Latimeria

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Latimeria
Latimeria chalumnae, สวนสัตว์เมืองแอนต์เวิร์ป, เบลเยียม
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Sarcopterygii
ชั้นย่อย: Coelacanthimorpha
อันดับ: Coelacanthiformes
วงศ์: Latimeriidae
สกุล: Latimeria
Smith, 1939
สปีชีส์

Latimeria เป็นสกุลเดียวของปลาซีลาแคนท์ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน มี 2 ชนิด พบที่บริเวณขอบด้านตะวันตกของมหาสมุทรอินเดีย และ อินโดนีเซีย

ลักษณะ[แก้]

Latimeria chalumnae พิพิธภัณฑ์สัตวศาสตร์, โคเปนเฮเกน

จากลักษณะวงแหวนเติบโตในกระดูกหู (โอโตลิธส์) นักวิทยาศาสตร์อนุมานว่าปลาซีลาแคนท์ตัวหนึ่ง ๆ อาจมีอายุยืนยาวได้ถึง 80 – 100 ปี ปลาซีลาแคนท์อาศัยอยู่ที่ระดับความลึกได้ถึง 700 เมตรใต้ระดับน้ำทะเล แต่ส่วนใหญ่จะพบได้ที่ระดับความลึกระหว่าง 90 – 200 เมตร ตัวอย่างของปลา ลาติเมอเรีย ชาลัมนี มีสีน้ำเงินเข้มที่อาจช่วยพลางตาจากบรรดานักล่าทั้งหลายได้ อย่างไรก็ตามชนิดที่พบที่อินโดนีเซียกลับมีสีน้ำตาล

ตาของปลาซีลาแคนท์มีความสามารถตอบสนองได้ไวมากและมีแผ่นเนื้อเยื่อ ทาเปตุ้ม ลูซิดุ้ม ที่สามารถสะท้อนแสงไปที่เรตินาของดวงตาทำให้เพิ่มความสามารถในการมองเห็นได้ ปลาซีลาแคนท์จะไม่ออกหากินในช่วงเวลากลางวันเนื่องจากการตอบสนองต่อแสงของดวงตา ในเรตินาของปลาซีลาแคนท์ยังมีเซลล์รับแสงรูปแท่งจำนวนมากที่ช่วยทำให้สามารถมองเห็นได้ในแสงสลัว ๆ ซึ่งรวมถึงเซลล์รูปแท่งและแผ่นเนื้อเยื่อ ทาเปตุ้ม ลูซิดุ้ม ช่วยให้ปลามองเห็นได้ดีในน้ำที่มืดสนิท

รูปจำลอง ลาติเมอเรีย ชาลัมนี ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดแสดงสีสันเมื่อมันยังมีชีวิตอยู่

ปลาซีลาแคนท์หากินด้วยการล่าสัตว์จำพวกปลาหมึก ปลาไหล ฉลามขนาดเล็ก และปลาอื่น ๆ ที่พบในแนวปะการังน้ำลึกและบริเวณไหล่ฐานภูเขาไฟ พบว่าปลาซีลาแคนท์สามารถว่ายน้ำในแนวที่ส่วนหัวทิ่มลง ว่ายถอยหลัง หรือพลิกส่วนพุงขึ้นเพื่อหาตำแหน่งเหยื่อของมัน ซึ่งน่าจะเพื่อเป็นการใช้ต่อมที่อยู่บริเวณหัวด้านหน้าของมันรับสัญญาณสนามไฟฟ้าจากเหยื่อ นักวิทยาศาสตร์สงสัยว่าเหตุผลหนึ่งที่ปลานี้ประสบผลสำเร็จก็คือมันสามารถลดอัตราการเผาผลาญอาหารด้วยการจมลงไปที่ระดับน้ำลึก ๆ และลดความต้องการอาหารในลักษณะของการจำศีล

