โรคเมลิออยด์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Melioidosis)
โรคเมลิออยด์
(Melioidosis)
ชื่ออื่นโรคเมลิออยโดซิส, โรคไข้ดิน, โรคฝีดิน, โรคมงคล่อเทียม[1], Whitmore disease[2]
ฝีเมลิออยโดซิสที่หน้าท้อง
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ (การแพทย์เฉพาะทาง)
อาการไม่มีอาการ, ไข้, ปอดบวม, ฝีหลายตำแหน่ง[3]
ภาวะแทรกซ้อนสมองและไขสันหลังอักเสบ, ช็อกเหตุพิษติดเชื้อ, กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน, ข้ออักเสบติดเชื้อ, กระดูกอักเสบติดเชื้อ[3]
การตั้งต้น1–21 วันหลังจากรับสัมผัสเชื้อ[3]
สาเหตุแบคทีเรีย Burkholderia pseudomallei แพร่กระจายโดยการสัมผัสกับดินหรือน้ำ[3]
ปัจจัยเสี่ยงเบาหวาน, ทาลัสซีเมีย, โรคพิษสุรา, โรคไตเรื้อรัง[3]
วิธีวินิจฉัยการเจริญของแบคทีเรียในอาหารเลี้ยงเชื้อ[3]
โรคอื่นที่คล้ายกันวัณโรค[4]
การป้องกันป้องกันการสัมผัสน้ำที่ปนเปื้อน, ใช้ยาปฏิชีวนะป้องกันการติดเชื้อ[3]
การรักษาเซฟตาซิดิม, เมอโรพีเนม, โคไตรมอกซาโซล[3]
ความชุก165,000 คนต่อปี[3]
การเสียชีวิต89,000 คนต่อปี[3]

โรคเมลิออยด์[5] หรือ โรคเมลิออยโดซิส[6] (อังกฤษ: Melioidosis) เป็นโรคติดเชื้อซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ Burkholderia pseudomallei เชื้อนี้พบได้ในดินและน้ำ โรคนี้มีความสำคัญทางสาธารณสุขโดยเฉพาะในประเทศไทยและทางเหนือของออสเตรเลีย รูปแบบของโรคอาจมีได้ทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ผู้ป่วยอาจมีอาการแตกต่างกันมาก เช่น เจ็บหน้าอก กระดูก หรือข้อ ไอ การติดเชื้อที่ผิวหนัง ก้อนในปอด หรือปอดอักเสบ

ในอดีตเชื้อแบคทีเรีย B. pseudomallei จัดอยู่ในจีนัส Pseudomonas และเคยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pseudomonas pseudomallei จนกระทั่งปี ค.ศ. 1992 มีการจำแนกทางวิวัฒนาการพบว่ามีความใกล้ชิดกับเชื้อ Burkholderia mallei ซึ่งก่อโรคแกลนเดอร์ส (Glanders) หรือโรคมงคล่อพิษในม้า ลา และล่อ ชื่อโรคเมลิออยด์นี้มาจากภาษากรีกว่า melis หมายความว่า "โรคติดเชื้อของลา" และคำท้าย -oid หมายถึง "คล้ายคลึง" และ -osis หมายถึง "ภาวะ" ดังนั้นชื่อโรคจึงหมายความว่า ภาวะซึ่งคล้ายกับโรคแกลนเดอร์ส[7]

ระบาดวิทยา[แก้]

โรคเมลิออยด์เป็นโรคประจำถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมถึงประเทศไทย[8] ลาว[9][10] และตอนใต้ของจีน[11] สิงคโปร์[12] มาเลเซีย พม่า และเวียดนาม) ไต้หวัน[13][14] และตอนเหนือของออสเตรเลีย[15][16] และมีรายงานผู้ป่วยหลายรายในฮ่องกง บรูไน[17] อินเดีย[18][19][20] และมีรายงานผู้ป่วยประปรายในอเมริกากลางและอเมริกาใต้[21] ตะวันออกกลาง แปซิฟิก และประเทศในแอฟริกัน แม้ว่าจะมีรายงานผู้ป่วยเพียงรายเดียวในบังคลาเทศ[22] แต่พบผู้ป่วยอย่างน้อยห้ารายที่เดินทางจากประเทศดังกล่าวเข้ามาในสหราชอาณาจักร ซึ่งแสดงว่าเมลิออยโดซิสเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศดังกล่าว แต่กลับมีปัญหาไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือปัญหารายงานจำนวนผู้ป่วยน้อยกว่าที่ควรจะเป็น[23] ซึ่งอาจเกิดจากการขาดแคลนอุปกรณ์ปฏิบัติการที่เพียงพอ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีอุบัติการณ์ของโรคเมลิออยด์สูงที่สุดในโลก (ผู้ป่วยโรคเมลิออยด์ 21.3 รายในประชากร 100,000 รายต่อปี) [24] ร้อยละ 80 ของเด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมีผลแอนติบอดีต่อเชื้อ B. pseudomallei เป็นบวกตั้งแต่อายุ 4 ปี[25] ซึ่งพบว่าในที่อื่น ๆ จะมีจำนวนน้อยกว่านี้[26][27][28][29]

โรคเมลิออยด์เป็นโรคที่พบในสัตว์ อาทิ แมว[30] แพะ แกะ และม้า ส่วนในวัว ควาย และจระเข้ เชื่อว่ามีความต้านทานต่อการติดเชื้อเมลิออยโดซิสทั้งที่สัมผัสกับโคลนอยู่ตลอด[31] การระบาดของโรคในสวนสัตว์ปารีสในทศวรรษที่ 1970 ("L’affaire du jardin des plantes") เชื่อว่ามีต้นเหตุจากแพนด้าที่นำเข้ามา[32]

เชื้อแบคทีเรีย Burkholderia pseudomallei ปกติพบได้ในดินและน้ำผิวดิน ประวัติการสัมผัสดินหรือแหล่งน้ำจึงแทบไม่แตกต่างกันในผู้ป่วยโรคเมลิออยด์[15] นั่นคือผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีประวัติสัมผัสกับดินที่ปนเปื้อนไม่มีอาการเจ็บป่วย แม้แต่ในแหล่งชุกชุมของโรคการกระจายของเชื้อ B. pseudomallei ในดินก็เป็นอย่างประปราย[33][34] การปนเปื้อนเชื้อของน้ำใต้ดินเป็นสาเหตุของการระบาดครั้งหนึ่งในตอนเหนือของออสเตรเลีย[35]

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของการเป็นโรคเมลิออยด์อย่างรุนแรงคือเบาหวาน ปัจจัยเสี่ยงอื่นอาทิ ทาลัสซีเมีย โรคไต และอาชีพ (เกษตรกรรม) [36] เชื่อกันว่าเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลที่ผิวหนัง หรือผ่านการหายใจเอาเชื้อ B. pseudomallei เข้าไป มีรายงานของการติดต่อจากคนสู่คนแต่ค่อนข้างพบได้ไม่บ่อย[37][38]

นอกจากนี้ยังพบว่าโรคมีความสัมพันธ์กับฝน โดยพบว่าจำนวนและความรุนแรงของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นตามปริมาณฝน[39][40][12][41][42]

อาการทางคลินิก[แก้]

โรคเมลิออยด์เฉียบพลัน[แก้]

