มาเลฟิเซนต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Maleficent)
มาเลฟิเซนต์
ตัวละครใน เจ้าหญิงนิทรา
ปรากฏครั้งแรกเจ้าหญิงนิทรา (1959)
สร้างโดยมาร์ก เดวิส
เค้าโครงจากเทพธิดาใจร้ายจากเทพนิยายของชาร์ล แปโร
ให้เสียงโดย
  • เอเลนอร์ ออดลีย์ (เจ้าหญิงนิทรา)
  • ลินดา แกรี (แฟนตาสมิก! & ดิสนีย์แฟนทิลลูชัน)
  • โลอีส เน็ตเทิลตัน (เฮาส์ออฟเมาส์)
  • ซูซาน เบลกสลี (2002–ปัจจุบัน)[1]
  • Rajia Baroudi (ดิสนีย์อินฟินิตี)
  • เทรสส์ แม็กไนลี (พลูซาเวอร์แซลลี)
แสดงโดย
ข้อมูลตัวละครในเรื่อง
นามแฝงประมุขแห่งความชั่วร้ายทั้งปวง
นางพญาปีศาจ
เผ่าพันธุ์เทพธิดา[2]
เพศหญิง
ตำแหน่งประมุขแห่งความชั่วร้ายทั้งปวง
ราชินีแห่งมัวร์ส (ใน มาเลฟิเซนต์ กำเนิดนางฟ้าปีศาจ)
สังกัดวายร้ายดิสนีย์
คนสำคัญเฮดีส (ใน เฮาส์ออฟเมาส์ และ เดสเซนแดนต์ส)
บุตรมาล (ลูกสาว; ใน เดสเซนแดนต์ส)
ออโรรา (ธิดาอุปถัมภ์; ใน มาเลฟิเซนต์ กำเนิดนางฟ้าปีศาจ)
บ้านเกิดบรรพตต้องห้าม
เมืองมัวร์ส (ใน มาเลฟิเซนต์ กำเนิดนางฟ้าปีศาจ)

มาเลฟิเซนต์ (อังกฤษ: Maleficent) เป็นตัวละครที่ปรากฏเป็นตัวร้ายหลักในภาพยนตร์แอนิเมชันลำดับที่ 16 ของวอลต์ดิสนีย์โปรดักชันส์เรื่อง เจ้าหญิงนิทรา (1959) มาเลฟิเซนต์เป็นเทพธิดาใจร้ายผู้ประกาศตนเป็น "ประมุขแห่งความชั่วร้ายทั้งปวง" (Mistress of All Evil) นางเป็นบุคลาธิษฐานแห่งความชั่วร้ายบริสุทธิ์และเป็นผู้เริ่มต้นของความหายนะทั้งหมดในอาณาจักรของพระเจ้าสเตฟาน ในเมื่อมิได้รับเชิญไปในพิธีล้างบาปของเจ้าหญิงออโรรา พระราชธิดาของพระเจ้าสเตฟานและพระราชินีลีอาห์ มาเลฟิเซนต์ก็สาปให้พระกุมารีทรง "ถูกเข็มปั่นฝ้ายตำพระดัชนีแล้วสิ้นพระชนม์" ก่อนตะวันลับฟ้าในวันเฉลิมพระชนมพรรษาที่สิบหกของออโรรา[3] มาเลฟิเซนต์มีต้นแบบมาจากตัวละครเทพธิดาใจร้ายจากเทพนิยายเรื่อง สาวงามนิทราในป่าไพร (La Belle au Bois dormant) ของชาร์ล แปโร[4]

มาเลฟิเซนต์ถูกสร้างภาพเคลื่อนไหวโดยมาร์ก เดวิส ในภาพยนตร์ เจ้าหญิงนิทรา ปี ค.ศ. 1959 ฉบับภาษาอังกฤษ เอเลเนอร์ ออดลีย์ ให้เสียงแก่มาเลฟิเซนต์ ออดลีย์เคยพากย์เป็นคุณหญิงเทรเมน แม่เลี้ยงใจร้ายของซินเดอเรลล่า ในภาพยนตร์เรื่อง ซินเดอเรลล่า (1950) มาแล้ว[5]

การสร้างตัวละคร[แก้]

มาร์ก เดวิส (Mark Davis) สร้างตัวละครนี้ โดยตั้งใจออกแบบให้นางดูคล้ายกับค้างคาวยักษ์ดุร้าย[6] เบอร์นี แมตตินสัน (Burny Mattinson) บุคลากรดิสนีย์ กล่าวว่า มาเลฟิเซนต์ "ได้รับการออกแบบให้ดูประหนึ่งค้างคาวดูดเลือดตัวใหญ่ยักษ์เพื่อให้รู้สึกถึงภัยคุกคาม"[7]

ชื่อของตัวละครว่า "มาเลฟิเซนต์" นั้นเป็นคำคุณศัพท์ในภาษาอังกฤษซึ่งแปลว่า ทำผิดคิดชั่ว[8] นางมีกายสีเขียว และสวมศิราภรณ์ซึ่งมีลักษณะเป็นเขาสัตว์สีดำสองเขา

