ลูเธอร์ แวนดรอส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Luther Vandross)
ลูเธอร์ แวนดรอส
ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อเกิดLuther Ronzoni Vandross, Jr.
เกิด20 เมษายน ค.ศ. 1951
ที่เกิดนิวยอร์ก,สหรัฐอเมริกา
เสียชีวิต1 กรกฎาคม ค.ศ. 2005
แนวเพลงอาร์แอนด์บี,โซล
อาชีพนักร้อง,นักแต่งเพลง,โปรดิวเซอร์เพลง
ช่วงปีค.ศ. 1968- 2003
ค่ายเพลงCotillion, Epic, Virgin, J, Legacy
เว็บไซต์LutherVandross.com

ลูเธอร์ แวนดรอส (Luther Vandross) นักร้องเสียงเทเนอร์ สไตล์อาร์แอนด์บีโซล ชาวอเมริกัน เจ้าของเพลงฮิตอย่างเช่น Never Too Much, Give Me The Reason และ A House Is Not A Home ในช่วงเวลา 30 ปีที่ลูเธอร์ แวนดรอส โลดแล่นอยู่ในวงการเพลง ทำสถิติขายอัลบั้มกว่า 25 ล้านก๊อบปี้ อีกทั้งรางวัลแกรมมี่ 8 รางวัล

ประวัติ[แก้]

ชีวิตช่วงแรกและอาชีพ[แก้]

ลูเธอร์ แวนดรอส มีชื่อเต็มว่า Luther Ronzoni Vandross, Jr. เขาเกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1951 ที่นครนิวยอร์ก พ่อเป็นช่างทำเก้าอี้ มีงานอดิเรกเป็นนักร้องครวญเพลงสแตนดาร์ดในวงบิ๊กแบนด์ ส่วนแม่เป็นนักร้องร้องเพลงกอสเปลกับคณะนักร้องประสานเสียง ลูเธอร์มีพี่สาวคนหนึ่งชื่อว่า Pat เป็นสมาชิกนักร้องคณะ The Crests (มีเพลงอันดับ 2 ในอเมริกา คือเพลง 16 Candles)

แวนดรอสเข้าเรียนระดับไฮสคูลที่ William Howard Taft High School ในย่านบรองซ์ นิวยอร์ก เขาฟอร์มวง Shadess Of Jade ร่วมกับนักกีตาร์เพื่อนร่วมชั้นชื่อ คาร์ลอส อโลมาร์ (Carlos Alomar) ไม่นานพัฒนาเป็นวง 18 ชิ้นชื่อ Listen My Brother ตั้งใจจะใช้เป็นวงแบ็กอัพให้กับละครเวที ครั้งแรกมีโอกาสไปเปิดแสดงที่โรงละครอพอลโล ย่านฮาร์เล็ม ครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1973 รับเชิญไปร้องเพลงออกรายการทีวีเด็กชื่อ Sesame Street โดยที่ตัวลูเธอร์ แวนดรอส เป็นต้นเสียงร้องตัวพยัญชนะเอถึงแซด หลังจบไฮสกูล ได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย Western Michigan University เรียนได้ปีเศษ จะกลับนิวยอร์ก ได้เจอกับเพื่อนเก่าที่เป็นนักกีตาร์ชื่อคาร์ลอส อโลมาร์ ชวนมาอยู่ที่ฟิลาเดลเฟีย ซึ่งคาร์ลอสนั้นเป็นนักกีตาร์แบ็กอัพให้เดวิด โบวี นักร้องที่มีชื่อเสียงในช่วงนั้น ซึ่งกำลังจะบันทึกอัลบั้มชุด Young Americans เมื่อมาถึงห้องบันทึกเสียง Sigma Sound

เดวิด โบวี ได้จ้างแวนดรอสเดี๋ยวนั้น ลูเธอร์ แวนดรอส ร้องประสานเสียงในอัลบั้มชุด Young Americans Tour ทั้งบันทึกเสียง ซึ่งเพลง "Fascination" for ตัวแวนดรอสเองก็มีส่วนร่วมเขียน ขณะเดียวกันเพลง "Everybody Rejoice" ที่ลูเธอร์ แวนดรอส แต่งให้โรเบอร์ธา แฟลคก่อนหน้านี้ มีโอกาสนำไปใช้ประกอบละครบรอดเวย์เรื่อง The Wiz ซึ่งใช้นักแสดงผิวสีล้วน ภายหลังเมื่อมีการสร้างเป็นภาพยนตร์มีไมเคิล แจ็คสัน กับไดอาน่า รอสส์ แสดงนำ เพลงดังกล่าวถูกนำไปใช้ด้วย