ในผู้ป่วยบางกลุ่มที่สามารถระบุเวลาที่ติดเชื้อได้ พบว่าระยะฟักตัวเฉลี่ยของโรคเมลิออยด์เฉียบพลันคือ 9 วัน (ตั้งแต่ 1-12 วัน) [43] ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคเมลิออยด์แอบแฝงอาจไม่แสดงอาการเลยได้หลายสิบปี โดยช่วงเวลาตั้งแต่สันนิษฐานว่าติดเชื้อจนถึงระยะปรากฏอาการที่นานที่สุดเท่าที่มีรายงานคือ 62 ปี[44] ระยะฟักตัวที่ยาวนานเริ่มเป็นที่รู้จักกันจากในทหารสหรัฐอเมริกาในสมรภูมิสงครามเวียดนามที่ป่วยและเสียชีวิตจำนวนมากหลังกลับจากสมรภูมิหลายสิบปี จนได้รับสมญานามว่า "ระเบิดเวลาเวียดนาม" (Vietnam time-bomb) ความรุนแรงของโรคเมลิออยด์มีได้หลากหลาย ในผู้ป่วยเรื้อรังอาจแสดงอาการได้นานเป็นเดือน แต่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเร็วร้าย (fulminant infection) โดยเฉพาะภาวะจมน้ำ อาจแสดงอาการรุนแรงได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง

ผู้ป่วยโรคเมลิออยด์เฉียบพลันมักมีอาการมาด้วยไข้ อาการปวดหรืออาการอื่น ๆ อาจช่วยบ่งบอกการติดเชื้อเฉพาะที่ได้ โดยพบได้ราวร้อยละ 75 ของผู้ป่วย อาการอื่นเช่นไอหรือเจ็บหน้าอกอาจบ่งถึงภาวะปอดอักเสบ อาการปวดข้อหรือกระดูกอาจบ่งถึงภาวะกระดูกอักเสบหรือข้ออักเสบติดเชื้อ หรือเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (cellulitis) การติดเชื้อในช่องท้องเช่นฝีในตับ ม้าม หรือต่อมลูกหมาก มักไม่แสดงอาการมาด้วยปวดเฉพาะที่ จึงควรตรวจด้วยการวินิจฉัยทางรังสีเช่นการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงหรือการตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ ในการศึกษาผู้ป่วย 214 ราย พบว่าร้อยละ 27.6 มีฝีที่ตับและม้าม (ช่วงความเชื่อมั่น 95%, 22.0% ถึง 33.9%) ลักษณะของฝีที่เกิดจากเชื้อ B. pseudomallei ในภาพเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์มีลักษณะคล้ายรังผึ้ง (honeycomb) หรือ เนยแข็งสวิส (swiss cheese) คือทึบเสียง มีผนังกั้นหลายอัน และแบ่งเป็นหลายช่อง (hypoechoic, multi-septate, multiloculate) [45][46]

อาการของการติดเชื้อเฉพาะส่วนแสดงอาการได้หลากหลาย เช่น ฝีของต่อมน้ำลายพาโรติด พบในผู้ป่วยเด็กชาวไทย แต่ในผู้ป่วยออสเตรเลียมีรายงานพบเพียงหนึ่งราย[47] ในทางกลับกัน ฝีของต่อมลูกหมากพบได้ถึงร้อยละ 20 ของผู้ป่วยชายชาวออสเตรเลียแต่ไม่พบรายงานในที่อื่น อาการสมองและไขสันหลังอักเสบพบได้ในตอนเหนือของออสเตรเลีย

ผู้ป่วยโรคเมลิออยด์มักมีปัจจัยเสี่ยงร่วมด้วย เช่น เบาหวาน ทาลัสซีเมีย การดื่มแอลกอฮอล์ หรือโรคไต และมักให้ประวัติอาชีพหรืองานที่สัมผัสกับโคลนหรือน้ำใต้ดิน[48] อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยที่แข็งแรงรวมทั้งเด็กก็อาจเป็นโรคนี้ได้

ร้อยละ 25 ของผู้ป่วยอาจไม่พบอาการของการติดเชื้อและต้องวินิจฉัยโดยการเพาะเชื้อจากเลือดหรือการป้ายคอมาตรวจ อาจกล่าวได้ว่าโรคเมลิออยด์ทำให้เกิดการติดเชื้อได้กับทุกอวัยวะในร่างกาย ยกเว้นลิ้นหัวใจ แม้ว่าจะพบผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อเมลิออยด์ตามหลังฝีในสมองที่แตกออก แต่ไม่เคยมีรายงานการติดเชื้อเยื่อหุ้มสมองโดยตรง อาการแสดงที่พบได้ไม่บ่อยได้แก่การติดเชื้อในหลอดเลือด ฝีของต่อมน้ำเหลือง (1.2-2.2%) [49] เยื่อหุ้มหัวใจเป็นหนอง และกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ การติดเชื้อในประจันอก (mediastinum) ฝีในต่อมไทรอยด์และถุงอัณฑะ และการติดเชื้อในดวงตา

โรคเมลิออยด์เรื้อรัง[แก้]

โรคเมลิออยด์เรื้อรังส่วนมากหมายถึงมีอาการยาวนานกว่า 2 เดือน พบได้ในผู้ป่วยราวร้อยละ 10[50] อาการแสดงทางคลินิกของโรคเมลิออยด์เรื้อรังมีการเปลี่ยนแปลงได้ โดยอาจมาด้วยการติดเชื้อที่ผิวหนังเรื้อรัง แผลที่ผิวหนัง ก้อนในปอด หรือปอดอักเสบเรื้อรัง โดยแสดงอาการเลียนแบบวัณโรค บางครั้งอาจเรียกโรคนี้ว่า "วัณโรคเวียดนาม" (Vietnamese tuberculosis) [51] โรคเมลิออยด์เรื้อรังอาจแสดงอาการเลียนแบบวัณโรคเยื่อหุ้มหัวใจ (tuberculous pericarditis) ได้[52]

การวินิจฉัย[แก้]

Appearance of B. pseudomallei colonies on Ashdown's medium after four days of incubation.

การวินิจฉัยยืนยันของโรคเมลิออยด์นั้นทำโดยการเพาะเชื้อจากร่างกาย เนื่องจากโดยปกติแล้วจะไม่พบเชื้อดังกล่าวในร่างกายมนุษย์

ประวัติการสัมผัสดินอาจไม่สามารถซักจากผู้ป่วยได้ เนื่องจากโรคเมลิออยด์อาจแฝงอยู่เป็นเวลาหลายปีกว่าจะแสดงอาการ[53] สำหรับผู้ที่อยู่นอกแหล่งที่โรคเมลิออยด์เป็นโรคประจำถิ่นควรซักประวัติการเดินทางไปยังบริเวณที่พื้นที่เฉพาะถิ่นของโรคเมลิออยด์ บางแหล่งข้อมูลแนะนำให้คิดถึงความเป็นไปได้ที่จะติดเชื้อเมลิออยด์ ในผู้ป่วยทุกรายที่มีประวัติเดินทางไปยังหรืออาศัยอยู่ในแหล่งที่โรคเมลิออยด์เป็นโรคประจำถิ่น

