ตัวกินมด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Anteater)
ตัวกินมด
ตัวกินมดยักษ์ (Myrmecophaga tridactyla) เป็นตัวกินมดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับใหญ่: Xenarthra
อันดับ: Pilosa
อันดับย่อย: Vermilingua
Illiger, 1811
วงศ์

ตัวกินมด (อังกฤษ: Anteater) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มหนึ่ง ที่จัดอยู่ในอันดับย่อย Vermilingua (แปลว่า "ลิ้นหนอน")[1][2] [3] ในอันดับ Pilosa หรือสลอธ ในอันดับใหญ่ Xenarthra

ตัวกินมด เป็นสัตว์ที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับสัตว์จำพวกอื่นในอันดับใหญ่ทั่วไป คือ เป็นสัตว์ที่มีส่วนจมูกและปากยาวเหมือนท่อ ไม่มีฟันในกราม จึงไม่สามารถที่จะเคี้ยวอาหารได้ แต่ใช้ลิ้นที่ยาวเรียวและมีน้ำลายที่เหนียวตวัดกินแมลงขนาดเล็กตามต้นไม้ หรือพื้นดินกินเป็นอาหาร โดยใช้จมูกที่ไวต่อความรู้สึกหาแมลงไปเรื่อย ๆ เมื่อพบเจอแล้วจะใช้กรงเล็บตีนหน้าที่แหลมคมขุดคุ้ยหรือพังทลายรังของแมลงเหล่านี้ เช่นเดียวกับอาร์มาดิลโล ที่อยู่ในอันดับใหญ่เดียวกัน หรือลิ่น หรืออาร์ดวาร์ก ที่เคยมีบรรพบุรุษร่วมกันมาก่อนในยุคก่อนประวัติศาสตร์

เนื่องจากตัวกินมดกินแมลง ซึ่งได้แก่ มด และปลวก ซึ่งให้พลังงานต่ำ ดังนั้นวัน ๆ หนึ่งจึงต้องกินมดในปริมาณมากที่อาจมากถึง 9,000 ตัวได้ [4]

ตัวกินมด มีขนที่หนาปกคลุมตลอดทั้งตัวและผิวหนังที่หนาที่ช่วยป้องกันตัวจากการโจมตีของมด แต่ก็ไม่สามารถที่จะใช้ป้องกันได้สมบูรณ์แบบ [4]

การจำแนก[แก้]

ปัจจุบัน ตัวกินมด แบ่งออกได้เป็น 4 ชนิด ใน 2 วงศ์[1] (มีบางชนิดที่สูญพันธุ์ไปแล้วในยุคก่อนประวัติศาสตร์) ได้แก่

อันดับ Pilosa

ตัวกินมดยักษ์ (บน), ตัวกินมดซิลกี้ (ล่างซ้าย), ทาแมนดัวใต้ (ล่างขวา)

ถิ่นกระจายพันธุ์และพฤติกรรม[แก้]

ตัวกินมด ทั้ง 4 ชนิด กระจายพันธุ์ในป่าทึบในอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ โดยที่ ตัวกินมดยักษ์นับเป็นชนิดที่ขนาดใหญ่ที่สุด เพราะมีความยาวได้ถึง 2 เมตร และเป็นสัตว์ที่ขี้หงุดหงิด เนื่องจากมีสายตาที่ไม่ดี เมื่อโกรธและป้องกันตัวสามารถยืนด้วยขาหลังได้และยกขาหน้าที่มีกรงเล็บแหลมคมขู่ใส่ผู้รุกรานได้ ซึ่งนี่เป็นพฤติกรรมการป้องกันตัวโดยปกติอยู่แล้วของตัวกินมดไม่ว่าชนิดใด[4]

