การปรับภาวะให้เกิดความกลัว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Fear conditioning)

การปรับภาวะให้เกิดความกลัว[1] (อังกฤษ: fear conditioning) เป็นรูปแบบทางพฤติกรรมที่สิ่งมีชีวิตเรียนรู้เพื่อพยากรณ์เหตุการณ์ที่ไม่น่าพึงใจ[2] เป็นรูปแบบแห่งการเรียนรู้โดยจับคู่สิ่งแวดล้อมที่ปกติเป็นกลาง ๆ (เช่นสถานที่) หรือตัวกระตุ้นที่เป็นกลาง ๆ (เช่นเสียง) กับตัวกระตุ้นที่ไม่น่ายินดี (เช่นถูกไฟดูด เสียงดัง หรือกลิ่นเหม็น) ในที่สุด การจับคู่เช่นนั้นเป็นเหตุให้สิ่งมีชีวิตตอบสนองด้วยความกลัว ต่อตัวกระตุ้นหรือสิ่งแวดล้อมที่ในตอนแรกเป็นกลาง ๆ เพียงลำพังโดยปราศจากตัวกระตุ้นที่ไม่น่ายินดี ถ้าใช้ศัพท์ที่เกี่ยวกับการปรับสภาวะแบบคลาสสิก (classical conditioning) ตัวกระตุ้นหรือสิ่งแวดล้อมที่เป็นกลาง ๆ เรียกว่า สิ่งเร้ามีเงื่อนไข (conditional stimulus) ส่วนตัวกระตุ้นที่ไม่น่ายินดีเรียกว่า สิ่งเร้าไม่มีเงื่อนไข (unconditional stimulus) และความกลัวที่เกิดขึ้นในที่สุดของการปรับสภาวะเรียกว่า การตอบสนองมีเงื่อนไข (conditional response)

มีการศึกษาเรื่องการปรับภาวะให้เกิดความกลัวในสัตว์สปีชีส์ต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่หอยทากจนกระทั่งถึงมนุษย์ ในมนุษย์ ความกลัวมีเงื่อนไขวัดได้โดยการรายงานของผู้รับการทดสอบและการตอบสนองทางผิวหนังโดยการนำกระแสไฟ (galvanic skin response[3]) ในสัตวอื่น ความกลัวมีเงื่อนไขวัดได้โดยการมีตัวแข็งของสัตว์ (คือช่วงเวลาที่สัตว์ทำการสังเกตการณ์โดยไม่มีการเคลื่อนไหว) หรือโดย fear potentiated startle[4] ซึ่งเป็นการตอบสนองโดยรีเฟล็กซ์ต่อตัวกระตุ้นที่น่ากลัว ความเปลี่ยนแปลงของอัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ และการตอบสนองในกล้ามเนื้อวัดโดยการบันทึกคลื่นไฟฟ้าในกล้ามเนื้อ (electromyography) ก็สามารถใช้ได้ในการวัดความกลัวมีเงื่อนไข

การปรับภาวะให้เกิดความกลัวเชื่อกันว่า อาศัยเขตในสมองที่เรียกว่า อะมิกดะลา (amygdala) การตัดออกหรือการยับยั้งการทำงานของอะมิกดะลาสามารถยับยั้งทั้งการเรียนรู้และการแสดงออกของความกลัว การปรับภาวะให้เกิดความกลัวบางประเภท (แบบ contextual และ trace) ก็อาศัยเขตฮิปโปแคมปัสด้วย ซึ่งเป็นเขตสมองเชื่อกันว่ารับพลังประสาทนำเข้าจากอะมิกดะลาและประสานสัญญาณนั้นกับข้อมูลประสบการณ์ที่เคยมีมาก่อนที่ทำให้ตัวกระตุ้นนั้นมีความหมาย