การตรวจคัดกรองการติดเชื้อทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นการเพาะเชื้อจากเลือด เพาะเชื้อจากปัสสาวะ การป้ายคอมาตรวจ และการเพาะเชื้อจะหนองที่ดูดมาได้ ควรทำในผู้ป่วยทุกรายที่สงสัยการติดเชื้อโรคเมลิออยด์ (โดยเพาะเชื้อใน blood agar หรือ Ashdown's medium) ซึ่งสามารถยืนยันการวินิจฉัยโดยการเพาะเชื้อพบ B. pseudomallei จากตัวอย่างใดก็ได้ที่เก็บมา การป้ายคออาจไม่มีความไว (sensitivity) แต่ให้ความจำเพาะ (specificity) ถึง 100% หากให้ผลบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผลเพาะเชื้อจากเสมหะเป็นบวกด้วย[54] ความไวของการเพาะเชื้อจากปัสสาวะจะยิ่งเพิ่มขึ้นหากเพาะเชื้อจากปัสสาวะที่ปั่นเหวี่ยง (centrifuged) และหากผลเพาะเชื้อขึ้นก็นับเป็นผลบวกไม่ว่าจะมีปริมาณเชื้อเท่าใดก็ตาม (ไม่จำเป็นต้องใช้เกณฑ์ทั่วไปที่ปริมาณเชื้อมากกว่า 104 ต่อมิลลิลิตร) [55] ในบางครั้งการเพาะเชื้อจากไขกระดูกอาจให้ผลบวกในผู้ป่วยที่ผลเพาะเชื้อ B. pseudomallei เป็นลบ แต่ก็ไม่แนะนำให้ทำ[56] ข้อผิดพลาดของแพทย์ที่อาจไม่คุ้นเคยกับโรคนี้คือ การส่งตัวอย่างเฉพาะจากอวัยวะที่ติดเชื้อไปตรวจเท่านั้น แทนที่จะส่งตัวอย่างคัดกรองทุกส่วนดังที่กล่าวมาตอนต้น

ตัวกลางเพาะเชื้อ Ashdown's medium เป็นตัวกลางที่มียาปฏิชีวนะเจนตามัยซิน (gentamicin) ซึ่งจำเป็นในการเพาะเชื้อจากส่วนที่ไม่ปราศจากเชื้อ (non-sterile sites) ตัวกลางเพาะเชื้อ Burkholderia cepacia medium อาจเป็นตัวเลือกที่ใช้เพาะเชื้อได้ในบริเวณที่ไม่ใช่พื้นที่โรคเมลิออยด์เป็นโรคประจำถิ่นหากไม่มี Ashdown's medium ให้ใช้ ตัวกลางเพาะเชื้อชนิดใหม่ซึ่งพัฒนามาจาก Ashdown's medium ชื่อว่า Francis medium อาจช่วยในการแยกระหว่างเชื้อ B. pseudomallei กับ B. cepacia และอาจช่วยในการวินิจฉัยโรคเมลิออยด์ได้ในระยะแรก[57] แต่ก็ยังไม่มีการยอมรับกันทางคลินิกอย่างกว้างขวาง ชุดตรวจเพื่อยืนยันเชื้อแบคทีเรียสำเร็จรูปหลายตัวอาจไม่สามารถระบุเชื้อ B. pseudomallei ได้อย่างถูกต้อง

การทดสอบทางวิทยาน้ำเหลือง (serology) สำหรับเชื้อเมลิออยด์ เช่น การทดสอบปริมาณการเกาะกลุ่มของเม็ดเลือดแดงทางอ้อม (indirect haemagglutination assay) แต่อาจไม่สามารถทำได้ในหลายประเทศ ในประเทศที่โรคนี้เป็นโรคประจำถิ่นประชากรมี titre สูงอยู่แล้วทำให้ค่าพยากรณ์ผลบวก (positive predictive value) ลดลง การทดสอบเชื้อที่นิยมกันแพร่หลายในประเทศไทยคือการทดสอบอิมมูโนฟลูออเรสเซนต์โดยตรงจำเพาะ (direct immunofluorescent test) และการเกาะกลุ่มลาเท็กซ์ (latex agglutination) โดยอาศัยสารภูมิต้านทานโมโนโคลน (monoclonal antibodies) แต่การทดสอบนี้ไม่มีที่ใช้ในประเทศอื่น อิมมูโนฟลูออเรสเซนต์โดยตรงมีปฏิกิริยาข้าม (cross-reactivity) เกือบสมบูรณ์กับ B. thailandensis[58]

การวินิจฉัยโรคเมลิออยด์ไม่สามารถทำได้โดยอาศัยวิธีทางรังสี (เอกซเรย์และสแกน) เท่านั้น[59] แต่วิธีการทางรังสีมักถูกใช้เป็นประจำเพื่อประเมินความรุนแรงของโรค[60] แนะนำให้ทำภาพรังสีของช่องท้องโดยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง เนื่องจากฝีของอวัยวะภายในอาจไม่ได้แสดงอาการทางคลินิกออกมาชัดเจน และอาจพบฝีเกิดร่วมกับโรคที่บริเวณอื่น ในประเทศออสเตรเลียแนะนำให้ทำภาพรังสีเพื่อตรวจต่อมลูกหมากเนื่องจากมีอุบัติการณ์ของฝีที่ต่อมลูกหมากสูงในผู้ป่วยทางตอนเหนือของออสเตรเลีย การทำเอกซเรย์ทรวงอกแนะนำให้ทำเป็นประจำ ร่วมกับการตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ ตามอาการแสดงทางคลินิก การปรากฏฝีที่ตับลักษณะเป็นรังผึ้ง (honeycomb abscesses) เป็นลักษณะของการติดเชื้อเมลิออยด์ที่ตับ แต่ภาพที่เห็นไม่ได้บ่งถึงการวินิจฉัย[59][60]

การวินิจฉัยแยกโรคนั้นมีได้กว้างเนื่องจากโรคเมลิออยด์อาจแสดงลักษณะทางคลินิกเลียนแบบการติดเชื้ออื่น ๆ รวมทั้งวัณโรค[51]

การรักษา[แก้]

การรักษาปัจจุบัน[แก้]

การรักษาโรคเมลิออยด์แบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือระยะที่ต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ และระยะการรักษาต่อเนื่องด้วยยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน

ระยะที่ต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ[แก้]

ยาปฏิชีวนะเซฟตาซิดิม (Ceftazidime) ทางหลอดเลือดดำเป็นยาที่ควรเลือกใช้อันดับแรกเพื่อรักษาโรคเมลิออยด์เฉียบพลันในปัจจุบัน[61][62] ส่วนเมอโรเพเนม (meropenem) [63] ไอมิเพเนม (imipenem) [43] และเซโฟพีราโซน-ซัลแบคแทม (cefoperazone-sulbactam) (หรือ ซัลพีราโซน (Sulperazone)) [64] ก็มีประสิทธิภาพใช้ได้[65] ยาปฏิชีวนะอะม็อกซีซิลลิน-คลาวูลาเนต (amoxicillin-clavulanate) (หรือโคอะม็อกซีคลาฟ (co-amoxiclav)) อาจเลือกใช้ได้หากไม่มียาปฏิชีวนะ 4 ชนิดที่กล่าวมาข้างต้น แต่อาจให้ผลด้อยกว่า[66] ควรให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำอย่างน้อย 10 ถึง 14 วัน และไม่ควรหยุดให้จนกว่าอุณหภูมิร่างกายผู้ป่วยลดกลับมาเป็นปกติอย่างน้อย 48 ชั่วโมง โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยมักไม่จำเป็นต้องได้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดติดต่อกันนานเกินหนึ่งเดือน

ในประเทศออสเตรเลีย มีการใช้ยาเมอโรเพเนมเพื่อรักษาโรคเมลิออยด์เป็นประจำ[67] ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ดี และในปัจจุบันกำลังมีการวิจัยทดสอบเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างเมอโรเพเนมและเซฟตาซิดิมในการรักษาโรคเมลิออยด์ในประเทศไทย โดยใช้ชื่องานวิจัยว่า ATOM[68]

