ETAOIN SHRDLU

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
etaoin shrdlu ใน เดอะนิวยอร์กไทมส์ 30 ตุลาคม 1903

Etaoin shrdlu (เสียงอ่านภาษาอังกฤษ: /ˈɛtiˌɔɪn ˈʃɜrdlu/,[1] เอ-ที-ออยน์ เชิร์ด-ลู, /ˈtɑːn ʃrədˈl/)[2] เป็นถ้อยคำภาษาอังกฤษที่ไม่มีความหมายและไร้สาระ ซึ่งปรากฏบ่อยมากในสิ่งพิมพ์ยุคพิมพ์ดีด[3]

ในยุคพิมพ์ดีด เมื่อผู้เรียงพิมพ์พิมพ์ผิดแล้ว วิธีแก้คำผิดคือต้องรอให้เต็มบรรทัดก่อน จึงค่อยวกกลับไปพิมพ์คำที่ถูกทับคำผิดนั้น อย่างไรก็ดี ผู้อ่านมักไม่สนใจคำผิด และคำผิดนั้นก็ไม่กระทบเนื้อความของสิ่งพิมพ์ด้วย ผู้เรียงพิมพ์จึงมักเลือกปล่อยบรรทัดที่พิมพ์ผิดนั้นไว้ แล้วขึ้นบรรทัดใหม่ให้ถูกต่อไปแทน ในการนี้ ผู้เรียงพิมพ์มักพิมพ์อักษรเรื่อยเปื่อยต่อจากคำผิด เพื่อให้บรรทัดเต็มและจะได้ขึ้นบรรทัดใหม่เร็ว ๆ และอักษรเรื่อยเปื่อยที่พิมพ์กันบ่อยที่สุด คือ ETAOIN SHRDLU เพราะสิบสองตัวนี้กดง่ายใกล้มือ ทั้งนี้ อักษรบนแป้นเครื่องเรียงพิมพ์นั้นจัดตำแหน่งตามการใช้บ่อย และเมื่อผู้เรียงพิมพ์ทำเช่นนั้นบ่อยเข้า ๆ ก็กลายเป็นการสร้างคำประหลาด คือ ETAOIN SHRDLU และเป็นเรื่องขบขันไป[3]

ถ้อยคำ ETAOIN SHRDLU ปรากฏในสิ่งพิมพ์ยุคนั้นถี่มาก ถึงขนาดที่สมัยต่อมาได้บรรจุไว้ในพจนานุกรมสำคัญหลายฉบับ เช่น พจนานุกรมของแรนเดิมเฮาส์เว็บสเตอร์ฉบับสมบูรณ์ (Random House Webster's Unabridged Dictionary) [1] และนับเป็นมรดกตกทอดทางประวัติศาสตร์สิ่งพิมพ์และวัฒนธรรม[3]

อนึ่ง หนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์กไทมส์ (The New York Times) ฉบับ 2 กรกฎาคม 1978 ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ดีดฉบับสุดท้าย ลงสารคดีชื่อ "ลาก่อน Etaoin Shrdlu" (Farewell, Etaoin Shrdlu) ด้วย[3]

ในภาษาฝรั่งเศสก็มีถ้อยคำพิมพ์ผิดลักษณะเดียวกัน คือ elaoin sdrétu

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "etaoin shrdlu". Merriam-Webster. Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ December 21, 2018.
  2. Weiss, David Loeb (July 1, 1978). "Farewell, Etaoin Shrdlu". New York Times. สืบค้นเมื่อ December 21, 2018.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 "EMC: Abstract: Farewell Etaoin Shrdlu". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-20. สืบค้นเมื่อ 2011-09-12. เก็บถาวร 2014-04-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]