ทฤษฎีที่ใช้อธิบายประสบการณ์ที่ให้เกิดความบาดเจ็บหรือความเครียดทางจิตใจ บอกเป็นนัยว่า ความหวาดกลัวที่อาศัยอะมิกดะลาจะไม่อาศัยฮิปโปแคมปัสในช่วงเวลาที่กำลังประสบความเครียดอย่างรุนแรง และจะมีการบันทึกประสบการณ์นั้นไว้ทางกายภาพหรือโดยเป็นภาพ เป็นความรู้สึกที่สามารถจะกลับมาเกิดขึ้นอีกปรากฏเป็นอาการต่าง ๆ ทางกายภาพ หรือเป็นภาพย้อนหลัง (flashback) โดยที่ไม่มีความหมายเกี่ยวข้องเหตุการณ์ที่กำลังเกิดในปัจจุบัน[5]

นักทฤษฎีบางพวกเสนอว่า ความกลัวมีเงื่อนไขเป็นไปร่วมกับเหตุเกิดของโรควิตกกังวลประเภทต่าง ๆ ทั้งโดยกิจและโดยระบบประสาท[6] งานวิจัยเกี่ยวกับการได้มา (acquisition) การทำให้มั่นคง (consolidation) และความสูญไป (extinction) ของความกลัวมีเงื่อนไข อาจจะนำไปสู่การบำบัดรักษาทางเวชกรรมหรือทางจิตบำบัดใหม่ ๆ เพื่อโรคต่าง ๆ เช่น โรคดิสโซสิเอทิฟ โรคกลัวประเภทต่าง ๆ และความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (post-traumatic stress disorder)

ผลงานวิจัยของโจเซ็ฟ เลอดูซ์[แก้]

โจเซ็ฟ เลอดูซ์ นักประสาทวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน พบวิถีประสาทสองทางในอะมิกดะลาในสมองของหนูทดลองที่ทำการทดลองโดยการปรับภาวะให้เกิดความกลัวและโดยทำรอยโรค เลอดูซ์เรียกวิถีประสาทเหล่านั้นว่า ทางบน (high road) และทางล่าง (low road) ทางล่างเป็นวิถีประสาทที่ส่งสัญญาณจากตัวกระตุ้นไปยังทาลามัส ต่อจากนั้นไปยังอะมิกดะลาซึ่งเริ่มการตอบสนองด้วยความกลัวในร่างกาย ลำดับการทำงานนี้เกิดขึ้นนอกอำนาจจิตใจไม่ประกอบด้วยการรับรู้ตัวกระตุ้น (เช่นสัตว์ยังไม่ทันมีความรู้สึกว่าเห็นตัวกระตุ้น แต่ก็เกิดความกลัวแล้ว) นึ่เป็นทางประสาทที่เร็วที่สุดที่จะให้เกิดการตอบสนองทางกาย แต่ว่า ทางบนนั้นก็เริ่มทำงานไปพร้อม ๆ กันกับทางล่าง แต่ว่าเป็นทางที่ช้ากว่าซึ่งเกี่ยวข้องกับเปลือกสมองเขตต่าง ๆ ที่ในที่สุดนำไปสู่การรับรู้ว่าตัวกระตุ้น (ที่ทำให้เกิดความกลัว) นั้นคืออะไร ทางล่างเป็นระบบใต้เปลือกสมอง (subcortical) เท่านั้น ดังนั้น เป็นทางที่พิจารณาว่าเป็นกลไกการป้องกันตัวแบบดั้งเดิมที่ไม่ซับซ้อน และมีอยู่ตามลำพังในสัตว์ที่มีวิวัฒนาการที่ต่ำกว่า ที่ยังไม่มีการพัฒนาส่วนที่ซับซ้อนกว่าของสมอง ส่วนในสัตว์ที่มีวิวัฒนาการที่สูงกว่า ทั้งทางบนทางล่างทำงานไปพร้อม ๆ กันเพื่อก่อให้เกิดทั้งการตอบสนองด้วยความกลัวและทั้งข้อมูลป้อนกลับคือการรับรู้ตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดความกลัว[7]

