วังเบลนิม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Blenheim Palace)
วังเบลนิม
Blenheim Palace
วังเบลนิม
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทวัง
สถาปัตยกรรมบาโรก
เมืองวูดสต็อค, ออกซฟอร์ดเชอร์
ประเทศอังกฤษ
พิกัด51°50′31″N 1°21′42″W / 51.84194°N 1.36167°W / 51.84194; -1.36167
เริ่มสร้างค.ศ. 1705 - ค.ศ. 1722
ผู้สร้างจอห์น เชอร์ชิล ดยุกแห่งมาร์ลบะระ
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกจอห์น แวนบรูห์
เว็บไซต์

วังเบลนิม (อังกฤษ: Blenheim Palace) หรือ คฤหาสน์เบลนิม เป็นคฤหาสน์ที่สร้างอย่างวังตั้งอยู่ที่เมืองเล็กๆ ชื่อวู้ดสต็อคในมลฑลออกซฟอร์ดเชอร์ในอังกฤษ สร้างโดยซาราห์ เชอร์ชิลผู้เป็นภรรยาของจอห์น เชอร์ชิล ดยุกแห่งมาร์ลบะระ และเป็นพระสหายสนิทของสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ ระหว่างปี ค.ศ. 1705 ถึง ค.ศ. 1722 วังเบลนิมเป็นสถาปัตยกรรมแบบวัง โดยมี เซอร์จอห์น แวนบรูห์เป็นสถาปนิก วังเบลนิมเป็นคฤหาสน์ที่มิได้เป็นของราชวงศ์ แต่ก็ใช้คำนำหน้าว่า “วัง” ซึ่งเป็นแห่งเดียวในอังกฤษเพราะความยิ่งใหญ่ของสิ่งก่อสร้าง

จุดประสงค์ของการก่อสร้างเมื่อเริ่มแรกเพื่อเป็นของขวัญสำหรับจอห์น เชอร์ชิล ดยุกแห่งมาร์ลบะระเพื่อเป็นการตอบแทนในการนำกองทัพอังกฤษรบชนะฝรั่งเศสและบาวาเรีย แต่ต่อมาเบลนิมกลายเป็นปัญหาในการต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งเป็นผลทำให้ดยุกและดัชเชสแห่งมาร์ลบะระสิ้นอำนาจ รวมทั้งการเสียชื่อเสียงของสถาปนิกจอห์น แวนบรูห์ ตัววังสร้างเป็นแบบบาโรก ปฏิกิริยาหรือคุณค่าของสิ่งก่อสร้างจนบัดนี้ก็ยังไม่เป็นที่เห็นพ้องกันได้ เช่นเดียวกับในสมัยเมื่อเริ่มสร้างในคริสต์ทศวรรษ 1720[1] ตัวสิ่งก่อสร้างเป็นลักษณะที่ผสมระหว่างที่อยู่อาศัย, ที่เก็บศพ และ อนุสาวรีย์ นอกจากนั้นสิ่งที่น่าสนใจคือเป็นที่เกิดของวินสตัน เชอร์ชิลอดีตนายกรัฐมนตรีคนสำคัญของอังกฤษ

คำจารึกเหนือประตูใหญ่ทางตะวันออกบอกประวัติของสิ่งก่อสร้าง:

“ในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตรีย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถ คฤหาสน์หลังนี้สร้างขึ้นเพื่อจอห์น เชอร์ชิล ดยุกแห่งมาร์ลบะระ และ ดัชเชสซาราห์ โดยเซอร์จอห์น แวนบรูห์ ระหว่างปี ค.ศ. 1705 ถึง ค.ศ. 1722 สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์แห่งบริเตนใหญ่พระราชทานคฤหาสน์หลวงแห่งวู้ดสต็อคพร้อมทั้งทุนจำนวน £240,000 เพื่อการสร้างเบลนิมโดยการอนุมัติจากรัฐสภา”

แต่ตามความเป็นจริงแล้วความสำเร็จของการสร้างเบลนิมเป็นผลจากความทะเยอทะยานของซาราห์ เชอร์ชิลเป็นส่วนใหญ่ หลังจากสร้างเสร็จเบลนิมก็กลายเป็นที่พำนักของตระกูลเชอร์ชิลมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาได้ราว 300 ปี ในระหว่างนั้นตัววังและอุทยานก็ได้รับการเปลื่ยนแปลงมาโดยตลอด เมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ตระกูลมาร์ลบะระก็ประสบปัญหาทางการเงินจนต้องขายทรัพย์สมบัติสำคัญๆ ไปบ้าง แต่การแต่งงานกับสตรีชาวอเมริกันก็ช่วยนำเงินมาบำรุงรักษาเบลนิมให้ยังอยู่ในสภาพดังเช่นเมื่อเริ่มสร้าง

ครอบครัวเชอร์ชิล[แก้]

ดยุกและดัชเชสแห่งมาร์ลบะระ ดยุกและดัชเชสแห่งมาร์ลบะระ
ดยุกและดัชเชสแห่งมาร์ลบะระ

จอห์น เชอร์ชิล ดยุกแห่งมาร์ลบะระ เกิดในมณฑลเดวอนทางตอนใต้ของอังกฤษ แม้ว่าจะมีเชื้อสายเกี่ยวดองกับเจ้านายแต่ครอบครัวเชอร์ชิลก็เพียงมาจากผู้ดีท้องถิ่น (gentry) มิใช่ผู้มีฐานะที่เป็นที่รู้จักกันเท่าใดนักในสังคมของคริสต์ศตวรรษที่ 18 จอห์น เชอร์ชิลเริ่มเข้ารับราชการเป็นทหารเมื่อปี ค.ศ. 1667 และประจำการครั้งแรกที่แทนเจียรส์ หลังจากนั้นก็ถูกส่งไปช่วยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ในการทำสงครามกับเนเธอร์แลนด์เมื่อได้รับเลื่อนตำแหน่งเป็นนายพัน ในปี ค.ศ. 1678 จอห์น เชอร์ชิลแต่งงานกับ ซาราห์ เจ็นนิงส์ เจ็ดปีต่อมาในรัชสมัยของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 เชอร์ชิลก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นบารอน เชอร์ชิลเป็นผู้นำในการปราบกบฏมอนมอธ เมื่อพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 ขึ้นครองราชย์เชอร์ชิลก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเอิร์ลแห่งมาร์ลบะระ

ระหว่างสงครามสืบราชบัลลังก์สเปนเชอร์ชิลก็เป็นแม่ทัพผู้มีชื่อเสียงโดยได้รับชัยชนะในการยุทธการต่างๆ หลายครั้งเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1702: ยุทธการเบลนิม ในปี ค.ศ. 1704, ยุทธการรามิลีส์ในปี ค.ศ. 1706, ยุทธการอูเดนาร์ดในปี ค.ศ. 1708 และ ยุทธการมาลพลาเคท์ในปี ค.ศ. 1709 ชัยชนะที่ได้รับทำให้อังกฤษปลอดภัยจากอันตรายจากการขยายอำนาจของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เชอร์ชิลจึงกลายเป็นวีรบุรุษในอังกฤษได้รับรางวัลต่างๆ รวมทั้งตำแหน่งดยุกแห่งมาร์ลบะระ กล่าวกันว่าระหว่างจอห์น และซาราห์ เชอร์ชิลผู้เป็นพระสหายสนิทของสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ จอห์น เชอร์ชิลก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นผู้ปกครองอังกฤษ ฉะนั้นจึงไม่น่าเป็นที่แปลกใจที่เชอร์ชิลจะได้รับพระราชทานวังเป็นการตอบแทน จอห์น เชอร์ชิลได้รับพระราชทานที่ดินที่วูดสต็อคให้เป็นที่สร้างวังใหม่ และรัฐสภาอนุมัติเงินก้อนใหญ่เพื่อใช้ในการดำเนินการก่อสร้าง

กล่าวกันว่าซาราห์ เชอร์ชิลภรรยาของจอห์น เชอร์ชิลเป็นสตรีที่มีหัวรุนแรงและมีอารมณ์ร้ายแต่ก็มีความสามารถในการทำตนให้เป็นผู้มีเสน่ห์ได้ ซาราห์ เชอร์ชิลเป็นพระสหายสนิทของพระราชินีนาถแอนน์ตั้งแต่ยังมิได้ขึ้นครองราชย์ นอกจากนั้นยังมีตำแหน่งเป็น “เจ้ากรมพระภูษามาลา” (Mistress of the Robes) ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของสตรีประจำราชสำนัก ผู้มีหน้าที่ดูแลพระภูษามาลาและเครื่องเพชรพลอยของพระราชินีนาถแอนน์ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างซาราห์และพระราชินีนาถแอนน์มาสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1711 ซึ่งหมายถึงเงินที่ใช้ในการก่อสร้างเบล็นไฮม์ก็ต้องมาหยุดชะงักลงตามไปด้วย หลังจากนั้นจอห์นและซาราห์ก็ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศจนพระราชินีนาถแอนน์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1714 ทั้งสองจึงได้เดินทางกลับอังกฤษ

