ฟร็องซัว บูเช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก François Boucher)
ฟร็องซัว บูเช
“อาหารเช้า” ค.ศ. 1739

ฟร็องซัว บูเช (ฝรั่งเศส: François Boucher; 29 กันยายน ค.ศ. 1703 - 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1770) เป็นจิตรกรสมัยโรโคโคคนสำคัญชาวฝรั่งเศสของคริสต์ศตวรรษที่ 18 ผู้มีชื่อเสียงในงานเขียนที่เป็นอุดมคติและอวบอิ่ม (voluptuous) ของภาพประเภทคลาสสิก อุปมานิทัศน์ และท้องทุ่ง (pastoral) นอกจากนั้นบูเชก็ยังเขียนภาพเหมือนหลายภาพของมาดาม เดอ ปงปาดูร์

ประวัติ[แก้]

ฟร็องซัว บูเชเกิดเมื่อวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1703 ที่กรุงปารีสในประเทศฝรั่งเศส เป็นบุตรของนีกอลา บูเช ช่างออกแบบลูกไม้ บูเชอาจจะเป็นจิตรกรตกแต่งผู้มีชื่อเสียงที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 18 จากงานเขียนที่เรียกว่ามีลักษณะแบบโรโคโค เมื่อมีอายุได้ 17 ปีบูเชก็ไปฝึกงานกับฟร็องซัว เลอมวน (François Lemoyne) แต่เพียงสามเดือนบูเชก็ไปทำงานกับช่างพิมพ์ (engraver) ฌ็อง-ฟร็องซัว การ์ ภายในสามปีเท่านั้นบูเชก็ได้รับรางวัลอันมีเกียรติกรองด์ปรีซ์เดอโรมจากราชสถาบันแห่งจิตรกรรมและประติมากรรม (Académie de peinture et de sculpture) แต่ก็ไม่ได้ถือโอกาสรับรางวัลในการเดินทางไปศึกษายังสถาบันแห่งฝรั่งเศสแห่งกรุงโรม (Académie de France à Rome) จนกระทั่งอีกสี่ปีต่อมา เมื่อกลับจากอิตาลีในปี ค.ศ. 1731 บูเชก็ได้รับเข้าเป็นสมาชิกของราชสถาบันแห่งจิตรกรรมและประติมากรรมในฐานะจิตรกรประวัติศาสตร์ และในปี ค.ศ. 1734 ก็ได้เป็นสมาชิกของคณะวิชาการของสถาบัน

จากนั้นงานอาชีพของบูเชก็เริ่มรุ่งเรืองขึ้นเมื่อได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นจากการเป็นศาสตราจารย์เป็นอธิการของสถาบัน, เป็นผู้อำนวยการโรงงานทอพรมแขวนผนังกอเบอแล็ง ในปี ค.ศ. 1755 และ เป็นจิตรกรเอกประจำราชสำนักฝรั่งเศส ระหว่างปี ค.ศ. 1765 ถึงปี ค.ศ. 1770

อิทธิพลของอ็องตวน วาโต และปีเตอร์ พอล รูเบนส์ เห็นได้ในงานเขียนในสมัยแรกของบูเชที่เป็นงานเขียนที่แสดงความสงบและความเป็นอุดมคติ ที่เห็นได้จากธรรมชาติและภูมิทัศน์ที่เขียน แต่งานเขียนของบูเชต่างจากงานเขียนประเภทเดียวกันที่ทำกันมาก่อนหน้านั้นที่มิได้แสดงความบริสุทธิ์ของธรรมชาติแต่เป็นการเขียนที่มีลักษณะเฉพาะตัวและแฝงความเร้าใจทางเพศ (eroticism) เข้าไปในภาพด้วย นอกจากนั้นงานเขียนที่เกี่ยวกับตำนานเทพก็เป็นงานเขียนที่เต็มไปด้วยพลังและความรู้สึกอันใกล้ชิดแทนที่จะเป็นงานเขียนที่แสดงความมีอานุภาพของเทพตามธรรมเนียมการเขียน มาดาม เดอ ปงปาดูร์ (พระสนมในพระเจ้าหลุยส์ที่ 15) เป็นผู้หนึ่งที่ชื่นชมงานเขียนของบูเช โดยเฉพาะในงานเขียนภาพเหมือนของเธอเองที่บูเชส่งเสริมความงามของตัวแบบ