หลังเสร็จสิ้นจาก Young Americans Tour เดวิด โบวี้ แนะนำแวนดรอสให้รู้จักกับเบตต์ มิดเลอร์ ทำให้มีโอกาสทำงานร้องแบ็กอัพให้กับเบตต์ มิดเลอร์ ในอัลบั้มสองชุดด้วยกัน กิตติศัพท์ความสามารถเริ่มแพร่กระจาย ทำให้ลูเธอร์ แวนดรอส กลายเป็นที่ต้องการของบรรดาศิลปินมีชื่อ ผลท้ายสุดมีโอกาสร้องแบ็กอัพให้กับศิลปินอย่างเช่น ริงโก สตาร์, ชากาข่าน, คาร์ลี ไซม่อน, ดอนน่า ซัมเมอร์, Average White Band เป็นต้น

ลูเธอร์ แวนดรอส ฟอร์มวงอาร์แอนด์บีขึ้นตั้งชื่อว่า Luther ในปี ค.ศ. 1976 โดยเซ็นสัญญาภายใต้สังกัด Cotillion ซึ่งเป็นบริษัทลูกในเครือแอตแลนติกเรคคอร์ดส สองนักดนตรีสมาชิกได้แก่ ไนล์ รอดเจอร์ส กับเบอร์นาร์ด เอ็ดเวิร์ดส์ ซึ่งภายหลังไปฟอร์มวงดิสโก้ชื่อ CHIC ผลงานอัลบั้มสองชุดที่ลูเธอร์ ออกจำหน่ายคือชุด Luther กับชุด This Close To You ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จากนั้นแวนดรอสหันมาทำงานเป็นนักร้องแบ็กอัพให้กับศิลปินคนอื่น อย่าง ควินซี โจนส์, แพตตี้ ออสติน, CHIC ในเพลง Le Freak กับ DANCE, DANCE, DANCE รวมทั้งวงดิสโก้หญิงล้วนอย่าง Sister Sledge ในเพลงดังอย่าง We Are Family ไม่เพียงเท่านั้น ลูเธอร์ แวนดรอส ยังเป็นนักร้องนำให้กับ Change ศิลปินดิสโก้จากอิตาลีในเพลงฮิต The Glow Of Love

ปี ค.ศ. 1979 ลูเธอร์ แวนดรอส ได้รับเชิญไปทำหน้าที่เรียบเรียงเสียงดนตรีและเสียงร้องในเพลง No More Tears (Enough Is Enough)ที่บาร์บรา สตรัยแซนด์ ร้องกับดอนน่า ซัมเมอร์ เพลงนี้สามารถขึ้นอันดับ 1 ทั้งในอังกฤษและอเมริกา

ทางด้านงานโฆษณา เขายังทำงานเขียนจิงเกิลเพลงโฆษณา ทั้งร้องนำ ร้องแบ็กอัพให้กับสินค้าหลายตัว มีตั้งแต่สถานีโทรทัศน์เครือข่าย NBC, บริษัท AT&T, อาหารฟาสต์ฟู้ดอย่าง Burger King, KFC น้ำอัดลมอย่างเป๊ปซี่, โคล่า, เซเว่นอัพ แม้แต่ กองทัพอเมริกายังมาจ้างลูเธอร์ แวนดรอส เขียนจิงเกิลเพลงประชาสัมพันธ์ด้วย สิ่งนี้แหละที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับแวนดรอส เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า ปีหนึ่งๆ เขามีรายได้จากงานเหล่านี้ไม่ต่ำกว่าห้าแสนเหรียญฯ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้สร้างความพอใจให้กับตัวเขา จริงๆ แล้วลูเธอร์ แวนดรอส อยากเป็นนักร้องนำ มีบริษัทแผ่นเสียงมีชื่อมาเซ็นสัญญาให้อยู่ในสังกัดมากกว่าสิ่งอื่น

ศิลปินเดี่ยวและการประสบความสำเร็จ[แก้]