ที่ตั้ง[แก้]

ภาพพิมพ์วังเบลนิม

วังเบลนิมเป็นของขวัญที่อังกฤษมอบให้แก่ดยุกแห่งมาร์ลบะระแทนคฤหาสน์วูดสต็อคหรือบางครั้งก็เรียกว่าวังแห่งวูดสต็อคซึ่งเดิมเป็นวังที่ไม่ใหญ่ไปกว่าตำหนักล่าสัตว์ (Hunting Lodge) ที่เดิมเป็นของหลวง ตำนานความเป็นมาของวูดสต็อคออกจะลางเลือนไป บ้างก็ว่าเป็นตำหนักที่พระเจ้าเฮนรีที่ 1 ทรงใช้เป็นอุทยานสำหรับเลี้ยงกวาง หรือในสมัย พระเจ้าเฮนรีที่ 2 ทรงมอบให้เป็นที่อยู่ของโรสมุนด์ คลิฟฟอร์ดพระสนม หรือที่รู้จักกันในนามว่า “Fair Rosamund” บ่อน้ำพุที่เชื่อกันว่าเคยเป็นที่อาบน้ำของโรสมุนด์ก็ยังตั้งอยู่ภายในบริเวณอุทยาน ดูเหมือนว่าตำหนักล่าสัตว์ถูกสร้างและบูรณะหลายครั้ง แต่ไม่มีความสำคัญเท่าใดนักมาจนเมื่อเจ้าหญิงเอลิซาเบธถูกจำขังก่อนที่จะขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 โดยพระราชินีนาถแมรีผู้เป็นพระขนิษฐาระหว่างปี ค.ศ. 1554 - ค.ศ. 1555 เจ้าหญิงเอลิซาเบธถูกกล่าวหาในฐานะที่มีส่วนในการคบคิดไวแอ็ท (Wyatt plot) ต่อมาตำหนักวูดสต็อคก็มาถูกทำลายลงโดยกองทหารของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ระหว่างสงครามกลางเมืองอังกฤษ เมื่อคิดจะสร้างวังเบลนิมซาราห์มีความประสงค์ที่จะทำลายซากตำหนักวูดสต็อคแต่สถาปนิกจอห์น แวนบรูห์ต้องการที่จะบูรณะไว้เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของสวนภูมิทัศน์ แต่แวนบรูห์สู้ความประสงค์ของซาราห์ไม่ได้ ซากต่างๆ ของตำหนักเดิมจึงถูกทำลายลงจนหมดสิ้น

สถาปนิก[แก้]

เซอร์จอห์น แวนบรูห์โดย กอดฟรีย์ เนลเลอร์

ผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นสถาปนิกในการก่อสร้างวังเบลนิมเป็นสถาปนิกที่มิได้รับเลือกอย่างเป็นเอกฉันท์ ซาราห์มีความนิยมในตัวคริสโตเฟอร์ เร็นสถาปนิกผู้มีชื่อเสียงมาจากการออกแบบมหาวิหารเซนต์พอลและสิ่งก่อสร้างสำคัญๆ อีกหลายแห่ง แต่ดยุกพบจอห์น แวนบรูห์โดยบังเอิญที่โรงละครและเกิดความประทับใจจนตกลงให้สัญญาในการก่อสร้างวังเบลนิมในโอกาสนั้น จอห์น แวนบรูห์เป็นนักออกแบบฉากละครผู้เป็นที่นิยม แวนบรูห์ไม่มีการศึกษาอย่างเป็นทางการทางสถาปัตยกรรมแต่มักจะทำงานร่วมกับนิโคลัส ฮอคสมัวร์ผู้ได้รับการฝึกโดยตรงมาทางสถาปัตยกรรม แวนบรูห์และฮอคสมัวร์เพิ่งสร้างปราสาทฮาวเวิร์ดขั้นแรกเสร็จ ปราสาทฮาวเวิร์ดเป็นคฤหาสน์แรกที่สร้างแบบบาโรกของยุโรปอย่างหรูหราในอังกฤษ ดยุกคงมีความประทับใจในลักษณะการก่อสร้างและคงอยากสร้างสิ่งก่อสร้างที่แบบเดียวกันที่วูดสต็อคจึงได้ตกลงทำการว่าจ้าง

แต่การสร้างวังเบลนิมมิได้เป็นไปตามที่คาดเพราะความขัดแย้งในเรื่องค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างที่ทำให้แวนบรูห์ถูกกล่าวหาว่าเป็นแบบสถาปัตยกรรมที่หรูหราจนเกินกว่าเหตุ และไม่เหมาะสมจากพรรควิกผู้มีอำนาจในการปกครองอังกฤษในขณะนั้น ในขณะเดียวกันแวนบรูห์ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากซาราห์เอง เพราะความที่ผิดหวังจากการที่ไม่ได้คริสโตเฟอร์ เร็นมาเป็นสถาปนิก[2] ซาราห์จึงมักจะขัดจอห์น แวนบรูห์ไปเสียทุกขั้นตอนไม่ว่าจะเป็นเรื่องผังการออกแบบไปจนถึงรสนิยมการตกแต่ง แต่อันที่จริงแล้วปัญหาส่วนหนึ่งมาจากความต้องการของรัฐบาลและซาราห์ที่ไม่ตรงกันกับสถาปนิก รัฐบาลผู้เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างต้องการสร้างสิ่งที่ควรค่าต่อการเป็นอนุสาวรีย์ แต่ซาราห์นอกจากจะต้องการสิ่งก่อสร้างที่ควรค่าต่อสามีแล้วก็ยังต้องการจะสร้างเบลนิมให้เหมาะแก่การเป็นที่อยู่อาศัยด้วย ความประสงค์สองอย่างนี้เป็นความประสงค์ที่ออกจะขัดแย้งกันในการออกแบบสิ่งก่อสร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ปัญหาอีกประการหนึ่งคือระหว่างการก่อสร้างเมื่อเริ่มแรกดยุกมักจะออกสงครามทิ้งให้ซาราห์เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างเพียงลำพังคนเดียวกับจอห์น แวนบรูห์ เพราะความที่ทราบว่างบประมาณในการก่อสร้างมีจำนวนจำกัด ซาราห์จึงพยายามยับยั้งความคิดอันเลิศลอยต่างๆ ของแวนบรูห์ แต่ซาราห์มักจะทำด้วยอารมณ์แทนที่จะด้วยเหตุผลที่แท้จริง ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองคนเต็มไปด้วยความขัดแย้ง

หลังจากการเปลี่ยนแปลงแบบครั้งสุดท้ายเซอร์จอห์น แวนบรูห์ก็ถูกห้ามไม่ให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการสร้างวังเบลนิมอีกต่อไปโดยสิ้นเชิง แต่แวนบรูห์ก็ได้ถือโอกาสไปดูวังเบลนิมขณะที่ดัชเชสมาร์ลบะระไม่อยู่ในปี ค.ศ. 1719 แต่ในปี ค.ศ. 1725 แวนบรูห์และภรรยาถูกห้ามเข้าโดยเด็ดขาดแม้เพียงจะชมอุทยาน เมื่อพยายามที่จะเข้าชมวังเบลนิมเมื่อสร้างเสร็จในฐานะผู้ชมทั่วไป หลังจากจอห์น แวนบรูห์ออกจากโครงการแล้วนิโคลัส ฮอคสมัวร์ก็ดำเนินการเป็นผู้ดูแลการก่อสร้างต่อจนเสร็จ

แบบบาโรกของวังเบลนิมของเซอร์จอห์น แวนบรูห์เป็นที่ต้องตาต้องใจของสาธารณชนและในที่สุดก็กลายมาเป็นแบบที่เข้ามาแทนสถาปัตยกรรมพาลเลเดียน ส่วนแวนบรูห์ตั้งแต่หลังจากที่มีปัญหาในโครงการก่อสร้างวังเบลนิมแล้วก็มิได้รับสัญญาก่อสร้างโครงการใหญ่อื่นๆ อีกนอกจากคฤหาสน์ซีตันเดอลาวาลฮอลล์ ซื่งเป็นงานออกแบบชิ้นสุดท้ายที่ถือว่าเป็นงานชิ้นเอกที่แวนบรูห์ที่นำลักษณะแบบบาโรกที่ใช้ในการออกแบบวังเบลนิมมาประยุกต์ แต่แวนบรูห์มาเสียชีวิตไม่นานก่อนที่คฤหาสน์ซีตันเดอลาวาลฮอลล์จะสร้างเสร็จ