ในภาพยนตร์ เจ้าหญิงนิทรา ฉบับภาษาอังกฤษ เอเลเนอร์ ออดลีย์ (Eleanor Audley) ให้เสียงแก่มาเลฟิเซนต์ ออดลีย์เคยพากย์เป็นคุณหญิงเทรเมน (Lady Tremaine) แม่เลี้ยงใจร้ายของซินเดอเรลลา (Cinderella) ในภาพยนตร์เรื่อง ซินเดอเรลลา เมื่อปี 1950 มาแล้ว ผู้สร้างตัวละครมาเลฟิเซนต์ยังอาศัยกิริยาท่าทางของออดลีย์เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบมาเลฟิเซนต์ด้วย[9] โอลลี จอห์นสัน (Ollie Johnston) กับแฟรงก์ ทอมัส (Frank Thomas) นักสร้างภาพเคลื่อนไหว กล่าวไว้ในหนังสือ เดอะดิสนีย์วิลเลียน (The Disney Villain) ว่า งานพากย์เสียงครั้งนี้ของออดลีย์เป็น "งานที่ยากแต่น่าตื่นเต้น เป็นการทำงานกับเสียงแบบที่ต้องประสมสำเนียงประชดประชันเข้ากับอำนาจดุร้าย"[10]

เอริก เคลเวิร์ท (Eric Cleworth) สร้างมังกรอันเป็นร่างจำแลงของมาเลฟิเซนต์ เคลเวิร์ทกล่าวว่า มังกรตัวนี้เอางูหางกระดิ่งเป็นแม่แบบ จึงมี "กล้ามเนื้ออันทรงพลังที่เคลื่อนร่างกายอันเทอะทะไปตามเหลี่ยมผา"[7] ส่วนจิม แมกดอนัลด์ (Jim Macdonald) ซึ่งรับผิดชอบงานเสียง ได้ร้องขอให้กองทัพสหรัฐอเมริกาส่งเสียงที่บันทึกจากการฉีดเครื่องพ่นไฟ (flamethrower) มาให้ใช้เป็นเสียงลมหายใจของมังกร[9]

บทบาท[แก้]

เจ้าหญิงนิทรา[แก้]

ในภาพยนตร์แอนิเมชัน ที่นางถูกพากย์เสียงโดยเอเลนอร์ ออดลีย์ มาเลฟิเซนต์ปรากฏกายครั้งแรกโดยใช้อำนาจเหนือธรรมชาติบันดาลให้เกิดลมพายุใหญ่พัดเข้ามาท่ามกลางท้องพระโรงพระราชวังพระเจ้าสเตฟานขณะประกอบพระราชพิธีสมโภชเดือนเจ้าหญิงออโรรา ตามด้วยอสนีบาตฟาดเข้ามาหน้าพระที่นั่ง เกิดเป็นเปลวเพลิงสีเขียว แล้วนางก็แสดงตัว เมื่อมาแล้วนางก็มีกิริยานอบน้อมต่อพระเจ้าแผ่นดิน แต่กล่าววาจากระทบกระเทียบซึ่งแสดงให้เห็นว่า นางโกรธมากที่ไม่ได้รับเชิญมาในพระราชพิธีนี้เหมือนนางฟ้าองค์อื่น ๆ ครั้นแล้ว นางทูลถามพระเจ้าแผ่นดินถึงเหตุผลที่ไม่ทรงเชิญนางมา เมอร์รีเวทเทอร์ (Merryweather) นางฟ้าใจดีก็สอดขึ้นว่า เพราะ "ไม่มีใครต้องการหล่อน" นางจึงแก้เกี้ยวว่า คงเป็นเพียงการเผลอมองข้ามนางไป พระราชินีจึงตรัสขอให้นางอย่าได้ถือโทษ นางก็ทูลตอบว่า เพื่อแสดงว่า นางมิได้โกรธเกรี้ยวเลย นางจะอำนวยพรให้แก่พระกุมารี แล้วนางก็ประกาศว่า เจ้าหญิงออโรราจะเจริญพระชนม์ขึ้นเป็นสตรีผู้พร้อมทั้งความดีและความงาม เป็นที่รักของคนทั้งปวงผู้ได้พบ แต่ก่อนตะวันยอแสงในวันเฉลิมพระชนม์สิบหกชันษา เจ้าหญิงจะถูกเข็มปั่นฝ้ายตำพระดัชนีและสิ้นพระชนม์ แล้วมาเลฟิเซนต์ก็อันตรธานไป เมอร์รีเวทเทอร์ที่ยังมิได้ประทานพรให้แก่พระกุมารีจึงบรรเทาคำสาปของมาเลฟิเซนต์เป็นว่า เจ้าหญิงออโรราจะเพียงบรรทมไป และจะเสด็จจากบรรทมก็ต่อเมื่อทรงได้รับการจุมพิตด้วยรักแท้

