ปลาการ์ตูน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Amphiprion)

ปลาการ์ตูน
ปลาการ์ตูนส้มขาว (Amphiprion ocellaris)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: ปลาที่มีก้านครีบ
เคลด: Percomorpha
ไม่ได้จัดลำดับ: Ovalentaria
วงศ์: วงศ์ปลาสลิดหิน
วงศ์ย่อย: Amphiprioninae
Allen, 1975
สกุล

ปลาการ์ตูน เป็นปลากระดูกแข็งขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในทะเล จัดอยู่ในวงศ์ย่อย Amphiprioninae ในวงศ์ปลาสลิดหิน (Pomacentridae)

ลักษณะ[แก้]

เป็นปลาที่มีสีสันสวยงาม โดยทั่วไปประกอบด้วยสีส้ม, แดง, ดำ, เหลือง และมีสีขาวผ่านกลางลำตัว 1-3 แถบ อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นชนิดเดียวกัน ก็จะมีสีแตกต่างกันเล็กน้อยเสมอ ซึ่งความแตกต่างนี้ทำให้จดจำคู่ได้ นอกจากนั้น แหล่งที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกันทำให้เกิดการแปรผันด้วย ปลาการ์ตูนอยู่กันเป็นครอบครัว กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร เป็นปลาที่หวงถิ่นมาก มีเขตที่อยู่ของตนเอง

การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย[แก้]

พบอาศัยอยู่ตามแนวปะการังในบริเวณเส้นศูนย์สูตรทั่วโลก อาศัยอยู่ตามแนวปะการังกับดอกไม้ทะเล

อนุกรมวิธาน[แก้]

ปลาการ์ตูนแบ่งออกได้เป็น 2 สกุล คือ Amphiprion และ Premnas ซึ่งมีอยู่เพียงชนิดเดียว

ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อทั่วไป เคลด[1] Complex
สกุล Amphiprion:[2]
Amphiprion akallopisos ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง A. akallopisos Skunk
A. akindynos Barrier reef anemonefish Australian A. clarkii
A. allardi Allard's anemonefish Indian A. clarkii
A. barberi Barber's anemonefish A. ephippium A. ephippium
A. bicinctus Two-band anemonefish Indian A. clarkii
A. chagosensis Chagos anemonefish Indian A. clarkii
A. chrysogaster Mauritian anemonefish Indian A. clarkii
A. chrysopterus Orange-fin anemonefish Monospecific lineage A. clarkii
A. clarkii ปลาการ์ตูนลายปล้อง A. clarkii A. clarkii
A. ephippium ปลาการ์ตูนแดงดำ, ปลาสลิดหินส้ม A. ephippium A. ephippium
A. frenatus ปลาการ์ตูนมะเขือเทศ A. ephippium A. ephippium
A. fuscocaudatus Seychelles anemonefish Indian [n 1] Clarkii
A. latezonatus Wide-band anemonefish Monospecific lineage Saddleback
A. latifasciatus ปลาการ์ตูนมาดากัสการ์ Indian A. clarkii
A. leucokranos White-bonnet anemonefish Likely hybrid Skunk
A. mccullochi Whitesnout anemonefish Australian A. ephippium
A. melanopus Red and black anemonefish A. ephippium A. ephippium
A. nigripes Maldive anemonefish Indian Skunk
A. ocellaris ปลาการ์ตูนส้มขาว Percula Clownfish
A. omanensis Oman anemonefish Indian A. clarkii
A. pacificus ปลาการ์ตูนแปซิฟิก A. akallopisos Skunk
A. percula ปลาการ์ตูนส้ม Percula Clownfish
A. perideraion ปลาการ์ตูนอินเดียนแดงชมพู A. akallopisos Skunk
A. polymnus ปลาการ์ตูนอานม้า A. polymnus Saddleback
A. rubrocinctus Australian anemonefish A. ephippium A. ephippium
A. sandaracinos ปลาการ์ตูนเหลือง A. akallopisos Skunk
A. sebae ปลาการ์ตูนลายปล้องหางเหลือง A. polymnus Saddleback
A. thiellei Thielle's anemonefish Likely hybrid Skunk
A. tricinctus Three-band anemonefish Clarkii Clarkii
สกุล Premnas:[3]
Premnas biaculeatus ปลาการ์ตูนแดง Percula Maroon

ปัจจุบัน ปลาการ์ตูนทั่วโลกพบทั้งหมด 30 ชนิด ในน่านน้ำไทยพบปลาการ์ตูน 7 ชนิด[4] ทั้งด้านอ่าวไทยและอันดามันได้แก่ ปลาการ์ตูนส้มขาว (Amphiprion ocellaris), ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง (A. akallopisos), ปลาการ์ตูนมะเขือเทศ (A. frenatus), ปลาการ์ตูนอานม้า (A. polymnus), ปลาการ์ตูนลายปล้อง (A. clarkii), ปลาการ์ตูนลายปล้องหางเหลือง (A. sebae) และปลาการ์ตูนแดง (Premnas biaculeatus)