ทุนการก่อสร้าง[แก้]

ประธานมณฑล (The Great Court) หน้าวัง

ผู้ใดหรือองค์การใดบ้างที่เป็นผู้มีความรับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างวังเบลนิมยังไม่เป็นที่ชัดเจนมาจนถึงปัจจุบันนี้ แต่ที่แน่คือรัฐบาลอังกฤษนำโดยพระราชินีนาถแอนน์มีความต้องการที่จะมอบที่พำนักอันเหมาะสมต่อวีรบุรุษของชาติ แต่ความใหญ่โตเท่าใดนั้นเป็นปัญหาที่ไม่มีการระบุอย่างชัดเจน ในปี ค.ศ. 1705 ซิดนีย์ โกโดลฟิน เอิร์ลแห่งโกโดลฟินที่ 1 องคมนตรีการคลังลงนามในประกาศแต่งตั้งให้เซอร์จอห์น แวนบรูห์เป็นสถาปนิก และบรรยายโครงการตามที่แวนบรูห์เสนอ แต่ในประกาศมิได้ระบุพระนามของพระราชินีนาถแอนน์หรือรัฐบาลแต่อย่างใด ซึ่งเป็นผลทำให้ต่อมารัฐบาลสามารถบ่ายเบี่ยงความรับผิดชอบเมื่อเรื่องการเมืองและค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเริ่มจะเป็นปัญหามากขึ้น และที่น่าสนใจคือเมื่อวังเบลนิมถูกมอบให้ดยุกแห่งมาร์ลบะระภายในไม่กี่เดือนหลังจากที่ได้รับชัยชนะในยุทธการเบลนิม ในขณะที่ดยุกมาร์ลบะระยังคงติดพันกับการยุทธการอยู่ในยุโรป

ในปี ค.ศ. 1705 เมื่อเริ่มการก่อสร้างดยุกมาร์ลบะระใช้ทุนส่วนตัวไปทั้งสิ้นเป็นจำนวน £60,000 รัฐบาลลงมติสมทบทุนในการก่อสร้างแต่มิได้ระบุเป็นที่แน่นอนว่าจำนวนเท่าใด และจำนวนเงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่เกินเลยไปจากงบประมาณเดิมที่ตั้งไว้ ฉะนั้นเงินทุนในการก่อสร้างวังเบลนิมจึงเป็นปัญหามาตั้งแต่เริ่มโครงการ พระราชินีนาถแอนน์เองก็พระราชทานทรัพย์บางส่วนเมื่อเริ่มแรกแต่ต่อมาก็เริ่มที่จะไม่ทรงเต็มพระทัยที่จะพระราชทานเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากความขัดแย้งส่วนพระองค์กับดัชเชสแห่งมาร์ลบะระพระสหายสนิทที่เพิ่มมากขึ้น หลังจากที่เกิดความขัดแย้งครั้งสุดท้ายเมื่อปี ค.ศ. 1712 แล้ว เงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลทั้งหมดก็ถูกยุบเลิก ขณะที่ทางโครงการลงทุนไปแล้วทั้งสิ้น £220,000 ในจำนวนนั้น £45,000 เป็นค่าจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นสาเหตที่ทำให้ดยุกและดัชเชสมาร์ลบะระต้องหนีหนี้และลี้ภัยไปยังแผ่นดินใหญ่ยุโรปและไม่ได้กลับมาอังกฤษจนพระราชินีนาถแอนน์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1714

เมื่อกลับอังกฤษดยุกแห่งมาร์ลบะระผู้ขณะนั้นมีอายุได้ 64 ปีก็ตัดสินใจสร้างวังเบลนิมต่อให้เสร็จด้วยเงินทุนส่วนตัว โครงการสร้างจึงเริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 1716 แต่ก็ด้วยงบประมาณที่จำกัด ในปี ค.ศ. 1717 ดยุกมาร์ลบะระก็ล้มป่วยลงด้วยโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งทำให้ดัชเชสมาร์ลบะระกลายเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลโครงการต่อมาด้วยตนเอง ดัชเชสกล่าวหาว่าเซอร์จอห์น แวนบรูห์เป็นผู้ที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสูงกว่าที่ควรจะเป็นและเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมที่ดัชเชสเองก็ไม่เคยถูกใจมาตั้งแต่ต้น หลังจากความขัดแย้งครั้งนั้นแล้ว เซอร์จอห์น แวนบรูห์ก็ออกจากโครงการ ช่างหิน ช่างก่อสร้างและช่างฝีมืออื่นๆ ที่ดัชเชสจ้างมาหลังจากนั้นก็มีฝีมือที่ด้อยกว่าช่างที่แวนบรูห์จ้าง ช่างฝีมือเช่น กรินนิง กิบบอนส์ไม่ยอมทำงานให้กับดัชเชสเมื่อค่าแรงงานต่ำกว่าที่เคยได้รับ แต่กระนั้นช่างชุดหลังนำโดยช่างทำเฟอร์นิเจอร์เจมส์ มัวร์ก็สามารถเลียนแบบช่างชุดแรกได้จนเสร็จ

หลังจากที่ดยุกมาร์ลบะระถึงแก่อสัญกรรมในปี ค.ศ. 1722 การสร้างวังเบลนิมและอุทยานให้เสร็จกลายมาเป็นโครงการสำคัญของดัชเชสมาร์ลบะระ ในปี ค.ศ. 1723 นิโคลัส ฮอคสมัวร์ถูกเรียกตัวกลับมาให้ออกแบบ "ประตูชัย" ที่ทางเข้าวูดสต็อคตามแบบประตูชัยไททัส นอกจากนั้นฮอคสมัวร์ก็ยังออกแบบการตกแต่งภายในของห้องสมุด; เพดานห้องทางการต่างๆ; รายละเอียดห้องรองๆ อีกหลายห้อง; และอาคารภายนอกอีกหลายหลัง ดัชเชสดูแลการก่อสร้างวังเบลนิมให้เป็นเกียรติแก่ดยุกแห่งมาร์ลบะระจนสำเร็จโดยใช้งบประมาณที่น้อยลงกว่าเดิม และใช้ช่างฝีมือที่ด้อยกว่าแต่ถูกกว่าทำในบริเวณที่ไม่เด่น วันสร้างเสร็จไม่เป็นที่ทราบแน่นอนแต่ในปี ค.ศ. 1735 ดัชเชสแห่งมาร์ลบะระก็ยังต่อรองราคารูปปั้นของพระราชินีนาถแอนน์สำหรับตั้งในห้องสมุด ในปี ค.ศ. 1732 ดัชเชสบันทึก “ชาเปลสร้างเสร็จและกว่าครึ่งของที่บรรจุศพพร้อมที่จะก่อตั้ง” [3]

แบบและสถาปัตยกรรม[แก้]

ผังประธารมณฑลของวังเบลนิม (ไม่ตรงตามสัดส่วน) A:โถง; B:ซาลอน (ห้องรับรอง); C:ห้องเขียนหนังสือเขียว; L:ห้องรับรองแดง; M:ห้องรับรองเขียว; N:Grand Cabinet; H:ห้องสมุด; J:ซุ้ม; K:ห้องที่เกิดของ วินสตัน เชอร์ชิล H2:ชาเปล; O:ห้องโบว์

ผังวังเบลนิมของแวนบรูห์เป็นแผนแบบได้สัดส่วนที่ดูเด่นเมื่อมองมายังตัววังจากที่ไกล เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 7 เอเคอร์หรือ 28,000 ตารางเมตร แต่เมื่อดูใกล้ลักษณะด้านหน้าของตัวอาคารประกอบด้วยงานหินก้อนโตและสิ่งตกแต่งต่างๆ ที่ค่อนข้างเทอะทะที่ทำให้ดูหนักกว่าที่ควรจะเป็น