ตัวกินมดยักษ์ สามารถพบได้ทั่วไปในทวีปอเมริกาใต้ และพบได้ในเซอราโด ซึ่งเป็นที่ราบกว้างใหญ่ในประเทศบราซิล เป็นตัวกินมดที่หากินได้ทั้งในเวลากลางคืนและกลางวัน แต่จะหากินบนพื้นดินเท่านั้น เนื่องจากไม่สามารถที่จะปีนต้นไม้ได้เพราะขนาดตัวที่ใหญ่ ดังนั้นอาหารที่กินส่วนใหญ่มักจะเป็นปลวก มากกว่ามด[8]

ขณะที่ทาแมนดัวทั้ง 2 ชนิด และตัวกินมดซิลกี้ มีขนาดเล็กลงมา โดยที่ทาแมนดัวมีขนาดลำตัวประมาณ 1 เมตร และตัวกินมดซิลกี้มีความยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตรเท่านั้น นับเป็นตัวกินมดที่มีขนาดเล็กที่สุด ทั้งทาแมนดัวและตัวกินมดซิลกี้จะอาศัยและหากินบนต้นไม้เป็นหลัก เป็นสัตว์ที่ขี้อายและพบเห็นตัวได้ยาก โดยเฉพาะตัวกินมดซิลกี้จะอาศัยอยู่บนยอดต้นไม้สูง หากินในเวลากลางคืนเป็นหลัก ขณะที่เวลากลางวันจะนอนหลับด้วยการขดตัวเป็นวงกลมเหมือนลูกบอลบนต้นไม้ ซึ่งทั้งทาแมนดัวและตัวกินมดซิลกี้ต่างกินมดเป็นอาหารหลัก จัดเป็นตัวกินมดที่สามารถปีนป่ายและทรงตัวบนต้นไม้หรือกิ่งไม้ได้เป็นอย่างดี เนื่องด้วยปลายหางที่สามารถใช้เกาะเกี่ยวกับต้นไม้ได้เป็นอย่างดีเพื่อรักษาสมดุล อีกทั้งยังสามารถที่จะยืนยกขาหน้า ชูกรงเล็บเพื่อป้องกันตัว ด้วยการใช้ขาหลังเหมือนจิงโจ้ทรงตัวได้เป็นอย่างดีอีกด้วย โดยเฉพาะทาแมนดัวนั้นปลายหางจะไม่เป็นขนแต่จะเป็นเกล็ดขนาดเล็ก ๆ อีกทั้งทาแมนดัวยังมีพฤติกรรมที่เพิ่งพบรายงานเมื่อไม่นานมานี้ว่า นอกจากแมลงแล้ว ยังสามารถที่จะใช้กรงเล็บผ่าเปลือกของลูกปาล์มแยกออกเป็น 2 ซีก แล้วใช้ลิ้นตวัดกินน้ำและเนื้อภายในลูกปาล์มเป็นอาหารได้อีกด้วย ซึ่งอาจเป็นพฤติกรรมที่มาจากการเรียนรู้หรือถ่ายทอดต่อกันมา เพื่อให้ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม [4]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 จาก itis.gov (อังกฤษ)
  2. "Giant Anteater Facts". Smithsonian Institution. สืบค้นเมื่อ 2011-07-30.
  3. "Giant Anteater". Canadian Museum of Nature. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-19. สืบค้นเมื่อ 2011-07-30.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Anteaters, "Nick Baker's Weird Creatures" .สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต ทางทรูวิชั่นส์: พุธที่ 10 เมษายน 2556
  5. "Palaeomyrmidon". Paleobiology Database. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-30. สืบค้นเมื่อ February 2012. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. "Neotamandua". Paleobiology Database. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-27. สืบค้นเมื่อ February 2012. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. "Protamandua". Paleobiology Database. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-27. สืบค้นเมื่อ February 2012. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. ["จาก [[กองทุนสัตว์ป่าโลก|WWF]] (อังกฤษ)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-08. สืบค้นเมื่อ 2013-04-10. จาก WWF (อังกฤษ)]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]