ปลาซีลาแคนท์ที่อาศัยอยู่ใกล้อ่าวซอดวานาในแอฟริกาใต้ พบหลบพักอยู่ในถ้ำที่ระดับความลึกระหว่าง 90-150 เมตรในช่วงเวลากลางวัน แต่จะว่ายออกมาที่น้ำตื้นที่ระดับความลึกประมาณ 55 เมตรเพื่อออกล่าเหยื่อในช่วงเวลากลางคืน ความลึกไม่มีความสำคัญเทียบเท่าการที่มันต้องการแสงสลัว ๆ และที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือที่ที่มีอุณหภูมิระหว่าง 14-22 องศาเซลเซียส พวกมันจะลอยตัวหรือจมลงเพื่อค้นหาสภาพที่เหมาะสมในลักษณะดังกล่าว ปริมาณของออกซิเจนที่เลือดสามารถดูดซับได้การจากน้ำทะเลผ่านเหงือกจะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำ ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่าปลาซีลาแคนท์ต้องการอาศัยอยู่ในที่เย็น ในที่น้ำให้ออกซิเจนได้ดี ไม่เช่นนั้นเลือดของมันจะดูดซับออกซิเจนได้ไม่เพียงพอ [1]

การสืบพันธุ์[แก้]

ปลาซีลาแคนท์เพศเมียออกไข่และฝักเป็นตัวภายในท้องของแม่ จนกระทั่งคลอดออกมาครั้งละ 5-25 ตัว สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวของมันเองทันทีที่คลอด พฤติกรรมการสืบพันธุ์ของมันยังไม่เป็นที่รู้จักกันดีนักแต่เชื่อกันว่าพวกมันจะเริ่มสืบพันธุ์เมื่อมีอายุได้ประมาณ 20 ปี ด้วยมีระยะตั้งครรถ์ระหว่าง 13-15 เดือน

การค้นพบ[แก้]

ประวัติการค้นพบ[2][3]
ปี รายละเอียด
1938 (ธันวาคม 23) ปลาซีลาแคนท์ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันถูกค้นพบเป็นครั้งแรก ที่ 30 กม. ทางตะวันตกเฉียงใต้ของลอนดอนตะวันออก ในแอฟริกาใต้
1952 (ธันวาคม 21) ตัวอย่างที่ 2 ในคอโมโรส จากนั้นมากกว่า 200 ตัวถูกจับขึ้นมาจากรอบ ๆ เกาะ
1988 ภาพถ่ายภาพแรกของปลาซีลาแคนท์ในถิ่นฐานธรรมชาติของมันโดยฮันส์ ฟริกค์ จากนอกชายฝั่งกรองด์กอมอร์
1991 ปลาซีลาแคนท์ตัวแรกที่ได้รับการวินิจฉัยใกล้โมซัมบิก 24 กม. นอกชายฝั่งไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของคิวลิมาเน่
1995 ปลาซีลาแคนท์ที่ได้รับการบันทึกครั้งแรกที่มาดากัสการ์ 30 กม. ทางตอนใต้ของตอลิเอร่า
1997 (กันยายน 18) ปลาซีลาแคนท์ชนิดใหม่พบในอินโดนีเซีย
2000 ปลาซีลาแคนท์ฝูงหนึ่งพบโดยทีมนักปะดาน้ำบริเวณนอกชายฝั่งของอ่าวซอดวานา อุทยานป่าชุ่มน้ำอิสิแมงกาลิโส ในแอฟริกาใต้
2001 ปลาซีลาแคนท์ฝูงหนึ่งพบนอกชายฝั่งของเคนยา
2003 ปลาซีลาแคนท์ตัวแรกจับได้โดยชาวประมงในแทนซาเนีย และภายในปีนั้นมีการจับได้ทั้งหมดถึง 22 ตัว
2004 วิลเลียม ซอมเมิร์ส นักวิจัยชาวแคนาดาจับปลาซีลาแคนท์ที่ถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาบริเวณนอกชายฝั่งมาดากัสการ์ [ต้องการอ้างอิง]
2007 (พฤษภาคม 19) จัสตินัส ลาฮามา ชาวประมงชาวอินโดนีเซียจับปลาซีลาแคนท์ขนาด 1.31 เมตร น้ำหนัก 51 กก. นอกชายฝั่งเกาะซูลาเวซี ใกล้กับอุทยานทะเลแห่งชาติบูนาเก้น และมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 17 ชม. ในกระชัง[4]
2007 (กรกฎาคม 15) ชาวประมง 2 คนจากแซนซิบาร์จับปลาซีลาแคนท์วัดได้ 1.34 เมตร น้ำหนัก 27 กก. ถูกจับได้นอกชายฝั่งทางปลายแหลมด้านเหนือของเกาะนอกชายฝั่งแทนซาเนีย[5]

การพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้[แก้]

การค้นพบถูกพาดหัวในหนังสือพิมพ์ Daily Dispatch ในปี ค.ศ. 1939

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1938 เฮนดริก กูเซน (Hendrik Goosen) กัปตันเรือลากอวนพาณิชย์ “เนอรีน” กลับไปที่ท่าเรืออีสต์ลอนดอนในแอฟริกาใต้หลังจากลากอวนแถวปากแม่น้ำชาลัมน่า แล้วเขาก็ทำอย่างที่เขาเคยทำอยู่บ่อย ๆ คือโทรศัพท์ไปหาเพื่อนของเขา มาร์จอรี คอร์ทีเนย์-ลาติเมอร์ (Marjorie Courtenay-Latimer) ภัณฑรักษ์ที่พิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ แห่งหนึ่งในอีสต์ลอนดอน เพื่อให้ไปดูว่าสิ่งที่จับได้นั้นเป็นสิ่งที่เธอสนใจหรือไม่ และยังบอกเธอว่ามีปลาเกล็ดแข็งที่เขาเก็บไว้ให้เธอดูอีกด้วย จากจดหมายเหตุของสถาบันความหลากหลายทางชีวภาพทางน้ำแห่งแอฟริกาใต้ (SAIAB) แสดงให้เห็นว่ากูเซนรักษาสภาพของปลาอย่างดี และสั่งให้ลูกเรือนำมันไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์อีสต์ลอนดอน ภายหลังกูเซนกล่าวว่าปลามีน้ำเงินโลหะแต่กว่าที่เนอรีนจะเข้าเทียบท่าก็กินเวลาหลายชั่วโมงทำให้ปลากลายเป็นสีเทาเข้ม

สิ่งที่ค้นพบนั้นไม่พบว่ามีการบันทึกถึงลักษณะเอาไว้ในหนังสือใด ๆ ที่เธอมีอยู่ เธอพยายามติดต่อกับเพื่อนของเธอ ศาสตราจารย์เจมส์ เลียวนาร์ด เบรียเลย์ สมิธ (James Leonard Brierley Smith) แต่เขาไม่อยู่เนื่องจากเทศกาลคริสต์มาส เนื่องด้วยไม่อาจเก็บรักษาสภาพของปลาเอาไว้ได้เธอจึงลังเลใจที่จะส่งมันไปทำเทคนิคการทำให้ซากสัตว์คงสภาพเหมือนมีชีวิต เมื่อสมิธกลับมาเขาพบว่ามันเป็นปลาซีลาแคนท์ที่พบได้เฉพาะเป็นฟอสซิล สมิธได้ตั้งชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ลาติเมอเรีย ชาลัมนี” (Latimeria chalumnae) เพื่อเป็นเกียรติแก่ มาร์จอรี คอร์ทีเนย์-ลาติเมอร์และแม่น้ำที่เป็นแหล่งค้นพบ ผู้ค้นพบทั้งสองจึงกลายเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังรู้จักกันไปทั่ว และปลาชนิดนี้ก็กลายเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นฟอสซิลมีชีวิต และปลาซีลาแคนท์ที่พบในปี ค.ศ. 1938 นี้ปัจจุบันยังคงจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ในอีสต์เบิร์นนั้นเอง