ในทางทฤษฎีแล้วเชื่อว่าอัตราตายในผู้ป่วยโรคเมลิออยด์ที่ได้รับการรักษาด้วยยาไอมิเพเนมจะน้อยกว่าผู้ที่ได้รับยาอื่น เนื่องจากยาไอมิเพเนมทำให้แบคทีเรียที่ตายปล่อยชีวพิษภายในตัวออกมาน้อยกว่า [69] และค่าความเข้มข้นน้อยที่สุดที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ (mean inhibitory concentration; MIC) ของยาไอมิเพเนมก็น้อยกว่าเซฟตาซิดิม แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่พบความแตกต่างกันระหว่างอัตราตายของผู้ป่วยที่ได้รับยาไอมิเพเนมและเซฟตาซิดิม[43] ค่าความเข้มข้นน้อยที่สุดที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ (MIC) ของเมอโรเพเนมต่อเชื้อ B. pseudomallei มีค่าสูงกว่าเชื้ออื่นๆ และผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการกรองเลือด (haemofiltration) อาจต้องได้รับยาบ่อยขึ้นหรือปริมาณสูงขึ้น[70]

เซฟีพิม (cefepime) และเออตาเพเนม (ertapenem) ไม่มีประสิทธิภาพในการทดลองนอกร่างกาย (in vitro) [71] พิเพอราซิลลิน-ซัลแบคแทม (piperacillin-sulbactam) [71] โดริเพเนม (doripenem) และไบอะเพเนม (biapenem) [72] มีประสิทธิภาพในการทดลองนอกร่างกาย แต่ไม่มีการวิจัยทางคลินิกเพื่อยืนยันประสิทธิภาพการรักษาจริง

การให้การรักษาเสริมด้วย Granulocyte colony-stimulating factor (GCSF) [73] หรือโค-ไตรม็อกซาโซล (co-trimoxazole) [74][75] พบว่าไม่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากการศึกษาในประเทศไทย

ระยะการรักษาต่อเนื่องด้วยยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน[แก้]

หลังจากการรักษาในระยะเฉียบพลัน แนะนำให้รักษาต่อเนื่องหรือกำจัดเชื้อด้วยยาโค-ไตรม็อกซาโซล (co-trimoxazole) ร่วมกับดอกซีไซคลีน (doxycycline) เป็นเวลา 12 ถึง 20 สัปดาห์เพื่อลดอัตราการกลับเป็นซ้ำ[76] ปัจจุบันไม่แนะนำให้ใช้คลอแรมเฟนิคอลเพื่อวัตถุประสงค์นี้แล้ว โค-อะม็อกซีคลาฟ (co-amoxiclav) เป็นยาปฏิชีวนะทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาโค-ไตรม็อกซาโซลและดอกซีไซคลีน (เช่นผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์ และเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี) [77][78] แต่อาจให้ประสิทธิผลดีไม่เท่า การใช้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานกลุ่มฟลูออโรควิโนโลน (fluoroquinolone) เพียงชนิดเดียว[79] หรือดอกซีไซคลีนเพื่อการรักษาระยะต่อเนื่องนั้นไม่มีประสิทธิผล[80]

ในออสเตรเลียมีการใช้ยาโค-ไตรม็อกซาโซลชนิดเดียวในการรักษาเพื่อกำจัดเชื้อ[67] โดยมีอัตราการกลับเป็นซ้ำต่ำกว่าที่พบในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีหลักฐานการทดลองนอกร่างกายพบว่าโค-ไตรม็อกซาโซลและดอกซีไซคลีนออกฤทธิ์ต้านกัน และโค-ไตรม็อกซาโซลตัวเดียวน่าจะให้ผลดีกว่า[81] มีการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (MERTH) เพื่อเปรียบเทียบการรักษาด้วยโค-ไตรม็อกซาโซลชนิดเดียวกับการรักษามาตรฐานด้วยโค-ไตรม็อกซาโซลร่วมกับดอกซีไซคลีนเริ่มในปี ค.ศ. 2006 และเสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 2008 การศึกษาสนับสนุนความจำเป็นในการติดตามการรักษาให้เพียงพอและความร่วมมือปฏิบัติตามของผู้ป่วยอย่างดีในการรักษาระยะนี้ ปริมาณยาโค-ไตรม็อกซาโซลต้องคำนวณตามน้ำหนัก (<40 กิโลกรัม: 160/800 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง; 40–60 กิโลกรัม: 240/1200 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง, >60 กิโลกรัม: 320/1600 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง) [82]

การรักษาด้วยการผ่าตัด[แก้]

การรักษาด้วยการระบายหนองออกใช้เพื่อรักษาฝีในต่อมลูกหมากและข้ออักเสบติดเชื้อ อาจใช้ในการรักษาฝีในต่อมน้ำลายพาโรติด แต่ไม่แนะนำให้ใช้ในการรักษาฝีในตับหรือม้าม ในภาวะที่มีการติดเชื้อเมลิออยด์ในกระแสเลือดที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำอาจพิจารณารักษาด้วยการตัดม้ามแต่มีหลักฐานเพียงเล็กน้อยที่สนับสนุนการรักษาด้วยวิธีนี้[83]

การรักษาในอดีต[แก้]

ก่อนปี ค.ศ. 1989 การรักษามาตรฐานของโรคเมลิออยด์เฉียบพลันประกอบด้วยยาสามชนิดรวมกัน ได้แก่ คลอแรมเฟนิคอล โค-ไตรม็อกซาโซล และดอกซีไซคลีน การรักษาด้วยสูตรนี้มีอัตราเสียชีวิตถึงร้อยละ 80 และไม่แนะนำให้ใช้สูตรนี้หากมียาชนิดอื่นให้เลือกรักษา[61] ยาทั้งสี่ชนิดเป็นยาปฏิชีวนะชนิดยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียแต่ไม่ได้ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้โค-ไตรม็อกซาโซลยังทำงานต้านกับคลอแรมเฟนิคอลและดอกซีไซคลีนอีกด้วย[84]

พยากรณ์โรค[แก้]

หากไม่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม (โดยหลักแล้วคือเซฟตาซิดิมหรือเมอโรเพเนม) การติดเชื้อเมลิออยด์ในกระแสเลือดมีอัตราการเสียชีวิตสูงมากกว่าร้อยละ 90[85][86] แต่หากได้รับยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม อัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 แต่หากผู้ป่วยมีภาวะแบคทีเรียในกระแสเลือดหรือภาวะพิษเหตุติดเชื้อรุนแรงมีอัตราเสียชีวิตถึงร้อยละ 80 การเข้าถึงการดูแลรักษาอภิบาลมีความสำคัญซึ่งอาจอธิบายสาเหตุที่อัตราเสียชีวิตรวมในตอนเหนือของออสเตรเลียอยู่ที่ร้อยละ 20 แต่อัตราเสียชีวิตในภาคอีสานของไทยอยู่ที่ร้อยละ 40 การตอบสนองของผู้ป่วยต่อยาปฏิชีวนะเป็นไปอย่างช้าโดยมีระยะเวลาเฉลี่ยของไข้ภายหลังจากการรักษาที่ 5-9 วัน[15][87]