สังกัดอิปิค เรคคอร์ดส์ เซ็นสัญญากับ ลูเธอร์ แวนดรอส ในปี ค.ศ.1981 ซิงเกิลแรกและอัลบั้มชุดแรกชื่อ Never Too Much ทั้งสองชุดแวนดรอสรับเป็นโปรดิวเซอร์ เมื่อออกจำหน่ายอัลบั้มขายได้กว่าหนึ่งล้านก๊อบปี้ ส่วนในชาร์ทซิงเกิลติดอันดับ Top 20 ในอาร์แอนด์บีชาร์ต ลูเธอร์ แวนดรอส เริ่มเป็นที่รู้จักของแฟนเพลง ได้รับเชิญให้ไปเป็นศิลปินเปิดวงให้กับโรเบอต้า แฟลค ร้องเพลง A House Is Not A Home ประพันธ์โดยนักประพันธ์ชื่อดัง เบิร์ต บัคคาราค กับ ฮัล เดวิด นักวิจารณ์เพลงหลายคนบอกว่าเพลงนี้ที่แวนดรอสถ่ายทอดอารมณ์ ความโดดเดี่ยวได้ดีกว่าศิลปินคนอื่นที่นำไปคัฟเวอร์ จากนั้นลูเธอร์ แวนดรอส ออกอัลบั้มอย่างต่อเนื่องชุด Forever For Always, For Love (1982) ชุด Busy Body(1983) และยังเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับดิออน วอร์วิค ในซิงเกิล How Many Time Can We Say goodbye (1983) รวมถึงแวนดรอสได้ร่วมดูเอตกับดิออน วอร์วิคในเพลงนี้ด้วย จากนั้นตามด้วยอัลบั้มชุด I Fell In Love (1985) กับ Give Me The Reason (1986) ทั้งสองชุดได้รับความนิยมในอังกฤษเกินคาด ซิงเกิลฮิตที่ออกตามมา เช่นเพลง I Really Didn't Mean It กับ Stop To love ได้รับความนิยมติดอันดับ30 อันดับแรกในชาร์ทซิงเกิลฝั่งอังกฤษ ส่วนอัลบั้ม Give Me The Reason ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่ ลูเธอร์ แวนดรอส กลายเป็นศิลปินยอดนิยมฉายาว่า "THE PAVAROTTI OF POP"

ปี ค.ศ. 1982 ไคลว์ เดวิส โปรดิวเซอร์ชื่อดังติดต่อให้ลูเธอร์ แวนดรอส มาเป็นโปรดิวเซอร์และช่วยเขียนเพลงให้กับอารีธา แฟรงกลิน เมื่อแวนดรอสได้รับการทาบทามให้มาช่วยศิลปินในดวงใจได้ทำเพลง "Jump To It" ซึ่งก็ติดชาร์ท Top 10 ในอเมริกา

ลูเธอร์ แวนดรอส ได้ออกอัลบั้มชุด Any Love ในปี 1988 มีเพลงดังติดอันดับ 6 ในชาร์ทซิงเกิลอย่าง Here And Now ขณะเดียวกันแวนดรอสเกิดปัญหาด้านสุขภาพ น้ำหนักตัวขึ้นลงระหว่าง 190 กับ 340 ปอนด์ อีกทั้งมีโรคเบาหวานเข้าแทรก สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เคยล้มเลิกความตั้งใจในการปรากฏตัวต่อแฟนๆ ปี ค.ศ. 1989 คอนเสิร์ตที่สนามกีฬาเวมเบลย์ ในอังกฤษ กับเมดิสันสแควร์การ์เดนในนิวยอร์ก บัตรจำหน่ายหมดทั้ง 4 รอบ จากนั้นออกอัลบั้มรวมฮิต The Best Of Luther Vandross...The Best Of Love มียอดขายแพลตินั่มสองแผ่น ส่วนซิงเกิลที่ออกตามมาได้รับความนิยมติด TOP 10 อาทิ Power Of Love / Lovepower (# 4), Don't Want To Be A Fool (# 9) รวมทั้ง The Best Things In Life Are Free(# 10) ที่ร้องกับเจเน็ต แจ็กสัน‎ ส่วนอัลบั้มชุด Power Of Love ได้รับรางวัลแกรมมี่สองรางวัล ช่วงนี้ลูเธอร์ แวนดรอส มีปัญหากับบริษัทโซนี่มิวสิก ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของอิปิคเรคคอร์ดส์ เริ่มจากปี ค.ศ. 1991 ที่แวนดรอสขอปลีกตัวออกแต่ยังติดสัญญา ขณะเดียวกันยังออกอัลบั้มกับอิปิค ที่ประสบความสำเร็จอีกชุดคือชุด Songs (1994) เป็นงานเพลงคัฟเวอร์ทั้งอัลบั้ม อัลบั้มขึ้นถึงอันดับหนึ่งในอังกฤษ อันดับห้าในอเมริกา แถมซิงเกิล Endless Love ที่ร้องกับมารายห์ แครี ได้รับความนิยมขึ้นถึงอันดับ 3 ทั้งในอเมริกาและอังกฤษ

