Malo kingi

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Malo kingi
ในหลอดพลาสติกใส
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Cnidaria
ไฟลัมย่อย: Medusozoa
ชั้น: Cubozoa
อันดับ: Carybdeida
วงศ์: Tamoyidae
สกุล: Malo
สปีชีส์: M.  kingi
ชื่อทวินาม
Malo kingi
Gershwin, 2007

Malo kingi (/มา-โล-คิง-กี/) เป็นแมงกะพรุนที่มีพิษร้ายแรงมากชนิดหนึ่งของโลก เป็นแมงกะพรุนกล่องจำพวกแมงกะพรุนอิรุคันจิ

ศัพทมูลวิทยาและการค้นพบ[แก้]

นับเป็นแมงกะพรุนชนิดที่เพิ่งค้นพบใหม่ในปี ค.ศ. 2007 โดยสถาบันไอไอเอสอี (International Institute for Species Exploration) ของมหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตต ในสหรัฐอเมริกา จัดให้เป็นการค้นพบอันดับ 8 ของ 10 สุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกแห่งปีนั้นเลยทีเดียว[1]

โดยชื่อวิทยาศาสตร์ว่า kingi ตามชื่อของโรเบิร์ต คิง นักท่องเที่ยวชาวอเมริกันที่เสียชีวิตลง เพราะถูกเข็มพิษของแมงกะพรุนชนิดนี้ทิ่มทางตอนเหนือของรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2002 ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ได้ปลุกกระแสให้มีการตื่นตัวหันมาหาศึกษาและหาวิธีจัดการแมงกะพรุนชนิดนี้มากขึ้น[2]

ในขณะที่สามัญ "อิรุคันจิ" มาจากชื่อของชาวเผ่าอิรุคันจิ ชนพื้นเมืองเผ่าหนึ่งของออสเตรเลียที่มีตำนานเล่าขานถึงความเจ็บปวดและอันตรายของแมงกะพรุนจำพวกนี้เมื่อไปสัมผัสถูก[2]

ลักษณะ[แก้]

Malo kingi มีลักษณะโปร่งใสสีฟ้าอ่อน รูปร่างคล้ายลูกบาศก์หรือกล่องอันเป็นที่มาของชื่อว่า มีขนาดประมาณ 10-30 เซนติเมตร มีหนวดบาง ๆ งอกออกมาทั้ง 4 มุมของเมดูซ่าด้านบนจำนวนมุมละ 1 เส้น หนวดแต่ละเส้นจะประกอบด้วยเซลล์พิษจำนวนมาก และสามารถสร้างใหม่ทดแทนได้เรื่อย ๆ แตกต่างจากแมงกะพรุนทั่วไป และจะปล่อยพิษจากเฉพาะส่วนปลายเท่านั้น จึงทำให้เหยื่อเมื่อถูกแทงแล้ว จะมีผลในการออกฤทธิ์ช้า[3]

มักอาศัยอยู่ตามทะเลในเขตร้อน เช่น ตามชายฝั่งของประเทศออสเตรเลียตอนเหนือ, ปาปัวนิวกินี, ฟิลิปปินส์, หมู่เกาะฮาวาย ตลอดจนถึงน่านน้ำไทย ช่วงที่พบได้มากคือ เดือนตุลาคม-เมษายน และหลังช่วงพายุฝนที่จะถูกน้ำทะเลพัดพาเข้ามาจนใกล้ฝั่ง

ด้วยเข็มพิษที่มีมากตามหนวดที่ยืดออกมา ทำให้แมงกะพรุนอิรุคันจิเป็นแมงกะพรุนชนิดที่มีพิษร้ายแรงที่สุด โดยพิษนี้จะสร้างความเจ็บปวดอย่างรุนแรงแก่ผู้ที่ได้รับ ทำให้เซลล์ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสตายได้ โดยพิษสามารถเข้าสู่กระแสเลือดไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง และเมื่อเข้าสู่ระบบประสาท ก็จะกดทับระบบประสาททำให้หยุดหายใจ และยังมีผลต่อระบบหัวใจ โดยทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหยุดเต้นเฉียบพลัน บางรายยังไม่ทันขึ้นจากน้ำ พิษเข้าสู่หัวใจทำให้หัวใจล้มเหลวเสียชีวิตทันที ถือว่าพิษของแมงกะพรุนอิรุคันจินี้ทำให้หัวใจหยุดเต้นได้เร็วที่สุดในโลก