การกลับเป็นซ้ำอยู่ร้อยละ 10 ถึง 20 ของผู้ป่วยทั้งหมด การศึกษาทางโมเลกุลพบว่าการกลับเป็นโรคซ้ำส่วนใหญ่ขึ้นกับสายพันธุ์ของเชื้อที่ติดในตอนแรก แต่อัตราการกลับเป็นโรคส่วนใหญ่ (มากถึงสามในสี่) ในบริเวณที่โรคเมลิออยด์เป็นโรคประจำถิ่นเกิดจากการติดเชื้อซ้ำภายหลัง 2 ปี[88] ปัจจัยเสี่ยงของการกลับเป็นซ้ำขึ้นกับความรุนแรงของโรค (ผู้ป่วยที่ผลเพาะเชื้อเป็นบวกหรือมีโรคหลายตำแหน่งจะมีอัตราการกลับเป็นซ้ำสูงกว่า) ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาเพื่อกำจัดเชื้อ (โดยการใช้ยาดอกซีไซคลินเพียงชนิดเดียวหรือยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลนไม่มีประสิทธิผลเพียงพอ) ความร่วมมือของผู้ป่วยในการรักษากำจัดเชื้อต่ำ และระยะเวลาในการรักษาเพื่อกำจัดเชื้อน้อยกว่า 8 สัปดาห์ทำให้มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้สูง[80][89]

การป้องกัน[แก้]

พบว่ามีรายงานน้อยมากเกี่ยวกับการติดต่อระหว่างคนสู่คน ผู้ป่วยโรคเมลิออยด์จึงไม่จัดว่าแพร่กระจายเชื้อได้ง่าย สำหรับผู้ทำงานในห้องปฏิบัติการควรถือว่าตัวอย่างเชื้อ Burkholderia pseudomallei ภายใต้ระดับความปลอดภัยทางชีวภาพที่ระดับ 3 (BSL-3) [90] หลังจากการได้รับเชื้อในห้องปฏิบัติการ แนะนำให้ใช้โค-ไตรม็อกซาโซล (cotrimoxazole) ในการป้องกันโรคหลังได้รับเชื้อแม้ว่าจะยังไม่มีการทดลองทางคลินิก[91]

ในพื้นที่ที่โรคเมลิออยด์เป็นโรคประจำถิ่น เกษตรกรที่ทำนาควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับดิน โคลน หรือแหล่งน้ำหากเป็นไปได้ พบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากตามหลังเหตุการณ์น้ำท่วมและพายุไซโคลน และเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการสัมผัสดินหรือน้ำที่ปนเปื้อน นอกจากนี้มีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งที่สัมพันธ์กับการบริโภคน้ำที่ปนเปื้อน ประชากรกลุ่มเสี่ยงของโรคเมลิออยด์ได้แก่ผู้ป่วยเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรัง หรือผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดใดก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาถึงประสิทธิผลของการหลีกเลี่ยงการสัมผัสจุลชีพก่อโรค และยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรคนี้

การป้องกันโรคหลังการสัมผัสเชื้อ[แก้]

หลังจากการสัมผัสเชื้อแบคทีเรีย B. pseudomallei ซึ่งมักเกิดจากอุบัติเหตุในห้องปฏิบัติการ แนะนำให้รักษาด้วยโค-ไตรม็อกซาโซลร่วมกับดอกซีไซคลีน[92][93] โทรวาฟลอกซาซิน (trovafloxacin) และเกรพพาฟลอกซาซิน (grepafloxacin) มีประสิทธิภาพในการป้องกันจากการทดลองในสัตว์[94]

การใช้เป็นอาวุธชีวภาพ[แก้]

โรคเมลิออยด์ได้รับความสนใจมากขึ้นเนื่องจากมีประสิทธิภาพในการพัฒนาเป็นอาวุธชีวภาพได้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control) หรือ CDC จัดให้เชื้อโรคเมลิออยด์เป็นอาวุธชีวภาพหมวด B[95] สหรัฐอเมริกาได้เคยทำการศึกษาเชื้อ B. pseudomallei รวมทั้ง B. mallei ซึ่งก่อโรคแกลนเดอร์ส (Glanders) ถึงประสิทธิภาพในการทำอาวุธชีวภาพ แต่ไม่เคยถูกใช้ทำเป็นอาวุธจริง[96] เคยมีรายงานว่าสหภาพโซเวียตเคยทดลองเชื้อ B. pseudomallei เพื่อใช้เป็นอาวุธชีวภาพเช่นกัน

อ้างอิง[แก้]