ในปี ค.ศ. 1998 สัญญากับโซนี่มิวสิลูเธอร์ได้สิ้นสุดลง แวนดรอสได้เซ็นสัญญาเข้าอยู่กับสังกัดเวอร์จินเรคคอร์ดส์ ออกอัลบั้มอยู่ชุดหนึ่ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง แวนดรอสจึงย้ายมาอยู่กับสังกัด J Records ที่มีไคลว์ เดวิสเป็นเจ้าของ ออกอัลบั้มชุด Luther Vandross (2001) ขายได้กว่าหนึ่งล้านก๊อบปี้ ถัดมาในปี ค.ศ. 2002 ลูเธอร์ แวนดรอส กลับมาทัวร์อังกฤษอีกครั้ง บัตรการแสดงขายหมด

ป่วยและการจากไป[แก้]

ก่อนจะถึงวันคล้ายวันเกิดครบ 52 ปีสี่วัน ลูเธอร์ แวนดรอส เกิดอาการปัจจุบันทันด่วน (Stroke) ต้องหยุดพักรักษาตัว ช่วงนี้เป็นช่วงที่กำลังออกอัลบั้มชุดใหม่ Dance With My Father เมื่อออกจำหน่ายอัลบั้มทำสถิติขายสูงสุดติดอันดับหนึ่ง อีกทั้งได้รับรางวัลแกรมมี่ 4 รางวัล รวมทั้งยังได้รางวัลเพลงประจำปี จากเพลง Dance With My Father ประพันธ์ร่วมกับ ริชาร์ด มาร์กซ

เนื่องจากปัญหาด้านน้ำหนัก ด้านโรคเบาหวาน กับอาการปัจจุบันทันด่วน (Stroke) ที่เกิดขึ้นถึงสองครั้ง ทำให้ลูเธอร์ แวนดรอส กลายเป็นคนทุพพลภาพ หยุดพักรักษาตัวจนกระทั่งเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2005 ที่John F. Kennedy Medical Center ในนิวเจอร์ซีขณะมีอายุ 54 ปี

ผลงานอัลบั้ม[แก้]

  • 1976: Luther
  • 1977: This Close To You
  • 1981: Never Too Much
  • 1982: Forever, For Always, For Love
  • 1983: Busy Body
  • 1985: The Night I Fell In Love
  • 1986: Give Me The Reason
  • 1988: Any Love
  • 1989: The Best Of Luther Vandross...The Best Of Love
  • 1991: May Christmas Bring You Happiness
  • 1991: Power Of Love
  • 1992: The Best Things In Life Are Free-Remixes
  • 1992: Hero
  • 1993: Little Miracles
  • 1993: Never Let Me Go
  • 1994: Endless Love
  • 1994: Songs
  • 1995: Always And Forever
  • 1995: Going In Circles
  • 1995: This Is Christmas
  • 1996: I Can Make It Better
  • 1996: Your Secret Love
  • 1997: One Night With You: The Best of Love, Volume 2
  • 1998: Always & Forever: The Classics
  • 1998: Love Is On The Way
  • 1998: I Know
  • 1999: Greatest Hits
  • 2000: Super Hits
  • 2001: Take You Out
  • 2001: Home For Christmas
  • 2001: Smooth Love
  • 2001: Luther Vandross
  • 2001: The Ultimate Luther Vandross
  • 2002: The Very Best Of Love
  • 2002: Stop To Love
  • 2003: Love Is On The Way
  • 2003: Dance With My Father
  • 2003: The Essential Luther Vandross
  • 2003: Live At Radio City Hall
  • 2004: The Collection
  • 2006: Dance Vault Mixes - Can Heaven Wait
  • 2006: Dance Vault Mixes - I'd Rather

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]