นางฟ้าสามองค์ คือ ฟลอรา (Flora), โฟนา (Fauna) และเมอร์รีเวทเทอร์ ช่วยกันซ่อนพระราชธิดาเอาไว้จนกว่าจะพ้นวันเฉลิมพระชนม์สิบหกชันษา ขณะเดียวกัน มาเลฟิเซนต์สั่งให้ยักษ์มารซึ่งเป็นสมุนของนางช่วยกันตามหาพระราชธิดามาตลอดแต่ก็ไร้ผล นางจึงมอบหมายให้ดิอาโบล (Diablo) นกกาของนาง ออกล่าพระราชธิดา และดีอาโบลก็ได้พบ มาเลฟิเซนต์จึงมาหาพระราชธิดาในเย็นวันเฉลิมพระชนม์สิบหกชันษานั้นเอง และล่อลวงให้ทรงถูกเข็มปั่นฝ้ายทิ่มพระดัชนีสลบไปในหอคอยเปลี่ยว

เพื่อให้เป็นที่มั่นใจว่า จะไม่มีผู้ใดมาปลุกพระราชธิดาตามคำของเมร์รีเวทเทอร์ มาเลฟิเซนต์จึงจับเจ้าชายฟิลลิป รักแท้ของพระราชธิดา ไปขังไว้ในบรรพตต้องห้าม (Forbidden Mountains) อันเป็นที่พำนักของนาง แต่นางฟ้าทั้งสามมาช่วยเจ้าชายออกจากที่คุมขังได้ ความทราบถึงมาเลฟิเซนต์ นางจึงพยายามขัดขวางมิให้เจ้าชายไปถึงปราสาทที่พระราชธิดาบรรทมอยู่ โดยบันดาลให้เกิดอุปสรรคต่าง ๆ เช่น สายฟ้า และป่าหนาม แต่ก็ไม่เป็นผล นางจึงเหาะมาขวางหน้าเจ้าชายไว้ และกล่าวว่า จะต่อกรกับเขาด้วย "อำนาจแห่งอเวจี" แล้วจำแลงกายเป็นมังกรมหึมาเข้าประจันหน้ากับเจ้าชาย ขณะที่เจ้าชายกำลังเพลี่ยงพล้ำและใกล้ถึงความตายนั้นเอง นางฟ้าทั้งสามรวมอำนาจแห่งความดีเสกเป่ากระบี่ของเจ้าชายให้มีฤทธิ์ แล้วเจ้าชายโยนกระบี่นั้นไปปักหัวใจมังกร มังกรหมายจะกระโดดเข้ากัดกินเจ้าชายด้วยกำลังเฮือกสุดท้าย แต่ก็ตกลงจากที่ยืนลงสู่หุบเหวเบื้องล่างถึงแก่ความตาย เห็นแต่กระบี่กายสิทธิ์ปักเสื้อคลุมของมาเลฟิเซนต์ตรึงไว้กับพื้นเบื้องล่าง แล้วกระบี่นั้นกลายเป็นสนิมไป

การตอบรับ[แก้]

กิลเยอร์โม เดล โตโร (Guillermo del Toro) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเม็กซิโก ว่า มาเลฟิเซนต์เป็นมังกรในภาพยนตร์ที่เขาชื่นชอบมาก[11] นอกจากนี้ มาเลฟิเซนต์ยังได้รับการจัดอันดับเป็นตัวร้ายอันดับหนึ่งในเว็บไซต์อัลทิเมตดิสนีย์ และมีผู้วิจารณ์บางคนพรรณนาว่า นางเป็น "ตัวร้ายตัวจริงประจำดิสนีย์"[12]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Voice(s) of Maleficent". Behind The Voice Actors (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  2. "How Well Do You Know... Sleeping Beauty?". Disney Insider. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 19, 2014. สืบค้นเมื่อ August 16, 2023.
  3. Grant, John (1998). Encyclopedia of Walt Disney's Animated Characters (2nd ed.). Hyperion. pp. 263–264. ISBN 978-0786863365.
  4. Rovin, Jeff (1987). The Encyclopedia of Supervillains. New York: Facts on File. pp. 252–254. ISBN 0-8160-1356-X.
  5. "Audley, Eleanor - D23". d23.com. September 6, 2015.
  6. Mosher, Max (October 30, 2012). "Will The Real Vampira Please Stand Up? ". Toronto Standard.
  7. 7.0 7.1 Elizabeth Bell (1995). Somatexts at the Disney Shop. From mouse to mermaid: the politics of film, gender, and culture. ISBN 9780253209788.
  8. "Dictionary.com". 2012. สืบค้นเมื่อ June 7, 2012.
  9. 9.0 9.1 "Maleficent Character History". Disney Archives.
  10. "Lady Tremaine and Stepsisters Character History". Disney Archives.
  11. "An Unexpected Party Chat transcript now available! from Weta Holics". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-30. สืบค้นเมื่อ 2014-02-09.
  12. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ villainscountdown

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]