  1. "ความรู้เรื่องโรคเมลิออยด์ (Melioidosis หรือ เมลิออยโดสิส)" (PDF). Mahidol Oxford Tropical Medicine Research Unit. 2016.
  2. "melioidosis". Encyclopædia Britannica.
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 Wiersinga WJ, Virk HS, Torres AG, Currie BJ, Peacock SJ, Dance DA, Limmathurotsakul D (กุมภาพันธ์ 2018). "Melioidosis". Nature Reviews. Disease Primers. 4: 17107. doi:10.1038/nrdp.2017.107. PMC 6456913. PMID 29388572.
  4. Foong YC, Tan M, Bradbury RS (30 ตุลาคม 2014). "Melioidosis: a review". Rural and Remote Health. 14 (4): 2763. doi:10.22605/RRH2763. PMID 25359677.
  5. ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน เก็บถาวร 15 กรกฎาคม 2017 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ข้อมูลปรับปรุงวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2544 เรียกดูเมื่อ 29 มีนาคม พ.ศ. 2554
  6. บัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศ ฉบับประเทศไทย (อังกฤษ-ไทย) ฉบับปี 2009. สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, 2552.
  7. Stanton AT; Fletcher W (1921). "Melioidosis, a new disease of the tropics". Far Eastern Association of Tropical Medicine: Transactions of the Fourth Congress. Batavia, Dutch East Indies: Javasche Boekhandel en Drukkerij.
  8. V Vuddhakul; Tharavichitkul P; และคณะ (1999). "Epidemiology of Burkholderia pseudomallei in Thailand". Am J Trop Med Hyg. 60 (3): 458–461.
  9. Wuthiekanun V; Mayxay M; Chierakul W; Phetsouvanh R; Cheng AC; White NJ; Day NP; Peacock SJ (2005). "Detection of Burkholderia pseudomallei in soil within the Lao People's Democratic Republic". J Clin Microbiol. 43 (2): 923–4. PMID 15695707.
  10. Rattanavong S; Wuthiekanun V; Langla S; Amornchai P; Sirisouk J; Phetsouvanh R; Moore CE; Peacock SJ; Buisson Y; Newton PN (2010). "A randomized soil survey of the distribution of Burkholderia pseudomallei in rice fields in Laos". Appl Environ Microbiol. doi:10.1128/AEM.01822-10. PMID 21075883.
  11. Yang S (2000). "Melioidosis research in China". Acta Tropica. 77 (2): 157–165. doi:10.1016/s0001-706x(00)00139-x. PMID 11080506.
  12. 12.0 12.1 Lo TJ; Ang LW; James L; Goh KT (2009). "Melioidosis in a tropical city state, Singapore". Emerg Infect Dis. 15 (10): 1645–7. PMC 2866399. PMID 19861063.
  13. Ko WC; Cheung, BM; Tang, HJ; Shih, HI; Lau, YJ; Wang, LR; Chuang, YC (2007). "Melioidosis outbreak after typhoon, southern Taiwan". Emerg Infect Dis. 13 (6): 896–8. PMC 2792857. PMID 17553230.
  14. Chen YS; Lin HH; Mu JJ; Chiang CS; Chen CH; Buu LM; Lin YE; Chen YL (2010). "Distribution of melioidosis cases and viable Burkholderia pseudomallei in soil: Evidence for emerging melioidosis in Taiwan". J Clin Microbiol. 48 (4): 1432–4. doi:10.1128/JCM.01720-09. PMC 2849618. PMID 20147639.
  15. 15.0 15.1 15.2 White NJ (2003). "Melioidosis". Lancet. 361 (9370): 1715–22. doi:10.1016/S0140-6736(03)13374-0. PMID 12767750.
  16. Cheng AC; Currie BJ (2005). "Melioidosis: epidemiology, pathophysiology, and management". Clin Microbiol Rev. 18 (2): 383–416. doi:10.1128/CMR.18.2.383-416.2005. PMC 1082802. PMID 15831829.
  17. Chong VH (2010). "Changing spectrum of microbiology of liver abscess: Now Klebsiella, next Burkholderia pseudomallei". J Emerg Med. doi:10.1016/j.jemermed.2009.10.027. PMID 20079999.
  18. Chugh TD (2008). "Emerging and re-emerging bacterial diseases in India". J Biosci. 33 (4): 549–55. doi:10.1007/s12038-008-0073-0. PMID 19208980.
  19. Antony B; Pinto H; Dias M; Shetty AK; Scaria B; Kuruvilla T; Boloor R (2010). "Spectrum of melioidosis in the suburbs of Mangalore, S West Coast of India". Southeast Asian J Trop Med Public Health. 41 (1): 169–74.
  20. Vidyalakshmi K; Chakrapani M; Shrikala B; Damodar S; Lipika S; Vishal S (2008). "Tuberculosis mimicked by melioidosis". Int J Tuberc Lung Dis. 12 (10): 1209–15.
  21. Inglis TJ; Rolim DB; De Queroz Sousa A (2006). "Melioidosis in the Americas". Am J Trop Me Hyg. 75 (5): 947–954. PMID 17123994.
  22. Struelens MJ; Mondol G; Bennish M; Dance DAB (1998). "Melioidosis in Bangladesh: a case report". Trans R Soc Trop Med Hygiene. 82: 777–78. doi:10.1016/0035-9203(88)90234-9.
  23. Dance DAB; Smith MD; Aucken HM; Pitt TL (1999). "Imported melioidosis in England and Wales". Lancet. 353: 208. doi:10.1016/S0140-6736(05)77217-2. PMID 9923882.
  24. Limmathurotsakul D; Wongratanacheewin S; Teerawattanasook N (2010). "Increasing incidence of human melioidosis in Northeast Thailand". Am J Trop Med Hyg. 82 (6): 1113-7. PMID 20519609.
  25. Kanaphun P; Thirawattanasuk N; และคณะ (1993). "Serology and carriage of Pseudomonas pseudomallei: a prospective study in 1000 hospitalized children in northeast Thailand". J infect Dis. 167: 230–3. PMID 7678106.
  26. Vuddhakul V; Tharavichitkul P; และคณะ (March 1999). "Epidemiology of Burkholderia pseudomallei in Thailand". Am. J. Trop. Med. Hyg. 60 (3): 458–61. PMID 10466977.
  27. Kanai K; Dejsirilert S (August 1988). "Pseudomonas pseudomallei and melioidosis, with special reference to the status in Thailand". Jpn. J. Med. Sci. Biol. 41 (4): 123–57. doi:10.7883/yoken1952.41.123. PMID 3075004.
  28. Yang S; Tong S; และคณะ (1998). "Prevalence of human melioidosis on Hainan Island in China". Microbiol. Immunol. 42 (9): 651–4. doi:10.1111/j.1348-0421.1998.tb02335.x. PMID 9802565.
  29. Chen YS; Chen SC; Wu TR; Kao CM; Chen YL (October 2004). "Seroprevalence of anti-flagellin antibody against Burkholderia pseudomallei in Taiwan". Jpn. J. Infect. Dis. 57 (5): 224–5. PMID 15507783. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-19. สืบค้นเมื่อ 2011-03-28.
  30. Parkes, Helen M.; Shilton, Catherine M.; Jerrett, Ian V.; Benedict, Suresh; Spratt, Brian G.; Godoy, Daniel; O'Brien, Carolyn R.; Krockenberger, Mark B.; Mayo, Mark. (2009). "Primary ocular melioidosis due to a single genotype of Burkholderia pseudomallei in two cats from Arnhem Land in the Northern Territory of Australia". J Feline Med Surg. 11 (10): 856–63. doi:10.1016/j.jfms.2009.02.009. PMID 19428280.
  31. Sprague LD; Neubauer H (2004). "Melioidosis in Animals: A review on epizootiology, diagnosis and clinical presentation". J Vet Med B. 51 (7): 305–20. doi:10.1111/j.1439-0450.2004.00797.x. PMID 15525357.
  32. Mollaret HH (1988). "«L'affaire du Jardin des plantes» ou comment le mélioïdose fit son apparition en France". Médecine et maladies infectieuses. 18 (Suppl 4): 643–54. doi:10.1016/S0399-077X(88)80175-6.
  33. Corkeron ML; Norton R; Nelson PN (2010). "Spatial analysis of melioidosis distribution in a suburban area". Epidemiol Infect. 22 (9): 1–7. doi:10.1017/S0950268809991634. PMID 20092666.
  34. Chantratita N; Wuthiekanun V; และคณะ (2008). "Genetic diversity and microevolution of Burkholderia pseudomallei in the environment". PLoS Negl Trop Dis. 2008. 2 (2): e182. doi:10.1371/journal.pntd.0000182. PMC 2254201. PMID 18299706.
  35. Inglis TJ; Garrow SC; Henderson M; Clair A; Sampson J; O'Reilly L; Cameron B (2000). "Burkholderia pseudomallei traced to water treatment plant in Australia". Emerg Infect Dis. 6 (1): 56–59. PMC 2627980. PMID 10653571.