พฤติกรรม[แก้]

ปลาการ์ตูนอินเดียนแดงชมพู (Amphiprion perideraion) ขณะอยู่กับดอกไม้ทะเล

ปลาการ์ตูนออกลูกเป็นไข่และสามารถเปลี่ยนเพศได้ ปลาการ์ตูนจะเปลี่ยนเพศเมื่อสิ่งแวดล้อมกำหนดบทบาทให้ โดยในระยะแรกเริ่มหลังจากที่ฟักออกจากไข่ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าเป็นเพศใด จนกว่าจะเป็นตัวเต็มวัยจึงจะปรากฏเป็นปลาเพศผู้ และในปลารุ่นเดียวกันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดจะต้องเปลี่ยนแปลงเป็นปลาเพศเมีย โดยในสังคมของปลาการ์ตูนกลุ่มหนึ่ง ๆ จะมีปลาเพศเมียเพียงตัวเดียวเท่านั้น ตัวใหญ่ที่สุดในฝูง สีสันไม่สดใสมากนัก พฤติกรรมก้าวร้าว ส่วนปลาเพศผู้มีขนาดเล็กกว่า สีสันสวยงามกว่า จากปลาเพศผู้ เมื่อมีสิ่งเร้าจากภายนอกและภายในเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ เทเลนฟาลอน (Telenephalon) จะส่งสัญญาณมาที่ทาลามัส (Thalamus) และไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) ส่งคำสั่งไปยังต่อมใต้สมองให้หลั่งฮอร์โมนเฉพาะของเพศผู้ อวัยวะเป้าหมายส่วนที่ จะพัฒนาจนสามารถทำงานได้คืออัณฑะผลิตสเปิร์ม ส่วนตัวที่ใหญ่ ที่สุดจะมีพัฒนาการตรงกันข้าม ไฮโปธาลามัสจะส่งคำสั่งไปยังต่อมใต้สมองให้หลั่งฮอร์โมนเฉพาะของเพศเมีย อวัยวะเป้าหมายคือรังไข่ ผลิตไข่ และถ้าเพศเมียตายไป ปลาการ์ตูนเพศผู้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด แข็งแกร่งที่สุด จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเพศทดแทนด้วยกลไกแบบหลังภายใน 4 สัปดาห์ โดยจะเพิ่มขนาดอย่างรวดเร็ว พร้อมสีสันสวยน้อยลง

และจากการศึกษาพบว่า ปลาการ์ตูนมีระบบชนชั้นภายในฝูง โดยตำแหน่งหัวหน้าฝูงจะเป็น ปลาเพศเมียตัวที่ใหญ่ที่สุด และลดหลั่นกันไปจนถึงตัวที่มีขนาดเล็กที่สุด อีกทั้งยังพบด้วยว่า แม้ว่าปลาการ์ตูนจะถือกำเนิดห่างไกลจากที่กำเนิดเท่าใด เมื่อเจริญเติบโตขึ้นหรือถึงฤดูผสมพันธุ์วางไข่ จะว่ายฝ่ากระแสน้ำกลับมาวางไข่ยังบริเวณเดิมที่กำเนิด โดยอาศัยการดมกลิ่นจากกลิ่นของพืชที่อยู่บริเวณนั้น ซึ่งปลาจะมีความจดจำลักษณะเฉพาะของกลิ่นได้[5]

ความสัมพันธ์กับดอกไม้ทะเล[แก้]

ปลาการ์ตูนเป็นปลาที่มีลักษณะเฉพาะ คือ จะอาศัยอยู่ภายในดอกไม้ทะเลซึ่งมีเข็มพิษ แต่ไม่เป็นอันตรายกับปลาการ์ตูน เพื่อป้องกันตัว เป็นพฤติกรรมที่สัตว์ทั้งสองพึ่งพากัน ดอกไม้ทะเลมีหนวดยาวมากมายพลิ้วไหวไปตามกระแสน้ำ ส่วนร่างยึดติดกับโขดหินหรือปะการังเอาไว้ หนวดที่อ่อนนุ่มเป็นอวัยวะสำคัญที่ใช้หาอาหาร บริเวณปลายหนวดเต็มไปด้วยเข็มพิษจำนวนมหาศาล เมื่อมีปลาว่ายหลงผ่านมา ดอกไม้ทะเลจะใช้หนวดพิษทิ่มแทงเหยื่อให้เป็นอัมพาต แล้วใช้หนวดจับเข้าปาก จึงไม่มีปลาอื่นกล้าว่ายเข้าใกล้ดอกไม้ทะเล ยกเว้นเพียงปลาการ์ตูน ที่เที่ยวว่ายหากินสาหร่ายเล็ก ๆ อยู่รอบ ๆ ครั้นมีศัตรูมารบกวน มันจะรีบว่ายเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในกอดอกไม้ทะเล