ผังของวังเบลนิมเป็นสี่เหลี่ยมใหญ่ จากด้านหน้าทางใต้เป็นห้องพักเอก (state apartment) ทางตะวันออกเป็นห้องพักส่วนตัว (private apartment) ของดยุกและดัชเชสแห่งมาร์ลบะระ ทางด้านตะวันตกทั้งแนวแต่เดิมออกแบบเพื่อให้เป็นระเบียงสำหรับแขวนภาพเขียน บล็อกกลางกระหนาบสองข้างด้วยบล็อกสี่เหลี่ยมสองข้างล้อมลานสี่เหลี่ยม บล็อกทางตะวันออกของตัวอาคารเป็นครัว บริเวณซักเสื้อผ้า และห้องทำงานที่เกี่ยวกับการดูแลวัง ทางตะวันตกติดกับชาเปลเป็นโรงม้าและที่สอนการขี่ม้าภายในตัวอาคาร บล็อกกลางและบล็อกทางตะวันออกและตะวันตกออกแบบเพื่อให้ผู้ดูเกิดความประทับใจเมื่อมาถึงวัง นอกจากนั้นก็ยังเต็มไปด้วยเสา รูปปั้นแบบเรอเนสซองซ์ และสิ่งตกแต่งต่างๆ ทำให้เหมือนเมืองเล็กๆ ที่เมื่อมองขึ้นไปทำให้ผู้ดูจะมีความรู้สึกเหมือนยืนอยู่ภายใต้ลานหน้ามหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ในกรุงโรมและไม่มีความสลักสำคัญเมื่อเทียบกับความใหญ่โตของสิ่งก่อสร้าง สิ่งตกแต่งอื่นๆ รอบๆ เป็นฝีมือของช่างชั้นครูเช่นกรินลิง กิบบอนส์

ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 การออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อให้ความสะดวกสบายของผู้อยู่อาศัยเป็นความสำคัญรองลงมาจากความสง่างามของตัวสิ่งก่อสร้าง โดยเฉพาะในการก่อสร้างวังเบลนิม สถาปนิกคำนึงถึงการสร้างสิ่งก่อสร้างที่มิใช่แต่จะเป็นเพียงเป็นที่อยู่อาศัยแต่เป็นอนุสาวรีย์ที่แสดงถึงความมีอำนาจ ความยิ่งใหญ่ และความมีวัฒนธรรมอันสูงส่งของชาติ ในการที่จะสร้างสิ่งก่อสร้างให้เป็นอนุสาวรีย์แวนบรูห์เลือกสถาปัตยกรรมแบบบาโรก แต่เป็นบาโรกแบบทิ้งความอ่อนช้อย แวนบรูห์ใช้ความใหญ่โตและความหนักของหินเพื่อแสดงความแข็งแกร่งและใช้แสงเงาของโครงสร้างเป็นเครื่องตกแต่ง แบบทางเข้าที่ขึงขังใหญ่โตทางด้านเหนือเลียนแบบทางเข้าตึกแพนเธียนในกรุงโรมมากกว่าที่จะเป็นทางเข้าที่อยู่อาศัย นอกจากนั้นแวนบรูห์ก็ยังใช้ "บรรยากาศของความเป็นปราสาท" เช่นการตกแต่งด้วยหอเตี้ยๆ แต่ละมุมของบล็อกและบนหอก็ตกแต่งซ่อนปล่องไฟ ตัวหอทำให้นึกถึงทางเข้าของวัดของอียิปต์โบราณซึ่งทำให้ผู้เดินเข้ามีความรู้สึกว่าเหมือนแพนเธียนมากขึ้นไปอีก

ประตูตะวันออกดูเหมือนประตูป้อมปราการมากกว่าที่จะเป็นประตูวังสำหรับอยู่อาศัย ลักษณะประตูเพรียวขึ้นตอนบนทำให้ดูเป็นนาฏกรรมและดูเหมือนว่าสูงกว่าความเป็นจริง

วังเบลนิมมีทางไปสู่ตัววังสองทาง ทางหนึ่งเป็นถนนที่ตรงไปยังประตูเหล็กดัดเข้าประธารมณฑล อีกทางหนึ่งเป็นทางที่น่าประทับใจยิ่งไปกว่าทางแรก ทางลานตะวันออกเป็นประตูตะวันออก ที่ออกแบบเช่นเดียวกับประตูชัยของโรมันแต่ลักษณะออกไปทางอียิปต์มากกว่าโรมัน ตอนบนของประตูแคบกว่าตอนล่างซึ่งเป็นการลวงตาที่ทำให้ดูเหมือนว่าประตูสูงกว่าความเป็นจริง ตัวประตูใช้เป็นที่เก็บน้ำสำหรับใช้ในวัง จากประตูมองผ่านลานตะวันออกไปจะเห็นประตูที่สองภายใต้หอนาฬิกา[4] การใช้ความลึกที่ทำให้มองเห็นสิ่งก่อสร้างภายในได้เพียงบางส่วนเท่านั้นนี้ทำให้ผู้ชมมีความรู้สึกเหมือนมองเข้าไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญสำหรับเป็นที่พำนักสำหรับผู้เป็นเจ้าของ

การเน้นความสำคัญของดยุกว่าเป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่มิใช่แสดงออกแต่เพียงภายนอกตัวอาคารแต่รวมไปถึงการตกแต่งภายในและการตกแต่งอุทยานด้วย สิ่งที่แสดงความสำเร็จในชีวิตของดยุกเริ่มด้วย "เสาชัย" ซึ่งเป็นเสาสูงที่มีรูปปั้นของดยุกตั้งอยู่บนแท่นตอนบนสุดของเสาและรายละเอียดของชัยชนะในยุทธการต่างๆ ทางเข้าตัววังนำไปสู่ซุ้มใหญ่และโถงรับรอง ซึ่งมีภาพเขียนโดยเจมส์ ธอร์นฮิลล์ของดยุกบนเพดาน จากนั้นก็เป็นประตูทางเข้าใหญ่สลักด้วยหินอ่อนและมีคำขวัญของดยุกจารึกอยู่ข้างบนว่า "Nor could Augustus better calm mankind" ไปยังห้องรับรอง (Saloon) ซึ่งเป็นห้องที่ได้รับการตกแต่งมากที่สุด ซึ่งเป็นที่ที่ตั้งใจจะให้ตัวดยุกนั่งบนบัลลังก์

การตกแต่งเหนือทางเข้าด้านใต้ผิดไปจากที่เคยทำกันมา การตกแต่งของวังเบลนิมเป็นแบบแบนราบ และเป็นที่ตั้งรูปปั้นครึ่งตัวของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส หนัก 30 ตัน ที่ดยุกแห่งมาร์ลบะระยึดมาจากทอเนย์ในปี ค.ศ. 1709 การใช้รูปปั้นครึ่งตัวเป็นสิ่งตกแต่งด้านหน้าอาคารเป็นของใหม่

ความตั้งใจของสถาปนิกก็เพื่อจะแสดงให้เห็นถึงชัยชนะของดยุกแห่งมาร์ลบะระที่มีต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แต่ดยุกมาถึงแก่อสัญกรรมเสียก่อนที่จะเสร็จ ความสำคัญในการก่อสร้างจึงเปลี่ยนไปเป็นการสร้างชาเปล เอิร์ลโกโดลฟินเพื่อนของดยุกเปลี่ยนที่ตั้งแท่นบูชาจากทางตะวันออกที่ตั้งกันตามปกติไปเป็นทางตะวันตก ซึ่งอนุสรณ์มหึมาและโลงหินของดยุกกลายเป็นสิ่งที่เด่นโดยไม่มีอะไรมาลบ ดัชเชสจ้างวิลเลียม เค้นท์ให้เป็นผู้สร้างอนุสรณ์โดยมีตัวดยุกเป็นจูเลียส ซีซาร์ และดัชเชสเป็นซีซารินา รูปแกะนูนที่ฐานเป็นการแสดงความพ่ายแพ้ของจอมพลทาลลาร์ด เมื่อสร้างชาเปลเสร็จร่างของร่างของดยุกก็ได้รับการนำกลับมาเบล็นไฮม์จากแอบบีเวสต์มินสเตอร์ ร่างของดยุกและดัชเชสแห่งมาร์ลบะระคนต่อๆ มาก็ได้รับฝังภายใต้ห้องใต้ดินภายในชาเปล

ภายใน[แก้]

อนุสรณ์ของดยุกแห่งมาร์ลบะระภายในชาเปล

ตำแหน่งการวางห้องต่างๆในวังเบลนิมเป็นไปตามธรรมเนียมนิยมของการออกแบบสิ่งก่อสร้างในยุคนั้น โดยมีห้องพักเอกที่เรียงตามลำดับความสำคัญจากที่สำคัญน้อยที่สุดไปยังห้องที่สำคัญที่สุด คฤหาสน์หรือวังอย่างเช่นเบล็นไฮม์จะมีห้องหลักสองชุดและห้องที่สำคัญที่สุดในตัวอาคารคือห้องรับรองกลาง (Central Saloon (B) ซึ่งใช้เป็นห้องเลี้ยงรับรองอย่างเป็นทางการ ถัดสองข้างห้องรับรองกลางออกไปจึงจะเป็นห้องหลักทั้งสองชุดลดหลั่นความสำคัญลงตามลำดับจากห้องรับรองกลาง แต่ขณะเดียวกันก็เพิ่มความเป็นส่วนตัวมากขึ้น: ห้องแรก (C) เป็นห้องรับแขกสำคัญๆ, ถัดไป L เป็นห้องนั่งเล่นส่วนตัว, ต่อจากนั้น M เป็นห้องนอนซึ่งเป็นห้องที่เป็นส่วนตัวที่สุด ห้องเล็กระหว่างห้องนอนและลานภายในตั้งใจจะออกแบบให้เป็นห้องแต่งตัว ตำแหน่งการจัดห้องหลักชุดที่สองก็เช่นเดียวกันกับชุดแรก ห้องพักเอกต่างๆ เป็นห้องที่สร้างขึ้นสำหรับแขกสำคัญๆ เช่นพระมหากษัตริย์ผู้อาจจะเสด็จมาประทับที่วัง ห้องทางด้านตะวันออกหรือด้านซ้ายของผังทั้งสองด้าน (O) เป็นห้องของดยุกและดัชเชส