  36. Suputtamongkol Y; Chaowagul W; และคณะ (1999). "Risk factors for melioiosis and bacteremic melioidosis". Clin Infect Dis. 29 (2): 408–13. doi:10.1086/520223. PMID 10476750.
  37. McCormick J B (1975). "Human-to-human transmission of Pseudomonas pseudomallei". Ann Int Med. 83 (4): 512–513.
  38. Holland DJ; Wesley A; Drinkovic D; Currie BJ (2002). "Cystic fibrosis and Burkholderia pseudomallei infection: an emerging problem?". Clin Infect Dis. 35 (12): e138-40. PMID 12471591.
  39. Suputtamongkol Y; Hall AJ; และคณะ (1994). "The epidemiology of melioidosis in Ubon Ratchatani, Northeast Thailand". Int J Epidemiol. 23 (5): 1082–89. doi:10.1093/ije/23.5.1082. PMID 7860160.
  40. Currie BJ; Jacups SP (December 2003). "Intensity of rainfall and severity of melioidosis, Australia". Emerging Infect. Dis. 9 (12): 1538–42. doi:10.3201/eid0912.020750. PMID 14720392.
  41. Liu Y; Loh JP; Aw LT; Yap EPH; Lee MA; Ooi EE (2006). "Rapid molecular typing of Burkholderia pseudomallei, isolated in an outbreak of melioidosis in Singapore in 2004, based on variable-number tandem repeats". Trans Roy Soc Trop Med Hyg. 100 (7): 687–92. doi:10.1016/j.trstmh.2005.08.017. PMID 16343569.
  42. Sam I-C; Puthucheary SD (2007). "Melioidosis and rainfall in Kuala Lumpur, Malaysia". J Infect. 54 (5): 519–20. doi:10.1016/j.jinf.2006.07.007. PMID 16965821.
  43. 43.0 43.1 43.2 A J Simpson; Suputtamongkol Y; และคณะ (1999). "Comparison of imipenem and ceftazidime as therapy for severe melioidosis". Clin Infect Dis. 29 (2): 381–387. doi:10.1086/520219. PMID 10476746.
  44. Ngauy V; Lemeshev Y; Sadkowski L; Crawford G (2005). "Cutaneous melioidosis in a man who was taken as a prisoner of war by the Japanese during World War II". J Clin Microb. 43 (2): 970–2. doi:10.1128/JCM.43.2.970-972.2005. PMC 548040. PMID 15695721.
  45. Apisarnthanarak A; Apisarnthanarak P; Mundy LM (2006). "Computer tomography characteristics of Burkholderia pseudomallei liver abscess". Clin Infect Dis. 42 (7): 989–93. doi:10.1086/501017. PMID 16511765.
  46. Laopaiboon V; Chamadol N; Buttham H; Sukeepaisarnjareon W (2009). "CT findings of liver and splenic abscesses in melioidosis: comparison with those in non-melioidosis". J Med Assoc Thai. 92 (11): 1476–84. PMID 19938740.
  47. Dance DA; Davis TM; และคณะ (1989). "Acute suppurative parotitis caused by Pseudomonas pseudomallei in children". J Infect Dis. 159 (4): 654–60. PMID 2926159.
  48. Raja, NS; Ahmed MZ; Singh NN (1 April 2005). "Melioidosis: an emerging infectious disease". Journal of Postgraduate Medicine. 51 (2): 140–45. PMID 16006713.
  49. Chlebicki, MP; Tan BH (2006). "Six cases of suppurative lymphadenitis caused by Burkholderia pseudomallei infection". Trans R Soc Trop Med Hyg. 100 (8): 798–801. doi:10.1016/j.trstmh.2005.10.004. PMID 16542691.
  50. Currie BJ; Fisher DA; และคณะ (2000). "Endemic melioidosis in tropical northern Australia: a 10-year prospective study and review of the literature". Clin Infect Dis. 31 (4): 981–986. PMID 11049780.
  51. 51.0 51.1 Falade OO; Antonarakis ES; Kaul DR; Saint S; Murphy PA (2008). "Clinical problem-solving. Beware of first impressions". N Engl J Med. 359 (6): 628–634. doi:10.1056/NEJMcps0708803. PMID 18687644.
  52. Chetchotisakd, P; Anunnatsiri, S; Kiatchoosakun, S; Kularbkaew, C (2010). "Melioidosis pericarditis mimicking tuberculous pericarditis". Clin Infect Dis. 51 (5): e46–9. doi:10.1086/655699. PMID 20645861.
  53. Ngauy V; Lemeshev Y; Sadkowski L; Crawford G (2005). "Cutaneous melioidosis in a man who was taken as a prisoner of war by the Japanese during World War II". J Clin Microbiol. 43 (2): 970–972. doi:10.1128/JCM.43.2.970-972.2005. PMC 548040. PMID 15695721.
  54. Wuthiekanun V; Suputtamongkol Y; Simpson AJH; Kanaphun P; White NJ (2001). "Value of throat swab in the diagnosis of melioidosis". J Clin Microbiol. 39 (10): 3801–02. doi:10.1128/JCM.39.10.3801-3802.2001. PMC 88440. PMID 11574624.
  55. Limmathurotsakul D; Wuthiekanun V; และคณะ (2005). "Role and significance of quantitative urine cultures in diagnosis of melioidosis". J Clin Microb. 43 (5): 2274–76. doi:10.1128/JCM.43.5.2274-2276.2005. PMC 1153798. PMID 15872255.
  56. Dance DA; White NJ; Suputtamongkol Y; Wattanagoon Y; Wuthiekanun V; Chaowagul W (1990). "The use of bone marrow culture for the diagnosis of melioidosis". Trans R Soc Trop Med Hyg. 84 (4): 585–7. doi:10.1016/0035-9203(90)90050-O. PMID 2091358.
  57. Francis A; Aiyar S; Yean C; Naing L; Ravichandran M (2006). "An improved selective and differential medium for the isolation of Burkholderia pseudomallei from clinical specimens". Diagn Microbiol Infect Dis. 55 (2): 95–99. doi:10.1016/j.diagmicrobio.2005.11.008. PMID 16626918.
  58. Puthucheary SD; Anuar AS; Tee TS (2010). "Burkholderia thailandensis whole cell antigen cross-reacts with B. pseudomallei antibodies from patients with melioidosis in an immunofluorescent assay". The Southeast Asian journal of tropical medicine and public health. 41 (2): 397–400. PMID 20578523.
  59. 59.0 59.1 Lim KS, Chong VH (2010). "Radiological manifestations of melioidosis". Clin Radiol. 65 (1): 66–72. doi:10.1016/j.crad.2009.08.008. PMID 20103424.
  60. 60.0 60.1 Muttarak M; Peh WC; Euathrongchit J; Lin SE; Tan AG; Lerttumnongtum P; Sivasomboon C (2008). "Spectrum of imaging findings in melioidosis". Br J Radiol. 82 (978): 514–21. doi:10.1259/bjr/15785231. PMID 19098086.
  61. 61.0 61.1 White NJ; Dance DA; และคณะ (1989). "Halving of mortality of severe melioidosis by ceftazidime". Lancet. 2 (8665): 697–701. doi:10.1016/S0140-6736(89)90768-X. PMID 2570956.
  62. Chierakul W; Anunnatsiri S; และคณะ (2007). "Addition of trimethoprim-sulfamethoxazole to ceftazidime during parenteral treatment of melioidosis is not associated with a long-term outcome benefit". Clin infect Dis. 45 (4): 521–523. doi:10.1086/520010. PMID 17638209.
  63. Cheng AC; Fisher DA; และคณะ (2004). "Outcomes of patients with melioidosis treated with meropenem". Antimicrob Agents Chemother. 48 (5): 1763–65. doi:10.1128/AAC.48.5.1763-1765.2004. PMC 400582. PMID 15105132.
  64. Chetchotisakd P; Porramatikul S; Mootsikapun P; Anunnatsiri S; Thinkhamrop B (2001). "Randomized, double-blind, controlled study of cefoperazone-sulbactam plus cotrimoxazole versus ceftazidime plus cotrimoxazole for the treatment of severe melioidosis". Clin Infect Dis. 33 (1): 29–3. doi:10.1086/320878. PMID 11389491.
  65. Dance DA; Wuthiekanun V; White NJ; Chaowagul W (1988). "Antibiotic resistance in Pseudomonas pseudomallei". Lancet. 1 (8592): 994–5. doi:10.1016/S0140-6736(88)91810-7. PMID 2896855.
  66. Suputtamongkol Y; Rajchanuwong A; และคณะ (1994). "Ceftazidime vs. amoxicillin/clavulanate in the treatment of severe melioidosis". Clin Infect Dis. 19: 846–53. PMID 7893868.