การปรับภาวะให้เกิดความกลัวด้วยกลิ่นในหนูทดลอง[แก้]

มีการใช้สารอินทรีย์ประกอบ Acetophenone[8] ในการทดลองเพื่อตรวจสอบว่ามีการสืบทอดทางพันธุกรรมของประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดจากพ่อแม่หรือไม่ โดยเป็นการทดลองแบบการปรับภาวะให้เกิดความกลัวด้วยกลิ่น กลิ่นของ Acetophenone จะเริ่มการทำงานของเซลล์รับกลิ่น (odorant receptor) ในระบบประสาท ซึ่งนำมาใช้ในการปรับสภาวะให้หนู การทดลองของไดแอสและเรสเรอร์[9] แสดงว่า ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอาจจะมีการสืบทอดทางพันธุกรรมที่ปรากฏทางพฤติกรรม ทางประสาทกายวิภาค และทางอีพีเจเนติกส์

ดูเพิ่ม[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. "ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑", ให้ความหมายของ conditioning ว่า "การปรับภาวะ"
  2. Maren, Stephen (2001). "Neurobiology of Pavlovian fear conditioning". Annual Review of Neuroscience. 24: 897–931. doi:10.1146/annurev.neuro.24.1.897. PMID 11520922.
  3. การตอบสนองของผิวหนังโดยการนำกระแสไฟ (galvanic skin response) เป็นวิธีการวัดการนำกระแสไฟฟ้าของผิวหนัง ซึ่งมีค่าต่าง ๆ กันไปขึ้นอยู่กับความชื้นของผิว นี่เป็นสิ่งที่น่าสนใจเพราะว่า ต่อมเหงื่ออยู่ใต้การบังคับของระบบประสาทซิมพาเทติก ดังนั้น การนำกระแสไฟฟ้าของผิวสามารถใช้เป็นเครื่องบ่งถึงความตื่นตัวทางจิตและทางกายภาพ
  4. fear potentiated startle เป็นการตอบสนองแบบรีเฟล็กซ์ทางกายภาพต่อตัวกระตุ้นที่ปรากฏ ซึ่งเป็นตัวชี้บอกปฏิกิริยาที่ประกอบด้วยความกลัวในสิ่งมีชีวิต ปฏิกิริยานี้เกิดได้เนื่องจากตัวกระตุ้นอะไรก็ได้ที่น่ากลัว เช่นจะเป็นวัตถุ หรือบุคคล หรือสถานการณ์ที่ทำให้สัตว์ประสบกับความรู้สึกกลัว แต่ในการทดลอง มักจะใช้เสียง เช่นเสียงดัง หรือแสง เช่นแสงสว่างมาก และวัดปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นโดยอัตราการเต้นของหัวใจ
  5. Bromberg, Philip M. (2003). "Something wicked this way comes: Trauma, dissociation, and conflict: The space where psychoanalysis, cognitive science, and neuroscience overlap". Psychoanalytic Psychology. 20 (3): 558–74. doi:10.1037/0736-9735.20.3.558.
  6. Rosen, Jeffrey B.; Schulkin, Jay (1998). "From normal fear to pathological anxiety". Psychological Review. 105 (2): 325–50. doi:10.1037/0033-295X.105.2.325. PMID 9577241.
  7. LeDoux, Joseph (1996). The Emotional Brain: The Mysterious Underpinnings of Emotional Life. New York: Simon & Schuster.
  8. Acetophenone เป็นสารอินทรีย์ประกอบ (organic compound) มีสูตรเคมี C6H5C (0) CH3 เป็นคีโตนแบบ aromatic ที่ง่ายที่สุด เป็นของเหลวไม่มีสี เป็นสารตั้งต้นของเรซินและน้ำหอม
  9. Dias, B. G. & Ressler, K. J. (2013) . Parental olfactory experience influences behavior and neural structure in subsequent generations. Nature Neuroscience, Dec 01, 2013. PMID 24292232 (Retrieved December 21, 2013)