อย่างไรก็ตาม ชิ้นตัวอย่างที่ถูกสตัฟฟ์นั้น ไม่สามารถตรวจสอบลักษณะของเหงือกและโครงกระดูกได้และยังมีข้อสงสัยที่ค้างคาอยู่ว่ามันจะเป็นชนิดเดียวกันหรือไม่ สมิธเริ่มล่าตัวที่สองซึ่งก็ต้องใช้เวลามากกว่าทศวรรต

คอโมโรส[แก้]

ตัวอย่างปลา Latimeria chalumnae ที่เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย (ยาว 170 ซม. น้ำหนัก 60 กก.) ตัวอย่างนี้ถูกจับได้เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 1974 ใกล้กับซาลิมานิ (แกรนด์ โคโมร์ เกาะคอโมโรส) 11°48′40.7″S 43°16′3.3″E / 11.811306°S 43.267583°E / -11.811306; 43.267583

ได้มีการค้นหาปลาซีลาแคนท์เพิ่มเติมกันทั่วโลก ด้วยการตั้งเงินรางวัลสูงถึง 100 ปอนด์ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าสูงมากสำหรับชาวประมงอัฟริกันในช่วงสมัยนั้น สิบสี่ปีให้หลังได้มีการค้นพบอีกหนึ่งตัวอย่างที่คอโมโรสแต่ปลานั้นก็ไม่ได้ทำให้ผู้คนในท้องที่ประหลาดใจแต่ประการใด ที่ท่าเรือโดโมนิบนเกาะคอโมโรสแห่งแอนโจอวน ชาวคอโมโรสสงสัยว่าทำไมปลาจึงได้รับการเสนอรางวัลสูงนัก ปลาที่พวกเขารู้จักกันในนามของ “กอมเบสซา” หรือ “มาเม” เป็นปลาที่เกือบกินเป็นอาหารไม่ได้ที่บางครั้งชาวประมงก็จับได้ด้วยความเข้าใจผิด

ตัวอย่างที่สองพบในปี ค.ศ. 1952 โดยชาวประมงชาวคอโมโรส อะฮามาดิ อับดุลลาห์ ที่ถูกพิจารณาให้เป็นชนิดใหม่ที่แตกต่างออกไป โดยในตัวอย่างแรกให้ชื่อเป็น “มาลันเนีย ฮันไต” (Malania anjounae) และตัวอย่างต่อมาให้เป็น “มาลันเนีย แอนโจอันนี” (Malania anjounae) ตามชื่อของแดเนียล ฟรานซิส มาลัน นายกรัฐมนตรีแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นผู้จัดส่งตัวอย่างปลาไปให้อย่างรวดเร็วตามคำร้องขอของศาสตราจารย์ สมิธ โดยดาโกต้า ในภายหลังพบว่าการหายไปของครีบหลังอันแรกซึ่งเดิมทีคิดว่าเป็นลักษณะที่มีนัยสำคัญนั้น เกิดจากการหลุดหายไปจากการบาดเจ็บของตัวปลาเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ มาลันผู้ยึดมั่นในพระผู้สร้าง เมื่อเขาเห็นมันครั้งแรกถึงกับร้องอุทานว่า “ตัวฉัน มันน่าเกลียด คุณหมายความว่าครั้งหนึ่งเราเคยเป็นแบบนั้นหรือ”[6] ตัวอย่างปลาถูกซ่อมแซมโดยสมิธและจัดแสดงไว้ที่ SAIAB ในเกรแฮมส์ทาวน์ของแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นที่ทำงานของเขา

ปัจจุบันชาวคอโมโรสรู้ถึงความสำคัญของปลาใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้ดีและได้ก่อ ตั้งโครงการปล่อยปลาซีลาแคนท์ที่จับได้โดยอุบัติเหตุกลับคืนสู่ทะเลลึก