  67. 67.0 67.1 Currie BJ; Fisher DA; และคณะ (2000). "Endemic melioidosis in tropical Northern Australia: a 10-year prospective study and review of the literature". Clin Infect Dis. 31: 981–86. doi:10.1086/318116. PMID 11049266.
  68. University of Oxford (18 December 2007). "A randomized double blinded comparison of ceftazidime and meropenem in severe melioidosis (ATOM)". ClinicalTrials.gov. National Institutes of Health. สืบค้นเมื่อ 27 Jan 2011.
  69. Simpson, A. J. H.; Opal, S. M.; Angus, B. J.; Prins, J. M.; Palardy, J. E.; Parejo, N. A.; Chaowagul, W.; White, N. J. (2000). "Differential antibiotic-induced endotoxin release in severe melioidosis". J Infect Dis. 181 (3): 1014–9. doi:10.1086/315306. PMID 10720525.
  70. I Bilgrami; J A Roberts; S C Wallis; J Thomas; J Davis; S Fowler; P B Goldrick; J Lipman (July 2010). "Meropenem Dosing in Critically Ill Patients With Sepsis Receiving High-Volume Continuous Venovenous Hemofiltration". Antimicrobial Agents and Chemotherapy. 54 (7): 2974–8. doi:10.1128/AAC.01582-09. PMID 20479205.
  71. 71.0 71.1 Shih H-I; Chuang Y-C; และคณะ (February 2008). "Sporadic and outbreak cases of melioidosis in southern Taiwan: clinical features and antimicrobial susceptibility". Infection. 37 (1): 9–15. doi:10.1007/s15010-008-7324-8. PMID 18854938.
  72. Thamlikitkul V; Trakulsomboon S (2010). "In vitro activity of biapenem against Burkholderia pseudomallei". International journal of antimicrobial agents. 35 (5): 514. doi:10.1016/j.ijantimicag.2010.01.002. PMID 20188524.
  73. Cheng AC; Limmathurotsakul D; และคณะ (2007). "A randomized controlled trial of granulocyte colony-stimulating factor for the treatment of severe sepsis due to melioidosis in Thailand". Clin Infect Dis. 45 (3): 308–14. doi:10.1086/519261. PMID 17599307.
  74. Chierakul W; Anunnatsiri S; และคณะ (2005). "Two randomized controlled trials of ceftazidime alone versus ceftazidime in combination with trimethoprim-sulfamethoxazole for the treatment of severe melioidosis". Clin Infect Dis. 41 (8): 1105–13. doi:10.1086/444456. PMID 16163628.
  75. Chierakul W; Anunnatsiri S; Chaowagul W; Peacock SJ; Chetchotisakd P; Day NP (2007). "Addition of trimethoprim-sulfamethoxazole to ceftazidime during parenteral treatment of melioidosis is not associated with a tong-term outcome benefit". Clin Infect Dis. 45 (4): 521–3. doi:10.1086/520010. PMID 17638209.
  76. Chaowagul W; Simpson AJ; และคณะ (1999). "A comparison of chloramphenicol, trimethoprim-sulfamethoxazole, and doxycycline with doxycycline alone as maintenance therapy for melioidosis". Clin Infect Dis. 29 (2): 375–80. doi:10.1086/520218. PMID 10476745.
  77. Rajchanuvong A; Chaowagul W; Suputtamongkol Y; Smith MD; Dance DA; White NJ (1995). "A prospective comparison of co-amoxiclav and the combination of chloramphenicol, doxycycline, and co-trimoxazole for the oral maintenance treatment of melioidosis". Trans R Soc Trop Med Hyg. 89 (5): 546–9. doi:10.1016/0035-9203(95)90104-3. PMID 8560537.
  78. Cheng AC; Chierakul W; และคณะ (2008). "Consensus guidelines for dosing of amoxicillin-clavulanate in melioidosis". Am J Trop Med Hyg. 78 (2): 208–9. PMID 18256414.
  79. Chaowagul W; Supputtamongkul Y; Smith MD; White NJ (1997). "Oral fluoroquinolones for maintenance treatment of melioidosis". Trans R Soc Trop Med Hyg. 91: 599–601. doi:10.1016/S0035-9203(97)90044-4.
  80. 80.0 80.1 Limmathurotsakul D; Chaowagul W; และคณะ (2006). "Risk factors for recurrent melioidosis in Northeastern Thailand". Clin Infect Dis. 43 (8): 979–86. doi:10.1086/507632. PMID 16983608.
  81. Dance DA; Wuthiekanun V; Chaowagul W; White NJ (1989). "Interactions in vitro between agents used to treat melioidosis". J Antimicrob Chemother. 24 (3): 311–6. doi:10.1093/jac/24.3.311. PMID 2681117.
  82. Cheng AC; McBryde ES; Wuthiekanun V; Chierakul W; Amornchai P; Day NPJ; Peacock SJ (2009). "Dosing regimens of cotrimoxazole (trimethoprim-sulfamethoxazole) for melioidosis". Antimicrob Agents Chemother. 53 (10): 4193–9. doi:10.1128/AAC.01301-08. PMC 2764189. PMID 19620336.
  83. TJ Inglis; CL Golledge; A Clair; J Harvey (2001). "Case report: recovery from persistent septicemic melioidosis". Am J Trop Med Hyg. 65 (1): 76–82. PMID 11504412.
  84. Dance DA; Wuthiekanun V; Chaowagul W; White NJ (1989). "Interactions in vitro between agents used to treat melioidosis". J Antimicrob Chemother. 24 (3): 311–6. doi:10.1093/jac/24.3.311. PMID 2681117.
  85. Couture E (1935),Rev Hyg Méd prèv, 57: 190
  86. Warner JM; Pelowa DB; Currie BJ; Hirst RG (2007). "Melioidosis in a rural community of Western Province, Papua New Guinea". Trans R Soc Trop Med Hyg. 101 (8): 809–13. doi:10.1016/j.trstmh.2007.02.024. PMID 17499321.
  87. Chaowagul W; White NJ; และคณะ (1989). "Melioidosis: a major cause of community-acquired septicemia in northeastern Thailand". J Infect Dis. 159 (5): 890–9. PMID 2708842.
  88. Maharjan B; Chantratita N; และคณะ (2005). "Recurrent melioidosis in patients in northeast Thailand is frequently due to reinfection rather than relapse". J Clin Microbiol. 43 (12): 6032–4. doi:10.1128/JCM.43.12.6032-6034.2005. PMC 1317219. PMID 16333094.
  89. Chaowagul W; Suputtamongkol Y; Dance DA; Rajchanuvong A; Pattara-arechachai J; White NJ (1993). "Relapse in melioidosis: incidence and risk factors". J Infect Dis. 168 (5): 1181–85. PMID 8228352.
  90. Centers for Disease Control and Prevetion (2009). Biosafety in Microbiological and Biomedical Laboratories (PDF) (5th ed.). Atlanta, Georgia: National Institutes of Health.
  91. Peacock SJ; Schweizer HP; และคณะ (2008). "Management of accidental laboratory exposure to Burkholderia pseudomallei and B. mallei". Emerg Infect Dis. 14 (7): e2. doi:10.3201/eid1407.071501. PMID 18598617.
  92. Sivalingam SP; Sim SH; และคณะ (2008). "Pre- and post-exposure prophylaxis of experimental Burkholderia pseudomallei infection with doxycycline, amoxicillin/clavulanic acid and co-trimoxazole". J Antimicrob Chemother. 61 (3): 674–8. doi:10.1093/jac/dkm527. PMID 18192684.
  93. Peacock SJ; Schweizer HP; และคณะ (2008). "Management of accidental laboratory exposure to Burkholderia pseudomallei and B.-mallei". Emerg Infect Dis. 14 (7): e2. doi:10.3201/eid1407.071501. PMC 2600349. PMID 18598617.
  94. Kenny DJ; Sefton AM; Brooks TJ; Laws TR; Simpson AJ; Atkins HS (2010). "Evaluation of azithromycin, trovafloxacin and grepafloxacin as prophylaxis for experimental murine melioidosis". Int J Antimicrob Agents. 36 (1): 87–9. doi:10.1016/j.ijantimicag.2010.03.019. PMID 20462743.
  95. ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา. melioidosis
  96. Woods JB, บ.ก. (2005). USAMRIID's Medical Management of Biological Casualties Handbook (PDF) (6th ed.). Fort Detrick, Maryland: U.S. Army Medical Institute of Infectious Diseases. p. 67. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 9 มิถุนายน 2007. สืบค้นเมื่อ 4 เมษายน 2011.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]


การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก