ปลากระบอกเทา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Flathead mullet)
ปลากระบอกเทา
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Mugiliformes
วงศ์: Mugilidae
สกุล: Mugil
สปีชีส์: M.  cephalus
ชื่อทวินาม
Mugil cephalus
Linnaeus, 1758

ปลากระบอกเทา (ชื่อวิทยาศาสตร์: Mugil cephalus) เป็นปลาน้ำกร่อยชนิดหนึ่ง จำพวกปลากระบอก (Mugilidae) มีลักษณะทั่วไป คือ เป็นปลาที่มีลำตัวยาวป้อมหัวแหลม ที่ตามีเยื่อไขมันคลุม ปากเล็ก ครีบหลังมีสองอัน ส่วนหลังเป็นสีเทาหรือน้ำตาล ด้านข้างเป็นสีเงินวาวท้องขาว ข้างลำตัวมีแถบสีดำบาง ๆ พบมีอยู่ทั่วไปในเขตร้อนและเหนือหรือใต้เขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิก, มหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรอินเดีย รวมทั้งในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน สำหรับในไทยมีรายงานว่าพบที่จังหวัดสงขลาแต่ไม่มาก

วงจรชีวิตของปลากระบอกเทาคล้ายกับปลานวลจันทร์ทะเล ซึ่งเป็นปลาคนละวงศ์กัน กล่าวคือ ผสมพันธุ์วางไข่ในทะเลแล้วลูกปลาจะเข้ามาหากินและเจริญเติบโตในบริเวณชายฝั่ง ปลาจะเจริญเติบโตในบริเวณชายฝั่งและจะโตเต็มวัยพร้อมที่จะผสมพันธุ์วางไข่ได้เมื่อมีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ปลาเพศเมียจะมีไข่ตั้งแต่ 1-3 ล้านฟอง แล้วแต่ขนาดของปลา ปลาจะวางไข่ในทะเลลึกนอกชายฝั่งที่มีอุณหภูมิในช่วง 21-25 องศาเซลเซียส ลักษณะไข่ปลาเป็นไข่ครึ่งจมครึ่งลอยลูกปลาที่ฟักเป็นตัวจะถูกกระแสน้ำพัดพาเข้าในบริเวณชายฝั่ง ลูกปลาช่วงวัยอ่อนจะกินแพลงก์ตอนสัตว์เป็นอาหารเมื่อลูกปลาเจริญได้ขนาดประมาณ 3 เซนติเมตร ก็จะเปลี่ยนอุปนิสัยการกินอาหารมากินพืชแทน

ปลากระบอกเทาเป็นปลาที่กินพืชที่แท้จริงจัดอยู่ในขั้นอาหารที่สอง เป็นปลาที่ทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดีสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ได้ง่าย และสามารถหาอาหารกินได้ในทุกระดับน้ำ

ปลากระบอกเทาจะกินโดยวิธีการดูดหรือแทะเล็มที่พื้นผิววัสดุซึ่งมีทั้งอาหารและไม่ใช่อาหาร แต่จะมีอวัยวะกรองที่คอเรียกว่า "Phary ngeal fitering device" แยกตะกอนอาหารออกจากตะกอนที่ไม่ใช่อาหารแล้วพ่นตะกอนที่ไม่ใช่อาหารออกมาและส่วนที่เป็นอาหารก็จะกลืนลงสู่กระเพาะอาหารส่วนลำไส้จะยาวมาก ขดอยู่หลังกระเพาะอาหารยาวประมาณ 5 เท่าของตัวปลา[2][3]

ลูกปลากระบอกเทา

ปัจจุบัน ปลากระบอกเทา มีการทดลองเลี้ยงและส่งเสริมให้เลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับปลากระบอกชนิดอื่น ๆ โดยเลี้ยงกันในบ่อดิน นอกจากนี้แล้วยังมีการเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย นับเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย สามารถปรับตัวให้เข้ากับที่เลี้ยงได้เป็นอย่างดี [4]

อ้างอิง[แก้]

  1. จาก IUCN (อังกฤษ)
  2. ศาสตราจารย์ ดร.เปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต. ปลากระบอกกับการปรับปรุงสภาวะแวดล้อมในบ่อเลี้ยงกุ้งทะเล. ประมงเศรษฐกิจ 2 , 14. 2536. หน้า 18
  3. ชวลิต วิทยานนท์. พันธุ์ปลากระบอกของน่านน้ำไทย. 2531. ข่าวกรมประมง. ปีที่ 12 ฉบับที่ 6 หน้า 18.
  4. ชวิน ตันพิทยคุปต์, กิตติพงษ์ จารุธาณินทร์, นันทวัฒน์ โชติสุวรรณ, Amphidromous story สุดยอดนักล่า ปลาสองน้ำ คอลัมน์ Wild Ambition. นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 3 ฉบับที่ 35: พฤษภาคม 2013 หน้า 116

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Mugil cephalus ที่วิกิสปีชีส์