ภาพเขียนเช่น “อาหารเช้า” ที่เขียนในปี ค.ศ. 1739 เป็นฉากครอบครัวเป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการเขียนภาพชีวิตประจำวันที่บูเชใช้ภรรยาและครอบครัวของตนเองเป็นแบบ แต่ฉากที่แสดงความใกล้ชิดของครอบครัวเช่นนี้เป็นลักษณะที่ต่างจากการเขียนภาพแบบ “ยั่วยวนอารมณ์” (licentious) อย่างสิ้นเชิง เช่นที่เห็นในภาพเหมือนประเภทสตรีในฮาเร็มโอดาลิสก์” (Odalisque) ภาพ “โอดาลิสก์” ผมดำภาพหนึ่งถึงกับทำให้นักวิพากษ์ศิลป์เดอนี ดีเดอโร (Denis Diderot) ถึงกับกล่าววิจารณ์บูเชว่า “ขายภรรยาเป็นโสเภณี” และภาพ “โอดาลิสก์ผมทอง” เป็นภาพเหมือนที่แสดงให้เห็นถึงการมีความสัมพันธ์นอกสมรสของพระมหากษัตริย์ บูเชมามีชื่อกับการเขียนภาพให้ลูกค้าส่วนตัวผู้มีฐานะดี แต่หลังจากที่ถูกวิจารณ์โดยดิเดอโรต์แล้วงานของบูเชก็เริ่มถูกโจมตีหนักขึ้นในระหว่างบั้นปลายของความสร้างสรรค์

นอกจากจะเป็นจิตรกรแล้วบูเชก็ยังออกแบบฉากละครและเครื่องแต่งกายของตัวละครด้วย เช่นสำหรับอุปรากรชวนขันโดยชาร์ล ซีมง ฟาวาร์ (Charles Simon Favart) ที่คล้ายกับลักษณะงานจิตรกรรมที่เขียน และออกแบบพรมทอแขวนผนัง เช่นการออกแบบพรมทอแขวนผนังโบแว (Beauvais tapestry) ที่เป็นหัวเรื่อง “เทศกาลอิตาลี” ในปี ค.ศ. 1736 ซึ่งเป็นงานที่มีชื่อเสียงจนมีการทอกันใหม่หลายครั้งต่อมา และต่อมาในชุดที่เป็นเรื่องราวของคิวปิดและไซคี[1] ระหว่างยี่สิบปีที่ยุ่งอยู่กับงานพรมทอแขวนผนังโบแว บูเชก็ออกแบบพรมอีกหกชุด จนเมื่อมาได้รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงงานทอพรมแขวนผนังกอเบอแล็ง ในปี ค.ศ. 1755 ที่เป็นคู่แข่งกับโบแวเท่านั้นที่ทำให้ต้องหยุดชะงักลง นอกจากนั้นแล้วบูเชก็ยังถูกเรียกตัวไปออกแบบงานฉลองในเทศกาลต่างๆ ของราชสำนักที่จัดโดยแผนกจัดงานมหกรรม (Menus plaisirs du Roi) และสำหรับอุปรากรที่พระราชวังแวร์ซายส์และพระราชวังฟงแตนบโล งานที่ได้รับก็ยิ่งสร้างชื่อเสียงที่มีอยู่แล้วให้มากยิ่งขึ้น ที่ทำให้มีผู้นำไปแกะพิมพ์ หรือเมื่อโรงงานพอร์ซีเลนแว็งแซน (Vincennes porcelain) และ โรงงานแห่งชาติแห่งแซฟวร์ (Manufacture nationale de Sèvres) นำไปเป็นลวดลายในการออกแบบเครื่องเคลือบ

จิตรกรฟื้นฟูคลาสสิกฌัก-หลุยส์ ดาวิดเริ่มศึกษางานเขียนกับฟร็องซัว บูเช

บูเชมีชื่อเสียงจากประโยคที่ว่าธรรมชาติ “trop verte et mal éclairée” ที่แปลว่า “เขียวเกินไปและให้แสงไม่ถูกต้อง”[2]

บูเชเสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1770 ในกรุงปารีส ชื่อของบูเชและมาดาม เดอ ปงปาดูร์เป็นชื่อสองชื่อที่มีความเกี่ยวดองกับศิลปะโรโคโคอย่างขาดไม่ได้ ที่ทำให้พี่น้องกงกูร์บรรยายว่า “บูเชเป็นหนึ่งในบุคคลประเภทที่เป็นผู้แทนของรสนิยมของศตวรรษ ผู้ที่แสดง, เป็นตัวแทน และ เป็นสัญลักษณ์ของยุค”

อ้างอิง[แก้]

  1. Kathryn B. Hiesinger, "The Sources of François Boucher's 'Psyche' Tapestries" Philadelphia Museum of Art Bulletin 72 No. 314 (November 1976), pp. 7-23.
  2. Houssaye, Arsène (1843). "Boucher et la peinture sous Louis XV"". Revue des deux mondes. n. s. 3: 70–98. p. 86 (citing a letter to Nicolas Lancret).

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ฟร็องซัว บูเช


สมุดภาพ[แก้]