ห้องต่างๆ ทั้งห้องพักเอกและห้องรองภายในวังเบลนิมอยู่ในระดับเดียวกันหมด ฉะนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างบันไดเอก (Grand Staircase) บันไดใหญ่ของวังเบลนิมอยู่ภายในประธารมณฑลที่นำไปสู่ทางเข้าทางด้านเหนือ ภายในตัววังมีบันไดบ้างแต่ไม่มีบันไดที่ออกแบบอย่างหรูหราเช่นบันไดภายในวังใหญ่ๆ ในวังสมัยนั้น บนเพดานของทางเข้าทางด้านเหนือเป็นภาพเขียนโดยเจมส์ ธอร์นฮิลล์ ที่เป็นภาพของดยุกแห่งมาร์ลบะระคุกเข่าต่อหน้าบริทานเนียขณะที่ยื่นแผนที่ที่แสดงยุทธการเบลนิม โถงสูงถึง 67 ฟุตแต่ก็เป็นเพียงโถงที่นำไปสู่ห้องรับรองกลาง

เดิมเจมส์ ธอร์นฮิลล์จะเป็นผู้เขียนภาพภายในห้องรับรองกลางแต่ดัชเชสมีความเคลือบแคลงว่าธอร์นฮิลล์จะเรียกร้องค่าจ้างที่แพงเกินไป เธอจึงหันไปจ้างหลุยส์ ลาเกร์แทน โดมในห้องนี้เป็นห้องที่มีภาพเขียนแบบศิลปะเชิง 3 มิติ (trompe l'œil) ซึ่งเป็นลักษณะการเขียนภาพที่นิยมกันในยุคนั้น เนื้อหาของภาพเป็นการลงนามในสัญญาสันติภาพอูเทร็คท์ เพดานโดมเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพโดยมีจอห์น เชอร์ชิลบนรถม้าในมือถือสายฟ้าแห่งสงคราม และสตรีผู้รั้งแขนของดยุกเป็นสัญลักษณ์ของความสงบ บนผนังเป็นภาพของชาติต่างๆ ในโลกที่อยู่ด้วยกันด้วยความสงบ ลาเกร์วาดภาพเหมือนตนเองเคียงข้างกับดีนโจนส์ ผู้เป็นนักบวชประจำตัวของดยุกและเป็นศตรูคนสำคัญของดัชเชสแต่ดัชเชสก็ยอมทนเพราะดีนโจนส์เล่นไพ่เก่ง จากด้านขวาของประตูเป็นห้องหลักห้องแรก ลาเกร์เขียนภาพสายลับฝรั่งเศสผู้มีหูใหญ่และตาโตเพราะยังอาจจะเป็นสายลับอยู่ ด้านหลังเป็นภาพลางๆ ของเอิร์ลแห่งไซลด์ที่ 5 เพราะจิตรกรพยายามซ่อนความบาดเจ็บที่เอิร์ลได้รับจากยุทธการรามิลีส์ บนกรอบประตูสี่ประตูที่ทำด้วยหินอ่อนเป็นตราประจำตัวของดยุกแสดงความเป็นผู้นำแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แต่เพียงชิ้นเดียวเท่านั้นที่แกะโดยกิบบอนส์ อีกสามชิ้นแกะเลียนแบบโดยช่างที่ได้ค่าแรงต่ำกว่ากิบบอนส์

ห้องที่น่าสนใจห้องที่สามคือห้องสมุด (H) ที่ยาวถึง 180 ฟุตออกแบบเพื่อแขวนภาพเขียน เพดานเป็นแบบโดมบาน (saucer dome) โดยจะให้เจมส์ ธอร์นฮิลล์เป็นผู้เขียนภาพถ้าดัชเชสไม่มาผิดใจกับธอร์นฮิลล์เสียก่อน ห้องนี้เป็นที่ตั้งแสดงของสิ่งที่มีค่าที่ดยุกได้รับเป็นของขวัญหรือไปได้มาจากสงคราม และรวมถึงศิลปะที่สะสม นอกจากนั้นห้องนี้ยังเป็นที่ตั้งของรูปสลักใหญ่ของสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์แห่งบริเตนใหญ่ที่บนฐานเป็นคำจารึกบรรยายถึงมิตรภาพระหว่างดัชเชสและสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์

จากด้านเหนือของห้องสมุดเป็นที่ตั้งของออร์แกนที่สร้างโดยเฮนรี วิลลิส ช่างสร้างออร์แกนที่สำคัญที่สุดในอังกฤษในสมัยนั้น ซึ่งผู้เล่นเข้าไปเล่นได้โดยเดินเข้าไปทางที่ยกพื้นไปยังชาเปล H2 ชาเปลตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของตัววังตรงกันข้ามกับครัวที่ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตก การวางผังอย่างสมดุลกันเช่นนี้เป็นการเน้นถึงดุลยภาพทางใจและทางกายตามอารมณ์ขันของแวนบรูห์หรือไม่ก็ตัวดัชเชสเอง ระยะทางระหว่างครัวไปยังห้องกินข้าว (O) ค่อนข้างไกลและอาจจะเป็นเพราะความร้อนของอาหารสำคัญน้อยกว่าการที่จะต้องสูดกลิ่นครัวหรือการที่ต้องอยู่ใกล้เคืยงกับผู้รับใช้

อุทยานและสวน[แก้]

น้ำตกที่เกิดจากน้ำที่ไหลจากทะเลสาบ

ตัววังเบลนิมตั้งอยู่กลางอุทยาน สิ่งแรกที่แวนบรูห์เห็นภาพเมื่อเริ่มวางแผนวังในปี ค.ศ. 1704 ก็คือการออกแบบวังอันยิ่งใหญ่ โดยมีอุทยานใหญ่และมีลำธารเล็กใหลเลื้อยอยู่ท่ามกลางโดยมีสะพานที่สวยที่สุดในยุโรปข้าม ซึ่งขัดกับความคิดของคริสโตเฟอร์ เร็นที่ว่าควรจะแบ่งสายน้ำให้เป็นสามสายโดยมีสะพานเด่นใหญ่อยู่ตรงกลางที่ใหญ่พอที่จะจุห้องได้สามสิบห้อง สะพานนี้ใหญ่โตจนอเล็กซานเดอร์ โปปค่อนว่า

รู้สึกในบุญคุณของดัชเชส ปลาน้อยๆ เมื่อว่ายผ่านภายใต้สะพานโค้งใหญ่คงกระซิบกันว่าสะพานนี้คงใหญ่เช่นวาฬ "

แผนอุทยานอีกแผนหนึ่งของแวนบรูห์ก็คือการสร้างแปลงดอกไม้ (Parterre) ที่ยาวเกือบครึ่งไมล์และกว้างเท่ากับด้านใต้ นอกจากนั้นภายในอุทยานยังเป็นที่ตั้งของเสาแห่งชัยชนะของดยุกแห่งมาร์ลบะระ ที่มาสร้างภายหลังจากที่ท่านถึงแก่อสัญญกรรมไปแล้ว เสาที่ว่านี้สูง 134 ฟุตตั้งอยู่ตอนปลายถนนต้นเอ็ลมที่นำไปสู่ตัววัง แวนบรูห์ตั้งใจจะสร้างเสาโอบิลิสค์ (Obelisk) ให้เป็นที่หมายของวังเดิมที่เป็นของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ซึ่งทำให้ดัชเชสกล่าวค่อนว่าถ้าขืนสร้างเสาโอบิลิสค์ให้เป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ต่างๆ บ้านเมืองก็เห็นจะเต็มไปด้วยของแปลกๆ ฉะนั้นแวนบรูห์จึงไม่ได้สร้างเสาโอบิลิสค์ตามที่ตั้งใจเอาไว้