สำหรับสมิธผู้ได้ล่วงลับไปเมื่อปี ค.ศ. 1968 นั้น ถือเป็นบุคคลที่มีคุณูปการอย่างมากเกี่ยวกับปลาซีลาแคนท์ดังที่ปรากฏในหนังสือ “Old Fourlegs” ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1956 หนังสือของเขา “Sea Fishes of the Indian Ocean” ซึ่งมี มาร์กาเรต ภรรยาของเขาเป็นผู้ร่วมเขียนที่ถือว่าเป็นตำราอ้างอิงด้านมีนวิทยาที่ได้มาตรฐานเล่มหนึ่งในแอฟริกา

ในปี 1988 ช่างภาพเนชั่นแนลจีโอกราฟิก ฮานส์ ฟริคส์ เป็นบุคคลแรกที่ถ่ายภาพปลาซีลาแคนท์ในถิ่นอาศัยของมันตามธรรมชาติ ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 180 เมตรนอกชายฝั่งตะวันตกของแกรนด์โคโมร์[7]

ชนิดที่สองในอินโดนีเซีย[แก้]

Latimeria menadoensis, พิพิธภัณท์สัตว์น้ำโตเกียว, ญี่ปุ่น

เมื่อวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1997 อาร์นาซ และมาร์ค เอิร์ดมันน์ ได้ท่องเที่ยวไปในอินโดนีเซียในการดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ของเขา เขาพบปลาตัวแปลก ๆ เข้าไปในตลาดที่มานาโดบนเกาะซูลาเวซี[8] มาร์คคิดว่าเป็นปลา “กอมเบสซ่า” (ปลาซีลาแคนท์จากคอโมโรส) แม้ว่ามันไม่เป็นสีน้ำเงินแต่กลับเป็นสีน้ำตาล ผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งได้พิจารณาภาพถ่ายในอินเทอร์เน็ตของเขาแล้วให้ความเห็นว่ามันมีลักษณะที่มีนัยสำคัญ หลังจากนั้นคู่สามีภรรยาเอิร์ดมันน์ได้ติดต่อกับชาวประมงในท้องที่และได้ร้องขอว่าหากจับปลาลักษณะดังกล่าวได้อีกขอได้โปรดส่งให้เขา ตัวอย่างที่สองจากอินโดนีเซียมีความยาว 1.2 เมตรและมีน้ำหนัก 29 กิโลกรัมถูกจับได้ขณะยังมีชีวิตอยู่เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1998[3] มันมีชีวิตอยู่ได้ 6 ชั่วโมง ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถบันทึกภาพลักษณะของสี การเคลื่อนที่ของครีบ และพฤติกรรมอื่น ๆ ทั่วไป ตัวอย่างปลาถูกเก็บรักษาไว้และบริจาคให้พิพิธภัณฑ์สัตววิทยาโบกอร์ (MZB) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งอินโดนีเซีย (LIPI)[8]

ผลการตรวจสอบดีเอ็นเอชี้ชัดว่าตัวอย่างปลามีความแตกต่างทางพันธุกรรมกับปลาซีลาแคนท์คอโมโรสอย่างชัดเจน[9][10] มื่อดูอย่างผิวเผินแล้วปลาซีลาแคนท์จากอินโดนีเซียซึ่งในท้องที่เรียกกัน ว่า “ราชาลอต” (หมายถึงเจ้าแห่งทะเล) มีลักษณะที่เหมือนกันกับที่พบในคอโมโรสยกเว้นที่สีผิวที่เป็นสีเทาแกมสีน้ำตาลแทนที่จะเป็นสีน้ำเงิน ปลาชนิดนี้ถูกบรรยายรูปพรรณไว้ในวารสาร Comptes Rendus de l'Académie des sciences Paris ในปี 1999 โดย Pouyaud et al และถูกตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ลาติเมอเรีย เมนาโดเอนซิส (Latimeria menadoensis)[11] ผลการศึกษาทางโมเลกุลประมาณการได้ว่าช่วงเวลาที่เกิดการแตกแขนงเป็นปลาซีลาแคนท์ 2 ชนิดนั้นอยู่ที่ประมาณ 40 – 30 ล้านปีมาแล้ว[12]

