เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Automated external defibrillator)
เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติในสภาพพร้อมใช้งาน

เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (อังกฤษ: automated external defibrillator, AED) เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาชนิดหนึ่ง สามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิตชนิดเวนทริคูลาร์ฟิบริลเลชัน (ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัว) และเวนทริคูลาร์แทคีคาร์เดีย (ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดปกติ) ได้โดยอัตโนมัติ[1] และสามารถให้การรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้ากระตุกหัวใจได้โดยใช้กระแสไฟฟ้าหยุดรูปแบบการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ เพื่อเปิดโอกาสให้หัวใจกลับมาเต้นใหม่ในจังหวะที่ถูกต้อง

เครื่อง AED ถูกออกแบบมาให้ใช้ได้โดยคนทั่วไป โดยจะให้คำแนะนำผ่านเสียงพูดและภาพประกอบบนจอ โดยถูกรวมอยู่ในการเรียนการสอนการปฐมพยาบาล การอบรมผู้ปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน (first responder) และการช่วยกู้ชีพ (CPR) ทุกระดับขั้น รวมถึงขั้นพื้นฐาน (basic life support)[2]

การใช้[แก้]

1.ติดแผ่น AED ให้แนบสนิทกับหน้าอกของผู้ป่วย กรณีที่ผู้ป่วยสวมเสื้อ หากจำเป็นสามารถใช้กรรไกรตัดเสื้อผู้ป่วยออกได้

2.การติดแผ่น AED ต้องแน่ใจว่าติดแนบสนิทกับหน้าอกของผู้ป่วย และหน้าอกของผู้ป่วยต้องแห้งสนิทดี ไม่เปียกน้ำ ไม่เปียกเหงื่อ หากเปียกต้องใช้ผ้าขนหนูเช็ดให้แห้ง

3.การติดแผ่น AED เริ่มต้นด้วยการลอกแผ่นพลาสติกด้านหลังออก จากนั้นติดแผ่น AED ตามรูปที่แสดง เครื่องบางรุ่นจะมีรูปแสดงการติดแผ่น AED ที่ถูกต้องบนตัวแผ่นนำไฟฟ้าหรือตัวเครื่อง

4.ติดแผ่น เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า (AED) ลอกแผ่นพลาสติกด้านหลังออก ก่อนนำไปติดให้แนบสนิทกับผู้ป่วยด้วยความรวดเร็ว แผ่นหนึ่งติดไว้ใต้กระดูกไหปลาร้า และอีกแผ่นติดใต้ราวนมซ้ายด้านข้างลำตัว

ภาวะที่รักษาได้[แก้]

เครื่อง AED ใช้รักษาภาวะหัวใจหยุดที่มีสาเหตุมาจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ ส่วนใหญ่เครื่องจะสามารถรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ 2 ชนิดหลักๆ คือ

1. เวนทริคูลาร์ แทคีคาร์เดีย (หัวใจห้องล่างเต้นเร็ว) ชนิดคลำชีพจรไม่ได้ (VT หรือ V-Tach)

2. เวนทริคูลาร์ ฟิบริลเลชัน (หัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัว) (VF หรือ V-Fib)

ทั้งสองภาวะนี้เป็นภาวะซึ่งหัวใจยังเต้นอยู่ แต่เต้นในจังหวะที่ผิดปกติจนเป็นอันตรายต่อชีวิต ใน VT เป็นภาวะที่หัวใจเต้นเร็วมากเกินไปจนไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้มากพอ เมื่อเป็นมากถึงระดับหนึ่งจะกลายเป็น VF ซึ่งกระแสไฟฟ้าในหัวใจที่คอยกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานนั้นเกิดความปั่นป่วนอย่างมากจนกล้ามเนื้อหัวใจเต้นไม่ประสานกัน ไม่เกิดเป็นกลไกสูบฉีดเลือด หากยังเป็นต่อไปกระแสไฟฟ้าหัวใจจะปั่นป่วนมากขึ้น จนหัวใจหยุดเต้น

เครื่อง AED ทำงานเช่นเดียวกับเครื่องกระตุกหัวใจธรรมดาอื่น ๆ คือไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ช็อคหัวใจที่หยุดเต้นแบบไม่มีคลื่นไฟฟ้า (เส้นคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบนราบ) ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ ผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นโดยสิ้นเชิงจะมีโอกาสรอดชีวิตได้ด้วยการนวดหัวใจและการใช้ยากระตุ้นหัวใจเท่านั้น หลังจากนั้นเมื่อเกิดเป็นคลื่นหัวใจชนิดที่สามารถช็อคไฟฟ้าได้แล้วจึงจะมีบทบาทของการช็อคหัวใจ

อ้างอิง[แก้]

  1. Kerber, Richard E (March 18, 1997). "Automatic External Defibrillators for Public Access Defibrillation". Circulation. American Heart Association. 95 (1677–1682): 1677–82. PMID 9118556. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-08. สืบค้นเมื่อ 2007-06-28. {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  2. "CPR Adult Courses". American Red Cross. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 July 2007. สืบค้นเมื่อ 2007-06-28.