อีกา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Corvus macrorhynchos)
อีกา
เสียงร้อง
อีกาในสวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Passeriformes
วงศ์: Corvidae
สกุล: Corvus
สปีชีส์: C.  macrorhynchos
ชื่อทวินาม
Corvus macrorhynchos
Johann Georg Wagler, 1827
การกระจายพันธุ์

อีกา[2] หรือ กา[3] (อังกฤษ: jungle crow, large-billed crow, thick-billed crow, ชื่อวิทยาศาสตร์: Corvus macrorhynchos แปลว่านกกาที่มีปากใหญ่) เป็นนกกาที่กระจายพันธุ์เป็นวงกว้างในเอเชีย ปรับตัวได้เก่ง สามารถกินอาหารได้หลากหลาย ทำให้ขยายไปยังพื้นที่ใหม่ได้ง่าย บางครั้งถูกมองว่าเป็นสัตว์รังควานโดยเฉพาะในเกาะต่าง ๆ มีปากใหญ่ ทำให้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า macrorhynchos ซึ่งเป็นคำกรีกโบราณแปลว่า ปากใหญ่ และมีชื่ออังกฤษว่า large-billed crow (นกกาปากใหญ่) หรือ thick-billed crow (นกกาปากหนา) บางครั้งมองผิดว่าเป็น นกเรเวน

นกมีพันธุ์ย่อยถึง 11 ชนิด ที่แตกต่างกันทางเสียงร้อง ทางสัณฐาน และทางพันธุกรรม ทำให้มีแนวคิดว่า จริง ๆ อาจจะเป็นนกหลายพันธุ์[4][5] พันธุ์ตัวอย่างเช่น

  • Corvus (m.) levaillantii - อีกาตะวันออก
  • Corvus (m.) culminatus - อีกาอินเดีย
  • Corvus (m.) japonensis - อีกาปากใหญ่

ในประเทศไทย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 จึงห้ามล่า พยายามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้าหรือส่งออก ห้ามครอบครอง ห้ามเพาะพันธุ์ ห้ามเก็บหรือทำอันตรายรัง การห้ามการครอบครองและการค้ามีผลไปถึงไข่และซาก[6]

ลักษณะ[แก้]

C. m. culminatus, รัฐเบงกอลตะวันตก ประเทศอินเดีย

กาโดยทั่วไปยาวประมาณ 46-59 ซม. แต่จะมีความต่าง ๆ กันตามภูมิภาค เช่นในสุดทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่น ที่เกาะคูริลและคาบสมุทรซาฮาลิน จะค่อนข้างใหญ่กว่านกกากินซาก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Corvus corone) ในขณะที่ชนิดย่อยในประเทศอินเดียในเขตสุดตะวันตกเฉียงใต้ที่มันอยู่ จะเล็กกว่านั้นพอสมควร นกทุก ๆ พันธุ์ย่อยมีปากยาว โดยปากด้านบนจะหนาและโค้ง ดูใหญ่และทำให้ดูเหมือนนกเรเวน โดยทั่วไปแล้ว นกทุก ๆ พันธุ์จะมีขนดำออกเทา ๆ ที่ด้านหลังของหัว คอ ไหล่ และด้านล่างของตัว ส่วนปีก หาง หน้า และคอจะเป็นสีดำเงา ส่วนที่ออกเทา ๆ จะแตกต่างกันไปตามภูมิภาค เช่นในพันธุ์อินเดียจะเกือบดำสนิท

การกระจายพันธุ์และที่อยู่[แก้]

เขตที่อยู่ของนกกากว้างขวาง เริ่มตั้งแต่ชายฝั่งทะเลตะวันออกเฉียงเหนือของเอเชีย ไปจนถึงประเทศอัฟกานิสถานและอิหร่านตะวันออกซึ่งเป็นสุดเขตทางตะวันตก ไปจนถึงเอเชียใต้ เอเชียอาคเนย์ ประเทศไทยกับกัมพูชา และหมู่เกาะซุนดาน้อย ซึ่งเป็นเขตสุดทางตะวันออกเฉียงใต้ นกอยู่ทั้งในป่า อุทยาน สวน และเขตเกษตรกรรมที่มีต้นไม้ แต่ในทางทิศใต้ที่ไม่มีนกเรเวนและนกกาอื่น ๆ เป็นคู่แข่ง จะอยู่ในเขตที่โล่ง ๆ กว่าเมื่อเทียบกับทางทิศเหนือ

พฤติกรรม[แก้]

อาหาร[แก้]