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 2007 จัสตินัส ลาฮามา ชาวประมงชาวอินโดนีเซียได้จับปลาซีลาแคนท์ลำตัวยาว 1.3 เมตร น้ำหนัก 50 กิโลกรัมจากนอกชายฝั่งใกล้เมนาโด ทางตอนเหนือของเกาะซูลาเวซีใกล้กับอุทยาน ทะเลแห่งชาติบูนาเก้น หลังจากนำขึ้นจากน้ำได้ 30 นาทีปลาซึ่งยังมีชีวิตอยู่ถูกนำไปขังไว้ในกระชังหน้าภัตตาคารแห่งหนึ่งที่ชายฝั่งทะเลและอยู่รอดได้นานถึง 17 ชั่วโมง ปลาซีลาแคนท์มีลักษณะที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับปลาปอดซึ่งปรกติจะอาศัยอยู่ที่ระดับความลึก 200 – 1000 เมตร ปลาถูกถ่ายทำเป็นภาพยนตร์โดยเจ้าหน้าที่ในท้องที่ โดยว่ายไปมาในกระชังลึกประมาณหนึ่งเมตร เมื่อมันตายจึงนำไปแช่แข็ง สำนักข่าวเอเอฟพีของฝรั่งเศสเรียกร้องให้นักวิทยาศาสตร์จากฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และอินโดนีเซียเข้าร่วมงานกับสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งฝรั่งเศสเพื่อดำเนินการตรวจสอบถึงสาเหตุของการตายของปลาซีลาแคนท์และวิเคราะห์ทางพันธุศาสตร์หลังจากนั้น ปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยในท้องที่กำลังทำการศึกษาซากศพอยู่[4][13]

อุทยานพื้นที่ชุ่มน้ำไซแมงกาลิโสในแอฟริกาใต้[แก้]

ในแอฟริกาใต้ การค้นหายังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องมาหลายปี นักประดาน้ำวัย 46 ปี เรฮัน เบาเวอร์ ได้เสียชีวิตขณะดำค้นหาปลาซีลาแคนท์ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1998

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 2000 ทางตอนใต้ของเขตแดนโมซัมบิกลงไปเล็กน้อย ในอ่าวซอดวานาของอุทยานป่าชุ่มน้ำเกรตเตอร์เซนต์ลูเชีย นักประดาน้ำน้ำลึกสามคนคือ เปเตอร์ เวนเตอร์ ปีเตอร์ ทิมม์ และ อีเทน เลอ รอกซ์ ได้ดำน้ำลงไปลึก 104 เมตรและก็ได้พบเห็นปลาซีลาแคนท์โดยไม่ได้ตั้งใจ

กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มสำรวจปลาซีลาแคนท์แอฟริกาใต้ 2000" หวนกลับมาพร้อมอุปกรณ์ถ่ายภาพและสมาชิกเพิ่มเติมอีกหลายคน โดยในวันที่ 27 พฤศจิกายน หลังจากการดำสำรวจครั้งแรกที่ไม่ประสบผลสำเร็จ สมาชิกทั้งสี่ของกลุ่ม ได้แก่ เปเตอร์ เวนเตอร์ กิบเบิร์ต กันน์ คริสโต เซอร์ฟอนเตียน และเดนนิส ฮาร์ดิง ได้พบเข้ากับปลาซีลาแคนท์ 3 ตัว ตัวที่ใหญ่ที่สุดยาวประมาณ 1.5 – 1.8 เมตร ส่วนอีกสองตัวมีความยาวประมาณ 1.0-1.2 เมตร ปลาเหล่านี้ว่ายไปมาโดยมีส่วนหัวดิ่งลงดูเหมือนว่าจะหากินอยู่บริเวณผนังหินที่มีส่วนยื่นโผล่ออกมา กลุ่มของคณะปะดาน้ำนี้กลับขึ้นมาพร้อมภาพวิดีโอและภาพถ่ายของปลาซีลาแคนท์