เสาแห่งชัยชนะของดยุกแห่งมาร์ลบะระ

ภายหลังที่ดยุกแห่งมาร์ลบะระถึงแก่อสัญญกรรมไปแล้วดัชเชสก็เพิ่มการลงแรงลงใจกับการสร้างวังเบลนิมให้เสร็จสิ้น ตัวอุทยานเกือบมิได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใดตั้งแต่ลานเซลอต บราวน์ หรือ “บราวน์ผู้สามารถ” สร้างไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1764 ดยุกที่ 4 แห่งมาร์ลบะระ จ้างบราวน์ให้ออกแบบปรับปรุงอุทยานเป็นอุทยานแบบภูมิทัศน์ (Landscape Garden) โดยการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นและสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ทำให้สวนงามขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทะเลสาบใหญ่ที่สร้างโดยการกักน้ำจากแม่น้ำ

จากทะเลสาบก็เป็นน้ำตกเป็นระยะๆ ทะเลสาบมาคอดตรงสะพานใหญ่ที่แวนบรูห์สร้างไว้และลำน้ำที่แต่เดิมเป็นสามสายมารวมกันกลายเป็นสายเดียว ความใหญ่โตของทะเลสาบเกิดจากการที่ลานเซลอต บราวน์จมชั้นล่างๆ ของสะพานลงไปในทะเลสาบซึ่งทำให้สะพานที่เคยใหญ่โตเตี้ยลง ภูมิทัศน์ซึ่งกลายมาเป็นลักษณะสำคัญของอุทยานภูมิทัศน์ของอังกฤษต่อมา นอกจากนั้นลานเซลอต บราวน์ก็ยังได้ปูหญ้าเป็นส่วนใหญ่บนส่วนที่เคยเป็นแปลงดอกไม้ และลานหน้าวัง แต่ลานหน้าวังมาถูกปูด้วยหินเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ต่อมาโดยดยุกที่ 5 แห่งมาร์ลบะระ ก็ตกแต่งสวนเพิ่มโดยการเพิ่มสิ่งก่อสร้างตกแต่งที่ทำให้ผู้มาเยือนสวนตื่นเต้นสนุกสนาน เช่นท่อนไม้ที่อยู่ดีๆ ก็กลิ้งข้ามสนามได้เป็นต้น

สถาปนิกเซอร์วิลเลียม เชมเบอร์สและผู้ช่วย จอห์น เย็นเป็นผู้สร้างกระท่อมฤดูร้อนที่เรียกว่า "เทวสถานไดแอนนา" บนฝั่งทะเลสาบซึ่งเป็นที่ที่วินสตัน เชอร์ชิลขอ เคลเม็นไทน์แต่งงานเมื่อปี ค.ศ. 1908 แต่สวนแบบอิตาลีและสวนน้ำออกแบบโดยดูเชนและดยุกแห่งมาร์ลบะระที่ 9 ทั้งหมด

ตกยาก[แก้]

เลดีแรนดอล์ฟ เชอร์ชิล (ลูกสะใภ้ของดยุกที่ 7 แห่งมาร์ลบะระ มารดาของวินสตัน เชอร์ชิล) บันทึกเกี่ยวกับอุทยานวังเบลนิมว่า: "....เมื่อเราก้าวผ่านซุ้มโค้งเข้ามาทัศนียภาพก็ปะทะตาทันที ลอร์ดแรนดอล์ฟ เชอร์ชิลอดกล่าวด้วยความภาคภูมิไม่ได้ว่า นี่คือทัศนียภาพที่งดงามที่สุดในอังกฤษ"

หลังจากที่ดยุกแห่งมาร์ลบะระ ถึงแก่อสัญญกรรม และหลังจากการเสียชีวิตของบุตรชายอีกสองคนต่อมา วังเบลนิมก็ตกไปเป็นของเฮ็นเรียตตา โกดอลฟิน ดัชเชสแห่งมาร์ลบะระที่ 2 ตามพระราชกฤษฎีกาที่ได้รับการอนุมัติเป็นกรณีพิเศษ [5] เพราะตามปกติแล้วบุตรชายเท่านั้นที่จะมีสิทธิในการรับตำแหน่งดยุกจากบิดา เมื่อเฮ็นเรียตตาถึงแก่กรรมวังเบลนิมก็ตกไปเป็นของชาร์ลส์ สเปนเซอร์ ดยุกแห่งมาร์ลบะระที่ 3 ผู้เป็นบุตรของแอนน์ เชอร์ชิลลูกสาวคนที่สองของดยุกแห่งมาร์ลบะระ

ดยุกแห่งมาร์ลบะระ ในฐานะที่เป็นนายทหารก็มิใช่จะร่ำรวยเท่าใดนักและสมบัติที่หามาได้ส่วนใหญ่ก็นำไปใช้ในการสร้างวังเบลนิมเสียแทบหมดสิ้น เมื่อเทียบกับตระกูลดยุกด้วยกันแล้วตระกูลมาร์ลบะระก็ออกจะไม่มั่งคั่งเท่าตระกูลอื่นๆ แต่พอที่ใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายได้มาจนมาถึงสมัยของจอร์จ สเปนเซอร์ เชอร์ชิล ดยุกที่ 5 แห่งมาร์ลบะระ (ค.ศ. 1766 ถึง ค.ศ. 1840) ผู้ผลาญสมบัติของตระกูลจนหมดสิ้นจนจำต้องขายอสังหาริมทรัพย์บางส่วนและของมีค่าในวังเบลนิมไปบ้างแต่ตัววังเบลนิมรอดมาได้ แต่เมื่อดยุกแห่งมาร์ลบะระที่ 5 ถึงแก่อสัญญกรรมฐานะของตระกูลมาร์ลบะระก็อยู่ในสภาวะที่ค่อนข้างง่อนแง่น

ในปี ค.ศ. 1870 ฐานะทางการเงินของตระกูลมาร์ลบะระก็ยิ่งทรุดหนักยิ่งขึ้นไปอีก จนในที่สุดในปี ค.ศ. 1875 ดยุกที่ 7 แห่งมาร์ลบะระ ต้องประมูลขายภาพเขียน “การแต่งงานของคิวปิดและไซคี” (Marriage of Cupid and Psyche) และ อัญมณีมาร์ลบะระ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น £10,000 แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะกู้ฐานะของตระกูลได้ ในปี ค.ศ. 1880 ดยุกจึงจำต้องยื่นคำร้องต่อรัฐสภาให้แยกระหว่างตัววังและสมบัติข้าวของภายในตัววังจากกันตามพระราชบัญญัติการบริหารอสังหาริมทรัพย์ของวังเบลนิม ค.ศ. 1880 (Blenheim Settled Estates Act of 1880) ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติที่อนุญาตให้ตระกูลมาร์ลบะระขายข้าวของภายในวังเบลนิมได้โดยไม่ต้องขายตัววัง สิ่งแรกที่ดยุกขายคือ ห้องสมุดซันเดอร์แลนด์ ในปี ค.ศ. 1882 ที่รวมทั้งต้นฉบับมีค่าเช่น “จดหมายเหตุของโฮเรซ” (The Epistles of Horace) ที่ตีพิมพ์ที่เมืองแคนในปี ค.ศ. 1480 และงานของ โจซีฟัสที่ตีพิมพ์ที่เมืองเวโรนาในปี ค.ศ. 1648 หนังสือทั้ง 18,000 เล่มนำเงินมาให้เกือบ £60,000 แต่การขายก็มิได้หยุดยั้งแต่เพียงเท่านั้น ภาพเขียน “พระแม่มารีอันซิเดอี” (Ansidei Madonna) โดย ราฟาเอล ขายได้ £70,000 ภาพพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษทรงม้าโดย แอนโทนี แวน ไดค์ ขายได้ £17,500 และ ในที่สุดภาพเขียน “รูเบนส์, ภรรยาเฮเลนา โฟมองท์ และลูกชายปีเตอร์ พอล” (Rubens, His Wife Helena Fourment, and Their Son Peter Paul) โดย ปีเตอร์ พอล รูเบนส์ ซึ่ง บรัสเซลส์ มอบให้ ดยุกแห่งมาร์ลบะระ ในปี ค.ศ. 1704 ก็ถูกขาย ปัจจุบันภาพนี้เป็นของ พิพิธภัณฑ์เมโทรโปลิตันที่นครนิวยอร์กในสหรัฐอเมริกา