นกกินอะไรได้ง่ายมาก จะหาอาหารทั้งจากที่พื้นและจากต้นไม้ จะพยายามกินทุก ๆ อย่างที่ดูน่าจะกินได้ ตายแล้วหรือยังมีชีวิตก็ดี เป็นพืชหรือสัตว์ก็ดี เป็นพันธุ์นกที่ดื้อและกล้ามาก โดยเฉพาะในเขตเมือง ในประเทศญี่ปุ่น นกจัดว่าเป็นสัตว์รังควาน เนื่องจากจะจิกเปิดถุงขยะ หรือขโมยไม้ลวดแขวนเสื้อผ้าเพื่อทำรัง ในประเทศศรีลังกา นักวิชาการพบว่า นกเป็นสัตว์ล่าเหยื่อชนิดหนึ่ง หรืออาจจะเป็นตัวสำคัญด้วยซ้ำ ของสัตว์เล็ก ๆ เช่น นกจะชำนาญจับพวกกิ้งก่า คือใช้เวลาเพียงแค่ 45 นาทีเพื่อหา จับ และกินกิ้งก่าประจำถิ่นพันธุ์ที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ในอุทยานแห่งชาติ[7]

ส่วนพฤติกรรมการเก็บตุนอาหาร จะพบในนกพันธุ์ย่อย culminatus[8][9]

การสืบพันธุ์[แก้]

อีกาญี่ปุ่น

รังนกสร้างด้วยกิ่งไม้ซี่เล็ก ๆ ตรงง่ามกิ่งไม้ทำเป็นหลุมตื้น ๆ ปกติบนต้นไม้สูงโดยเฉพาะพวกไม้สนสูง ๆ บางครั้งก็ทำเรียบร้อยดี บ้างครั้งก็ไม่ค่อยเรียบร้อยกะรุ่งกะริ่ง และจะปูด้วยรากหญ้า ขนสัตว์ ผ้าขี้ริ้ว ใยพืช และวัสดุที่คล้ายกันอื่น ๆ แต่ก็พบรังนกที่สร้างด้วยเส้นลวดโลหะล้วน จะวางไข่ปกติ 3-5 ฟองและฟักอยู่ 17-19 วัน ลูกนกจะหัดบินโดยปกติภายใน 35 วัน ในประเทศอินเดีย อีกาพันธุ์ต่าง ๆ จะผสมพันธุ์ในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษจิกายน แต่ในที่ราบต่ำ จะมีนกที่ผสมพันธุ์เริ่มตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม[10] ไข่แต่ละรังปกติจะมีเพียงแค่ 4-5 ฟอง น้อยครั้งที่จะมีถึง 6-7 ฟอง มีรูปวงรีกว้าง ค่อนข้างจะแหลมที่ปลายข้างหนึ่ง ผิวจะแข็งและละเอียดออกมันหน่อย ๆ พื้นสีจะออกน้ำเงินเขียวด่าง ๆ มีจุดและลายเป็นสีแดงน้ำตาล สีน้ำตาลอ่อน ๆ สีเทา และสีจางค่อนข้างจืดชืดอื่น ๆ ขนาดเฉลี่ยประมาณ 3.19 x 2.32 ซม.[10] อาจจะเป็นสัตว์ถูกเบียนคือถูกไข่ให้เลี้ยงโดยนกกาเหว่า[11]

การนอนพัก[แก้]

นกจะเกาะกิ่งนอนรวมกันเป็นกลุ่มบางครั้งเป็นพัน ๆ ตัว ซึ่งอาจจะเห็นได้ในเวลาช่วงเย็นเกาะกลุ่มกันเป็นกลุ่มใหญ่ และไม่ปรากฏว่าลดจำนวนแม้ในฤดูผสมพันธุ์ เพราะว่า จะยังไม่ผสมพันธุ์ในช่วงปีแรกหลังเกิด[10] แม้ว่าในเวลากลางวัน นกที่เป็นคู่อาจจะป้องกันอาณาเขตของตน แต่เวลากลางคืนจะนอนพักรวมกับตัวอื่นเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ นกจัดชั้นเป็นลูกพี่ลูกน้องตามลำดับ (linear dominance hierarchies) ที่แต่ละตัวจะรู้จำกันได้เอง[12]

เสียงร้อง[แก้]

เสียงร้องในประเทศญี่ปุ่น

เสียงร้องจะคล้ายกับอีแกที่เป็นนกพันธุ์ใกล้ชิดที่สุด แต่จะทุ้มและก้องกว่า ดังกา ๆ แต่ว่า ก็มีเสียงร้องอื่น ๆ ด้วย บางอย่างฟังดูเหมือนเสียงนกหัวขวานเคาะต้นไม้