อย่างไรก็ตามระหว่างการดำน้ำนั้นเซอร์ฟอนเตียนได้หมดสติและเดนนิส ฮาร์ดิงวัย 34 ปีได้พุ่งโผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมาในลักษณะของการขาดการควบคุม ฮาร์ดิงได้บ่นว่าเจ็บที่คอและได้เสียชีวิตไปจากอาการภาวะเส้นเลือดอุดตันขณะอยู่บนเรือ ส่วนเซอร์ฟอนเทียนหายดีหลังเข้ารับการรักษาโรคลดความกด

ระหว่างเดือนมีนาคม–เมษายน ค.ศ. 2002 ยานดำน้ำจาโกและทีมปะดาน้ำฟริกค์ได้ลงไปในทะเลลึกนอกชายฝั่งซอดวานาและได้สังเกตเห็นปลาซีลาแคนท์ 15 ตัว เครื่องยั่งแบบลูกดอกถูกใช้ในการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อของปลา

แทนซาเนีย[แก้]

มีการจับปลาซีลาแคนท์ได้บริเวณนอกชายฝั่งของแทนซาเนียมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 สองตัวแรกถูกจับได้ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2003 ใกล้ซันกา เอมนารา (Songa Mnara) ซึ่งเป็นเกาะเล็ก ๆ บนขอบมหาสมุทรอินเดีย ได้รับรายงานว่าในช่วง 5 เดือนหลังจากนั้นพบอีก 19 ตัวมีน้ำหนักระหว่าง 25 – 80 กิโลกรัมติดอวนขึ้นมา รวมถึงมีการจับได้อีกตัวหนึ่งในเดือนมกราคม ค.ศ. 2005 หนังสือพิมพ์ออบเซิร์พเวอร์รายงานเมื่อปี ค.ศ. 2006 ว่ามีการจับปลาซีลาแคนท์ได้ตัวหนึ่งที่มีน้ำหนักตัวถึง 110 กิโลกรัมทีเดียว เจ้าหน้าที่จาก "โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งแทงก้า" ซึ่งมีแผนกลยุทธ์ระยะยาวเพื่อปกป้องปลาซีลาแคนท์นี้ได้เห็นความสัมพันธ์ของช่วงเวลาการถูกจับด้วยการลากอวนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือของชาวญี่ปุ่นที่อยู่ใกล้ถิ่นฐานของปลาซีลาแคนท์ เพียงในระยะไม่กี่วันที่เรือลากอวนสามารถจับปลาซีลาแคนท์ด้วยอวนน้ำลึกที่ใช้กับฉลาม การปรากฏตัวชั่วครั้งชั่วคราวของปลาซีลาแคนท์นอกชายฝั่งแทนซาเนียได้เพิ่มความกังวลใจอันเนื่องมาจากความเสียหายของจำนวนประชากรปลาซีลาแคนท์ในอนาคต โดยผลกระทบส่วนใหญ่เกิดจากการไม่รู้จักแยกแยะวิธีการลากอวนออกจากความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับถิ่นฐานของปลาซีลาแคนท์[14]

ฮาสสัน โกลอมโบ ผู้เข้าร่วมโครงการกล่าวว่า “ทันทีที่เราหยุดการลากอวน เราก็จะไม่รบกวนปลาซีลาแคนท์อีกต่อไป ก็ง่าย ๆ เพียงแค่นี้” ผู้ร่วมงานของเขา โซโลมอน มาโกโลเวกา กล่าวว่าเรากำลังกดดันรัฐบาลแทนซาเนียให้จำกัดการลากอวน เขากล่าวว่า “ผมคิดว่าเราควรจะชื่นชมยินดีกับผู้ลากอวนทั้งหลาย เพราะว่าเขาทำให้เราประจักษ์ชัดถึงจำนวนประชากรปลาที่เป็นเอกลักษณ์และน่าประหลาดใจนี้ แต่เราต้องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยความหวั่นว่าพวกเขาจะเข้ามาทำลายสิ่งที่มีค่าเหล่านี้ เราต้องการให้รัฐบาลจำกัดการลากอวนและจัดสรรทุนวิจัยที่เหมาะสมเพื่อเราจะได้เรียนรู้ปลาซีลาแคนท์ได้มากกว่านี้เพื่อปกป้องมัน”[14]