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามจำนวนเงินมหาศาลที่ได้จากการขายสมบัติต่างๆ ของวังก็ยังไม่เพียงพอที่จะใช้ในการบำรุงรักษาวังและลบหนี้สินต่างๆ ได้ นอกจากนั้นสภาวะความตกต่ำทางการเกษตรในอังกฤษที่เริ่มขึ้นเมื่อทศวรรษ 1870 ก็ยิ่งทำให้สถานะการณ์ทางการเงินทรุดหนักลงไปอีก เมื่อดยุกแห่งมาร์ลบะระที่ 9 สืบตำแหน่งในปี ค.ศ. 1892 ตระกูลสเปนเซอร์-เชอร์ชิลก็ใกล้จะล้มละลาย

ดยุกแห่งมาร์ลบะระที่ 9[แก้]

“ชาร์ลส์ ดยุกแห่งมาร์ลบะระที่ 9 และครอบครัว” โดยจอห์น ซิงเกอร์ ซาร์เจนท์ (ค.ศ. 1905)
คอนซูเอลโล แวนเดอบิลท์ ดัชเชสแห่งมาร์ลบะระ

ชาร์ลส์ สเปนเซอร์-เชอร์ชิล ดยุกแห่งมาร์ลบะระที่ 9 (ค.ศ. 1871 ถึง ค.ศ. 1934) ได้ชื่อว่าเป็นผู้ช่วยให้วังเบลนิมและครอบครัวรอดพ้นมาจากการล้มละลาย เมื่อได้รับวังเบลนิมมาเมื่อปี ค.ศ. 1892 ท่านดยุกก็ต้องพยายามหาวิธีแก้ปัญหาการสูญเสียวังอย่างเร่งด่วน วิธีเดียวที่สุภาพบุรุษที่อยู่ในฐานะทางสังคมเช่นดยุกที่ถูกห้ามไม่ให้ทำมาหากินเช่นผู้อื่น ก็คือการแต่งงานกับผู้มีฐานะดีพอที่จะแก้ปัญหาทางการเงินของครอบครัวได้ ฉะนั้นในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1896 ดยุกก็ขอคอนซูเอลโล แวนเดอบิลท์แต่งงานอย่างปราศจากความรักโดยไม่ปิดบัง คอนซูเอลโลเป็นบุตรีคนสวยและทายาทของเจ้าของการรถไฟชาวอเมริกันผู้ร่ำรวยมหาศาล การแต่งงานเป็นที่ตกลงกันหลังจากการต่อรองเงื่อนไขต่างๆ อย่างยืดยาวระหว่างดยุกและบิดาและมารดาของคอนซูเอลโล มารดาของคอนซูเอลโลมีความต้องการมิใช่แต่เพียงการจัดการแต่งงาน แต่รวมไปถึงตำแหน่งดัชเชส ซึ่งในที่สุดก็ได้มาโดยการที่วิลเลียม แวนเดอบิลท์บิดาของคอนซูเอลโลต้องจ่ายเงินจำนวนทั้งสิ้น $2,500,000 (ประมาณ 1,900,000,000 บาทในปี ค.ศ. 2007) เป็นค่าฐานันดรในรูปของหุ้น 50,000 หุ้นของบริษัทรถไฟบีชครีคและการันตีเงินปันผลอย่างต่ำ 4% ต่อปีโดยบริษัทรถไฟนิวยอร์กเซ็นทรัล นอกจากนั้นแล้วคู่บ่าวสาวยังได้รับรายได้ประจำปีอีกปี ละ $100,000 ต่อคนจนตลอดชีพ ต่อมาคอนซูเอลโลกล่าวอ้างว่าตนถูกขังอยู่ในห้องจนกระทั่งยอมตกลงที่จะแต่งงาน คู่บ่าวสาวจดทะเบียนกันที่วัดเซนต์ทอมัสเอพิสเคอพัลที่นครนิวยอร์ก ภายในรถหลังจากจดทะเบียนแล้วดยุกแห่งมาร์ลบะระที่ 9 ก็บอกกับคอนซูเอลโลว่าตนรักผู้หญิงคนอื่นแล้วและจะไม่ยอมกลับมาสหรัฐอเมริกาอีกตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่เพราะความที่ตน “เกลียดทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่ใช่อังกฤษ”

การซื้อสิ่งของที่ขายไปแล้วกลับคืนมายังวังเบลนิมก็เริ่มขึ้นทันทีหลังจากการฉลองการแต่งงาน โดยเริ่มด้วยอัญมณีมาร์ลบะระ พรมแขวนผนัง จิตรกรรม และเครื่องเรือนถูกซื้อจากยุโรปเพื่อนำมาตกแต่งวังที่โล่งโถงจากเครื่องเรือนที่ถูกขายไปก่อนหน้านั้น นอกจากนั้นดยุกแห่งมาร์ลบะระที่ 9 ยังได้เริ่มการบูรณปฏิสังขรณ์และการตกแต่งภายในวังด้วยการตกแต่งแบบปิดทองเลียนแบบการตกแต่งภายในพระราชวังแวร์ซายส์ การตกแต่งภายในกลายเป็นงานเลียนแบบการตกแต่งวังสำคัญๆ ต่างๆ ในยุโรป เป็นการทำให้ความตั้งใจของแวนบรูห์ที่จะให้วังเบลนิมเป็นคู่แข่งของพระราชวังแวร์ซายส์สำเร็จในที่สุด แต่การบูรณปฏิสังขรณ์และการตกแต่งก็มิได้ปราศจากข้อบกพร่อง (ซึ่งดยุกแห่งมาร์ลบะระเองก็ยอมรับว่าผิดหวังในภายหลัง) แต่บางอย่างก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นการปรับปรุงให้ดีขึ้น ผลจากการตกแต่งใหม่ทำให้ห้องรับรองและห้องนอนเอกถูกย้ายไปอยู่ชั้นบนของตัวอาคารทำให้ความหมายและความสำคัญของห้องลดลง

บนเนินต่างระดับด้านตะวันตกอาชิลล์ ดูเชนนักออกแบบสวนภูมิทัศน์ชาวฝรั่งเศสสร้างสวนน้ำบนเนินชั้นบน เนินชั้นสองถัดลงไปเป็นน้ำพุใหญ่สองน้ำพุแบบจานโลเรนโซ แบร์นินี ตามแบบหุ่นย่อส่วนของน้ำพุที่จตุรัสนาโวนาในกรุงโรม ที่ดยุกแห่งมาร์ลบะระ ได้รับเป็นของขวัญ

ภายในตัววังก็มีการขยายและตกแต่งอย่างหรูหราสมฐานะเจ้าของวังผู้เป็นดยุก เจ้าหน้าที่ดูแลภายในวังมีด้วยกันทั้งหมดประมาณ 40 ภายนอก 50 รวมทั้งพนักงานจัดการล่าสัตว์ (Gamekeeper) 12 คน ช่างไฟฟ้า ช่างไม้ คนจัดดอกไม้ ผู้ดูแลตำหนักเล็กๆ และผู้เล่นคริกเก็ตอาชีพเพื่อดูแลให้ทีมคริกเก็ตของวังประสบความสำเร็จ ผู้ดูแลตำหนักแต่งเครื่องแบบเสื้อคลุมนอกดำกระดุมเงินและท็อพแฮ็ท เจ้าหน้าที่ล่าสัตว์แต่งเสื้อคลุมนอกเขียวกำมะหยี่กระดุมทองเหลืองและหมวกบิลลิค็อค

หลังจากการบูรณปฏิสังขรณ์และการตกแต่งใหม่วังเบลนิมก็คืนสภาพมาเป็นวังที่หรูหรามีหน้ามีตาอีกครั้ง แต่คอนซูเอลโลไม่มีความสุขและบันทึกปัญหาต่างในหนังสือชีวประวัติ “The Glitter and the Gold” ในปี ค.ศ. 1906 คอนซูเอลโลก็ทิ้งและหย่ากับสามีดยุกแห่งมาร์ลบะระที่ 9 ในปี ค.ศ. 1921 ต่อมาก็ไปแต่งงานกับจาร์ค บาลแซงชาวฝรั่งเศส คอนซูเอลโลมีโอกาสได้เห็นนลูกชายสืบตำแหน่งเป็นดยุกแห่งมาร์ลบะระ0 และกลับมาเยี่ยมวังเบลนิมบ้างก่อนที่จะมาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1964

