โลมาแม่น้ำอาราไกวยา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Inia araguaiaensis)
โลมาแม่น้ำอาราไกวยา
กะโหลกศีรษะและขากรรไกรล่างของตัวอย่างต้นแบบ (ยาวประมาณ 10 เซนติเมตร)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
ชั้นย่อย: Theria
อันดับ: Artiodactyla
อันดับฐาน: Cetacea
อนุอันดับ: Odontoceti
วงศ์ใหญ่: Inioidea
วงศ์: Iniidae
สกุล: Inia
สปีชีส์: I.  araguaiaensis
ชื่อทวินาม
Inia araguaiaensis
Hrbek, Da Silva, Dutra, Farias, 2014
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของโลมาแม่น้ำในทวีปอเมริกาใต้ I. araguaiaensis คือสีน้ำเงินทางด้านขวา; I. geoffrensis และ I. boliviensis คือ สีเขียวอ่อนและสีม่วงตามลำดับ

โลมาแม่น้ำอาราไกวยา (อังกฤษ: Araguaian river dolphin; โปรตุเกส: boto do Araguaia; ชื่อวิทยาศาสตร์: Inia araguaiaensis) เป็นสัตว์ในวงศ์โลมาแม่น้ำ (Iniidae) ในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งมีการประกาศการจำแนกเป็นสปีชีส์ใหม่แยกจากโลมาแม่น้ำแอมะซอน (Inia geoffrensis) ในปี 2557

การค้นพบ[แก้]

โลมาแม่น้ำอาราไกวยา มีชื่อท้องถิ่นว่า "โบตูดูอาราไกวยา" (boto do Araguaia)[1] จำแนกจากโลมาแม่น้ำแอมะซอน (I. geoffrensis) หรือโลมาสีชมพู ซึ่งเป็นโลมาแม่น้ำชนิดที่เป็นที่รู้จักกันดี เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2557 โดยการศึกษาของทีมนักวิทยาศาสตร์ในประเทศบราซิล ลักษณะทั่วไปของโลมาแม่น้ำอาราไกวยาคล้ายคลึงกับโลมาแม่น้ำแอมะซอนมาก จนกระทั่งมีการตรวจสอบข้อมูลไมโครแซเทลไลท์นิวเคลียสและดีเอ็นเอไมโทคอนเดรียจากโลมาในแม่น้ำอาราไกวยาหลายสิบตัว เช่นเดียวกับความแตกต่างในสัณฐานของกะโหลกศีรษะ (โดยทั่วไป โลมาแม่น้ำอาราไกวยามีกะโหลกใหญ่กว่า) ก็ได้ข้อสรุปว่าโลมาดังกล่าวเป็นชนิดใหม่ นอกจากนี้ โลมาแม่น้ำอาราไกวยายังแตกต่างจากโลมาแม่น้ำแอมะซอนและโบลิเวียในด้านจำนวนฟัน (24–28 ซี่ 25–29 ซี่ และ 31–35 ซี่ตามลำดับ) เชื่อว่ามีวิวัฒนาการแยกออกมาจากโลมาแม่น้ำแอมะซอนราว 2 ล้านปีก่อน และจัดเป็นโลมาแม่น้ำชนิดแรกที่ค้นพบหลังจากปี 2461 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติ[2][1][3][4]

โลมาแม่น้ำอาราไกวยาพบกระจายพันธุ์ในแม่น้ำอาราไกวยาในประเทศบราซิล ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ไหลไปทางเหนือเป็นระยะทาง 2,600 กิโลเมตร เพื่อไปรวมกับแม่น้ำแอมะซอน เชื่อว่ามีจำนวนประชากรในธรรมชาติราว 1,000 ตัว[1]

สถานะการอนุรักษ์[แก้]

จำนวนประชากรของโลมาสายพันธุ์นี้มีประมาณ 600 - 1,500 ตัว และมีความหลากหลายทางพันธุกรรมที่จำกัด[2] แหล่งที่อยู่อาศัยของโลมาแม่น้ำอาราไกวยาถูกนำไปใช้ในกิจกรรมทางการเกษตร รวมไปถึงการสร้างเขื่อนในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยปกติแล้วโลมาแม่น้ำอาราไกวยาจะอยู่อาศัยในบริเวณแม่น้ำอาราไกวยาประมาณ 1500 กิโลเมตร จากความยาวแม่น้ำทั้งสิ้น 2110 กิโลเมตร ส่วนในบริเวณแม่น้ำโตคานติน โลมาแม่น้ำอาราไกวยาจะถูกแบ่งแหล่งที่อยู่อาศัยออกเป็น 6 ส่วนโดยเขื่อนทั้งสิ้น 6 แห่ง ส่งผลให้ประชากรโลมาชนิดนี้อยู่ในภาวะอันตราย[2] ส่งผลให้มีผู้เสนอให้จัดโลมาแม่น้ำอาราไกวยาเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์หรือสถานะที่แย่กว่านั้นตามหลักเกณฑ์การจัดของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ[2]

ประชากรโลมาแม่น้ำอาราไกวยาส่วนใหญ่อาศัยอยู่รอบ ๆ Cantão State Park ซึ่งมีทะเลสาบเป็นส่วนมากของลุ่มแม่น้ำอาราไกวยา อย่างไรก็ตามชาวประมงในบริเวณนั้นมักฆ่าโลมาชนิดนี้ เนื่องจากโลมาชนิดนี้มักเข้ามากินปลาในแหของชาวประมง การยิงปืนใส่โลมาชนิดนี้เป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไป แต่ส่วนใหญ่แล้วการยิงปืนมักทำให้เจ้าหน้าที่ของอุทยานได้ยิน ทำให้ชาวประมงบางคนนิยมใช้อาหารมีพิษเพื่อให้โลมาชนิดนี้กิน ประชากรโลมาที่อยู่ทางตอนใต้ที่สุดเป็นประชากรโลมากลุ่มเล็ก ๆ ที่อาศัยอยู่แยกออกจากกัน ซึ่งเป็นโลมาในเขตแม่น้ำโตคานตินเหนือเขื่อน Serra da Mesa[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 "พบโลมาแม่น้ำชนิดใหม่ครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 1". ผู้จัดการออนไลน์. 16 February 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 16 February 2014.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 doi:10.1371/journal.pone.0083623
    This citation will be automatically completed in the next few minutes. You can jump the queue or expand by hand
  3. McGrath, M. (2014-01-22). "Brazil dolphin is first new river species since 1918". BBC. สืบค้นเมื่อ 2014-01-23.
  4. Anderson, N. (2014-01-24). "Inia araguaiaensis: New Species of River Dolphin Found in Brazil". Sci-News.com. สืบค้นเมื่อ 2014-01-30.
  5. Instituto Araguaia. Projeto Boto do Araguaia เก็บถาวร 2016-05-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Inia araguaiaensis ที่วิกิสปีชีส์