นอกจากนี้แล้ว จากการศึกษาล่าสุดพบว่า ในเวลากลางคืนที่ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดน้อยลง ปลาการ์ตูนจะโบกครีบไปมาเพื่อให้เกิดกระแสน้ำไหลผ่านดอกไม้ทะเลเพื่อให้ออกซิเจนอีกด้วย[6]

อันที่จริงแล้วปลาการ์ตูนก็ได้รับพิษเช่นกัน แต่รู้จักปรับตัวโดยใช้วิธีว่ายเข้าไปสัมผัสกับดอกไม้ทะเลทีละน้อย ๆ แล้วถอยออกมา ทำอยู่จนกระทั่งร่างกายสร้างเมือกขึ้นมาปกคลุมตัว ช่วยป้องกันเข็มพิษดอกไม้ทะเลได้ในที่สุด แต่ถ้าปลาการ์ตูนปราศจากเมือกอันนี้เมื่อใด ปลาก็จะถูกเข็มพิษของดอกไม้ทะเลทำร้าย จนตายในที่สุด

การเลี้ยงเป็นปลาสวยงามและการเพาะพันธุ์[แก้]

ปัจจุบันได้มีการเพาะพันธุ์ได้ตามศูนย์วิจัยต่าง ๆ ของกรมประมง หรือฟาร์มของเอกชนทั่วไปเพื่อจำหน่าย โดยสถานที่แห่งแรกที่เพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนได้สำเร็จและถือเป็นแหล่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี ของประเทศไทย ที่นำโดย ดร.วรเทพ มุธุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบัน โดยใช้วิธีการให้ปลาวางไข่กับแผ่นกระเบื้องเซรามิกในตู้เลียนแบบธรรมชาติ นับว่าได้ผลสำเร็จดี ซึ่งในปัจจุบัน ก็ยังคงวิจัยศึกษาและพัฒนาการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ให้ได้ผลดียิ่งขึ้นต่อไป [5]

การนำปลาที่เพาะพันธุ์ได้ไปปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ[แก้]

ลูกปลาการ์ตูนบางส่วนที่หน่วยงานกรมประมงเพาะพันธุ์ได้ จะถูกนำไปปล่อยคืนในแหล่งน้ำธรรมชาติที่เหมาะสมซึ่งปลาการ์ตูนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยการปล่อยปลาการ์ตูน จะต้องมีการปรับสภาพให้ปลามีคุ้ยเคยกับแหล่งที่จะปล่อยปลาการ์ตูนเหล่านั้น เพื่อให้รอดพ้นจากกการถูกทำร้ายจากสัตว์น้ำชนิดอื่น และดำรงชีวิตต่อไปได้[7]

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย[แก้]

ภาพยนตร์ นีโม...ปลาเล็ก หัวใจโต๊...โต ใน ค.ศ. 2003 และภาคต่อ ผจญภัยดอรี่ขี้ลืมใน ค.ศ. 2016 มีตัวละครหลักอย่างนีโม เมอร์ลินผู้เป็นพ่อ และคอรัลผู้เป็นแม่ ทั้งหมดเป็นปลาการ์ตูน ซึ่งอาจเป็นสายพันธุ์ A. ocellaris[8] หลังภาพยนตร์ออกฉายทำให้มีความนิยมปลาการ์ตูนในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำมีมากขึ้น ทำให้เป็นภาพยนตร์แรกที่มีส่วนในการจับสัตว์ป่าเพิ่มขึ้น[9]

หมายเหตุ[แก้]

  1. Exemplars of A. fuscocaudatus have never been sequenced. The authors hypothetically placed this species in the Indian clade because it is the most parsimonious solution regarding the biogeography of anemonefish species.[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Litsios, Glenn; Salamin, Nicolas (December 2014). "Hybridisation and diversification in the adaptive radiation of clownfishes". BMC Evolutionary Biology. 14 (1): 245. doi:10.1186/s12862-014-0245-5. PMC 4264551. PMID 25433367.
  2. Froese, Rainer, and Daniel Pauly, eds. (2011). Species of Amphiprion in FishBase. December 2011 version.
  3. Froese, Rainer, and Daniel Pauly, eds. (2011). Species of Premnas in FishBase. December 2011 version.
  4. "รู้หรือไม่รู้ ดอกไม้ของนายนีโม่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-03. สืบค้นเมื่อ 2008-04-15.
  5. 5.0 5.1 ปลาดารา (Filmstar Fish: The Struggle for Survival), "ท่องโลกกว้าง". สารคดีทางไทยพีบีเอส: วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554
  6. ฉลามวาฬ, "มหัศจรรย์พันธุ์ลึก". สารคดีทางไทยพีบีเอส: วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2556
  7. การนำปลาที่เพาะพันธุ์ได้ไปปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ
  8. "Finding Nemo (2003)". Rotten Tomatoes. สืบค้นเมื่อ 5 April 2016.
  9. Calado, Ricardo; Olivotto, Ike; Oliver, Miquel Planas; Holt, G. Joan (6 March 2017). Marine Ornamental Species Aquaculture. John Wiley & Sons. p. 179. ISBN 9780470673904 – โดยทาง Google Books.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]