วงศ์ปลากระโทง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Istiophoridae)
ปลากระโทง
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ครีเทเชียสตอนต้น-ปัจจุบัน
ลักษณะของปลากระโทง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
อันดับย่อย: Xiphioidei
วงศ์: Istiophoridae
สกุล[1]
ชื่อพ้อง
  • Histiophoridae
ปลากระโทงร่มอินโด-แปซิฟิก

วงศ์ปลากระโทง, วงศ์ปลากระโทงแทง หรือ วงศ์ปลาปากนก ปลากระดูกแข็งขนาดใหญ่จำพวกหนึ่งอาศัยอยู่ในทะเล อยู่ในอันดับปลากะพง (Perciformes) ใช้ชื่อวงศ์ว่า Istiophoridae

โดยคำว่า Istiophoridae ที่ใช้เป็นชื่อวงศ์นั้น มาจากภาษากรีกคำว่า "Ιστίων" (Istion) หมายถึง "ใบเรือ" รวมกับคำว่า "φέρειν" (pherein) หมายถึง "แบกไว้"

ปลากระโทง เป็นปลาทะเลขนาดใหญ่ที่มีความปราดเปรียวและว่องไวมาก จัดเป็นปลาที่สามารถว่ายน้ำได้เร็วที่สุดในโลก[2]ด้วยมีกล้ามเนื้อที่ทรงพลัง และกระดูกหลังที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถพุ่งจากน้ำได้เร็ว 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง และในฤดูอพยพอาจทำความเร็วได้ 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง[3]

มีลำตัวค่อนข้างกลม ปากกว้าง มีฟันแบบวิลลิฟอร์ม ครีบหลังและครีบก้นมีอย่างละ 2 ครีบ ไม่มีครีบฝอย ครีบท้องมีก้านครีบ 1-3 ก้าน มีสันที่คอดหาง ครีบหางเว้าลึก [4]

มีจุดเด่นคือปลายปากด้านบนมีกระดูกยื่นยาวแหลมออกมา ใช้ในการนำทาง ล่าเหยื่อ และป้องกันตัว ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นสิ่งที่เหลืออยู่จากยุคก่อนประวัติศาสตร์ เพื่อป้องกันตัวจากบรรดาปลานักล่าต่าง ๆ ที่มีอยู่ดาษดื่น[3] มีครีบกระโดงหลังมีสูงแหลม ในบางชนิด จะมีกระโดงสูงมากและครอบคลุมเกือบเต็มบริเวณหลัง ดูแลคล้ายใบเรือ มีสีและลวดลายข้างลำตัวแตกต่างออกไปตามแต่ชนิด ซึ่งจะเปลี่ยนไปตามสภาพอารมณ์ หากตกใจหรือเครียด สีจะซีด และใช้เป็นสิ่งที่แยกของปลาแต่ละตัว[3]

โดยมากแล้วมักจะอาศัยหากินอยู่บริเวณผิวน้ำ พบได้ในทะเลเขตอบอุ่นและเขตร้อนทั่วโลก ออกล่าเหยื่อเป็นปลาขนาดเล็กกว่า บางครั้งอาจอยู่รวมเป็นฝูงนับร้อยตัว มักล่าเหยื่อในเวลากลางวัน เนื่องจากเป็นปลาที่ล่าด้วยประสาทสัมผัสทางตาเป็นหลัก[5] สามารถโดดพ้นน้ำได้สูงและมีความสง่างามมาก จึงนิยมตกเป็นเกมกีฬา ได้รับฉายาจากนักตกปลาว่าเป็น "ราชินีแห่งท้องทะล" โดยมักจะออกตกด้วยการล่องเรือไปกลางทะเลและตกด้วยอุปกรณ์ชนิดต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้ด้วยกันเวลาหลายชั่วโมง ด้วยการให้ปลายื้อเบ็ดจนหมดแรงเอง โดยปลากระโทงชนิดที่ใหญ่ที่สุดคือ ปลากระโทงสีน้ำเงิน (Makaira nigricans) เป็นชนิดที่พบที่มหาสมุทรแอตแลนติก ที่สามารถโตเต็มที่ได้ถึง 5 เมตร หนักกว่า 636 กิโลกรัม

การจำแนก[แก้]

มีทั้งหมด 10 ชนิด ใน 5 สกุล ประกอบไปด้วย

นอกจากนี้แล้ว ยังมีปลากระโทงดาบที่มีลักษณะคล้ายปลากระโทงอีกชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Xiphias gladius ซึ่งมิได้อยู่ในวงศ์เดียวกันนี้ แต่จัดอยู่ในวงศ์ Xiphiidae [6]

ในน่านน้ำไทย พบได้ทั้งทะเลอันดามันและอ่าวไทย โดยชนิดที่พบได้แก่ ปลากระโทงร่มอินโด-แปซิฟิก และ ปลากระโทงสีน้ำเงินแปซิฟิก เป็นต้น

ปลากระโทงยังมีชื่อเรียกอื่นเป็นภาษาใต้ว่า "ปลาอินทรียักษ์" เป็นต้น

อ้างอิง[แก้]

  1. จาก ITIS.gov (อังกฤษ)
  2. "สัตว์น้ำที่สุดในโลก". กระปุกตั้งฉ่าย Siamfishing.
  3. 3.0 3.1 3.2 Super Fish: fastest predator in the sea, สารคดีทางแอนิมอลพลาเน็ต .ทางทรูวิชั่นส์: เสาร์ที่ 15 มิถุนายน 2556
  4. "มีนวิทยา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-03. สืบค้นเมื่อ 2012-03-06.
  5. "อัศจรรย์โลกใต้น้ำตอนที่ 5". ช่อง 7. 9 January 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-19. สืบค้นเมื่อ 9 January 2015.
  6. "กรมประมง" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-10-31. สืบค้นเมื่อ 2012-06-23.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]