หลังจากหย่ากับคอนซูเอลโลแล้วดยุกแห่งมาร์ลบะระก็แต่งงานใหม่กับแกลดิส ดีคอนชาวอเมริกันเช่นกันผู้เพื่อนเก่าของคอนซูเอลโลเอง ดีคอนเป็นผู้มีลักษณะนิสัยที่ออกจะแปลกและน่าสนใจ (eccentric) และมีพรสวรรค์ทางศิลปะอยู่บ้าง ซึ่งจะเป็นได้จากภาพเขียนของตาของดีคอนซึ่งยังคงอยู่บนเพดานของซุ้มทางด้านเหนือ บนเนินต่างระดับระดับล่างตกแต่งด้วยสฟิงซ์สร้างตามแบบดีคอนโดย ดับเบิลยู วาร์ด วิลลิส ในปี ค.ศ. 1930 ระหว่างที่พำนักอยู่ที่วังเบลนิมก่อนที่จะแต่งงานกับดยุกแห่งมาร์ลบะระดีคอนก็มีความสำพันธ์กับเจ้าชายวิลเฮล์ม มกุฎราชกุมารแห่งปรัสเซีย ซึ่งทำให้เป็นเรื่องร่ำลือกันอยู่ระยะหนึ่ง วิลเฮล์มถึงกับประทานแหวนให้ หลังจากแต่งงานกับดยุกแล้วดีคอนก็มักจะวางปืนไว้ข้างจานขณะที่รับประทานอาหารเย็นกับดยุก ดยุกเองก็เริ่มเบื่อดีคอนและต้องปิดวังเบลนิมเป็นการชั่วคราวและปิดน้ำไฟเพื่อจะไล่ดีคอนออกจากวัง ในที่สุดทั้งสองก็แยกกันอยู่แต่ก็มิได้หย่าร้างกัน ดยุกถึงแก่อสัญกรรมในปี ค.ศ. 1934 และดีคอนในปี ค.ศ. 1977

หลังจากดยุกแห่งมาร์ลบะระที่ 9 ถึงแก่อสัญกรรม จอห์น สเปนเซอร์-เชอร์ชิล (ค.ศ. 1898-ค.ศ. 1972) บุตรชายคนโตของดยุกและคอนซูเอลโล ก็ได้สืบเชื้อสายเป็นดยุกแห่งมาร์ลบะระ0 ผู้ที่หลังจากเป็นหม้ายมาเป็นเวลาสิบเอ็ดปีก็แต่งงานใหม่เมื่ออายุ 74 ปีกับ ฟรานซส์ ลอรา ชาร์เตอริสภรรยาเก่าของไวเคานต์ลองที่ 2 และเอิร์ลแห่งดัดลีย์ที่ 3 ฟรานซส์เป็นหลานสาวของเอิร์ลแห่งเวย์มิสที่ 11 แต่ก็เป็นการแต่งงานกันเพียงระยะสั้นเมื่อดยุกแห่งมาร์ลบะระ0 มาถึงแก่อสัญกรรมเพียงหกอาทิตย์หลังจากการแต่งงาน ฟรานซส์ ลอรา ชาร์เตอริสผู้รู้สึกว่าเบล็นไฮม์เป็นสถานที่ที่ออกจะเศร้าและไม่มีชีวิตจิตใจก็ย้ายออกจากวังไม่นานหลังจากนั้น ฟรานซส์เรียกเบล็นไฮม์ว่า "The Dump" ในหนังสือชีวประวัติ “เสียงหัวเราะจากเมฆ” (Laughter from a Cloud) ฟรานซส์เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1990 ที่กรุงลอนดอน

ปัจจุบัน[แก้]

วังเบล็นไฮม์ปัจจุบันยังเป็นวังของดยุกแห่งมาร์ลบะระซึ่งปัจจุบันคือจอห์น จอร์จ แวนเดอบิลท์ สเปนเซอร์-เชอร์ชิล ทุกปีชั่วระยะเวลาหนึ่งดยุกก็ยังพำนักอยู่ที่วังเบล็นไฮม์ในห้องที่เดิมเคยเป็นที่พำนักของดยุกแห่งมาร์ลบะระ และดัชเชส

วังเบล็นไฮม์และสวนเปิดให้ประชาชนเข้าชมสิบเดือนต่อปีแต่อุทยานเปิดตลอดปี ภายในตัววังผู้ดูจะมีมัคคุเทศน์นำ สวนครัวเดิมปัจจุบันเปลี่ยนเป็นสวนวงกต (hedge maze)

วังเบล็นไฮม์ได้รับเลือกโดยองค์การยูเนสโกให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี ค.ศ. 1987[6]

ฉากภาพยนตร์[แก้]

วังเบล็นไฮม์ใช้เป็นฉากในภาพยนตร์เช่น

  • “Indiana Jones and the Last Crusade” (ฉากนาซี)
  • “The Avengers”
  • “Barry Lyndon”
  • “Entrapment”
  • “The Four Feathers”
  • “Hamlet” สร้างโดย เค็นเนธ บรานนอห์ (Kenneth Branagh) ในปี ค.ศ. 1996 โดยมีดยุกแห่งมาร์ลบะระ1 ปรากฏตัวเป็นนายพลนอร์เวย์แต่ไม่มีบทพูด
  • “Harry Potter and the Order of the Phoenix”
  • “History of the World, Part I”
  • “Kabhi Khushi Kabhi Gham”
  • “King Ralph”
  • “The Lost Prince”
  • “Orlando”
  • “Greystoke: The Legend of Tarzan, Lord of the Apes”

ในวรรณกรรม[แก้]

  • ฉากคฤหาสน์โทรมชื่อมาลพลาเคทในนวนิยาย Mistress Masham's Repose โดย ที เอช ไวท์
  • ตัวละครยูจีนกล่าวถึงวังเบล็นไฮม์ในบทละคร บันทึกไบรตันบีช (Brighton Beach Memoirs) โดย นีล ไซมอน

อ้างอิง[แก้]

  1. วอลแตร์ กล่าวถึงเบลนิมว่า “ถ้าห้องจะใหญ่เท่าความหนาของกำแพง คฤหาสน์นี้ก็คงจะสะดวกพอหรอก” โจเซฟ แอดดิสัน (), อเล็กซานเดอร์ โปป และ โรเบิร์ต อาดัม (ผู้ปกตินิยมงานของแวนบรูห์) ต่างก็ติลักษณะของสถาปัตยกรรม
  2. แต่เมื่อสร้างคฤหาสห์มาร์ลบะระที่ลอนดอนในปี ค.ศ. 1706 ดัชเชสจึงได้จ้างเซอร์คริสโตเฟอร์ เร็น แต่ต่อมาก็ไล่เร็นออกจากโครงการเพราะรู้สึกว่าผู้รับเหมาเอาเปรียบเร็น ดัชเชสมาร์ลบะระจึงรับผิดชอบในการดูแลการก่อสร้างด้วยตนเองทั้งหมดจนเสร็จ ดูคฤหาสน์มาร์ลบะระ เก็บถาวร 2017-02-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. กรีน, หน้า 39
  4. หอนาฬิกาสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1710 โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น £1,435 แต่ไม่ถูกใจดัชเชสผู้ที่เรียกหอว่า "A great thing where the Clock is, and which is Called a Tower of great Ornament (sic)"
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-20. สืบค้นเมื่อ 2009-01-16.
  6. มรดกโลกของยูเนสโก]

บรรณานุกรม[แก้]

  • เทรวิน ครอพเพิลสโตน (1963). สถาปัตยกรรมโลก. ลอนดอน: แฮมลิน
  • อดาลเบิร์ต ดาล ลาโก (1966). Ville Antiche. มิลาน: ฟราเตลลิ ฟาปบริ
  • เคอร์ริ ดาวน์ส (1987). เซอร์จอห์น แวนบรูห์: ชีวประวัติ. ลอนดอน: ซิดจวิคและแจ็คสัน
  • เคอร์ริ ดาวน์ส (1979). ฮอคสมอร์. ลอนดอน: เทมส์และฮัดสัน
  • มาร์ค จิรอร์ด (1978). ชีวิตภายในคฤหาสน์แบบอังกฤษ. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเยล.
  • เดวิด กรีน (1982). วังเบล็นไฮม์. อ็อกฟอร์ด: สำนักพิมพ์อาลเด็น
  • อี อี ฮอลลิเดย์ (1967). ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของอังกฤษ. ลอนดอน: เทมส์และฮัดสัน
  • โรเบิร์ต ฮาร์ลิน (1969). คฤหาสน์สำคัญทางประวัติศาสตร์. ลอนดอน: คองเด นาสต์
  • โรเจอร์ เทอร์เนอร์ (1969). ลานเซลอต บราวน์และการออกแบบสวนภูมิทัศน์แบบอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ฉบับที่ 2. ชิคเชสเตอร์: ฟิลลิมอร์
  • อาร์เธอร์ แวนเดอบิลท์ที่ 2 (1989) ช้อนเงินช้อนทอง: ความตกอับของตระกูลแวนเดอบิลท์. ลอนดอน: ไมเคิล โจเซฟ
  • เดวิด วัทคิน (1979). สถาปัตยกรรมอังกฤษ. ลอนดอน: เทมส์และฮัดสัน

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ วังเบล็นไฮม์