Malo kingi กินปลาเป็นอาหาร และถูกล่อได้ง่าย ๆ ด้วยแสงไฟ[3]

การรักษาเมื่อถูกพิษ[แก้]

หากได้รับพิษ ต้องรีบขึ้นจากน้ำทันที จากนั้นให้ตรวจชีพจรและการเต้นของหัวใจว่ายังเป็นปกติดีหรือไม่ ถ้าหัวใจหยุดเต้นให้รีบทำ CPR โดยทันที และอย่าพยายามถูหรือเกาบริเวณที่ถูกพิษเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เข็มพิษแตกปล่อยพิษออกมามากขึ้น

จากนั้นให้ล้างแผลด้วยน้ำส้มสายชูหรือน้ำทะเล เพื่อระงับการปล่อยพิษจากเข็มพิษ อย่าใช้น้ำจืดหรือแอลกอฮอล์ล้างเป็นอันขาด เพราะจะทำให้ถุงพิษของเข็มพิษแตกออกมามากขึ้น และยิ่งปวดแสบปวดร้อน ถ้ามีหนวดของแมงกะพรุนติดอยู่ให้หาอะไรบาง ๆ คม ๆ เช่น มีดโกน หรือสันบัตรพลาสติก ขูดเอาเมือกและคีบเข็มพิษออกจากผิวหนัง ถ้าปวดมากอาจใช้น้ำแข็ง หรือน้ำอุ่นประคบ อาจใช้เชือกรัดเหนือบริเวณที่ถูกพิษ เพื่อป้องกันพิษกระจายไปตามกระแสเลือด จากนั้นรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที [1]

การพบในประเทศไทย[แก้]

Malo kingi ถูกรายงานพบครั้งแรกในน่านน้ำไทย เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ถูกเข็มพิษของแมงกะพรุนทิ่มหลายรายในปี พ.ศ. 2551 โดยที่บางรายถึงกับเสียชีวิตทันที และมีนักท่องเที่ยวรายหนึ่งที่เกาะหมาก จังหวัดตราด ยืนยันว่าลูกชายของตนถูกพิษจากแมงกะพรุนอิรุคันจิเข้าจนอาการสาหัส ทางการของไทยจึงทำการศึกษาและตรวจสอบเรื่องนี้อย่างทันที จากนั้นจึงมีการเปิดเผยขึ้นในเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน จากหัวหน้าสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ต ว่าเป็นแมงกะพรุนอิรุคันจิจริง ซึ่งไม่เคยมีรายงานพบในประเทศไทยมาก่อน ด้วยว่าเป็นแมงกะพรุนชนิดใหม่ของโลกด้วย ซึ่งพิษของแมงกะพรุนชนิดนี้นั้นเทียบเท่ากับหอยเต้าปูนและหมึกสายวงน้ำเงิน และเท่าที่ศึกษาพบว่า อยู่ในแหล่งน้ำตื้นของอ่าวไทย แต่ปริมาณที่พบยังไม่มากนัก ซึ่งแมงกะพรุนชนิดนี้โดยปกติแล้ว จะพบมากที่ออสเตรเลีย [4]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 แมงกะพรุนอรุคันจิ วายร้ายตัวใหม่ในท้องทะเลไทย
  2. 2.0 2.1 "ท่องโลกกว้าง: แมงกะพรุนแห่งท้องทะเล". ไทยพีบีเอส. 17 June 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-04. สืบค้นเมื่อ 17 June 2014.
  3. 3.0 3.1 TV with Teeth - KILLER JELLYFISH, สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต ทางทรูวิชั่นส์: อาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน 2556
  4. "เตือนภัยใต้ท้องทะเล ระวัง"แมงกะพรุนอรุคันจิ" พิษร้าย-โดนแล้วถึงตาย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-02-19. สืบค้นเมื่อ 2014-06-17.