ในรายงานฉบับหนึ่งของเดือนมีนาคม ค.ศ. 2008 กล่าวว่า [15] การประชุมอภิปรายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติของแทนซาเนียซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรเอกชนท้องถิ่นได้เตือนว่าโครงการที่เสนอที่อ่าวแวมบานีอาจมีผลคุกคามต่อประชากรปลาซีลาแคนท์ในชายฝั่งได้[16]

อ้างอิง[แก้]

  1. page 200, Weinberg, Samantha. 2006. A Fish Caught in Time: the Search for the Coelacanth. HarperCollins Publishers, New York, NY.
  2. Iziko South African Museum, Cape Town
  3. 3.0 3.1 Nelson, Joseph S. (2006). Fishes of the World. John Wiley & Sons, Inc. ISBN 0471250317
  4. 4.0 4.1 Reuters (2007), "Indonesian fisherman nets ancient fish", Reuters UK, 2007-05-21, สืบค้นเมื่อ 2007-07-16.
  5. Reuters (2007), "Zanzibar fishermen land ancient fish", Reuters UK, 2007-07-15, สืบค้นเมื่อ 2009-12-13.
  6. page 73, Weinberg, Samantha. 2006. A Fish Caught in Time: the Search for the Coelacanth. HarperCollins Publishers, New York, NY.
  7. Fricke, Hans (June 1988). "Coelacanths:The fish that time forgot". National Geographic. 173 (6): 824–828.
  8. 8.0 8.1 Jewett, Susan L., "On the Trail of the Coelacanth, a Living Fossil", The Washington Post, 1998-11-11, Retrieved on 2007-06-19.
  9. Erdmann, Mark V. (April 1999). "An Account of the First Living Coelacanth known to Scientists from Indonesian Waters". Environmental Biology of Fishes. Springer Netherlands. 54 (#4): 439–443. doi:10.1023/A:1007584227315. S2CID 46211870. 0378-1909 (Print) 1573-5133 (Online).
  10. Holder, Mark T.; Mark V. Erdmann; Thomas P. Wilcox; Roy L. Caldwell & David M. Hillis (1999). "Two living species of coelacanths?". Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 96 (22): 12616–12620. Bibcode:1999PNAS...9612616H. doi:10.1073/pnas.96.22.12616. PMC 23015. PMID 10535971.
  11. Pouyaud, L.; S. Wirjoatmodjo; I. Rachmatika; A. Tjakrawidjaja; R. Hadiaty & W. Hadie (1999). "Une nouvelle espèce de coelacanthe: preuves génétiques et morphologiques". Comptes Rendus de l'Académie des Sciences, Série III. 322 (4): 261–267. Bibcode:1999CRASG.322..261P. doi:10.1016/S0764-4469(99)80061-4. PMID 10216801.
  12. Inoue J. G.; M. Miya; B. Venkatesh; M. Nishida (2005). "The mitochondrial genome of Indonesian coelacanth Latimeria menadoensis (Sarcopterygii: Coelacanthiformes) and divergence time estimation between the two coelacanths". Gene. 349: 227–235. doi:10.1016/j.gene.2005.01.008. PMID 15777665.
  13. "Ancient Indonesian fish is 'living fossil'" เก็บถาวร 2008-12-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Cosmos Online, 2007-07-29.
  14. 14.0 14.1 "Dinosaur fish pushed to the brink by deep-sea trawlers", The Observer, 2006-01-08, สืบค้นเมื่อ 2007-06-18.
  15. "Does Tanga need a new harbour at Mwambani Bay?" เก็บถาวร 2010-09-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Tanzania Natural Resource Forum, 2008-03-05, สืบค้นเมื่อ 2009-02-25.
  16. "Population of prehistoric deep-ocean coelacanth may go the way of the dinosaurs", mongabay.com, 2009-02-25, สืบค้นเมื่อ 2009-02-25.