ปลาฉลามหางยาวธรรมดา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Alopias vulpinus)
ปลาฉลามหางยาวธรรมดา
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Chondrichthyes
ชั้นย่อย: Elasmobranchii
อันดับ: Lamniformes
วงศ์: Alopiidae
สกุล: Alopias
สปีชีส์: A.  vulpinus
ชื่อทวินาม
Alopias vulpinus
(Bonnaterre, 1788)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ทั่วโลก (สีฟ้า-สถานที่เป็นไปได้ว่าอาจพบ, สีน้ำเงินเข้ม-สถานที่ยืนยันว่าพบได้แน่นอน)
ชื่อพ้อง
ชื่อพ้อง
  • Alopecias barrae Perez Canto, 1886
  • Alopecias chilensis Philippi, 1902
  • Alopecias longimana Philippi, 1902
  • Alopias caudatus Phillipps, 1932
  • Alopias greyi Whitley, 1937
  • Alopias macrourus Rafinesque, 1810
  • Galeus vulpecula Rafinesque, 1810
  • Squalus alopecias Gronow, 1854
  • Squalus vulpes Gmelin, 1789
  • Squalus vulpinus Bonnaterre, 1788
  • Vulpecula marina Garman, 1913

ปลาฉลามหางยาวธรรมดา หรือ ปลาฉลามเทรเชอร์ (อังกฤษ: Common thresher shark, Thresher shark, Long-tailed thresher shark; ชื่อวิทยาศาสตร์: Alopias vulpinus) ปลากระดูกอ่อนชนิดหนึ่ง จำพวกปลาฉลาม อยู่ในวงศ์ปลาฉลามหางยาว (Alopiidae)

โดยที่คำว่า vulpinus นั้นแปลงมาจากภาษาละตินคำว่า vulpes หมายถึง "หมาจิ้งจอก" ซึ่งในบางแหล่งข้อมูลที่มีข้อมูลเก่าอาจจะใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alopias vulpes[2]

จัดเป็นปลาฉลามกินเนื้อที่มีขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง โดยมีความยาวเฉลี่ยเต็มที่ประมาณ 5.5-6.1 เมตร น้ำหนักตัวหนักได้ถึง 499 กิโลกรัม มีลักษณะเด่น คือ ครีบหางส่วนบนที่ยาวมาก คิดเป็นร้อยละ 50 ของขนาดตัว และมีน้ำหนักส่วนหางมากถึงร้อยละ 33 ของน้ำหนักตัวทั้งหมด ซึ่งครีบหางนี้ยามว่ายน้ำสามารถโบกขึ้นลงไปในแนวตั้งได้ด้วย ส่วนหัวมีขนาดกลมเล็ก ปากเล็ก ขากรรไกรเล็ก ภายในปากมีฟันแหลม ๆ คมซี่เล็ก ๆ จำนวนมาก ดวงตากลมโตมีขนาดใหญ่ ลำตัวสีขาวปลอดหรือขาวเงินแวววาวทั้งตัว ครีบอกแหลมยาว ครีบหลังตอนที่ 2 มีขนาดเล็ก

ปลาฉลามหางยาวธรรมดา เป็นปลาฉลามที่มีนิสัยขี้อาย มักพบเห็นตัวได้ยากมาก เป็นปลาที่หากินและอาศัยอยู่ตามลำพัง โดยล่าปลาขนาดเล็กรวมถึงสัตว์น้ำอื่น ๆ กินเป็นอาหาร โดยมีวิธีการล่าเหยื่อด้วยการตีวนรอบฝูงเหยื่อให้เกิดน้ำวน เพื่อให้เหยื่อเกิดอาการตื่นตระหนกและจับทิศทางไม่ถูก จากนั้นปลาฉลามหางยาวธรรมดาก็จะว่ายผ่าตรงกลางวงไปงับกินเหยื่อทันที จัดเป็นปลาฉลามอีกชนิดหนึ่งที่ว่ายน้ำได้ว่องไวมาก

เป็นปลาที่พบได้ทั่วโลกในทะเลและมหาสมุทรเขตร้อนและเขตอบอุ่น แต่ก็ถือว่าเป็นปลาที่พบเห็นได้ยากมาก สามารถพบเห็นได้ในที่ลึกถึง 500 เมตร แต่ปลาฉลามหางยาวธรรมดาก็สามารถว่ายเข้าชายฝั่งและเขตที่น้ำตื้นได้ด้วยเช่นกัน รวมถึงสามารถกระโดดได้สูงขึ้นเหนือน้ำได้ด้วย

เป็นปลาที่ออกลูกเป็นตัว โดยลูกปลาจะกินกันเองตั้งแต่อยู่ในท้องแม่เหมือนปลาฉลามชนิดอื่นอีกหลายชนิด ลูกปลาแรกเกิดมีความยาวประมาณ 1.5 เมตร โดยออกลูกครั้งละ 2-6 ตัว[3] [4]

เป็นปลาฉลามอีกชนิดหนึ่ง ที่ถูกคุกคามจนใกล้สูญพันธุ์จากการทำประมง จนถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน 10 ชนิดของปลาฉลามที่ใกล้สูญพันธุ์ที่สุดของโลก โดยนำชิ้นส่วนต่าง ๆ ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หรือบริโภคเป็นปลาเศรษฐกิจ ที่เกาะมาลาปาสกัว ทางตอนเหนือของเกาะเซบู ในทะเลฟิลิปปิน เป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่พบปลาฉลามหางยาวธรรมดาได้บ่อย จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำดูปลาฉลามหางยาวจนขึ้นชื่อ[5] [6]

อ้างอิง[แก้]

  1. Goldman, K.J. & members of the Shark Specialist Group (2002). Alopias vulpinus. 2006 IUCN Red List of Threatened Species. IUCN 2006. Retrieved on 16 June 2006.
  2. Ebert, D.A. (2003). Sharks, Rays, and Chimaeras of California. University of California Press. pp. 105–107. ISBN 0-520-23484-7.
  3. Thresher Shark จากดิสคัฟเวอรี
  4. "Thresher Shark". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-17. สืบค้นเมื่อ 2013-03-08.
  5. "ฉลามทะเลลึกใกล้สูญพันธุ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2013-03-08.
  6. THRESHER SHARK, "Great Ocean Adventures". สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต ทางทรูวิชั่นส์: ศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2556

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Alopias vulpinus ที่วิกิสปีชีส์