ปัจจัยการตาย[แก้]

มีสัตว์ล่าอีกาไม่กี่อย่าง แต่ก็ยังถูกเบียนโดยพยาธิตัวกลมใน superfamily "Filarioidea" [13] ในประเทศญี่ปุ่น ยังพบพร้อมไข้หวัดนกประเภท H5N1 ที่ทำให้ถึงตายอีกด้วย[14]

นอกจากนั้นแล้ว การติดเชื้อ Clostridium และลำไส้เล็กอักเสบ (enteritis) ก็ยังทำให้นกตายเกลื่อนเป็นบางครั้ง[15]

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. BirdLife International (2012). "Corvus macrorhynchos". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2013.2. สืบค้นเมื่อ 2013-11-26.
  2. บรรจบ พันธุเมธา, ศาสตราจารย์, ดอกเตอร์. ภาษาต่างประเทศในภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2514, หน้า 67
  3. "กา ๑", พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒, น. ชื่อนกชนิด Corvus macrorhynchos ในวงศ์ Corvidae ตัวดำ ร้องกา ๆ, อีกา ก็เรียก; ชื่อดาวฤกษ์ธนิษฐา เช่น แม้นดาวกามาใกล้ในมนุษย์. (อภัย).
  4. Madge, S. C. (2009). del Hoyo, J.; Elliott, A.; Christie, D. A. (บ.ก.). Large-billed Crow (Corvus macrorhynchos). Handbook of the Birds of the World (Lynx ed.). Barcelona. pp. 631–632. ISBN 978-84-96553-50-7.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: editors list (ลิงก์)
  5. Martens, J; Böhner, J; Hammerschmidt, K. (2000). "Calls of the Jungle Crow (Corvus macrorhynchos s.l.) as a taxonomic character". J. Ornithol. 141: 275–284.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  6. "สัตว์ป่าคุ้มครอง". โลกสีเขียว. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-26. สืบค้นเมื่อ 2015-04-23. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |deadurl= ถูกละเว้น แนะนำ (|url-status=) (help)
  7. Karunarathna, Amarasinghe (2008). "Beobachtung einer Dickschnabelkrähe (Aves: Corvidae) beim Erbeuten von Ceylon-Taubagamen, Cophotis ceylanica (Reptilia: Agamidae), in Horton Plains Nationalpark auf Sri Lanka". Sauria. 30 (4): 59–62.
  8. Natarajan,V (1992). "Food-storing behaviour of the Jungle Crow Corvus macrorhynchos Wagler". Bombay Nat. Hist. Soc. 89 (3): 375.
  9. Sharma, Satish Kumar (1995). "Food storing behaviour of the Jungle Crow Corvus macrorhynchos Wagler". . Bombay Nat. Hist. Soc. 92 (1): 123.
  10. 10.0 10.1 10.2 Whistler, Hugh (1928). Popular Handbook of Indian Birds. Gurney and Jackson.
  11. Goodwin D. (1983). Crows of the World. Queensland University Press, St Lucia, Qld. ISBN 0-7022-1015-3.
  12. Izawa, Ei-Ichi; Watanabe, Shigeru (2008). "Formation of linear dominance relationship in captive jungle crows (Corvus macrorhynchos): Implications for individual recognition". Behavioural Processes. 78: 44–52.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  13. Chatterjee, R.K.; Tandon, A.; Saxena, K.C (1978). "Antigenic studies with Chandlerella hawkingi, the filarial parasite of Indian jungle crow, Corvus macrorhynchos". Indian Journal of Medical Research. 67 (1): 34–41.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  14. Tanimura, N; Tsukamoto, K; Okamatsu, M; Mase, M; Imada, T; Nakamura, K; Kubo, M; Yamaguchi, S; Irishio, W; Hayashi, M; Nakai, T; Yamauchi, A; Nishimura, M; Imai, K (2004). "Pathology of Fatal Highly Pathogenic H5N1 Avian Influenza Virus Infection in Large-billed Crows (Corvus macrorhynchos) during the 2004 Outbreak in Japan". Vet. Pathol. 43: 500–509.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  15. Yoshiji, Yanai, Tokuma, Hirayama, Haruko, Une, Yumi, Saito, Eriko, Sakai, Hiroki, Goryo, Masanobu, Fukushi, Hideto and Masegi, Toshiaki (2004) Fatal necrotic enteritis associated with Clostridium perfringens in wild crows (Corvus macrorhynchos). Avian Pathology,33 (1):19 — 24

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Corvus macrorhynchos ที่วิกิสปีชีส์