำ บังเกิดฝนตกมาห่าใหญ่ พญานาคได้แผ่พังพานออกมาปกป้องพระวรกายมิให้โดนละอองฝน เป็นที่มาของพระพุทธรูปปางนาคปรก[9] รวมถึงในนิทานอีสปเรื่อง ชาวนากับงูเห่า เป็นต้น

นอกจากนี้แล้วในทางประวัติศาสตร์และวิถีชีวิต พระนางคลีโอพัตราได้ฆ่าตัวตายด้วยการให้งูเห่าอียิปต์ (N. haje) กัด[10] หรือที่อินเดียมีการละเล่นที่เป่าปี่เพื่อหลอกล่องูเห่าออกมาจากที่เก็บกัก หรือการเอาพังพอน ซึ่งเป็นสัตว์กินเนื้อที่มีความว่องไว สู้กับงูเห่า เป็นต้น

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ความหมายของ "เห่า" และ "พังพาน" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
  2. นาวาเอก (พิเศษ) วิโรจน์ นุตพันธุ์. ลายงูไทย. กรุงเทพฯ : บ้านและสวน, 2544. 319 หน้า. ISBN 9747751917
  3. "จับประเด็นข่าวร้อน". ช่อง 5. 24 April 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-13. สืบค้นเมื่อ 25 April 2014.
  4. "งูเห่าพันธุ์ใหม่ใหญ่สุดในโลก พิษร้ายฉกเดียวตายได้ถึง 20 คน". popcornfor2.com. 12 December 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-30. สืบค้นเมื่อ 25 April 2014.
  5. Proto-IE: * (s) nēg-o-, Meaning: snake, Old Indian: nāgá- m. 'snake', Germanic: *snēk-a- m., *snak-an- m., *snak-ō f.; *snak-a- vb.
  6. ฟุจิโกะ เอฟ. ฟุจิโอะ (แต่ง); ขวัญนุช คำเมือง (แปล). โดเรมอนโลกเร้นลับของสิ่งมีชีวิต. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2546. 125 หน้า. ISBN 974-472-262-2
  7. Wallach, VanWüster, W; Broadley, Donald G. (2009). "In praise of subgenera: taxonomic status of cobras of the genus Naja Laurenti (Serpentes: Elapidae)" (PDF). Zootaxa. 2236 (1): 26–36.
  8. "ตำนานพระศิวะ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-11-25. สืบค้นเมื่อ 2011-10-20.
  9. ประวัติและที่มาของพระพุทธรูปประจำวันเกิดปางต่าง ๆ
  10. Plutarch Parallel Lives, "Life of Antony"

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]