Acantopsis choirorhynchos

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

Acantopsis choirorhynchos
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: ปลาที่มีก้านครีบ
อันดับ: อันดับปลาตะเพียน
วงศ์: วงศ์ปลาหมู
สกุล: ปลารากกล้วย
van Hasselt, 1823
สปีชีส์: Acantopsis dialuzona
ชื่อทวินาม
Acantopsis dialuzona
van Hasselt, 1823
ชื่อพ้อง
  • Acantopsis choirorhynchos (Bleeker, 1854)
  • Cobitis choirorhynchos Bleeker, 1854

Acantopsis choirorhynchos เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาหมูแท้ (Cobitidae) มีลำตัวเล็ก ขนาดยาวไม่เกิน 30 เซนติเมตร (แต่ที่พบโดยทั่วไปจะยาวเพียงแค่ 5-14 เซนติเมตร) หัวแหลม ตาเล็ก หางแหลม กลางลำตัวมีเส้นสีเทาจากหัวถึงหางระหว่างเส้นมีจุดสีดำเป็นแนวยาว ครีบหางเว้าตื้น มีพฤติกรรมชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ในพื้นท้องน้ำที่มีกรวดทรายและมีกระแสน้ำไหลเชี่ยว สามารถมุดทรายได้อย่างรวดเร็วเมื่อตกใจหรือจะซ่อนตัวจากสัตว์นักล่า

A. choirorhynchos เป็นปลาพื้นเมืองในรัฐอัสสัมของอินเดีย, พม่า, ไทย, เวียดนาม, มาเลเซีย (ทั้งตะวันตกและตะวันออก) และเกาะสุมาตราและเกาะชวาของอินโดนีเซีย[1] ตัวอย่างที่นำมาจัดอนุกรมวิธานถูกจับมาจากบริเวณจุดบรรจบระหว่างแม่น้ำเลอมาตังกับแม่น้ำเอนิมในจังหวัดสุมาตราใต้ ส่วนในไทยพบที่แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำยม แม่น้ำวัง แม่น้ำมูล แม่น้ำสงคราม แม่น้ำปัตตานี เป็นต้น

เนื่องจากปลาชนิดนี้เป็นปลาขนาดเล็ก จึงนิยมบริโภคด้วยการรับประทานทั้งตัวและก้าง โดยนำมาทำเป็นอาหารได้หลายอย่างทั้งการปรุงสดและตากแห้ง โดยรายการที่ขึ้นชื่อที่สุด คือ ปลารากกล้วยทอดกระเทียม รับประทานกับข้าวต้ม สำหรับการปรุงสดสามารถทำอาหารได้หลากหลาย เช่น ต้มยำ ต้มโคล้ง ฉู่ฉี่ นอกจากนี้ยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาตู้สวยงาม โดยเฉพาะในตู้ไม้น้ำ นิยมเลี้ยงเพราะเป็นปลาที่เก็บเศษอาหารที่ปลาอื่นกินเหลือไว้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยพรวนทรายให้ร่วนอยู่ตลอดเวลาด้วย จากการที่มันสามารถมุดทรายได้เป็นอย่างดี

อนึ่ง A. choirorhynchos มีชื่อสามัญในภาษาไทยว่า "ปลารากกล้วย" หรือ "ปลาซ่อนทราย" ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกร่วมกับปลาชนิดอื่น ๆ ในสกุล Acantopsis ของวงศ์ปลาหมู[2] นอกจากชนิด A. choirorhynchos ซึ่งเป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุดแล้ว ยังมีปลารากกล้วยชนิดอื่น ๆ ที่มีความคล้ายคลึงกัน เช่น A. thiemethdi, A. spectabilis, A. octoactinotos เป็นต้น และยังมีอีกหลายชนิดที่ยังไม่สามารถจำแนกอนุกรมวิธานได้ จึงใช้ชื่อชนิดเป็น sp. อยู่

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Allen, D.J.; Daniels, A. (2020). "Acantopsis dialuzona". IUCN Red List of Threatened Species. 2020: e.T181193A89812191. doi:10.2305/IUCN.UK.2020-2.RLTS.T181193A89812191.en. สืบค้นเมื่อ 20 November 2021.
  2. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, หน้า 993.

บรรณานุกรม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]