ปลาคู้ดำ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Colossoma)
ปลาคู้ดำ
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ไมโอซีน - ปัจจุบัน
ปลาขนาดใหญ่ในตลาดสดที่บราซิล
ปลาขนาดใหญ่ในตู้เลี้ยง
สถานะการอนุรักษ์
Not evaluated (IUCN 3.1)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Characiformes
วงศ์: Characidae
วงศ์ย่อย: Serrasalminae
สกุล: Colossoma
Eigenmann & Kennedy, 1903
สปีชีส์: C.  macropomum
ชื่อทวินาม
Colossoma macropomum
(Cuvier, 1818)
ชื่อพ้อง
  • Colossoma marcopomum
    (Cuvier, 1818)
  • Colossoma nigripinnis
    (Cope, 1878)
  • Colossoma oculus
    (Cope, 1872)
  • Myletes macropomus
    Cuvier, 1816
  • Myletes oculus
    Cope, 1872
  • Myletes nigripinnis
    Cope, 1878
  • Melloina tambaqui
    Amaral Campos, 1946
  • Piaractus nigripinnis
    (Cope, 1878)

ปลาคู้ดำ หรือ ปลาเปคูดำ (อังกฤษ: Blackfin pacu, Black pacu) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Colossoma macropomum อยู่ในวงศ์Characidae วงศ์ย่อยSerrasalminae มีรูปร่างทั่วไปคล้ายปลาปิรันยา ซึ่งเป็นปลาที่อยู่ในวงศ์เดียวกัน หากแต่ปลาคู้ดำจะมีส่วนเว้าของหน้าผากเว้าเข้ามากกว่า โคนหางจะคอดเล็ก ฟันภายในปากมีสภาพเป็นหน้าตัดคล้ายฟันมนุษย์ไม่แหลมคม เมื่อเทียบกับส่วนของลำตัว ลำตัวและปลายหางจะมีสีเงินปนดำ และเมื่อปลาโตยิ่งขึ้นในส่วนของสีดำนี้ก็จะเห็นชัดขึ้นด้วย

มีขนาดโตเต็มที่ได้ถึง 1 เมตร หนักได้ถึง 40 กิโลกรัม มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ในลุ่มแม่น้ำอเมซอนและแม่น้ำโอริโนโคซึ่งเป็นแม่น้ำสาขา มีพฤติกรรมชอบอาศัยอยู่รวมเป็นฝูง กินได้ทั้งพืชและสัตว์ ซึ่งแตกต่างไปจากปลาปิรันยาที่จะกินเพียงสัตว์อย่างเดียว และยังสามารถกินเมล็ดพืชที่ตกลงน้ำได้อีกด้วย โดยมักไปรอกินบริเวณผิวน้ำ

ปลาคู้ดำ จัดเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์ย่อย Serrasalminae อันเป็นวงศ์ย่อยเดียวกับปลาปิรันยา แต่ไม่มีนิสัยดุร้ายเท่า มีชื่อเป็นภาษาพื้นเมืองเรียกว่า Tambaqui หรือ Cachama หรือ Gamitana และเป็นปลาเพียงชนิดเดียวด้วยที่อยู่ในสกุล Colossoma[1]

เป็นปลาที่นิยมบริโภคกันในท้องถิ่น สามารถนำไปปรุงเป็นอาหารได้หลากหลาย เช่นเดียวกับปลาปิรันยาชนิดอื่น ๆ สำหรับในประเทศไทย ปลาคู้ดำได้เข้ามาสู่ประเทศไทยในฐานะเป็นปลาเศรษฐกิจที่กรมประมงส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยง โดยมีชื่อเรียกกันในแวดวงเกษตรว่า "ปลาจะละเม็ดน้ำจืด" เช่นเดียวกับ ปลาคู้แดง (Piaractus brachypomus) ด้วย

นอกจากนี้ยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย ซึ่งจากการนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามนี้ เมื่อปลาโตขึ้นผู้เลี้ยงไม่สามารถเลี้ยงต่อไปได้ไหว จึงนิยมนำไปปล่อยตามแหล่งน้ำธรรมชาติต่าง ๆ ทำให้ในปัจจุบัน มีปลาคู้ดำในแหล่งน้ำธรรมชาติตามที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น เขื่อนศรีนครินทร์ เป็นต้น จัดเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในจำพวกชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอีกชนิดหนึ่ง[2] [3]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Colossoma". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  2. ปลาคู้แดงฝาแฝดปิรันย่า[ลิงก์เสีย]
  3. Colossoma macropomum - Black Pacu (อังกฤษ)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]